OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Gahn Hotel กับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วย Sense of place ของวัฒนธรรมเลือดผสม “บาบ๋า-ย่าหย๋า”

Location : Takuapa, Phang nga
Area : 1,080 Sq.m.
Architect : Studio Locomotive
Owner : ครอบครัวอนุศาสนนันท์
Photographer : Beersingnoi ArchPhoto

โรงแรมกาล” หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ทีมสถาปนิกจาก Studio Locomotive ได้ตั้งใจออกแบบความรู้สึกต่อ Place หรือ Sense of place ของวัฒนธรรม “บาบ๋า ย่าหย๋า” ให้สะท้อนอยู่บนการใช้งาน ด้วยความเชื่อในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ สู่การปรุงส่วนผสมระหว่าง “ลักษณะของพื้นที่” กับ “ประสบการณ์ของผู้คน” ให้มีความเชื่อมโยงกันผ่านสเปซของโรงแรมกาล เพื่อมอบการรับรู้ถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม “บาบ๋าย่าหย๋า” ให้กับแขกของโรงแรมผ่านประสบการณ์ระหว่างการพักผ่อน

บาบ๋า ย่าหย๋า
วัฒนธรรมเลือดผสมของชาวจีนที่อาศัยอยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย

“บาบ๋า และ ย่าหย๋า” ชื่อเรียกลูกหลานชาวจีน – มาลายู ที่ได้ล่องสำเภาอพยพมาทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยในสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ และถือกำเนิดเป็นวัฒนธรรมเลือดผสมที่กระจายการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งโรงแรมกาล ณ เมืองตะกั่วป่าแห่งนี้ คือหนึ่งในสายเลือดบาบ๋าย่าหย๋าที่ต้องการเล่าถึงความภูมิใจในวัฒนธรรม และส่งต่อวิถีชีวิตจีนเลือดผสมผ่านดีไซน์ของโรงแรม เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ให้คนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวยังสามารถพบเห็นวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหย๋าได้ ณ ที่แห่งนี้ ผ่านสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

 “ ความหมาย ความเป็นมา และการเข้าถึง ”
ที่ถูกสื่อสารผ่านสถาปัตยกรรม

แน่นอนว่าเมื่อโจทย์ของทางเจ้าของโครงการต้องการให้โรงแรมกาล สามารถถ่ายทอดความภูมิใจในวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหย๋าของเมืองตะกั่วป่าออกมาได้อย่างอบอุ่นและไม่ยัดเยียด ทีมสถาปนิกที่จะเข้าใจบริบทและถ่ายทอดวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหย๋าผ่านสถาปัตยกรรมได้อย่างเข้าอกเข้าใจก็คงต้องเป็นสถาปนิกท้องถิ่น อย่าง Studio Locomotive ทีมสถาปนิกเมืองภูเก็ตที่มีการออกแบบเน้นในเรื่องของ Sense of place หรือการสื่อสารระหว่างผู้คนกับลักษณะของพื้นที่ ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส หรือชิโนโคโลเนียล อีกหนึ่งชื่อที่ถูกนำมาเรียกกันในภายหลังเพื่อให้ครอบคลุมในด้านพัฒนาการของสถาปัตยกรรมมากขึ้น
 
