Location : กัลปพฤกษ์ จอมทอง กรุงเทพฯ
Site Area : 600 ตารางเมตร
Built Area: 900 ตารางเมตร
Owner : วิชิต สัจจะธรรมรัตน์
Architecture & Interior Designer : Eco Architect Co.,Ltd.
Landscape Designer : Eco Architect Co.,Ltd.
Contractor: FT Construction
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
‘อยู่ในห้องแอร์มาตลอดชีวิต อยากลองใช้ชีวิตแบบไม่เปิดแอร์ดูบ้าง’ จากโจทย์เริ่มต้นของเจ้าของบ้าน เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างกลายเป็น บ้านสุขใจดี บ้านหายใจร่วมกับธรรมชาติอีกหนึ่งหลังที่ คุณแก้ว-คำรน สุทธิ สถาปนิกจาก Eco Architect ตั้งใจออกแบบเรื่องราวของการอยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ความสุขทั้งทางกายและทางใจ
ความสุขทั้งกายและใจ ล้วนซุกซ่อนอยู่ภายใต้การออกแบบสเปซรวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ภายในบ้าน แม้จะอยู่ในช่วงเวลากลางวัน เราสัมผัส ‘ความสุขกาย’ ได้จากลมเย็นๆ ที่ไหลผ่านพื้นที่เกือบตลอดเวลา ความร่มรื่นจากเงาอาคารที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถออกมานั่งเล่น ดื่มด่ำกับเสียง บรรยากาศ ของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราสุขกาย ‘ความสุขใจ’ ย่อมตามมา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบขึ้นเพื่อให้บ้านสุขใจดีแห่งนี้อบอวลไปด้วยบรรยากาศของความเป็นธรรมชาติ
คุณแก้ว-คำรน สุทธิ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Eco Architect
‘สุขกาย’ ภายในบ้านสุขใจดี
หากเป็นบ้านที่ออกแบบโดย Eco Architect แน่นอนว่า คำพูดคุ้นหูของคนโบราณอย่าง ‘ปลูกเรือนอย่าขวางตะวัน’ ย่อมถูกนำมาใช้ตั้งต้นในการออกแบบ เช่นเดียวกับ บ้านสุขใจดี ที่สถาปนิกคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดและลมธรรมชาติก่อน โดยพยายามวางตัวอาคารตามแนวของตะวัน หรือวางอาคารในทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้การใช้งานพื้นที่ภายในอยู่ในรัศมีของร่มเงาตลอดเวลา และยังช่วยให้สเปซต่างๆ สามารถรับลมได้ทั้งหมด
หากเราลองสังเกตที่เลย์เอาท์แปลน จะเห็นได้ว่าผู้ออกแบบตั้งใจวางฟังก์ชันหลักของบ้านในลักษณะ Linear ทั้งหมด ห้องทุกห้องจะเรียงตัวกันเพื่อรับลมที่พาความเย็นสบายเข้ามาทางด้านหน้า ด้วยโจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้ทุกห้องสามารถมีลมผ่าน นั่งเย็นสบายได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์”
แปลนชั้น 1 บ้านสุขใจดี Photo Credit : Eco Architect Co.,Ltd.
แปลนชั้น 2 บ้านสุขใจดี Photo Credit : Eco Architect Co.,Ltd.
แปลนชั้น 3 บ้านสุขใจดี Photo Credit : Eco Architect Co.,Ltd.
ส่วนพื้นที่กลางบ้านที่ลมเข้าถึง สถาปนิกออกแบบให้เป็นหัวใจของบ้านที่เชื่อมมาจากทางเดินเข้า เพื่อสร้างให้พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ทั้งฟังก์ชันที่กระจายออกด้านข้าง กระจายออกด้านหลัง หรือแม้แต่เชื่อมต่อในทางแนวตั้ง (Vertical) เพื่อให้เกิดการไหลของสเปซทั้งหมด ในแต่ละพื้นที่ยังมีการแบ่งโซน (Seperate) แต่ไม่แยกกันชัดเจน โดยมีการเลื่อนปิดหรือเปิดได้ เพื่อลดการใช้พลังงานในวันที่ต้องการเปิดแอร์ ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับสเปซ และยังสามารถเชื่อมต่อกันได้หากต้องการ
ถึงแม้บ้านหลังนี้จะวางผังตามตะวัน แต่หน้าบ้านนั้นหันเข้าสู่ทิศใต้ สถาปนิกจึงออกแบบโดยหลบตัวแปลนบ้านเข้ามาบริเวณด้านในของที่ดิน และมีการออกแบบระเบียงให้ยื่นออกมารวมถึงมีฟาซาดระแนงไม้ ที่นอกจากจะช่วยเติมแต่งให้บ้านมีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจขึ้นแล้ว หน้าที่หลักของมันยังช่วยป้องกันแสงแดดที่ส่องเข้าสู่ภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถปล่อยให้ลมผ่านได้ การออกแบบช่องระเบียงทางเดินระหว่างฟาซาดและสเปซภายใน ยังสร้างอุโมงค์ลม ที่ช่วยดูดลมให้ไหลเข้ามาสู่สเปซภายในได้มากขึ้น
แนวคิดการสร้างอุโมงค์ลมถูกนำมาใช้หลายส่วนของบ้าน อย่างบริเวณห้องพระ บริเวณพื้นที่ด้านหลังของชั้นหนึ่ง บริเวณช่องทางเดินระเบียง ทำให้เกิดกระแสลมหมุนเวียนในลักษณะ Cross Ventilation ได้ทั่วทั้งบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ถึงแม้ไม่ได้เปิดแอร์ เราก็สามารถนั่งอยู่ภายในบ้านหลังนี้ได้อย่างสบายๆ
ไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมเท่านั้น บ้านหลังนี้ยังใส่ใจการออกแบบภูมิทัศน์ภายนอกให้ไปพร้อมๆ กับตัวอาคาร ด้วยการออกแบบพื้นที่สวนในตำแหน่งที่ลมเข้าจากบริเวณหน้าบ้าน เพื่อให้ต้นไม้ทำหน้าที่คลายความร้อนจากลมในเขตเมืองก่อนที่จะพัดเข้าสู่สเปซภายใน และยังเป็นการสร้างระบบนิเวศให้เกิดขึ้นภายในบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านสามารถดื่มด่ำบรรยากาศสเปซที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่
“เรามองว่าสเปซภายในและภายนอกจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องเชื่อมโยงถึงกัน ถ้าเราอยากให้บ้านอยู่สบายเราก็ต้องมีพื้นที่ให้ธรรมชาติค่อยๆ ปรับสมดุลเพื่อให้เราอยู่สบายขึ้น” สถาปนิกกล่าว
‘สุขใจ’ บรรยากาศของความอบอุ่นที่สุขกำลังดี
เมื่อการออกแบบบ้านสร้างสภาวะน่าสบาย ให้กายอยากอยู่อาศัย สภาวะจิตใจที่ต้องการหลบหลีกความเหนื่อยล้า ย่อมได้รับการปลอบประโลมไปพร้อมๆ กัน แต่นอกเหนือความสุขใจจากความสบายกายแล้ว ภายในบ้านหลังนี้ ยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศความสัมพันธ์ของครอบครัวอันแน่นแฟ้น
สถาปนิกจึงมองว่าพื้นที่ส่วนกลางควรจะเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มองเห็นหรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนภายในครอบครัวไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน
“อย่างวันเสาร์อาทิตย์ ญาติเขาจะมาเต็มไปหมดเลย จะมีการมาทำอาหาร พูดคุย สังสรรค์กัน อันนี้ก็เป็นโจทย์หลักอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเขาอยากมีพื้นที่ส่วนกลางที่ค่อนข้างใหญ่หน่อย เยอะหน่อย เพราะเขาให้ความสำคัญกับครอบครัวค่อนข้างสูง เขามองว่าสมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นจะต้องแยกห้องไปอยู่ในที่ของใครของมัน” สถาปนิกกล่าว
เมื่อถึงช่วงเวลารวมตัวของเหล่าญาติ และครอบครัวที่หมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยือน การพบปะของเจเนอเรชันที่หลากหลาย นำมาสู่ความต้องการใช้พื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยอาจจะมีการมาสังสรรค์ร่วมกัน กระจายกันเล่น กระจายกันพูดคุยตามมุมต่างๆ สถาปนิกเลือกออกแบบพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรองรับกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น บริเวณห้องนั่งเล่นอาจจะรองรับการคุยกันแบบ Formal ขึ้นมาหน่อย ส่วนพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์อาจจะให้บรรยากาศที่เป็นกันเอง และดูสบายๆมากกว่า
ความหลากหลายของกลุ่มคนที่หมุนเวียนกันมาเยี่ยม เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ผู้ออกแบบจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible) กับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด โดยสเปซแต่ละส่วนจะต้องไม่แยกออกจากกันชัดเจนโดยเด็ดขาด
การทำกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ของบ้าน จึงยังคงความเชื่อมโยงเอาไว้ ถึงแม้จะแยกตัวออกไปเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อย่างเช่น พื้นที่อ่านหนังสือบริเวณชั้นสอง ที่ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นชั้นหนึ่งได้ หรือบริเวณระเบียงทางเดินชั้นบน ที่ยังสามารถมองเห็นและพูดคุยกับกลุ่มคนที่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
ภาพลักษณ์โทนสีของบ้าน ยังสะท้อนความหมายของคำว่าสุขใจ ในรูปแบบของความ ‘Homey’ หรือความอบอุ่นในแบบบ้านๆ เนื่องจากอาคารค่อนข้างมีความโมเดิร์นแบบสมัยใหม่ ผู้ออกแบบจึงตีความความอบอุ่นออกมาผ่านวัสดุและสีสันที่เลือกใช้ โดยวัสดุเด่นๆ ของบ้านจะเป็นไม้ ที่ให้ความรู้สึกสบายๆ ลดทอนเหลี่ยมมุมของอาคารไม่ให้แข็งกระด้างมากจนเกินไปนัก
“เมื่อก่อนเวลาไปนอนโรงแรม โรงแรมไหนแอร์ไม่เย็นเรานอนไม่ได้เลยนะ แต่ตอนนี้เหมือนพอเราปรับตัวได้ ชีวิตมันก็ดีขึ้น พอไม่เปิดแอร์มากขึ้น เราก็จะได้อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น อีกเรื่องที่สำคัญคือบ้านหลังเก่า เราจะค่อนข้างแยกกันอยู่หมดเลย แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ เราได้ทำอะไรร่วมกันมากกว่าเดิม อาหารมื้อเที่ยง มื้อเย็น เราได้กินพร้อมกันหมดเลย” คุณวิชิต เจ้าของบ้าน ตอบคำถามพร้อมรอยยิ้ม เมื่อเราถามถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านสุขใจดีหลังนี้
ภายใต้ความเรียบง่ายของบ้านที่ผสานวิถีของธรรมชาติเข้ากับสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้ยังใส่ใจ ความสัมพันธ์ของครอบครัวผ่านการออกแบบสเปซทุกส่วนอย่างพิถีพิถัน ปัจจัยทั้งหมดที่สถาปนิกออกแบบมาอย่างถี่ถ้วน ล้วนส่งเสริมให้การอยู่อาศัยภายในบ้านหลังนี้เป็นไปอย่าง ‘สุขใจดี’