Location : Chaing Rai
Area : 201 Sq.m.
Architect : Onhill Design & Construction
Photographer : Witsawarut Kkn
ความอบอุ่นที่ถูกส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น จากไม้เก่าในบ้านหลังเดิมของคุณพ่อสู่บ้าน JAIPAN HOUSE บ้านหลังใหม่ของลูกชาย ที่ได้รับการออกแบบโดย Onhill Design & Construction ทีมสถาปนิกผู้ออกแบบและปะติดปะต่อเรื่องราวของวัสดุจากวันเก่าให้ออกมาเป็นบ้านร่วมสมัย ที่ดูอบอุ่น และมีสเปซที่ตอบรับความต้องการของครอบครัวขยายที่มีผู้อยู่อาศัยถึง 6 คน ได้อย่างลงตัวในพื้นที่แห่งนี้
ถึงสเปซจะเปลี่ยนไป แต่กลิ่นอายวันเก่ายังคงอยู่
ด้วยความต้องการของลูกชายที่ต้องการบ้านร่วมสมัย ส่วนฝ่ายของผู้ใหญ่ก็ต้องการพื้นที่ที่ดูไม่แปลกหูแปลกตาจนเกินไป ผู้ออกแบบจึงได้นำวัสดุไม้จากบ้านหลังเก่าของคุณพ่อที่ได้ถูกรื้อถอนมาใช้ร่วมกับบ้านหลังนี้ เพื่อมอบกลิ่นอายจากแมททีเรียลที่คุ้นชินให้กับฝั่งผู้ใหญ่ได้รู้สึกว่าพวกเขาสามารถอยู่ในพื้นที่แบบนี้ได้ เพียงแต่มีหน้าตาของสเปซที่ดูเปลี่ยนไปและรูปลักษณ์ที่ดูโมเดิร์นขึ้นเท่านั้น
โดยวัสดุไม้เก่าทั้งหมดที่ทางผู้ออกแบบได้รับมาได้ถูกนำไปแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัสดุปูพื้นภายในบ้าน และฟาซาดด้านนอกที่ช่วยให้บ้านดูมีมิติขึ้น รวมถึงความตั้งใจตั้งต้นของสถาปนิกที่ต้องการนำไม้เก่ามาใช้งานให้ได้มากที่สุด จึงได้ออกแบบฟังก์ชันและองค์ประกอบในบ้านให้ตอบรับกับการใช้วัสดุประเภทไม้ ซึ่ง JAIPAN HOUSE สามารถนำไม้เก่ามาใช้งานได้เกือบ 100% จึงช่วยให้บ้านหลังนี้ประหยัดค่าวัสดุไปได้ในตัว พร้อมกับการเพิ่ม Detail ภายนอกบ้านด้วยการปูพื้นหินกรวดล้าง และเทคนิคการสลัดปูนบนผนังที่ช่วยให้ตัวบ้านดูน่าสนใจ และเข้ากับวัสดุไม้ได้เป็นอย่างดี
สเปซที่รับฟังคนในบ้าน
และให้ความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวซึ่งกันและกัน
ด้วยดีไซน์ที่ออกแบบมาให้ดูเป็นกล่องเพื่อให้รูปลักษณ์ดูทันสมัย จึงทำให้พื้นที่ภายในบ้านค่อนข้างกระชับ สถาปนิกจึงได้ดีไซน์ให้ภายในบ้านมีผนังน้อยที่สุด และใช้การเล่นระดับของพื้นเพื่อแบ่งสเปซให้เป็นสัดส่วนแทน ทำให้พื้นที่ภายในบ้านดูโปร่งขึ้น แต่ยังดูเป็นส่วนตัวซึ่งกันและกันอยู่ เป็นการแก้ปัญหาของขนาดบ้านที่ดูกระชับแต่ก็ยังให้ความรู้สึกกว้างขวาง อีกทั้งส่วนของประตูที่เปิดกว้างก็สามารถเป็นส่วนที่ช่วยนำสายตาให้ผู้อาศัยภายในบ้านมองออกไปภายนอกและรู้สึกถึงความกว้างขวางไม่แคบอึดอัดด้วย
Courtyard กลางบ้าน
สเปซเล็กๆ ที่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับ 2 ครอบครัวที่ต้องอยู่ร่วมกัน
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า JAIPAN HOUSE เป็นบ้านครอบครัวขยายและยังมีช่วงวัยที่แตกต่างกันถึง 3 ช่วงวัย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อวัยต่างกัน ไลฟ์สไตล์การใช้งานก็จะแตกต่างตามไปด้วย โดยเพราะผู้สูงวัยวัยเกษียณที่มักจะต้องการความเป็นส่วนตัว และความเงียบสงบในการพักผ่อนเป็นพิเศ สถาปนิกจึงได้ออกแบบให้คอร์ทยาร์ดกลางบ้านทำหน้าที่เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่แบ่งสเปซของทั้ง 2 ครอบครัวออกจากกัน ได้แก่ฝ่ายของคุณพ่อคุณแม่ และฝ่ายของครอบครัวลูกชาย เพื่อสร้างความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวและเพิ่มพื้นที่การใช้งานที่แตกต่างกันของระหว่างทั้ง 3 Generation ให้ลงตัวขึ้น
อีกทั้งผู้ออกแบบยังได้เพิ่ม Detail ให้คอร์ทยาร์ดกลางบ้านเป็นสเปซที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งได้ในอีกหนึ่งระดับ ด้วยการออกแบบส่วนของหลังคาให้มีชุดรางน้ำอยู่ตรงกลาง และเป็นช่องแสงที่เปิดรับแสงธรรมชาติให้สอดส่องเข้ามาภายในบ้าน ซึ่งหากมองจากภายนอกก็จะเห็นเป็นเพียงบ้านทรงกล่องที่ดูร่วมสมัยอย่างที่ได้เห็น แต่หากมองจาก Section Plan จะพบว่าส่วนของหลังคาบริเวณคอร์ทยาร์ดนี้จะมีลักษณะเป็นหลังคาผีเสื้อที่ดูแปลกตาไม่น้อย
และนอกจากคอร์ทยาร์ดจะช่วยแบ่งสเปซเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับครอบครัว JAIPAN HOUSE แล้ว ฟาซาดจากไม้เก่าที่ถูกรื้อถอนก็ยังมีส่วนในการอำพรางสายตาจากผู้คนภายนอกและเพิ่มความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวในฝั่งของระแนงห้องพัก ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถออกมานั่งเล่นหรือทำกิจกรรมส่วนตัวบริเวณระแนงไม้จุดนี้ได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน
“เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่าส่วนที่ทางเจ้าของบ้านชอบที่สุด คือห้องทานอาหารและห้องนั่งเล่น เพราะพวกเขาสามารถใช้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้นได้ตลอดทั้งวัน ต่างจากบ้านหลังเดิมที่ไม่มีพื้นที่ที่ตอบรับการใช้งานเหมือนบ้านหลังนี้ ซึ่งส่วนนี้จึงทำให้ลักษณะของการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ใช้เวลาอยู่บ้านได้นานยิ่งขึ้น และยังเหมาะกับคุณพ่อวัยเกษียณของเจ้าของบ้านอีกด้วย ที่ต้องใช้ชีวิตเกือบทั้งวันอยู่ภายในบ้านหลังนี้” สถาปนิกกล่าว