“ฟังก์ชันมันคือพื้นฐาน แต่สิ่งที่มากกว่าคือความรู้สึกและประสบการณ์ของคน”
นอกจากตัวสถาปัตยกรรมที่ผ่านกระบวนการออกแบบมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมสมบูรณ์คือ ผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานนี่แหละที่ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสถาปัตยกรรมเหล่านั้นตอบโจทย์หรือทำหน้าที่ของมันได้ดีมากแค่ไหน?
หากมองรูปลักษณ์หน้าตาผลงานของ Onion ที่โดดเด่นด้วยความคลีนและเรียบง่าย แต่มักจะแฝงรายละเอียดของการออกแบบผ่านวัสดุ ช่องเปิดหรือมุมมองต่างๆ ที่น่าสนใจและชวนให้เราตั้งคำถามเอาไว้เสมอ หลังจากที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนออฟฟิศของ ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ และเป็นกันเอง เราจึงถือโอกาสพูดคุยกับ คุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ และคุณป้อ-ศิริยศ ชัยอำนวย สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Onion ถึงจุดเริ่มต้น รวมถึงเบื้องหลังการออกแบบกว่าจะออกมาเป็นสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักมากมายอย่าง SALA Ayutthaya , SALA Samui Chaweng Beach Resort , SALA khao yai รวมถึงผลงานล่าสุดอย่างร้านอาหารบ้านป้อมเพชร จังหวัดอยุธยา
คุณป้อ-ศิริยศ ชัยอำนวย และคุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Onion
Dsign Something : เส้นทางของออฟฟิศ หรือจุดเริ่มต้นของ Onion
คุณป้อ: โห…นี่คือย้อนไปนานมากเลยนะ คือจริงๆ เราเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันตั้งแต่ตอนเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ แต่ออเขาเรียนสถาปัตย์ภายใน ป้อเรียนสถาปัตย์หลัก พอเรียนจบเราก็แยกย้ายกันไปทำงาน ไปเรียนต่อ ซึ่งออเขาไปเรียนที่ฮอลแลนด์ ส่วนป้อเรียนที่อังกฤษ พอต่างคนต่างเรียนจบ ทำงานสักพักหนึ่งก็กลับมาคุยกัน เปิดออฟฟิศด้วยกัน คือเรามองว่า สิ่งสำคัญคือมันต้องลองทำงานด้วยกันก่อนเนอะ ว่าทำงานด้วยกันได้ไหม ซึ่งเราเริ่มทำงานด้วยกัน 2-3 โปรเจกต์ พอทำแล้วมันเวิร์ค เราก็เริ่มมาเซตออฟฟิศ Onion ด้วยกันตรงนี้
ภาพบรรยากาศภายในออฟฟิศ Onion
Dsign Something : มีภาพที่คิดไว้ไหม ว่านี่แหละคือแนวทางของ Onion
คุณป้อ : ไม่มีเลย…จริงๆ นะ (หัวเราะ) คือเราไม่ได้กำหนดเลย เราพยายามหาทิศทางใหม่ๆ ที่มันเปลี่ยนไป เราเองมองว่าการกำหนดทิศทางมันยาก เพราะสุดท้ายแล้วงานที่ออกมามันก็แล้วแต่โปรเจกต์ โจทย์ไม่เหมือนกัน ไซต์ก็ไม่เหมือนกัน เราเองก็ไม่มีทางรู้ว่าโจทย์จะเป็นอย่างไร สมมติเราทำงานที่หนึ่ง งานที่สอง สาม สี่ เราก็จะพยายามพัฒนาต่อ ให้มันแตกต่างออกไปจากงานที่เราทำผ่านๆ มา
คุณออ: ใช่ ตอนแรกๆ เราก็พยายามพูดแบบนี้แหละว่าแต่ละงานมันไม่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่หลังๆ คนก็เริ่มจำได้ว่างานของเรามักจะทำแบบนี้ มักจะเป็นแบบนี้ เหมือนเริ่มมี Signature อะไรบางอย่าง
Dsign Something : Signature ที่ว่านั้น คุณป้อและคุณออคิดว่ามันคืออะไร?
