นับว่าย่าน ‘สยามแควร์’ เป็นแหล่งความเจริญที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอดีต ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เคยมีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ถึงสามโรงที่เป็นดั่งเหล่าสามทหารเสือตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ ประกอบไปด้วย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาล่า
ทุกสถานที่ล้วนผ่านเรื่องราวท่ามกลางความทรงจำผู้คนมาอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือโรงภาพยนตร์เหล่านี้ได้ทยอยปิดตัวลง เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมและด้วยเหตุปัจจัยอื่น ๆ เริ่มจากโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างโรงภาพยนตร์สยามได้ถูกปิดตัวลงในปี 2553 ต่อมาโรงภาพยนตร์ลิโดได้ถูกปิดตัวลงในปี 2561 และถึงคราวน้องคนสุดท้องอย่างสกาล่าที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าประดับประดาด้วยแสงไฟสว่างไสว ก็กำลังจะปิดตัวลงอย่างถาวรในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 คิดเป็นระยะเวลา 52 ปีที่สกาล่าได้เปิดให้บริการ
52″ La Scala
เนื่องจากการปิดตัวลงของ Scala เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนกับสถานที่แห่งนี้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ ความฝัน และความสุข ในระยะเวลากว่า 52 ปี โดยใช้ Concept ในการนำเสนอว่า ‘52″ La Scala’
52 คือตัวเลขปีที่ Scala ได้ทำการเปิดบริการมอบความสุขให้กับผู้คน
52″ คือเวลาของ Speed Shutter ที่ถูกเปิดทิ้งเอาไว้เพื่อเก็บภาพความทรงจำในวันอำลาของ Scala
ตัวเลขทั้งสองถึงแม้จะมีความหมายที่แตกต่างกันแต่กลับสามารถเชื่อมโยงและทำให้เราเห็นถึงการเคลื่อนไหว ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของผู้คนตลอด 52 วินาที ที่อาจจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่กลับทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตของผู้คน ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง ในทางกลับกันมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปนั่นก็คือ สถาปัตยกรรมและความทรงจำของผู้คนที่ยังคงทิ้งเอาไว้ ณ สถานที่แห่งนี้
โรงภาพยนตร์ที่โดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรม
ชื่อของสกาล่ามีที่มาที่ไปมาจากโรงอุปรากรที่ชื่อว่า Teatro alla Scala ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า Scala มีความหมายในภาษาอิตาลีแปลได้ว่า บันได โดย Scala ไม่ได้มีแต่เพียงที่ประเทศไทยหรืออิตาลีเท่านั้น แต่สามารถพบได้ทั่วไปตามพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกอย่างเช่น อังกฤษ โปรตุเกส หรือแอฟริกา ที่มีจุดประสงค์ในการสร้างเหมือนกันคือต้องการให้เป็นโรงภาพยนตร์
ซึ่งทุกที่ก็จะมี Scala เป็นของตัวเอง ที่แตกต่างกันออกไปตามรายละเอียด แต่ยังคงมีกลิ่นอายของโรงอุปรากรที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสถาปัตยกรรม โดยสกาล่าในประเทศไทยออกแบบโดยคุณจิระ ศิลป์กนก ได้ใช้รูปแบบศิลปะแบบ Art Deco ที่เน้น ความสง่างาม คลาสสิก หรูหรา
และโดดเด่นไปด้วยโคมไฟแชนเดอเลียร์ขนาด 3 ตันที่สั่งตรงมาจากอิตาลี ณ ใจกลางโถงบันไดขนาดใหญ่ ผสมผสานกับเส้นโค้งของเสาคอนกรีตได้อย่างปราณีตและลงตัว ผลพวงจากความงามทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นในปี 2555
Final Touch of Memory
แม้จะเป็นวันสุดท้ายที่ Scala ได้เปิดให้บริการแต่ผู้คนก็ยังคงให้ความสนใจและมาเยี่ยมชมอำลากันอย่างคับคั่ง มีผู้คนมาเขียน Post-it อำลากันนับร้อยแผ่น ผ่านเวลามาเนิ่นนานกว่า 52 ปี ที่โรงภาพยนตร์สกาล่าได้มอบความบันเทิงกับผู้คน Uniform สูตรเหลืองที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
กลิ่นของป๊อปคอร์นที่ลอยฟุ้ง ผิวสัมผัสนุ่ม ๆ ของเบาะ เสียงของภาพยนตร์ที่สุดแสนจะตื่นเต้น และภาพบนพื้นผิวของผ้าใบบนจอหนัง ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจ ชวนเราหวนคิดถึงวันวานอยู่เสมอ สกาล่าจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ แต่ Scala คือผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดระยะเวลากว่ากึ่งศตรวรรษ ท่ามกลางแสงไฟทุกดวงที่เปิดอย่างไม่เคยหลับไหล
Scala ก็เปรียบเหมือนหนังเรื่องหนึ่งที่เราไม่อยากให้มันจบลง แต่หนังทุกเรื่องเมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดสิ้นสุดอยู่ในตัวมันเอง เพียงแต่หนังเรื่องนี้กินระยะเวลาฉายยาวนานกว่า 52 ปี ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงเหลือและถูกเก็บซ่อนกับเราไว้ตลอดชีวิตนั่นก็คือ ความทรงจำ ความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน
ขอปิดท้ายบทความด้วยประโยคที่เขียนผ่านตัวอักษรแต่กลั่นกรองมาจากความรู้สึกว่า “La Scala”