หากลองจินตนาการถึงประเทศ ‘ฟินแลนด์’ หนึ่งในประเทศกลุ่มนอร์ดิก หลายคนคงนึกถึงภาพแบรนด์ดังต่างๆ อย่าง Marimekko NoKia ภาพงานดีไซน์เรียบง่ายแต่แฝงด้วยรายละเอียดตามสไตล์การออกแบบในแถบแสกนดิเนเวียน หรืองานออกแบบที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับคนเมืองอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับ Alvar Aalto สถาปนิกชาวฟินแลนด์ นักออกแบบผู้รังสรรค์ผลงานโดดเด่นมากมาย เขาถือเป็นนักออกแบบคนแรกๆ ของยุคที่ก้าวออกจากการออกแบบที่คำนึงเพียงประโยชน์ใช้สอย สู่การสำรวจรูปทรงออร์แกนิกที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ พร้อมไปกับการมองหาวัสดุใหม่ จนเปรียบได้เป็น ‘เจ้าพ่อแห่งสมัยใหม่นิยม’ หรือสถาปนิกในยุคโมเดิร์นที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่ง
เส้นทางชีวิต สู่การเป็นสถาปนิกของ Alvar Aalto
Alvar Aalto เกิดในปีค.ศ.1898 ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในฟินแลนด์ โดยมีพ่อเป็นนักสำรวจที่ดิน และแม่เป็นครูสอนภาษาสวีเดน หลังจากอายุเพียง 5 ขวบได้ไม่นาน เขาได้ย้ายไปอยู่ที่ Jyväskylä หลังจบการศึกษาจาก Jyväskylä Lyceum อัลโตได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ และได้เข้าศึกษาต่อที่ Technical Institute of Helsinki ซึ่งถือเป็นสถาบันเดียวในฟินแลนด์ที่เปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์

หลังจากจบการศึกษา อัลโตได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป และเมื่อกลับมาเขาก็เริ่มทำงานเป็นสถาปนิกที่ Jyväskylä และได้แต่งงานกับ Aino Marsio ต่อมาในปี 1927 เขาย้ายสำนักงานของเขามาที่เมือง Turku และได้มีโอกาสออกแบบอาคาร Turun Sanomat (สำนักงานหนังสือพิมพ์) ในเมือง Turku โรงพยาบาลวัณโรคที่เมือง Paimio และหอสมุดเทศบาลที่เมือง Viipuri (ซึ่งในปัจจุบันคือ Vyborg ประเทศรัสเซีย) หลังจากการออกแบบอาคารทั้งสามแห่งนี้ ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง จนถูกมองว่าเป็นสถาปนิกที่ทันสมัยที่สุดในฟินแลนด์ และได้รับการยอมรับทั่วโลก

เอกลักษณ์ของการออกแบบที่บ่งบอกตัวตน
อาจเพราะลักษณะสภาพแวดล้อมรวมถึงอากาศที่แห้งแล้งและเหน็บหนาวของฟินแลนด์ บวกกับความแร้นแค้นจากภัยสงครามและปัญหาทางการเมือง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้คนฟินนิชหันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและกลมกลืนกับไปธรรมชาติ จนถ่ายทอดสู่งานดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในแบบแสกนดิเนเวียนที่หลายคนคุ้นเคย โดยส่วนใหญ่จะเน้นความเรียบง่ายที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก

หากเราลองสังเกต สถาปัตยกรรมรวมถึงงานออกแบบต่างๆ จากแถบแสกนดิเนเวียนมักจะใช้วัสดุธรรมชาติจำพวก ไม้ โลหะหรือ แก้ว เป็นหลัก รวมถึงรูปทรง เส้นสายที่มักมีรูปทรงลื่นไหล (Organic Form) มากกว่ารูปทรงเรขาคณิต (Geometric Form) การออกแบบของ Alvar Aalto ก็เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นการสะท้อนถึงตัวตนของเขานั่นเอง

