OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

A Nite 2 Bites Hostel แปลงโฉมห้องแถว เผยความเซ็กซี่ของสถาปัตยกรรมในแบบสองแง่สองง่าม

Location: สุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ
Designer: ชารีฟ ลอนา จาก Studio Act of Kindness
Owner:
ชุติมณฑน์ สกุลไทย และภูริลาภ เอื้อมมงคล
Photographer: ชุติมณฑน์ สกุลไทย ภูริลาภ เอื้อมมงคล และชารีฟ ลอนา

คงพูดได้ว่า สถาปัตยกรรม มีส่วนคล้ายคลึงกับมนุษย์  โดยมักจะแสดงออกถึงตัวตน ไลฟ์สไตล์และคาแรคเตอร์ของตนเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ นิ่ง สงบ เท่ห์ น่ารัก สดใส หรือแม้แต่เซ็กซี่ เช่นเดียวกับ ‘A Nite 2 bites’ โฮสเทลแสงนีออนย่านสุขุมวิท ที่สะท้อนคาแรคเตอร์อันเซ็กซี่ผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เล่นกับความรู้สึก ‘คิดไปเอง’ ของมนุษย์ โดยได้คุณชารีฟ ลอนา จาก Studio Act of Kindness มาเป็นผู้ออกแบบ

มากกว่าการพักผ่อนคือประสบการณ์ใหม่ที่ได้จาก Hostel

แรกเริ่มเดิมที ทางเจ้าของมีอาคารห้องแถวซึ่งตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 26 และทางเจ้าของเองมีแผนจะทำโปรเจกต์โรงแรมขนาดใหญ่เป็นทุนเดิม อาคารห้องแถวนี้จึงเป็นเหมือนตัวทดลองสำหรับเจ้าของเพื่อให้ได้ลองธุรกิจในลักษณะนี้ดูก่อน แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของขนาดห้องแถวที่ค่อนข้างเล็ก โดยมีหน้ากว้างอาคารเพียงแค่ 3.7 เมตรและลึก 12 เมตร ประกอบกับบริบทโดยรอบที่ถูกรายล้อมไปด้วยอาบอบนวด บาร์ คาราโอเกะในตอนกลางคืน


แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ในลักษณะ Art community ที่มักดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ดี  จากแผนสร้างโรงแรมขนาดเล็กจึงถูกเปลี่ยนเป็นโฮสเทลเข้ามาแทนที่

“พอเรามองวัฒนธรรมของความเป็นโฮสเทล เทรนด์ธุรกิจแบบนี้มันเริ่มเปลี่ยนไป คนที่มาพักเขามักจะไม่ค่อยอยู่ที่ห้องพักสักเท่าไร เราเลยคิดว่าจะทำโฮสเทลอย่างไรให้มันเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องพักขนาดนั้น แต่เราอยากจะขายโฮสเทลที่สร้างประสบการณ์ ใหม่ๆ สะท้อนไอเดียของความเป็น local location ตรงนั้นมากกว่า ซึ่งผมมองว่าบริบทรอบๆ นั้น มันทำให้พื้นที่มีความสองแง่สองง่ามอยู่”
จากแนวความคิดข้างต้นของผู้ออกแบบ จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของ A Nite 2 Bites ซึ่งตั้งใจนำความสองแง่สองง่ามของบริบท มาตีโจทย์เป็นการงานออกแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นโฮสเทลสำหรับพักในเวลากลางคืน  แต่ในตอนกลางวันผู้ออกแบบยังตั้งใจผสมตัวโฮสเทลเข้ากับธุรกิจอื่นๆ อย่างร้านไอศกรีม ล้อไปกับคำว่า ‘Bite’ สร้างกิมมิคที่ให้ความรู้สึกเซ็กซี่เบาๆ และไอศกรีมยังเป็นเหมือนของขวัญเล็กๆ สำหรับต้อนรับแขกที่จะมาเข้าพักได้อีกด้วย

วัสดุและงานออกแบบสร้าง Journey Experience

ด้วยขนาดที่มีจำกัด ทำให้ตัวฟังก์ชันของโฮสเทลไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษ โดยแบ่งออกเป็นสามชั้น ชั้นแรกจะเป็นส่วนของร้านไอศกรีม Lobby และ Reception ส่วนชั้นสองและชั้นสามจะเป็นส่วนของห้องพักเตียงรวม และมีห้องแยกส่วนตัวหนึ่งห้อง รวมถึงห้องน้ำรวมที่แยกออกมาเป็นสัดส่วน  โดยชั้นสองจะถูกแบ่งเป็นชั้นของผู้หญิง ส่วนชั้นสามจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย

ด้วยตัวโฮสเทลที่โดดเด่นด้วยการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ โดยคาดว่าผู้ที่จะมาเข้าพัก น่าจะมาจากรถไฟฟ้าหรือแท็กซี่ ซึ่งเมื่อลงรถไฟฟ้า หรือนั่งแท็กซี่ผ่านซอยเข้ามา จะต้องเจอกับอาบอบนวด คาเฟ่ บาร์ต่างๆ ภาพแรกที่โรงแรมพยายามนำเสนอจึงเป็น งานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างภายนอกที่ถูกย้อมด้วยแสงนีออนสีฉูดฉาด เพื่อสร้างความน่าสนใจในเวลากลางคืน

