OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์ การหลอมรวมธรรมชาติและงานสถาปัตยกรรมอย่างสมดุล

ให้เกียรติเปิดทาวน์โฮมที่รีโนเวทใหม่จนแสดงตัวตนได้อย่างชัดเจนต้อนรับทีมงาน โดยเจ้าของบ้านอย่าง คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์ นักออกแบบที่สวมหมวกหลายบทบาททั้ง Design Director จาก P.O.P. studio และ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงเรื่องราวในเส้นทางวิชาชีพสถาปนิกของตนเองที่ตอนนี้ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์และการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอย่างเท่าเทียมที่คุณแมวนำมาปรับใช้กับทุกโครงการที่ได้รับมอบหมาย โดยตั้งใจให้สุดท้ายแล้วผู้ใช้พื้นที่จะสามารถอยู่กับสถาปัตยกรรมได้อย่างกลมกลืน

จุดเริ่มต้นของการเลือกเรียนสถาปัตยกรรม

“ตอนเด็กๆ จำได้ว่าชอบวาดรูป ยิ่งไปเห็นศิลปินวาดภาพเหมือนที่ชั้นใต้ดินไนต์บาร์ซาร์เราก็ยิ่งชอบ รู้สึกว่าอะเมซิ่งมากเลย ทำให้เราเองที่เป็นเด็กเชียงใหม่ตัดสินใจที่จะเข้าคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ แต่ช่วงที่กำลังตัดสินใจจะเลือกว่าจะเรียนอะไรก็ได้คุณพ่อมาให้คำแนะนำ ซึ่งคุณพ่อเองก็เป็นสถาปนิก จบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็แนะว่าหากเลือกเรียนสถาปัตย์จะสามารถทำงานได้หลากหลายแนวมากกว่านะ ช่วงมีเวลาว่างก็ยังวาดรูปได้ เลยเลือกเรียนสถาปัตย์ครับ”

อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย

เมื่อตัดสินใจเรียนสถาปัตยกรรมแล้วตอนนั้นมีความเข้าใจในวิชาชีพนี้มากน้อยแค่ไหน

“ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจนะครับ รู้สึกแค่อยากวาดรูป จนช่วงปวศ. ที่ต้องเลือกสาขาที่จะต้องเรียนต่อ ก็มีไปปรึกษาอาจารย์แต่ละสาขา โดยอาจารย์แต่ละสาขาก็จะเชียร์ให้เลือกสาขาตัวเอง จนมาถึงสาขาอินทีเรียได้เห็นกระบวนการทำงาน อย่างการได้ลงสีสวยๆ ก็เลยตัดสินใจเรียน แต่พอมาถึงการทำงานในชีวิตจริงแล้วก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าสาขาอะไรก็จะมีความเกี่ยวข้องกัน และจากการตัดสินใจตอนนั้นก็กลายเป็นว่ายึดเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบันนี่แหละครับ”

การเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมมีผลต่อกระบวนการคิดในด้านอื่นๆ ในชีวิตยังไงบ้าง

“มีค่อนข้างมากเลยนะครับ เพราะการเรียนออกแบบก็เหมือนการเรียนศิลปะในรูปแบบหนึ่ง คิดว่าการที่เรานำศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกอาชีพหรือการใช้ชีวิตไม่ว่าจะอะไรก็ตามสิ่งๆ นั้นก็จะมีความกลมกล่อมขึ้น”

หลังจากเรียนจบแล้วก็ทำงานตรงกับสายที่เรียนมาเลยหรือไม่

“ใช่ครับ แต่ช่วงที่จบนั้นเป็นช่วงฟองสบู่แตก พอดีญาติเปิดบริษัทรับเหมาก่อก็สร้างเลยได้ไปทำงานที่นั่น ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ไม่ได้ใหญ่มาก จากจุดนั้นทำให้เข้าใจได้ว่าไม่ว่าเราทำงานอะไรเราก็สามารถหาประสบการณ์ได้จากงานนั้นๆ ได้ แม้บริษัทที่ทำตอนนั้นจะไม่ได้เน้นเรื่องงานออกแบบ แต่เราก็ได้ประสบการณ์การจากการได้ออกหน้างาน ได้เจอช่าง ได้เรียนรู้วิธีเขียนแบบที่ต้องทำให้ช่างเข้าใจและสร้างออกมาได้เหมือนกับงานที่ออกแบบให้มากที่สุด”

อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย

อะไรคือเสน่ห์ที่ยังทำให้คุณแมวยังคงเลือกเดินในเส้นทางนี้

“อย่างที่บอกไปว่าเรามองว่างานออกแบบก็เป็นงานศิลปะในรูปแบบหนึ่ง ทำให้อาชีพนี้มันเหมือนมีอะไรให้เราชาเลนจ์อยู่ตลอดเวลา รวมถึงในแต่ละงานในแต่ละโปรเจคที่ทำก็ให้มุมมองอะไรใหม่ๆ กับเราด้วย ยกตัวอย่างงานออกแบบที่มีโอกาสได้ทำอยู่ตอนนี้เป็นโรงเรียนอนุบาลที่ได้ดึงตัวน้องจาก Studiomiti มาร่วมกันออกแบบ ซึ่งระหว่างการออกแบบทางเจ้าของโครงการได้ชวนไปเรียนที่ศูนย์มาบเอื้องที่เอาดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาต่อยอดและตีความให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ ดีมากเลยครับ มีนักปราชญ์ชาวบ้านมีให้ความรู้ เป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ในทุกอาชีพ เหมือนกับว่าที่นี่มีวิธีคิดในการสร้างระบบนิเวศน์ให้กับบ้าน ทุ่งไร่ท้องนาเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน วิถีชีวิตแบบพอเพียง”

Kidder Forest
Kidder Forest

เมื่อเรียนที่ศูนย์มาบเอื้องจบแล้วกระบวนความคิดในการออกแบบเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

“จริงๆ ก็ต้องทดลองด้วย เหมือนอย่างที่เขากล่าวเอาไว้ว่าต้องลงมือปฏิบัติด้วยจึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งและยังต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง เช่น การวางฟังก์ชันในบ้านอย่างไรให้รู้สึกสอดคล้องและเป็นระบบ ถ้ารู้สึกว่ายังขัดแย้งเราก็ไม่สามารถนำไปนำเสนอได้ เราต้องทบทวนให้ลงตัวและยิ่งถ้าสร้างระบบนิเวศน์ในพื้นที่ได้ก็แสดงว่าเรานั้นมาถูกทางแล้ว”

Kidder Forest

Kidder Forest
Kidder Forest

มีวิธีการทำงานอย่างไรจนเกิดเป็นแนวความคิดในการออกแบบแต่ละโครงการ

“เริ่มแรกเราต้องพยายามรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นความต้องการลูกค้า บริบทพื้นที่ ทิศทางแสงแดด ลม ฝน ต้นไม้ แม้แต่ความรู้สึกในบรรยากาศที่โครงการแล้วนำมารวมกันและมองหาสิ่งที่น่าสนใจที่สุด จากนั้นจะเริ่มวางผัง โดย สร้างภาพในหัวเป็นสามมิติ เปรียบได้เหมือนกับทำหนังเรื่องหนึ่งแต่เป็นหนังสามมิติที่ให้คนเข้าไปสร้างประสบการณ์กับสเปซจริงๆ แต่ในขณะออกแบบเราจะยืดหยุ่นปรับไปตามความต้องการของลูกค้า เพราะสุดท้ายคนที่เข้าไปใช้พื้นที่มากที่สุดคือลูกค้า ซึ่งสุดท้ายเราต้องมานั่งทบทวนดูอีกทีว่าเราจะปล่อยให้อะไรบ้างได้เติบโตไปพร้อมกับเราให้เป็นธรรมชาติ รวมถึงปล่อยให้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้ใช้ประสบการณ์เพื่อต่อยอดความรู้สึกในพื้นที่ตามแต่จะเข้าใจ”

คุณแมวใช้ธรรมชาติหรือสัญชาตญาณมาใช้ในการออกแบบอย่างไร

“เป็นสิ่งที่ต้องทดลองต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เหมือนเรื่องต้นไม้ที่เราซื้อกับต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่เราเรียกวัชพืช ซึ่งเรามองว่าเป็นการออกแบบของธรรมชาติ ถ้าเราสามารถออกแบบให้ธรรมชาติช่วยเราออกแบบ โดยเรากำหนดกรอบแค่กว้างๆ โดยจะต้องหาเทคนิคในการทดลองต่อไป ซึ่งจริงๆ มันก็เกี่ยวกับที่เราเลี้ยงแมวด้วยนะ เราเลี้ยวแมว 11ตัว ทำให้สังเกตเห็นอะไรหลายอย่าง เช่น แมวเนี่ยคิดไม่เหมือนคนและใช้สัญชาตญาณในการจับความรู้สึก เหมือนรู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยอย่างในตะกร้า เค้ารู้สึกว่าปลอดภัยไม่ต้องระวังทุกด้าน โดยมุมมองเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้กับการออกแบบได้เยอะมาก เช่น เราจะออกแบบโรงจอดรถ โดยมีฟีลลิ่งของการชอบธรรมชาติ ชอบสวนเข้าไปด้วย การออกแบบก็อาจจะออกมาเป็นสวนที่สามารถจอดรถได้”

โปรเจคไหนที่ท้าทายมากที่สุด

“ท้าทายคนละแบบ โปรเจคพื้นที่ส่วนตัวค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะเจ้าของจะใส่ใจเป็นพิเศษ อย่างโปรเจคที่ทำล่าสุด คือ คาเฟ่อเมซอนวังน้อย อันนี้ก็ท้าทายเพราะทางแบรนด์เองจะมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นกลาสเฮ้าส์ ซึ่งที่เราหาข้อมูลมากลาสเฮาส์ในบ้านเราอาจจะอยู่ไม่สบาย รวมถึงเรื่องพื้นที่ตั้งที่อยู่ไฮเวย์ ทำให้เราต้องคิดว่าเราจะทำอาคารยังไงให้คนสังเกตเห็นแล้วชะลอรถทัน หรือประเด็นการท้าทายตัวเองในการออกแบบเนื่องจากอเมซอนสาขานี้มีสองชั้น สูง 20 เมตร และธรรมชาติของการใช้พื้นที่ของคนเราจะต้องใช้พื้นที่ชั้น 1 ให้เต็มก่อนถึงจะถึงไปชั้น 2 เราก็ท้าทายตัวเองโดยการออกแบบให้คนขึ้นไปชั้น 2 ก่อน

อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย

โดยดีไซน์ object ตั้งแต่ขึ้นบันได ด้วยการทำบันไดที่หนักสามตันให้มีความรู้สึกเหมือนลอยได้ โดยเราออกแบบทั้งอเวนิวเลยไม่ใช่แค่คาเฟ่อเมซอน เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิสของคนที่ขับรถบนทางหลวง จริงๆ จุดเริ่มต้นจากเจ้าของพื้นที่คืออยากให้คนจดจำ เราทำไปตามความเหมาะสมตามเหตุและผลของพื้นที่ อย่างเราต้องการให้คนสังเกตเห็นเราเลยทำอาคารทรงจั่วสูง 20 เมตร ทุกโปรเจคหากมันมีความลงกับธรรมชาติ เรารู้สึกว่ามันจะอยู่ได้ตลอด อยากออกแบบให้สภาพแวดล้อมอยู่ได้นานๆ”

 

อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย

แสดงว่าในการออกแบบให้ความสำคัญกับธรรมชาติและบริบทไม่น้อยกว่างานสถาปัตยกรรม

“ตอนนี้เราสนใจวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นรอบสถาปัตยกรรม รวมถึงธรรมชาติด้วย โดยคิดว่าจะออกแบบยังไงให้พื้นที่และคนจะเข้าไปอยู่ในงานสถาปัตยกรรมและธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน”

อเมซอน อเวนิว วังน้อย
อเมซอน อเวนิว วังน้อย

ทำงานออกแบบมานับสิบปีมีช่วงที่หมด Passion ในการทำงานบ้างมั้ย แล้วมีวิธีที่ฟื้นฟู Passion ให้กลับมาได้ยังไง

“อาจเป็นเรื่องของจังหวะในชีวิตที่เราเจอ แต่ละเรื่องทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ต้องทำให้ทำให้ทุกอย่างบาลานซ์ ทั้งทีมงานและแรงบันดาลใจของเราด้วย”

