Location: ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
Owner: ชนกานต์ ห้อยยี่ภู่
Architect : BodinChapa Architects
Contractor: Onhill design & Construction
Photographer: วิศรุต เกกินะ
จากกลุ่มก้อนของบ้านไม้หลังเก่าใจกลางเมืองจังหวัดเชียงรายที่ค่อนข้างทรุดโทรมและไม่ได้ถูกปรับปรุงให้น่าอยู่ จึงริเริ่มเป็นความคิดปรับเปลี่ยนพื้นที่สู่ ‘Tamarind Bistro and Music House’ เพื่อให้กลายเป็น Community แห่งใหม่ที่น่าสนใจและสามารถดึงผู้คนให้เข้ามาใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยตั้งใจใช้องค์ประกอบเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างบ้านไม้เก่าและต้นไม้ใหญ่ รังสรรค์ให้เกิดสถาปัตยกรรมใหม่ที่เข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง ด้วยฝีมือการออกแบบของสถาปนิกจาก BodinChapa Architects
สเน่ห์ของสิ่งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่
ที่มาของร้าน Tamarind Bistro and Music House แห่งนี้ เกิดขึ้นด้วยความหลงใหลของเจ้าของซึ่งเป็นคนที่รักในเสียงดนตรี และมีวงดนตรีแนว Jazz รวมกลุ่มกับเพื่อนฝูงตามร้านต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายเป็นทุนเดิม แต่ปัญหาที่พบคือ พื้นที่ที่เหมาะจะเล่นดนตรีกันอย่างจริงจังนั้นยังขาดหายไป ทางเจ้าของจึงเกิดแนวคิดนำที่ดินมรดกของตนเองที่มีอยู่เดิม มาพัฒนาให้เต็มรูปแบบโดยผสมผสานฟังก์ชันทั้งร้านอาหาร คาเฟ่และพื้นที่เล่นดนตรีให้อยู่ร่วมกัน และต้องการประยุกต์ใช้พื้นที่เดิมให้มากที่สุดเพื่อลดการใช้งบประมาณในการออกแบบ
“ตอนที่เราเข้าไปดูพื้นที่ สิ่งแรกที่เห็นคือ ตัวบ้านมันเป็นทรงที่น่ารักเหมาะกับพื้นที่นี้อยู่แล้ว เราเลยอยากเก็บโครงเดิมของบ้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยที่ยังคงเป็นรูปแบบบ้านไม้อยู่ แต่บ้านไม้เก่าหลังเดิมจะดูหลอนๆ น่ากลัวหน่อยๆ เราก็มาคิดว่าเราจะแก้ปัญหาพื้นที่อย่างไร ให้ไม่ทึบแสง ไม่รู้สึกน่ากลัว จะทำอย่างไรให้คนภายนอก ทุกเพศ ทุกวัย เข้ามาในพื้นที่นี้โดยที่ไม่รู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านร้าง” สถาปนิกอธิบาย
นอกจากบ้านไม้หลังเก่า ข้อได้เปรียบอีกหนึ่งอย่างของพื้นที่ คือต้นไม้ใหญ่ที่ทรงพุ่มสวย สถาปนิกจึงตั้งใจสร้างพื้นที่ให้ทั้งต้นไม้และอาคารไม้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างเอฟเฟกต์ให้เกิดขึ้นกับสเปซทั้งภายนอกและภายในให้มากที่สุด
คงไว้ซึ่งของเดิม ผสานด้วยวัสดุใหม่
“โปรเจกต์นี้เหมือนเป็นการทดลองใช้วัสดุใหม่และเก่า เราได้ทดลองเอฟเฟกต์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับรูปแบบบ้านไม้แบบนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถต่อยอดได้อีก อย่างเรื่องวัสดุที่เกิดขึ้น”
จากแนวคิดที่อยากจะคงกรอบโครงเดิมของอาคารไว้ สถาปนิกเริ่มจากการเปลี่ยนวัสดุ หรือถอดรูปแบบของอาคารเดิมก่อน โดยอาคารใดที่ชำรุด จะถูกซ่อมแซมและเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานเล็กน้อย ส่วนอาคารใดที่กรอบอาคารยังค่อนข้างสมบูรณ์ จะถูกคงสภาพไว้และทำการเปลี่ยนวัสดุ โดยวัสดุใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่จะเป็นวัสดุโปร่งแสงทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาอาคารที่ทึบตัน และช่วยให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น
วัสดุโปร่งแสงยังสะท้อนเงาของต้นไม้จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ทำให้คนที่นั่งอยู่ภายในรับรู้ได้ถึงความร่มรื่น หรือบรรยากาศสบายๆ ที่โอบล้อมตัวร้านไว้ ในเวลากลางวัน สีเขียวจากต้นไม้จะเรืองเข้ามาผ่านวัสดุโปร่งแสง แต่กลับกันในเวลากลางคืน วัสดุโปร่งแสงจะช่วยขับแสงไฟจากภายในออกมา ทำให้ตัวร้านโดดเด่น เป็นที่น่าสนใจจากภายนอก
การผสมระหว่างไม้และแผ่นโพลีคาร์บอเนต
เมื่อสถาปนิกถอดรูปแบบของกรอบอาคาร ซึ่งของเดิมเป็นไม้ที่ตีปิดทึบ จึงมองว่าวัสดุใหม่ที่มาทดแทนควรจะมีรูปแบบที่ล้อไปกับสิ่งที่มีอยู่ แผ่นโพลีคาร์บอเนตใสที่มีลักษณะเป็นเส้น จึงถูกนำมาตีซ้อนเกล็ดให้เหมือนกับขนาดของไม้ ทำให้ความโปร่งใสของวัสดุสะท้อนถึงโครงสร้างไม้เดิม เกิดเป็นเอฟเฟกต์ที่ชวนนึกถึงสเน่ห์ของบ้านไม้เก่า โดยผสมผสานวัสดุที่หาได้ง่ายในยุคใหม่เอาไว้อย่างลงตัว
บาร์กล่องอาคารสีดำกลางพื้นที่ สถาปนิกพยายามทำให้สีสันแตกต่างออกไปจากตัวอาคารอื่นๆ โดยเลือกใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตตีซ้อนเกล็ดโทนสีดำ ย้อมด้วย Lighting เพื่อที่ในเวลากลางวันตัวบาร์นี้จะโดดเด่นขึ้นมา ส่วนในเวลากลางคืนอาคารบ้านไม้ฝั่งซ้ายและขวาจะเด่นขึ้นมาแทน แต่ยังคงให้เอฟเฟกต์ของแสงที่ภาพรวมออกมาดูเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งพื้นที่
การปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด ยังเป็นการคัดไม้เก่าจากผนังบ้านไม้หลังเดิมที่ยังใช้งานได้อยู่ ไปใช้เพื่อกรุบริเวณฝ้า ส่วนใดที่ถูกรื้อไม้ออก แผ่นโพลีคาร์บอเนตจะถูกนำมาใส่แทนที่ เพื่อเป็นการคงของเดิม นำมาใช้และผสมผสานกับวัสดุใหม่ที่เอาเข้าไปทดแทน
‘บล็อกแก้ว’ โปร่งแสงแต่เป็นส่วนตัว
“วัสดุที่เราใช้จะเป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยากและสร้างเอฟเฟกต์กับการใช้งานจริงๆ ซึ่งวัสดุสมัยใหม่หลักๆ คือ บล็อกแก้วและแผ่นโพลีคาร์บอเนต ส่วนวัสดุเดิมจะเป็นไม้หรือเป็นโครงเหล็กทั่วไป เราพยายามเลือกใช้วัสดุให้คนในพื้นที่สามารถทำงานได้ไม่ยาก”
หากเรามองเข้าไปยังพื้นที่ ชั้นล่างของอาคารฝั่งซ้ายจะเป็นห้องน้ำ ส่วนครัว และ Service ส่วนชั้นบนเป็นร้านกาแฟ ส่วนอาคารฝั่งขวาจะเป็นร้านอาหารและพื้นที่สำหรับเล่นดนตรี โดยสถาปนิกรับหน้าที่ดูแลส่วนของกรอบอาคารหลักๆ ทั้งหมด
จากฟังก์ชันบริเวณชั้นล่างของอาคารฝั่งซ้ายที่เป็นห้องน้ำและห้องครัว ผู้ออกแบบเลือกใช้บล็อกแก้วเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวในการใช้พื้นที่ภายใน แต่ยังคงแนวคิดของวัสดุโปร่งแสงเพื่อให้แสงที่เกิดขึ้นทั้งในกลางวันและกลางคืนสามารถส่องผ่านตัววัสดุ สร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่ได้มากขึ้น
“เรามองว่า ตัวดีไซน์ที่เราทำมาตั้งแต่แบบร่างมันเหมือนเป็นการทดลองว่าเราจะทำอย่างไรให้มันสนุกได้บ้าง ถ้าเราคงความเป็นเอกลักษณ์และกรอบอาคารเดิมให้ได้มากที่สุด โดยที่เราเปลี่ยนแปลงแค่วัสดุให้มันเอฟเฟกต์กับคนอื่น มันจะได้ทั้งประหยัดและคนภายนอกมองเข้ามาก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นบ้านหลังเดิม ที่ให้ความรู้สึกที่ดูสนุกขึ้น ดูน่าสนใจมากขึ้น”
ในบางครั้ง การออกแบบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ มักเกิดจากการผสมผสาน หรือนำของที่มีอยู่เดิมมาปรับเปลี่ยนให้เกิดเป็นความแตกต่าง เช่นเดียวกับ Tamarind Bistro and Music House ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสถาปัตยกรรมอันเรียบง่าย แต่กลับแฝงไปด้วยแนวคิดที่สะท้อนเสน่ห์ของความใหม่ในความเก่า ให้คงอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
แผนที่ร้าน Tamarind Bistro and Music House :