Location: เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา
Project Initiator: The Build Foundation และ Intercontinental Yao Yai Resort
Architect : ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ จาก Vin Varavarn Architects (VVA)
Contractor: OK19 Construction Company
Photographer: เกตน์สิรี วงศ์วาร
ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวหมู่เกาะน้อยใหญ่ในจังหวัดพังงาที่ถูกปกคลุมด้วยผืนทะเลกว้างใหญ่ ที่เกาะยาวใหญ่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนบ้านคลองบอน โรงเรียนในชุมชนที่ค่อนข้างไกลและเข้าถึงได้ลำบาก แต่ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สิ่งพิเศษที่ถูกค้นพบ คือ เด็กนักเรียนที่มีความสามารถด้านศิลปะที่โดดเด่น และมีกิจกรรมศิลปะอันหลากหลายภายในโรงเรียน รวมถึงยังมีงานหัตถกรรมท้องถิ่นของชาวบ้านที่มีคุณค่า ซ่อนอยู่ภายในชุมชนมุสลิมเล็กๆ แห่งนี้
จากสิ่งพิเศษที่ถูกค้นพบ ประกอบกับช่องว่างและโอกาสบางอย่างที่ยังขาดไป มูลนิธิไม่แสวงผลกำไรอย่าง The Build Foundation จึงสนใจที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ ให้กลายเป็นสถานศึกษาที่เหมาะสำหรับการเรียนการสอนอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยชักชวน ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ จาก Vin Varavarn Architects (VVA) มาเป็นผู้ออกแบบและรังสรรค์ให้โรงเรียนของเด็กๆ เป็นจริงตามที่คาดหวังไว้
เมื่อโรงเรียนและพื้นที่ศิลปะ ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว
“เรามีโอกาสไปดูไซต์ที่โรงเรียน และค้นพบว่า โรงเรียนนี้มีครูสอนศิลปะอยู่เพียงคนเดียว ชื่อคุณครูไข่ เขาก็สอนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงประถม แล้วก็สอนมานานกว่า 15 ปี ซึ่งเขาบอกว่าเดิมทีไม่มีห้องศิลปะหรอก เขาต้องเอาพื้นที่ห้องเรียน แบ่งเวลาออกมาทำพื้นที่ศิลปะบ้าง ค่อยๆ ขยับขยาย จนตอนนี้มีห้องศิลปะเล็กๆ อยู่ห้องหนึ่ง ที่เอาไว้ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมศิลปะ แม้จะมีข้อจำกัดขนาดนี้แต่เด็กๆ กลับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างดีเยี่ยม ชนะรางวัลระดับชาติมากมาย ทางมูลนิธิฯ และเราเลยเห็นตรงกันว่า ประเด็นเรื่องศิลปะน่าสนใจมาก และตัดสินใจว่าอยากจะนำเรื่องศิลปะเข้ามาเป็นตัวเล่าเรื่องของโรงเรียนนี้แทนที่จะเป็นอาคารเรียนปกติ”
จากความตั้งใจที่กล่าวไปข้างต้น ประกอบกับเรื่องราวที่น่าสนใจภายในเกาะยาวใหญ่ ซึ่งเป็นเกาะที่ค่อนข้างปิด และมีความเงียบสงบแฝงไปด้วยวัฒนธรรมในชุมชนมุสลิมที่น่าสนใจ โดยจะมีชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยวบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าเกาะอื่นๆ โดยรอบ ทีมออกแบบ มูลนิธิ และโรงแรมใหญ่แห่งแรกที่กำลังจะสร้างขึ้นที่เกาะยาวใหญ่อย่าง Intercontinental Yao Yai Resort จึงคุยกันว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้พื้นที่อาคารเรียนแห่งนี้ช่วยสร้างกิจกรรมที่สามารถดึงนักท่องเที่ยว ให้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชุมชนในรูปแบบที่ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือบางครั้งอาจจะมีงานหัตถกรรมของชาวบ้านมาวางให้ได้เห็น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชาวบ้านในเกาะไปด้วยในตัว
โรงเรียน + พื้นที่ศิลปะ สู่การจัดการสเปซ
เมื่อได้โจทย์ในใจที่ค่อนข้างแน่นอน โดยความต้องการพื้นที่ใช้สอยหลักของโรงเรียนจะแบ่งออกเป็นห้องเรียน 4 ห้อง ห้องพักครู 1 ห้อง รวมถึงห้องสมุด ห้องน้ำ และพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมด้านศิลปะซึ่งจะเป็นเหมือนพระเอกหรือจุดเด่นของอาคารหลังนี้
“ทางโรงเรียนเขาไปสเก็ตช์แบบแปลนของโรงเรียนมาให้เลย แล้วก็ส่งมาให้เรา เพราะเขามีในใจว่าอยากได้แปลนอาคารแบบนี้ คือชั้นล่างเป็นห้องศิลปะ มีห้องน้ำ มีบันไดตรงกลาง อีกฝั่งหนึ่งเป็นห้องสมุด ชั้นบนเป็นห้องเรียน หลังจากเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ ทีนี้เราก็กลับมามองดูว่า มันสามารถที่จะทำพื้นที่ให้มันดีกว่านี้ได้หรือเปล่า เราก็เลยลองปรับดูว่า จะทำอย่างไรให้มันเกิดสเปซที่น่าสนใจมากขึ้น”