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่ออาคารถูกย้อมด้วยแสงนีออน ในเวลากลางวันจึงอาจจะไม่โดดเด่นเท่าไรนัก ทีมผู้ออกแบบจึงเลือกใช้วัสดุหลักบริเวณชั้นหนึ่ง ด้วยวัสดุพิเศษที่ทำจากสแตนเลสจี้ด้วยไฟฟ้า จนเกิดเป็นสเปกตรัมสะท้อนแสงเงาของหลากหลายเฉดสีเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างให้พื้นที่มีความน่าสนใจมากขึ้น

ส่วนบริเวณทางขึ้นจะเป็นกระเบื้องที่มีลักษณะเป็นกระจกสะท้อน และบริเวณฝ้าถูกออกแบบด้วยวัสดุแสตนเลสเจาะเป็นรูพรุน โดยทำการซ่อนไฟสีม่วงไว้ข้างใต้ เพื่อเน้นแสงสีและพื้นผิวมันเงา สะท้อนไปมา ให้ความรู้สึกลึกลับน่าค้นหา

จากบริเวณชั้นหนึ่งที่มีพื้นที่หลักเป็นร้านไอศกรีม เมื่อผ่านประตูเล็กๆ ที่เป็นตัวแบ่งสัดส่วน เราจะพบกับโซน Reception เล็กๆ และบริเวณใต้บันไดที่ถูกออกแบบให้เป็น locker โดยดึงองค์ประกอบมาจากแอร์คอนดิชัน สะท้อนบริบทที่พบเห็นได้โดยรอบ ซึ่งภายใน Locker จะเป็นของใช้ส่วนตัวสำหรับแขกผู้เข้าพัก สร้างคาแรคเตอร์เล็กๆ ที่ช่วยเติมเต็มโฮสเทลแห่งนี้ให้น่าสนใจมากขึ้น
เมื่อก้าวขึ้นไปบริเวณชั้นสอง จะต้องผ่านบันไดทรงตัว L ที่สะท้อนความรู้สึกคล้ายคลึงกับการไปเที่ยวบาร์  โดยภายนอกจะตกแต่งด้วยไฟย้อมสีทั้งหมด รวมถึงมีกระจกสะท้อนส่วนหลังและขาของผู้ที่เดินผ่าน ให้ความเซ็กซี่นิดๆ และตัวราวบันไดที่ทำจากปูนบุด้วยแผ่น PU (Polyurethane) ช่วยป้องกันการกระแทกของกระเป๋านักท่องเที่ยวเมื่อลากขึ้นบันไดนั่นเอง

เพื่อให้ยังคงรับรู้ได้ถึงบริบท ภายในห้องพักยังถูกออกแบบประตูในลักษณะเป็นรูพรุน เพื่อให้แสงสีของไฟจากภายนอกสามารถทะลุเข้ามาในห้องนอนได้บ้าง และบริเวณหัวเตียงที่ถูกเจาะเป็นหน้าต่างทรงกลมเพื่อทำเป็นช่องแสงที่เอาไว้สำหรับมองทะลุออกไปยังภายนอก รวมถึงการใช้วัสดุบล๊อกแก้วก่อบริเวณด้านหน้าของระเบียงอาคาร เพื่อให้รู้สึกถึงถึงแสงที่ส่องระเรื่อผ่านเข้ามา แต่ไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ 100%
จะเห็นได้ว่าในโฮสเทลแห่งนี้ วัสดุที่ถูกนำมาออกแบบส่วนมากจะเป็นวัสดุอุตสาหกรรม เช่น ไม้ แสตนเลส ประกอบไปกับการเล่นแสงไฟ โดยกิมมิคต่างๆ ทั้งการใช้วัสดุและสีสันของไฟก็ไม่ได้มาจากที่ไหน แต่เป็นการนำมาจากวิวที่มองเห็นได้ทั่วไปในซอยสุขุมวิท 26 เช่น ผับ ถนน แสงไฟจากไฟแดง เพื่อสร้างความรู้สึกของการพักผ่อนภายในโรงแรมให้คล้ายคลึงกับบริบทที่อยู่รายล้อม

 เหตุผลของบริบทสองแง่สองง่าม สู่การออกแบบ

จากแนวคิดที่ค่อนข้างชัดเจนและเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ A Nite 2 Bites ทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้วทำไมบริบทซึ่งเป็นสถานที่บันเทิง หรือสถานที่ค่อนข้างอโคจรถึงถูกนำมาเป็นแนวคิดของการออกแบบ? ซึ่งผู้ออกแบบและทางเจ้าของเองมองถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเข้าพัก เป็นเหล่า Backpacker ที่น่าจะมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดยไม่ได้คาดหวังการกลับมาพักซ้ำเท่าไรนัก แต่เป็นการเน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ที่สนใจมากกว่านั่นเอง

“ตอนจะทำ เราก็ค้นคว้ามาว่ามันจะมีกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเรื่องสองแง่สองง่าม หรือคอนเซ็ปต์อะไรประมาณนี้ ซึ่งเรื่องสองแง่สองง่ามแบบนี้มันเป็นเบสิกเลยว่า มนุษย์ทุกคนจะสนใจ และถ้าทำให้มันมีศิลปะหน่อย มันก็เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับได้ คือเราก็ไม่ได้ทำให้มันโป๊ ไม่ใช่ว่าทุกคนเข้าไปอาบน้ำแล้วโป๊ แต่มันให้ความรู้สึกเหมือนเราเล่นกับความคิดไปเองของเขา กับสิ่งที่เขาเดินผ่านก่อนที่จะเข้ามาในโฮสเทลของเรา”

แผนที่ :