Location : ชุมแพ ขอนแก่น
Area : 990 ตารางเมตร
Owner : โสภิรักษ์ อรุณเดชาชัย
Architect : Physicalist co.,ltd.
Interior Designer: Physicalist co.,ltd.
Landscape Designer: Physicalist co.,ltd.
Main Contractor : บริษัท รุ่งโรจน์รัตนสุวรรณ คอนสตรัคชั่น จำกัด
Interior Contracrtor : บริษัท ออลดีไซน์สเตชั่น จำกัด
Photographer : ศุภกร ศรีสกุล
จากความต้องการบ้านอยู่อาศัยของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยสามช่วงอายุ นั่นคือ คุณพ่อคุณแม่ รุ่นลูกและรุ่นหลาน ซึ่งโดยปกติคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้อยู่อาศัยหลัก แต่เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์มาถึง ลูกๆ ทั้ง 5 จะเดินทางกลับจากการดูแลกิจการของครอบครัวที่สาขาอื่นๆ เพื่อกลับมาใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว ณ บ้านหลังนี้ ความต้องการบ้านที่ตอบสนองการใช้งานสองช่วงเวลาจึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘บ้านชุมแพ’ อันเรียบง่าย โดยได้สถาปนิกจาก Physicalist มาเป็นผู้ออกแบบ
บ้านตอบสนอง สองช่วงเวลา
ในการออกแบบ ด้วยลักษณะของที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดถนนใหญ่ ผู้ออกแบบใช้เพียงที่ดินส่วนด้านหลังของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากที่ดินส่วนที่เหลือด้านหน้า ทางเจ้าของเขาต้องการเก็บไว้เผื่อโครงการในอนาคต ซึ่งในพื้นที่ส่วนด้านหลังนี้ สถาปนิกเลือกออกแบบเป็นบ้าน 3 ชั้นเพื่อให้ครอบคลุมฟังก์ชันที่เพียงพอต่อความต้องการทั้งหมดของทางเจ้าของ
โดยบ้านที่ตอบสนองการใช้งานสองช่วงเวลาที่เรากล่าวไปข้างต้น คือ ในวันธรรมดาบ้านหลังนี้จะต้องตอบสนองการใช้งานของคุณพ่อคุณแม่ ที่ไม่ได้เวิ้งว้างใหญ่โต จนดูแลยากเกินไปนัก แต่ขณะเดียวกัน ในวันหยุด บ้านหลังนี้ก็ต้องมีฟังก์ชัน และทำหน้าที่เพื่อตอบสนองทุกคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
“แทนที่เราจะทำบ้านขนาดใหญ่มหึมาขนาด 7 ห้องนอนสามชั้น เราเปลี่ยนเป็นบ้านหนึ่งชั้นสามหลังซ้อนกัน ชั้นหนึ่งเป็นของคุณพ่อคุณแม่ เหมือนกับวันธรรมดาคุณพ่อคุณแม่ก็อาศัยอยู่ในบ้านหนึ่งหลัง หนึ่งชั้น ในวันหยุดที่ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตร่วมกัน มันจะกลายเป็นบ้านหลังใหญ่ ชั้นสองและชั้นสามก็จะเริ่มมีคนเข้าไปใช้งาน”



‘กล่องไม้’ ใจกลางของบ้าน
เมื่อบ้านถูกแบ่งสัดส่วนชัดเจนด้วยชั้นทั้งหมด 3 ส่วน ผู้ออกแบบตั้งใจสร้าง ‘กล่องไม้’ ใจกลางของบ้าน ซึ่งเป็นคอร์กลางหรือโถงบันได โดยที่ตัวกล่องไม้ตรงกลางนี้จะทะลุตั้งแต่ชั้นหนึ่งขึ้นมาจนถึงชั้นสาม เป็นตัวเชื่อมบ้านทั้งสามชั้นเข้าไว้ให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ซึ่งในบริเวณคอร์กลางตรงนี้จะแฝงไปด้วยฟังก์ชันรอง เป็นช่องเปิดที่ตอบสนองการใช้งานของฟังก์ชันหลักบริเวณรอบพื้นที่นั้นๆ อย่างเช่น ในบริเวณห้องนั่งเล่น พื้นที่จะถูกเจาะเข้าไป เพื่อเป็นช่องสำหรับวางโทรทัศน์ หรือบริเวณชั้น 2 พื้นที่ส่วนโถงทางเดิน ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เล่นสำหรับหลานๆ ที่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้เล่นร่วมกันได้
‘กล่องไม้’ นี้จึงเป็นเหมือนพระเอกของบ้าน ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละคนในครอบครัวเอาไว้ โดยสามารถมองเห็น และได้ยินเสียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในตลอดเวลา ในวันที่สมาชิกทุกคนมารวมตัวกันครบ ทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกถูกตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากมีการใช้งานร่วมกันของพื้นที่ผ่านตัวกล่องไม้ตรงกลางนั่นเอง
นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงสมาชิกภายในบ้านแล้ว ในแง่ของสถาปัตยกรรม กล่องไม้นี้ยังทำหน้าที่สร้างคาแรคเตอร์ให้กับบ้าน รวมถึงมีข้อดีที่ช่วยเรื่องระบบไหลเวียนของอากาศ ทำให้อากาศร้อนลอยขึ้นสู่ด้านบน และถูกระบายออกไปที่ชั้น 3 ได้ สร้างสภาวะที่สบายเพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยได้อีกทางหนึ่ง
พื้นที่ส่วนกลาง สร้างสัมพันธ์
“จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสำคัญมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่เจ้าของ request มาตั้งแต่แรกว่า ในวันที่ทุกคนมาอยู่รวมกัน ครอบครัวก็อยากจะให้ใช้พื้นที่และเวลาร่วมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง เราจึงพยายามทำให้มันมีขนาดใหญ่ แล้วก็เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้มากที่สุด”
บริเวณชั้น 1 สถาปนิกออกแบบให้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ทั้งหมด เสมือนกับว่าอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว ซึ่งนอกจากฟังก์ชันของคุณพ่อคุณแม่แล้ว บริเวณชั้นล่างยังประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนกลาง อย่าง ห้องรับแขก พื้นที่นั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหาร ที่ถูกออกแบบพื้นที่ให้มีความไหล เชื่อมต่อสเปซเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อดึงความเย็นของอากาศจากสระว่ายน้ำ ให้ไหลเวียนเข้ามาได้อย่างทั่วถึง
ส่วนบริเวณชั้น 2 จะเป็นฟังก์ชันของห้องนอนทั้งหมด 6 ห้อง ส่วนชั้น 3 จะเป็นพื้นที่ส่วนรวม พื้นที่อเนกประสงค์ที่สมาชิกทุกคนสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน หลานๆ จะมาใช้อ่านหนังสือ ทำการบ้านหรือปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ร้องคาราโอเกะ ซึ่งพื้นที่แต่ละจะถูกเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันทางแนวตั้ง ผ่านกล่องไม้ใจกลางบ้าน
ถึงแม้จะเป็นบ้านสามชั้น แต่หากเราลองสังเกต แต่ละชั้นของบ้านจะถูกจัดวางไม่ได้ซ้อนกันแบบตรงๆ เมื่อมองจากภายนอกลักษณะของอาคารจึงค่อนข้างเหลื่อมซ้อนกันไปมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการจัดการเรื่องขนาดไม่ให้ดูทึบตันและใหญ่โตเกินไปแล้ว ก้อนอาคารชั้น 2 ที่มีลักษณะยื่นออกมายังทำหน้าที่บังแดดบริเวณสระว่ายน้ำ และบังแดดให้กับชั้น 1 ทำให้บริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางนั้นสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ในขณะเดียวกันบริเวณชั้นสอง ยังมีการติดตั้งแผง Façade อลูมิเนียมเพื่อกรองแสงแดดให้กับการใช้งานบริเวณชั้นสองด้วย
มากกว่าคาแรคเตอร์ที่สร้างไฮไลท์ให้กับบ้านอย่างกล่องไม้ คงพูดได้ว่า ‘บ้านชุมแพ’ เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ใส่ใจความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันของครอบครัว จนนำมาเป็นโจทย์ของการออกแบบที่ช่วยเติมเต็มความหมายของการอยู่อาศัย ซึ่งถึงแม้ภายนอกจะมองดูเรียบง่าย แต่การใช้งานภายใน ล้วนถูกคิด ไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีผ่านกระบวนการออกแบบจากทีมสถาปนิก กว่าจะออกมาเป็น ‘บ้านชุมแพ’ อย่างที่เราเห็น