ภาพสเก็ตช์แสดงแนวคิดโรงเรียนบ้านคลองบอน
โดยปกติอาคารเรียนที่เรามักเห็น จะมีโถงทางเดิน (Corridor) อยู่บริเวณด้านหน้าของอาคาร ขนาบไปด้วยห้องเรียนที่เรียงตัวกันอยู่ด้านหลัง แต่อาคารหลังนี้กลับแตกต่างออกไป โดยทางสถาปนิกปรับเปลี่ยนพื้นที่ห้องเรียนชั้นสอง หันโถงทางเดินไปไว้ด้านหลังของอาคารเรียนแทน ซึ่งจะสามารถมองเห็นภูเขาที่อยู่ด้านหลังโรงเรียนได้
ห้องเรียนที่อยู่บริเวณด้านหน้า จะถูกปรับให้ยื่นออกมาเล็กน้อย เกิดเป็นสเปซช่องว่างแต่ละห้องเรียน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ชั้นล่าง เกิดเป็น Double Space ซึ่งเอื้อต่อการสร้างเป็นพื้นที่กิจกรรมศิลปะ เนื่องจากไม่อุดอู้ มีแสงธรรมชาติ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กๆ เดิน หรือนั่งเรียนอยู่ที่ห้องเรียนด้านบน เขาก็ยังสามารถมองลงมาเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นด้านล่างได้ด้วย สร้างความต่อเนื่องระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง ต่างจากอาคารเดิมซึ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน
โจทย์ต่อมาคือ พื้นที่ตั้งที่มีระดับพื้นดินไม่เท่ากัน เนื่องจากเป็นพื้นที่เชิงเขา บริเวณตรงกลางจึงถูกวางไว้ให้คอร์บันไดของอาคาร ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างระดับสูงกับระดับต่ำ และออกแบบให้เป็นที่นั่งในลักษณะคล้ายกับอัฒจรรย์เล็กๆ ที่อยู่ใต้ชายคา เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถมานั่งดูสไลด์ หรือวิดิโอที่ฉายขึ้นผนังได้ด้วย
หากเดินถัดจากพื้นที่นั้น จะเจอกับพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งได้ประโยชน์จากพื้นที่ต่ำกว่า ทำให้ได้สเปซที่ค่อนข้างมีฝ้าสูง ซึ่งนอกจากเป็นห้องสมุดแล้ว สถาปนิกและทีมยังมองว่าน่าจะใช้สำหรับจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย อย่างเช่น สัมมนา เชิญแขกของชุมชนมาพูด หรืออาจจะทำเป็นมาร์เก็ตเล็กๆ ที่นำของท้องถิ่นจากชาวบ้านมาตั้งขายให้กับนักท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์ภายในห้องนี้ จึงเป็นชั้นหนังสือที่เตี้ย และมีล้อเพื่อที่จะเลื่อนเก็บ หรือเคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นตามกิจกรรมต่างๆ
โรงเรียนเรียบง่าย ที่ใส่ใจบริบทพื้นบ้านและความเป็นทะเล
แรกเริ่มเดิมที อาคารนี้ถูกออกแบบไว้เป็นโครงสร้างเหล็ก แต่ด้วยขั้นตอนและปัญหาระหว่างทางมากมาย ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปกว่ากำหนด ทางทีมงานก่อสร้างจึงเสนอให้เปลี่ยนระบบโครงสร้างเป็นระบบ Precast หรือเป็นการหล่อคอนกรีตสำเร็จรูป แล้วนำขึ้นเรือมาประกอบกันหน้างานคล้ายกับการต่อเลโก้ เพื่อให้โรงเรียนเสร็จได้ทันในระยะเวลากำหนดเปิดโรงเรียน
รูปลักษณ์ของอาคารที่เราเห็น จึงเป็นลักษณะโชว์โครงสร้างคอนกรีต ซึ่งผู้ออกแบบเองก็มองว่า อาคารแฝงไปด้วยความเท่ในแบบของมัน แต่เพื่อไม่ให้อาคารเรียนของเด็กๆ ดูดุดัน และแข็งกระด้างเกินไป จึงมีการนำวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่เข้ามาผสมผสาน เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติและอ่อนโยนมากขึ้น
แน่นอนว่า การออกแบบอาคารย่อมต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพอากาศของภูมิประเทศนั้นๆ ซึ่งโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ภาคใต้ จึงอาจมีมรสุมและฝนตกชุกในบางช่วง ห้องสมุดหรืออาคารบริเวณชั้นล่างจึงถูกออกแบบช่องเปิดที่จำเป็นต้องปิดได้ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนเข้าไปสู่พื้นที่ด้านใน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดระบายอากาศได้ดีในวันที่ไม่มีฝนตกนั่นเอง
“คือมันไม่ได้เป็นแค่ห้องเรียน แต่เราต้องมองว่านักเรียนเข้าไปเรียนแล้วเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้เขามีความสุขที่เขาจะได้ไปโรงเรียน ห้องเรียนแบบไหนที่มันเกื้อหนุนความรู้สึกของเขาให้เขาสนุกกับการเรียน ซึ่งผมคิดว่า แบบอาคารเรียนในปัจจุบัน มันยังมีรูปแบบเดียว ถ้าเป็นไปได้ มันน่าจะมีบางครั้งที่อาคารเรียนเหล่านี้ สามารถที่จะปรับให้เข้ากับการใช้งานในภูมิภาค หรือการเรียนการสอนในรูปแบบที่มันแตกต่างกันออกไป” สถาปนิกกล่าว