OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

“สถาปัตยกรรมความสงบ” พื้นที่ที่ทำให้เกิดความสงบ ที่เกิดจากการออกแบบประสบการณ์การรับรู้ภายในอาคาร

จากความสำคัญของสถาปัตยกรรมรูปแบบวัด ที่เป็นเสมือนศูนย์รวมของทุกกิจกรรมในสังคมมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันกลับเหลือแต่เพียงพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งทั้งเวลา และรูปแบบของกิจกรรมไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ชีวิตของคนในยุคใหม่ ส่งผลให้คนเข้าวัดน้อยลง แต่คนยังเลือก ยังหาโอกาสที่จะไปอยู่ จึงเกิดเป็นการตั้งคำถามถึงการไปวัดของคน

“สถาปัตยกรรมความสงบ”
(ARCHITECTURE OF PEACE)

พื้นที่ที่ทำให้เกิดความสงบ ที่เกิดจากการออกแบบประสบการณ์การรับรู้ภายในอาคาร เป็นกระบวนการออกแบบที่เริ่มจากการตั้งคำถามว่า เพราะอะไร คนถึงเข้าวัดน้อยลง  จากการศึกษาและสังเกตจึงสรุปได้ว่าคนเมืองมีโอกาสน้อยที่จะไปวัดเนื่องจากกิจกรรมในวัด กับ วิถีชีวิตในปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกัน คือ กิจกรรมที่ใช้ระยะเวลา รวมถึงข้อจำกัดต่างๆในการทำกิจกรรม ซึ่งแตกต่างกับสภาพการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง แต่คนยังหาโอกาสเลือกที่จะไปอยู่ เนื่องด้วยวัดเป็นสถานที่ที่มีความสงบ เหมาะแก่การหลีกหนีจากความวุ่นวายภายนอกได้ดี  จึงต้องการที่จะสร้างพื้นที่รูปแบบใหม่ที่เป็นการ  meditate ด้วยกิจกรรม ด้วยสภาพบริบท หรือ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม แทรกรวมเข้าไปกับพื้นที่การใช้งานเพื่อสร้างสภาวะการรับรู้ให้เกิดความสงบ เหมือนการไปวัด คือ สามารถที่จะทำกิจกรรมที่สามารถทำได้ในบริบทเมือง ไปพร้อมๆกับการสร้างสภาวะความสงบ ด้วยเงื่อนไขต่างๆโดยพื้นที่การใช้งานนั้นต้องเป็นกิจกรรมที่คนเมืองสามารถที่จะทำได้ทันทีสอดคล้องกับสภาพบริบททางสังคมในปัจจุบัน

จึงเกิดเป็นพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมที่สร้างประสบการณ์การรับรู้ที่ส่งผลถึงสภาวะที่ทำให้เกิดความสงบ จากการศึกษากิจกรรมที่ทำให้เกิดความสงบเรื่องของพฤติกรรมการรับรู้นั้น ได้ความว่า ความสงบเกิดจากการที่เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่ไม่ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม หรือ สิ่งเร้า

การสร้างพื้นที่การใช้งานที่เกิดจาก การสร้างกิจกรรม meditate หรือ สภาวะการรับรู้จากบริบทหรือ ก็คือ การควบคุมสิ่งเร้าที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับรู้ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดความสงบ หลังจากนั้นจัดการพื้นที่ ให้มีความเป็นส่วนตัวไม่มีการรบกวนจากสิ่งเร้าที่ไม่ต้องการ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีสิ่งเร้าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆ โดยในพื้นที่โครงการจะเน้นไปที่ประสาทสัมผัสทางการมองเห็น และ การได้ยินเป็นหลัก

จากการศึกษาและกำหนดขอบเขตของหัวข้อวิทยานิพนธ์ ทำให้ได้เงื่อนไขของโปรแกรมที่มาใช้ในการออกแบบ คือ

1. Function + Meditation
2. Perception
3. Sound – Silent

โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 รูปแบบ

1. พื้นที่ function / พื้นที่กิจกรรมซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่หลักของโครงการ ทำหน้าที่ รองรับการใช้งาน ซึ่งรูปแบบของพื้นที่คือการรวมกันระหว่าง function + meditation

2. พื้นที่ระหว่าง / สร้างการรับรู้ก่อนเข้าไปใช้งานในพื้นที่ โดยที่แต่ละส่วนจะสร้างการรับรู้ที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่แต่ส่งผลให้เกิดความสงบเหมือนกัน  เป็นเหมือนพื้นที่ปรับสภาวะก่อนเข้าไปใช้งานพื้นที่

โดยที่พื้นที่ function แบ่งเป็น 7 พื้นที่หลัก คือ

1.พื้นที่นั่งอ่านหนังสือคนเดียว

แนวคิดในการออกแบบ การอ่านหนังสือแบบ meditate ก็คือ การอ่านหนังสือท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ให้ลักษณะของพื้นที่เหมือนกับการอยู่ในป่า และผู้ใช้งานมีอิสระในการกำหนดรูปแบบท่านั่งของตัวเอง จัดการกับเฟอร์นิเจอร์ที่ถือว่าเป็นสิ่งเร้าที่รบกวนของพื้นที่ โดยการทำให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม โดยใช้ Landscape เป็นตัวจัดการพื้นที่