คุณออ : คือเราอาจจะเป็นคนที่ชัด ที่เคลียร์ว่าเราต้องการอะไร มันก็เลยเป็นความคลีนก็คงมีให้เห็นในทุกๆ งาน แต่อย่างถ้าถามว่างานเราโมเดิร์นไหม มันก็ไม่เสมอไปนะ เพราะเรายังชอบความคราฟท์อยู่ แต่เราแค่ใส่รายละเอียดเฉพาะสิ่งที่จำเป็น เราจะใส่ให้มันน้อยที่สุด แต่ให้มันได้ผลมากที่สุด
คุณป้อ : ซึ่งสำหรับเรา เรามองว่าความคลีนไม่ได้เป็นหัวใจหลักของการออกแบบนะ แต่ความรู้สึกหรือประสบการณ์มันเป็นโจทย์ของเรามากกว่า เปรียบเทียบอย่างเวลาเราดูหนัง เราออกจากโรงหนังมาแล้ว หนังมันยังทำให้เราคิดถึงมัน หรือทำให้เรารู้สึกอะไรไปกับมัน นี่ก็เหมือนสถาปัตยกรรมหรืองานอินทีเรียที่เราพยายามทำ คือพยายามตั้งคำถามว่าเมื่อคนเข้าไปแล้วกลับออกมาเขารู้สึกถึงอะไร สิ่งที่เน้นมันก็เลยเป็นการเล่นกับความรู้สึกหรือการมองเห็น เพื่อให้เขาเอากลับไปคิดถึงต่อ
Dsign Something : การออกแบบสักโปรเจกต์หนึ่งมีวิธีการจัดการ หรือโฟกัสกับตรงไหนเป็นพิเศษไหม
คุณออ : เราต้องจับหัวใจของโปรเจกต์ให้ได้ก่อนที่จะทำ คือต้องมีแผนว่าจะไปทางไหน ซึ่งเรามักจะเริ่มจากความรู้สึกของผู้ใช้งานที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นในสเปซมากกว่า แล้วเราค่อยหาวิธีการทำมันออกมา แต่ละโปรเจกต์ วิธีการมันก็เลยไม่เหมือนกัน เราคิดถึงองค์รวมของคนที่จะเข้าไปก่อน เราไม่ได้มีภาพว่าสถาปัตยกรรมของเราต้องหน้าตาเป็นอย่างไรตั้งแต่ต้น เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเรา
คุณป้อ : เราว่ามันต้องดูทุกอย่างเลยนะ เราดูทุกอย่างที่เอามาเป็นคอนเซ็ปต์ได้ แต่ละไซต์ แต่ละโจทย์ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นอะไร ซึ่งถ้าเห็นอะไรเป็นจุดแข็งหรือจุดเด่น เราก็จะพยายามเอามาใช้เพื่อเป็นพระเอกของโครงการ ถ้าตัวไซต์มีความพิเศษ ก็ต้องดึงความพิเศษของมันออกมา
โปรเจกต์ SALA khao yai (Photo Credit: Pruk Dejkhumhang)
อย่างศาลาเขาใหญ่ ไซต์มันสวยมาก ด้วยความมีภูเขา เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรดี ให้มันดูไม่มีอาคารอยุู่เลย เราก็เลยขุดตัวภูเขาออกแล้วฝังตัวอาคารลงไปให้มันกลมกลืนหายไปกับธรรมชาติ อันนี้เป็นไอเดียหลักที่เราใช้ ซึ่งการวางทางสัญจรเราก็พยายามทำให้คนค่อยๆ รู้สึก ด้วยการเริ่มจากจุดที่ปิดๆ แคบๆ ก่อน แล้วพอถึงจุดหนึ่งค่อยมาเปิดออกให้เห็นวิวทิวทัศน์ 360 องศา ซึ่งมันเป็นการวางเลย์เอาท์แปลนที่ทำให้คนรู้สึกกับสเปซที่เราสร้าง
โปรเจกต์ SALA khao yai (Photo Credit: Pruk Dejkhumhang)
Dsign Something : แล้วถ้าเป็นโปรเจกต์ที่ไซต์ไม่ได้มีศักยภาพด้านมุมมอง มีวิธีการจัดการกับมันอย่างไร
คุณออ: อย่างศาลาเฉวงก็ไม่ได้วิวสวยนะ คือมันจะมีสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งติดทะเล อีกฝั่งไม่ติด มันก็เลยไม่มีวิวให้มอง แต่เราก็ยังใช้วิธีการนี้แหละในการจัดการกับทางเดินกับประสบการณ์ของคน แต่อย่างที่อื่นเราจะมีทางบังคับชัดเจนว่าตรงนี้เราอยากให้เขาเห็นอะไร แต่ที่นี้เราเปลี่ยนให้การเดินมันอิสระขึ้น เขาสามารถเดินไปตรงไหนก็ได้ เป็นทางแยกให้เลือก วิธีการมันก็แตกต่างกัน แต่ถามว่าเราวางแผนไว้ไหม ใช่ เราคิดมาให้มันเป็นแบบนี้
คุณป้อ : อย่างที่เฉวง อีกฝั่งหนึ่งที่ติดทะเลสวย แปลนก็จะออกแบบเป็นตัว U เพื่อรับวิวให้ได้มากที่สุด ส่วนฝั่งที่มันไม่เห็นวิว เราก็มีการเจาะช่องเปิดของอาคารแบบต่างๆ ให้คนที่ใช้งานได้มองเห็นท้องฟ้าแทน คือเราจะพยายามมองหาประสบการณ์ในการใช้งานให้ได้มากที่สุด
โปรเจกต์ Sala Chaweng Phase I (Photo Credit: Wison Tungthunya)
Dsign Something : หัวใจสำคัญของงานสถาปัตยกรรมสำหรับ Onion คือ ผู้ใช้งาน?