Mount Angel Library, Portland, 1970

ห้องสมุดแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ยอดเขา Mount Angel Bendictine Monestary ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบโดยเน้นให้แสงธรรมชาติส่องสว่างได้อย่างทั่วถึงอาคาร และเน้นการเล่นระดับ ส่วนภายนอกมีการใช้กระจกแผ่นยาว ซึ่งเปลี่ยนทิศทางของแสงไปเรื่อยๆ เมื่อเดินผ่าน และเมื่อเราเดินลงไปถึงส่วนกลางของอาคาร จะเห็นชั้นหนังสือที่มีรูปร่างคล้ายพัดเรียงราย โดยได้แสงธรรมชาติภายนอกส่องเข้ามาอย่างทั่วถึง
ส่วนภายในจะออกแบบด้วยเส้นโค้ง และเน้นโทนสีขาวสะอาดตาและสีโทนอ่อนอย่างไม้ รวมถึงมีการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่อัลโตออกแบบเองอีกด้วย
Riola Parrish Church , Bologna , Italy, 1978

รูปแบบของโบสถ์ Riola Parrish Church ที่มีเส้นสายโค้งมนที่เราเห็น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเส้นคอนทัวร์ตามสภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์ของประเทศอิตาลี การออกแบบภายในโบสถ์ยังคงเน้นแสงธรรมชาติเพื่อแสดงถึงความสว่างและศักดิ์สิทธิ์ โดยแสงจะส่องผ่านโครงแนวตั้งและโครงทรงโค้ง ทำให้เกิดเป็นกริดของแสงอ่อนๆ ที่งดงาม ซึ่งแสงสว่างจากธรรมชาติจะส่องลงมาบริเวณที่นั่งประกอบพิธีกรรมสำหรับผู้นับถือศาสนาพอดิบพอดี
เฟอร์นิเจอร์ของ Alvar Aalto
ไม่เพียงแต่งานออกแบบสถาปัตยกรรม แต่ Alvar Aalto ยังมีงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น ที่โด่งดังจนเป็นเอกลักษณ์ของเขาที่ทำให้ผู้คนจดจำได้ อย่างเช่น Paimio Armchair ซึ่งเขาตั้งใจออกแบบไว้เพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยวัณโรค Paimio Sanatorium

จุดเด่นของเก้าอี้ตัวนี้จะอยู่ที่โครงสร้าง ซึ่งทำจากไม้อัดและไม้ลามิเนต เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกมากขึ้น เมื่อเก้าอี้ตัวนี้ถูกเผยแพร่ และได้รับความนิยม จึงเป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นต่อมาของ Aalto และทำให้เขาได้มีโอกาสก่อตั้งบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ที่ชื่อว่า Artek ร่วมกับภรรยาในภายหลัง

นอกจากเก้าอี้ที่เรากล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งผลงานที่เป็นภาพจำของ Aalto คือ Aalto Vase ซึ่งเป็นแจกันรูปทรงโค้งอิสระ โดยมีที่มาจากคำว่า Aalto ในภาษาฟินนิช ซึ่งแปลว่า ‘คลื่น’ นอกจากจะได้รับความนิยมจนเห็นได้บ่อยๆ แล้ว แจกันนี้ยังชนะการแข่งขัน Karhula-Ittala Glass Design Competition ในปี 1936 และถูกผลิตโดยช่างฝีมือจาก Ittala โรงงานเครื่องแก้วและภาชนะชื่อดังของฟินแลนด์ ที่ยังคงผลิตแจกันในคอลเล็กชั่นนี้ออกมาหลายสีมาจนถึงปัจจุบัน

จากการได้เห็นผลงานหลากหลายชิ้นของ Aalto คงพูดได้ว่าผลงานของเขา ล้วนมีองค์ประกอบของเส้นสายออร์แกนิกแบบธรรมชาติแฝงอยู่จนเปรียบเสมือนลายเซ็นที่ทำให้คนจดจำ ซึ่งถึงแม้จะอยู่ภายใต้ความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ แต่กลับแฝงแนวคิดที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมๆ กัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ถึงเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ Alvar Aalto ยังคงได้รับยกย่องให้เป็นสถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่มีผลงานน่าจดจำมากที่สุดอีกคนหนึ่งแห่งยุค
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก:
wikipedia , mountangelabbey , archdaily , divisare.com , readcereal , 1stdibs.co.uk , r-and-company , cdn.shopify.com