2.พื้นที่นั่งอ่านหนังสือแบบเป็นกลุ่ม

แนวคิดในการออกแบบ โดยการใช้เสียงจากธรรมชาติในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อลดทอนเสียงที่เกิดจากการใช้งานเป็นกลุ่ม โดยเลือกที่จะใช้เสียงที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลม เพื่อรักษาสภาพเงื่อนไขของพื้นที่ห้องสมุดในเรื่องของความชื้นและอุณหภูมิ

3.พื้นที่ส่วนชั้นวางหนังสือ

การสร้างพื้นที่ที่สามารถนั่งอ่านหนังสือได้ทันที โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากคนที่เดินผ่านไปมา โดยการใช้ระยะระหว่างชั้นหนังสือ ที่ทำงานสัมพันธ์กับพื้นที่ว่าง ที่ดึงดูดความสนใจของคนที่เดินเลือกหนังสือ

4.พื้นที่ส่วนจัดแสดงงาน

ให้คนที่มาดูงานศิลปะสามารถนั่งดูงานศิลปะได้โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากคนที่เดินผ่านไปมา ทดลอง organize พื้นที่ด้วยการลดระดับการใช้งาน แยกส่วนพื้นที่นั่งดูงาน กับคนที่เดินผ่านไปมา คือ คนที่เดินผ่านไปมา สามารถมองเห็นงานศิลปะได้ แต่ไม่สามรถเข้าถึงได้ จะเข้าถึงได้ ต้องเข้าทางทิศทางที่กำหนดให้ และยังเพิ่มหน้าที่ของพื้นที่เป็น transition ทางเลือกของผู้มาใช้งานพื้นที่โครงการ เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องของความสงบ โดยการดูงานศิลปะที่วางอยู่ในพื้นที่นั้น

5.พื้นที่ชมภาพยนตร์

เนื่องด้วยพื้นที่ภายในโรงภาพยนตร์ เป็นพื้นที่ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งเสียงและแสงโดยปกติอยู่แล้ว จึงเหมาะที่สร้างการ meditate รวมถึงปรับสภาพพื้นที่ให้เอื้อต่อโปรแกรมใหม่ที่สร้างขึ้นมา คือ พื้นที่สำหรับนั่งคุยหลังจากการกิจกรรมดูหนัง

6.พื้นที่นั่งรอชมภาพยนตร์

สร้างพื้นที่ที่มองออกไปเป็นพื้นที่เปิดกว้าง เหมือนกับการนั่งริมชายหาดที่มองออกไปเป็นภาพทะเลที่ให้ความรู้สึกสงบ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับพื้นหลัง การตกกระทบของแสงและเงา การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของคลื่น เป็นต้น โดยนำมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างรูปแบบพื้นที่ เพื่อเป็นการพักสายตาก่อนเข้าไปใช้งานพื้นที่โรงภาพยนตร์

7.พื้นที่ร้านอาหาร

ให้ผู้ใช้งานได้มีสมาธิกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า หลีกเลี่ยงการรบกวนจากสภาพแวดล้อม ก็คือ ผู้ใช้งานอื่นๆ โดยใช้ช่องเปิดในการกำหนดตำแหน่งทิศทางนั่งของคน

 

ส่วนพื้นที่ระหว่างแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก โดยที่แต่ละพื้นที่ระหว่าง จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ฟังก์ชันก่อนและหลังปลายทาง

1.พื้นที่ระหว่างสร้างการรับรู้ก่อนเข้ามาใช้งานพื้นที่โครงการ

สร้างการรับรู้ด้วยการค่อยๆลดการรับรู้จากสภาพแวดล้อมภายนอก ด้วยการเปลี่ยนระดับพื้นที่สร้างความแตกต่างของพื้นที่ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ขัดแย้งกัน เช่น จากพื้นที่จอดรถที่เป็นคอนกรีต มาเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นต้นไม้ และด้วยการสร้างเสียงขึ้นมาทดแทนเสียงจากภายนอกด้วยการใช้เสียงที่เกิดจากการไหลของน้ำ

2.พื้นที่ระหว่างสร้างการรับรู้ก่อนเข้ามาใช้งานพื้นที่ห้องสมุด

สร้างการรับรู้ด้วยจังหวะที่ซ้ำ กับรูปแบบของทางเดินเพื่อยืดระยะการเข้าถึง ดึงความสนใจ ลดทอนการใช้เสียง ก่อนเข้าใช้งานพื้นท่ห้องสมุดที่ต้องการความเงียบในการใช้งาน

3.พื้นที่ระหว่างสร้างการรับรู้ก่อนเข้ามาใช้งานพื้นที่โรงภาพยนตร์

สร้างการรับรู้ด้วยการใช้แสงและเงา และพื้นที่กว้างเพื่อพักสายตาก่อนเข้าใช้งานพื้นที่โรงภาพยนตร์

นักศึกษาผู้ออกแบบ

ชื่อ-นามสกุล : ศุภกิตติ์  ปัญญาคารวะ (Supakit Panyacarawa)

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

E-MAIL : panyacarawa.s@gmail.com

ชื่องาน : สถาปัตยกรรมความสงบ Architecture of Peace