คุณป้อ : คืออย่างฟังก์ชัน ยังไงต้องมีอยู่แล้วไม่ต้องพูดถึงเลย อะไรก็ตามในโลกนี้ถ้ามันไม่ฟังก์ชัน ก็คือมันไม่เวิร์ค ฟังก์ชันมันคือพื้นฐาน แต่สิ่งที่มากกว่าคือความรู้สึกและประสบการณ์ของคน มันก็เลยทำให้เราดึงข้อเด่นของแต่ละงานออกมาไม่เหมือนกัน แต่ประสบการณ์มันก็รวมหมดทุกอย่างนะ อย่างการใช้วัสดุ แสงที่ปรากฏ เงาที่เกิดขึ้น ระดับขั้นที่เดิน ทุกๆ อย่าง ตรงนี้ ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งานหมดเลย
คุณออ : ซึ่งหลังจากที่เราโฟกัสกับฟังก์ชัน ความรู้สึก ประสบการณ์แล้ว เราก็เริ่มมาดูว่าสถาปัตยกรรมเรามันเข้ากับชุมชน บริบทรอบข้างไหม อย่างวัสดุที่ใช้ออกแบบต่างๆ มันจะต้องไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้าน
โปรเจกต์ Sala Chaweng Phase II (Photo Credit: Wison Tungthunya)
Dsign Something : ส่วนมาก Onion รับงานแบบไหน?
คุณออ: น่าจะเป็นงาน Public เราไม่ค่อยรับงาน Residential เท่าไร เราชอบทำงานที่มีคนเยอะๆ หน่อย อย่างโรงแรม ร้านอาหาร อะไรแบบนั้น เพราะเรามองว่า บ้านมันชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ว่าเราทำบ้านให้เจ้าของบ้าน มันไม่สามารถเล่นอะไรกับประสบการณ์ของเขาได้มาก บางทีมันก็เหมือนเราไปบีบบังคับเขา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เนอะ (หัวเราะ)
คุณป้อ: คือบ้านมันค่อนข้างเป็นส่วนตัวมากๆ แต่อย่างงาน Public เรามองว่ามันสนุกดี เพราะว่าคนเรา มักจะต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอด อย่างโปรเจกต์ Samyan Mitrtown เราก็ไปมองว่า ทำอย่างไรให้คนที่เขามาอ่านหนังสือเขารู้สึกว่า เออ ไม่ต้องอ่านที่บ้าน มาอ่านตรงนี้ดีกว่า อะไรแบบนั้น
โปรเจกต์ Samyan Co-Op Samyan Mitrtown (Photo Credit: Wison Tungthunya)
Dsign Something : ถ้าให้เปรียบเทียบ Onion เป็นดนตรีหรือภาพยนตร์สักแนว
คุณออ : คิดว่าน่าจะเป็นแนวเพลงที่มันสดใสหน่อยไหม แบบแฮปปี้ มีความ Positive หน่อยๆ ฟังได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ แต่ถ้าเป็นหนัง น่าจะเป็นหนังที่ดูง่าย แต่มีความตลกร้ายแบบเบาๆ (หัวเราะ) หรือถ้าเปรียบเทียบเป็นตุ๊กตาก็อาจจะดูโหดนิดๆ แต่แฝงความน่ารักเอาไว้
โปรเจกต์ Workspace Boonthavorn design village (Photo Credit: Ketsiree Wongwan)
Dsign Something : ทำไม หัวหอม (Onion) ถึงมาเป็นชื่อออฟฟิศได้
คุณออ : เราเคยคุยกันว่า เราชอบอะไรที่มันเรียบง่ายๆ ชัดเจน และคนเข้าใจง่าย แต่เราก็ยังเป็นคนที่ชอบรายละเอียด ชอบอะไรที่มีความเป็นเลเยอร์หลายๆ ชั้น ซึ่งคำว่า Onion มันน่าจะใช่ มันเป็นสิ่งที่ทุกบ้านมี ทุกชาติมี ส่วนใหญ่ก็เป็นเบสิกที่จะใส่ในอาหารเกือบๆ ทุกจาน แล้วถ้าไม่ชอบก็น่าจะเกลียดไปเลย (หัวเราะ)
Dsign Something : เป้าหมายของ Onion ในอนาคต
คุณออ : เราไม่ได้คาดหวังนะ เพราะทุกวันนี้เราคิดว่าเราจะทำงานทุกงานให้มันออกมาดี ซึ่งพอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ เราก็มีโอกาสได้ทำโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น ต้องรับผิดชอบมันมากขึ้น ให้ได้เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ
คุณป้อ : บางคนอาจจะคิดถึงเรื่องสเกลของงาน แต่เราไม่ได้คิดถึงมันมาก เราคิดว่าเราจะอยู่ตรงนี้ ประมาณนี้ บวกลบไม่เท่าไร แต่สิ่งที่สำคัญก็คงจะพัฒนาผลงานไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้มันติดอยู่กับที่มั้งครับ (หัวเราะ)