OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ต้องคิดถึงอะไรบ้าง?

ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ การออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่น้อย เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้มีความปลอดภัยและเปี่ยมด้วยความสุขมากที่สุด… หลักการทั่วไป มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยแยกประเภทของผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับคือ

  1. ผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี
  2. ผู้สูงอายุที่ต้องมีคนคอยช่วยเหลือในบางกิจกรรม
  3. ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง

ซึ่งการออกแบบบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุทั้ง 3 ระดับมีรายละเอียดดังนี้

  1. ภายนอกบ้าน

การออกแบบการเชื่อมต่อจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน ถ้าเป็นบันไดควรมีลูกนอนที่กว้างมากพอที่จะเหยียบได้เต็มเท้า มีลูกตั้งในแต่ละขั้นไม่สูงจนเกินไป ควรอยู่ประมาณ 12-15 เซนติเมตร หรือหากจำเป็นต้องใช้วีลแชร์เข็นเข้าสู่ตัวบ้าน ควรมีระยะลาดชันไม่มากเกินกว่ามาตรฐาน คือ 1 : 12 หมายความว่า ระยะความสูง 1 เมตร จะต้องมีความยาวของทางลาดไม่น้อยกว่า 12 เมตร เป็นต้น ประตูทางเข้าออกจากบ้าน ห้องนอน และห้องน้ำ ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และควรเป็นบานเลื่อน เพื่อความสะดวกในการเปิด – ปิดประตู

  1. ภายในบ้าน

การออกแบบการเชื่อมต่อกันของการใช้งานภายในบ้านที่มีผู้สูงอายุ พื้นควรมีระดับเดียวกันไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทานอาหาร ห้องนั่งเล่น เป็นต้น รวมถึงควรมีราวจับทางเดินทั้งภายนอกและภายใน ราวจับกันล้มภายในห้องน้ำ การณีห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นบน อาจติดตั้งลิฟท์  ซึ่งในปัจจุบันมีการออกแบบลิฟท์บ้านซึ่งมีความสะดวกในการจัดเตรียมพื้นที่และติดตั้ง รวมถึงตัวลิฟท์มีความกว้างมากพอที่ผู้ดูแลสามารถเข็นวีลแชร์ของผู้สูงอายุเข้าไปได้ หรืออาจใช้เป็น STAIR LIFT หรือลิฟท์ที่ติดตั้งบริเวณโถงบันได โดยมีลักษณะเป็นม้านั่งเลื่อนไปบนรางจากชั้น1 ขึ้นไปสู่ชั้น2 โดยมีการควบคุมความเร็วและความปลอดภัยเป็นอย่างดี

ในส่วนของห้องนอนผู้สูงอายุ  ควรมีหน้าต่างที่เปิดออกสู่ภายนอกมากเพียงพอทำให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงสามารถรับแสงแดด รับรู้ถึงเวลากลางวันและกลางคืน ช่องหน้าต่างอาจมีช่องแสงลงมาจนเกือบถึงพื้น กรณีผู้สูงอายุที่นั่งอยู่บนวีลแชร์ จะได้สามารถมองวิวนอกหน้าต่างได้ในระดับพอดี การออกแบบห้องนอนไม่เป็นซอกหลืบมากเกินไป ควรเป็นห้องโล่งกว้าง ตำแหน่งหัวเตียงชนกำแพง ด้านซ้ายขวาและปลายเตียงมีพื้นที่มากพอสำหรับผู้ดูแลเข้าถึงผู้สูงอายุได้โดยง่าย มีการออกแบบสีของพื้น ผนัง โต๊ะ กำแพง ตู้ ต่างๆ ให้สีค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน  ในเวลากลางคืนควรออกแบบให้มีแสงสว่างเรืองๆมากพอที่จะตื่นมาทำกิจวัตรได้ แต่แสงไฟไม่สว่างมากเกินไป เพราะอาจทำให้ประสาทสัมผัสตื่นตัว และไม่สามารถหลับต่อได้  พื้นห้องนอนอาจเลือกใช้พื้นที่มีลักษณะดูดซับแรงกระแทก (SHOCK ABSORPTION FLOOR) เพื่อช่วยในกรณีลื่นล้มและลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้

ห้องน้ำผู้สูงอายุควรมีระดับพื้นใกล้เคียงกับห้องนอน พื้นมีระดับเดียวกันทั้งห้อง แยกส่วนการใช้งานโดยใช้ floor drain แบบรางยาวกั้นน้ำจากโซนห้องอาบน้ำ สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ควรเลือกใช้สำหรับผู้สูงอายุ พร้อมติดตั้งราวจับกันล้ม อ่างล้างหน้าควรใช้แบบมีเคาน์เตอร์เพื่อความสะดวกในการทำกิจวัตร ก๊อกน้ำต่างๆควรเป็นแบบก้านโยกจะสะดวกกว่า เพราะข้อมือของผู้สูงอายุไม่ค่อยมีแรง หากมีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ควรมีการป้องกันการปรับความร้อนอย่างเคร่งครัด เพราะผู้สูงอายุประสาทสัมผัสการรับรู้จะช้า แขนขามีอาการชา กว่าจะรู้ตัวว่าน้ำร้อนเกินไปอาจเกิดการบาดเจ็บแล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ออลเฮ้าส์ จำกัด