เราต้องการให้แขกหรือผู้ที่เข้ามาสัมผัสในพื้นที่ เข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อ หรือเข้าใจว่าโรงแรมกำลังเล่าอะไรอยู่โดยที่ไม่ถูกยัดเยียด แต่เขาสามารถสัมผัสและเข้าใจได้เองว่านี่คือวัฒนธรรมของที่แห่งนี่ ” สถาปนิกกล่าว ดังนั้นการนำเสนอวิถีชีวิตผ่านการออกแบบโรงแรมกาล จึงได้ถูกถ่ายทอดกลิ่นอายผ่านการจัดวาง Layout รายละเอียด และการรักษาวัสดุ รวมถึงการนำภูมิปัญญาการก่อสร้างมาประกอบกันอีกทั้งสถาปนิกจาก Studio Locomotive ยังได้เล่าถึง Detail การออกแบบโรงแรมกาลแห่งนี้ให้ได้ฟังอีกว่า “จริงๆ เราเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งแต่ละส่วนก็ล้วนแต่เป็นการสื่อสารถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหย๋า อย่างเช่นตู้ไม้เฟอร์นิเจอร์ที่สื่อเรื่องราวมาจากบ้านคนจีนที่มักเป็นอาคารแถวขายของและใช้ตู้ไม้นี้ในการโชว์สินค้า แต่พอนานวันเข้าก็กลายเป็นชั้นวางของตั้งโชว์ทั้งรูปครอบครัวหรือของชำร่วยต่างๆ เราก็พยายามเก็บรายละเอียดและเล่าถึงส่วนนี้เข้าไปในงานออกแบบด้วย เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวในแบบที่ไม่ปรุงแต่งและสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตของที่นี่จริงๆ รือแม้แต่รายละเอียดในส่วนของบันได ที่เป็นทั้งวิถีชีวิตในแบบบ้านสไตล์ชิโนโปตุกีสและภูมิปัญญาการก่อสร้าง ที่โดยปกติแล้วบ้านสไตล์ชิโนโปตุกีสมักจะพบเห็นเป็นบันไดไม้ และนิยมก่อปูนขึ้นมา 3-4 ขั้น เพื่อให้จบกับพื้นและรองรับโครงสร้างของบันได ซึ่งส่วนนี้อาจไม่ได้มีการถูกบันทึกไว้แต่เป็นการพบเห็นตามวัฒนธรรมที่ทางผู้ออกแบบก็นำมาเพิ่มกลิ่นอายของบ้านชิโนโปตุกีสด้วย รวมถึงส่วนของเพดานที่ทางผู้ออกแบบก็เลือกที่จะเปลือยโชว์ความดิบ เพราะสามารถลงรอยกับการออกแบบส่วนอื่นและสื่อสารเรื่องราวของวัฒนธรรมได้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า

“ หง่อคาขี่ ”
กับวัสดุเหนือกาลเวลา

หากพูดถึงบ้านสไตล์ชิโนโปตุกีส “หง่อคาขี่” หรือช่องทางเดือน 5 ฟุต บริเวณหน้าบ้าน คือหนึ่งในเอกลักษณ์ที่จะช่วยสร้าง Sense of place และความคุ้นชินของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหง่อคาขี่ยังเปรียบเสมือนรั้วที่ช่วยสร้างขอบเขตในส่วนของด้านหน้าโรงแรมให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น ด้วยวัสดุเหนือกาลเวลาที่ล้อไปกับชื่อของโรงแรมอย่าง “เหล็ก” ที่ช่วยทำให้หง่อคาขี่และดีไซน์โดยรวมดูทันสมัยขึ้นสู่สไตล์ชิโนโคโลเนียลที่เหมาะกับยุคสมัยแต่ก็ยังสื่อถึงวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้อย่างชัดเจน

ถ้าในอีก 20 ปี หรือ 40 ปี ข้างหน้า เรากลับมาดูโรงแรมกาลแห่งนี้ แน่นอนว่าเราจะเห็นโรงแรมดูเปลี่ยนไปด้วยสีของวัสดุเหล็กที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากสีดำในวันนี้วันนั้นอาจกลายเป็นสีน้ำตาล แต่โดยรวมสิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ Massage หรือสารที่เราจะสื่อไปถึงแขกและคนที่พบเห็น ” สถาปนิกกล่าว
ในส่วนของภายในห้องพักก็มี Detail และการเล่นกับวัสดุเพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมอยู่หลายจุดเช่นกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ระหว่างการพักผ่อนให้กับแขกที่เข้ามาพักรับรู้ได้ถึงความเป็นชิโนโปตุกีสอย่างแท้จริงโดยไม่ปรุงแต่ง ผนวกกับโทนสีภายในห้องพักและวัสดุไม้ก็ยังช่วยเสริมให้บรรยากาศภายในห้องพักดูผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยมอบความรู้สึกที่อบอุ่นเป็นกันเองให้กับแขกที่เข้าพักเหมือนกับได้พักอยู่ที่บ้านของญาติพี่น้องตนเอง

อย่างไรก็ตามสำหรับการออกแบบในเรื่องของ Sense of place นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะ เป็นเรื่องของความรู้สึกต่อพื้นที่ และจะทำอย่างไรหรือจะออกแบบอย่างไรให้กับผู้คนได้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น Place แก่นกลางของการสร้าง Place จึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน ความผูกพัน และความพอใจต่อพื้นที่นั้นๆ อย่าง โรงแรมกาลกับการรับรู้ต่อวัฒนธรรมบาบ๋าย่าหย๋า แห่งนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading