ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาด Co-working space มีทั้งแบรนด์ไทยเองและแบรนด์ระดับโลกเข้ามาเป็นผู้เล่นลงสนามอย่างคึกคัก จนกระทั่งไวรัส COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านการทำงานของผู้คน แล้ว Co-working space จะเอาตัวรอดอย่างไรต่อไป เมื่อลูกค้าเดิมของพวกเค้าหันไปทำงานจากที่บ้านกันแทนแล้ว !?
หลังจบโควิด-19 Co-working อาจไม่ work อีกต่อไป ?
ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะตีตั๋วเข้ามาในประเทศไทย อาคาร Co-working Space คือทางเลือกใหม่ที่คนเมืองตั้งความหวังจะเข้าแทนที่การนั่งทำงานในออฟฟิศได้ แต่เมื่อโรคระบาดทำให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นกระแสใหม่ที่ผู้คนต้องปรับตัว การมีอยู่ของออฟฟิศถูกตั้งคำถามถึงความสำคัญและรูปแบบการทำงานใหม่ที่ต้องปรับตัวในยุคโควิด-19 แล้วหน้าตาของ Workspace จะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร Co-working space ยังจะ work อยู่อีกหรือไม่ มาติดตามกันได้ในบทความนี้เลยครับ
ทดแทนพื้นที่ที่หายไป
โรคระบาดทำให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่าง งดเว้นการอยู่รวมตัวกัน ส่งผลให้รูปแบบการทำงานของคนต้องเปลี่ยนแปลงตามไป มนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่เริ่มหันมาทำงานจากที่บ้าน จนหลายบริษัทเริ่มพิจารณาการทำงานแบบ Work From Home มาปรับใช้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น แม้วิกฤตโรคระบาดจะซาลงแล้วก็ตาม ยิ่งเป็นออฟฟิศที่สามารถติดต่อประสานงานกันได้ผ่านอินเตอร์เน็ตได้เกือบทั้งหมด ก็เริ่มประกาศนโยบายสลับการทำงานที่ออฟฟิศกับการทำงานจากที่บ้าน ลดเวลาการเดินทางของพนักงาน เพิ่มเวลาชีวิตของผู้คนนอกพื้นที่ออฟฟิศ โยกย้ายการนัดหมายแบบที่ไม่จำเป็นไปอยู่ในการประชุมด้วยหน้าจอ เปลี่ยนมาใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์ทดแทนพื้นที่ออฟฟิศที่หายไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคม
ทุกธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อาการมากน้อยแตกต่างกันประเภทงาน ซึ่งกลุ่มคนไข้ที่เรารู้สึกเป็นห่วงสุขภาพช่วงนี้ก็คือ co-working space ที่ลูกค้าเดิมของพวกเค้าเริ่มกังวลถึงความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการใช้บริการ เพราะความเสี่ยงที่คนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้บริการ co-working จะเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายโรคระบาดมากกว่า office ประจำที่คนทำงานเป็นหน้าเดิมๆ คุ้นหน้าคุ้นตากัน และพนักงานออฟฟิศทั่วไปก็หันเหความสนใจมาพัฒนาพื้นที่ทำงานในบ้านตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมต่อการทำงานแบบ Work From Home เสมือนเป็น Home office ส่วนตัวไปแล้ว
แล้ว Co-working space ยังมีที่ยืนอยู่มั้ย
เมื่อ Co-working space กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาด จากการพบเจอกับคนแปลกหน้าหรือใช้ข้าวของพื้นที่ร่วมกัน และเรื่องที่เราเรียนรู้จากช่วงกักตัวว่าการประชุมหรือกิจกรรมบางอย่าง ไม่ต้องเจอหน้าก็จบงานได้เหมือนกัน ความจำเป็นในการมีอยู่ของ Co-working space กำลังถูกท้ายทายการออกแบบพื้นที่ทำงาน ที่ต้องซ้อนทับไปเรื่องสุขลักษณะที่ดี Healthy & Safety ลงไปเพิ่มเติม แค่สวยงาม สะดวกสบายอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีสุขลักษณะที่ดี วัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร ต้องไม่สะสมเชื้อ ทำความสะอาดง่าย สามารถปกป้องสุขภาพคนไปพร้อมกันด้วย
ในอุโมงค์มืดมิดที่ทอดยาวออกไปไม่เห็นจุดจบ ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีแสงสว่างเล็กน้อยกำลังส่องประกายอยู่ที่ปลายทาง จากเอกสารการสอบถามหัวข้อผลกระทบโควิด-19 ต่อพื้นที่ทำงานในภาวะหลังโควิค ระบุไว้ว่าเมื่อระยะเวลาล็อคดาวน์สิ้นสุดลง มีแนวโน้มที่บริษัทขนาดเล็ก – กลางเหล่าสตาร์ทอัพจะให้ความสำคัญกับต้นทุนการเช่าพื้นที่ออฟฟิศ ต้องการพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในพื้นที่ออฟฟิศที่เกินความจำเป็น ย่อยขนาดออฟฟิศหลักให้เล็กลงหรือจุคนได้น้อยลง เพราะการทดลอง Work From Home ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างคำตอบใหม่แล้วว่า เราสามารถสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ขึ้นมาทดแทนกิจกรรมหลายอย่างในออฟฟิศได้
แสงสว่างทองรอดของ Co-working space
พื้นที่ทำงานต้นทุนต่ำและยืดหยุ่นได้มากกว่า คือประกายแสงสว่างของ Co-working space ในยุคหลังโควิด-19 เพียงแต่เส้นทางรอดที่ว่าต้องใช้ความเข้าใจและการปรับตัวพอสมควร เพราะถึงแม้ผู้คนจะทำงานนอกออฟฟิศกันได้มากขึ้น แต่ก็คงไม่ใช่ตลอดไป คนทำงานกำลังแสวงหาพื้นที่แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างออฟฟิศกับบ้าน (second workplace) กันอยู่ พื้นที่ที่จัดการประชุมประสานงานได้สะดวกสบายกว่าบ้าน ที่ไม่ได้มีอุปกรณ์หรือสภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำงานเทียบเท่ากับออฟฟิศ โดยเฉพาะคนที่อยู่คอนโด หรือห้องพักต่าง ๆ และไม่ต้องไปนั่งแออัดอยู่ในออฟฟิศที่อาจถูกปรับลดขนาด อยู่ในพื้นที่จำกัดตลอดเวลา นี่จึงเป็นพื้นที่ยืนแห่งใหม่ของ Co-working space นั่นเอง
Co-working space จึงควรจะหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีกระบวนการตรวจสอบลูกค้าที่เข้ามา walk in อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานส่วนรวม ปรับเปลี่ยนการแบ่งสรรพื้นที่เป็นบริการ service office (ตัวอย่างแบบ we work ) คือการสร้างพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัวแยกขาดการพื้นที่ส่วนร่วมตรงกลาง หรือเปิดการจองพื้นที่ออฟฟิศชั่วคราวแบบเจาะจงเวลา สำหรับบริษัทนี้ ในช่วงเวลานี้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเช่าเป็นเจ้าของตลอดเวลา 3 เดือน 6 เดือเหมือนที่ผ่านมา เอาไว้ใช้พื้นที่การประชุม สัมมนา ทำเวิคชอปในพื้นที่กลางระหว่างบ้านกับที่ทำงานที่กระจายตัวอยู่รอบเมือง ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเสมอไป เมื่อลูกค้าสามารถจองแยกเฉพาะโซน ในช่วงเวลาจำเพาะ ก็สามารถจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ดูแลทำความสะอาดได้ง่ายด้วย
Space is new luxury
ยากที่จะตอบว่าคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการทำงานของอนาคตจะเป็นเช่นไรกันแน่ หากเราลองย้อนไปในอดีตตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมที่เป็นจุดกำเนิดของการทำงานในอาคารออฟฟิศ ก็จะพบว่าพื้นที่ทำงานเฉลี่ยต่อคนเคยอยู่ที่ประมาณ 15 ตร.ม. จากขนาดเครื่องไม้เครื่องมือสำนักงานของยุคนั้น กระทั่งพื้นที่ทำงานหดขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ตามขนาดคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่ จนปัจจุบันเหลือพื้นที่สำหรับการทำงานต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ตร.ม. เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำงานที่ผ่านมากำลังจะถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตำราการออกแบบพื้นที่ทำงานคงต้องนำกลับมาคิดใหม่ เราจะทำฉากแบ่งกั้นอย่างไรไม่ให้รู้สึกอึดอัด หรือจำเป็นต้องขยายพื้นที่ต๊ะทำงานเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม แล้วเราจะจัดการอย่างไรกับปัญหาค่าเช่าพื้นที่แพงขึ้นหากต้องขยายพื้นที่ทำงานเฉลี่ยต่อคนมากขึ้นจริงๆ
เมื่อพื้นที่ว่างกลายเป็นของราคาแพง และการทำงานบนพื้นที่ออนไลน์ก็ทดแทนประสิทธิภาพการทำงานได้เหมือนกัน
…หรือว่าในอนาคต เราทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ออฟฟิศทุกวัน ทุกคนแล้วก็ได้