หากย้อนเวลากลับไปได้เด็กที่ชอบวากรูปคนนั้นยังจะเลือกเรียนสถาปัตยกรรมหรือไม่

“เรียนครับ เรารู้สึกว่าเส้นทางนี้ก็เหมาะกับตัวเองพอสมควร เราไม่ได้หมายความว่าตัวเองเก่งอะไรนะ เห็นเด็กรุ่นใหม่เก่งหลายคน รวมถึงลูกค้าด้วย มันอยู่ที่เรามีชุดความคิดแบบไหนแล้วเราจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยชุดความคิดแบบนี้ การทำงานก็เหมือนกัน สำหรับตัวเราเองก็มีชุดความคิดที่จะขับเคลื่อนเหมือนกัน”

ในวันนี้มีมุมมองต่อวิชาชีพสถาปนิกแตกต่างจากวันแรกที่เรียนจบมากน้อยแค่ไหน

“น่าจะต่างเยอะมาก รู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น เกิดจากการเห็นการเกิดแก่เจ็บตาย ไป หรือได้คุยกับคนเก่งๆ ก็ได้มุมมองใหม่ๆ ครับ โดยเฉพาะเรื่องความสุขในงานออกแบบ ซึ่งบางคนอาจเป็นเรื่องรูปแบบฟอร์มอาคารใหม่ๆ แต่เราเองโฟกัสที่จะสร้างวิถีชีวิตอะไรขึ้นมาหลังจากสถาปัตยกรรมหรือสเปซเกิดขึ้น เหมือนจะสร้างธรรมชาติขึ้นมาได้ยังไง ความสวยงามอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสูงสุดของการออกแบบแล้ว”

คิดว่าตัวเองเดินทางมาถึงเส้นชัยของวิชาชีพนี้หรือยัง

“ยังรู้สึกว่าตัวเองยังเด็กน้อยอยู่เลยครับ รู้สึกว่าเราเพิ่งเริ่ม เหมือนเพิ่งเริ่มจับอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ก่อนหน้านั้นก็ออกแบบไปตามทฤษฎี พอเราทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราจับแนวทางได้ เป็นช่วงอายุด้วย ช่วงนี้เราอยากสร้างงานที่มีวิถีชีวิตเข้าไปด้วย อีก 5 ปี หรือ 10 ปีความคิดแบบนี้ก็อาจเปลี่ยนไป อย่างเมื่อก่อนอยากเป็นคนที่เก่งขึ้นเรื่องๆ ตอนนี้อยากทำงานให้มันดี อยากสร้างงานให้มันดี และสร้างงานแต่ละงานให้ดูกลมกล่อม”

 

ฝากอะไรน้องๆ ที่เริ่มเรียนสถาปัตยกรรมหรือสถาปนิกที่เพิ่งเรียนจบ

“อยากให้ค้นหาตัวเอง คิดว่าประสบการณ์ที่แต่ละคนเจอและจับจุดได้ไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็เก่งไม่เหมือนกัน อยากให้เชื่อในแนวคิดของตัวเอง เปิดรับสิ่งใหม่ที่เข้ามาอย่าไปปิดกั้นที่จะรับความเชื่อใหม่ๆ”

ทุกวันนี้คุณแมวกล่าวว่าตัวเองก็ยังคงทดลองอยู่ โดยสังเกตจากสิ่งรอบกาย ทั้งสถานที่หรือพบเจอคนใหม่ๆ เพื่อกลั่นกรองสิ่งเหล่านั้นให้ออกมาเป็นแนวทางในการออกแบบที่เชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการใช้พื้นที่ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมในพื้นที่นั้นคงอยู่แบบกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์

  • ปวช. สถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ เชียงใหม่
  • ปวส. สถาปัตยกรรมภายใน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ เชียงใหม่
  • ปริญญาตรีสถาปัตยกรรมภายใน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • ปริญญาโทภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยานิพนธ์หัวข้อศึกษาเกี่ยวกับมวยไชยา เป็นการเรียนที่เน้นศึกษาวัฒนธรรมตะวันออก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading