OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง อาหาร กับ สถาปัตยกรรม ของการออกแบบ “บ้านส้มตำ” สาขาที่ 10

Location: บางพลี สมุทรปราการ
Owner : บริษัท บ้านส้มตำกรุ๊ป จำกัด
Architect & Interior Designer : Supar Studio

Project Architect :
สุวภัทร ชูดวง  ธนพล คำทอง และกรัณย์ ราธี Supar Studio
Landscape Architect :
Shma SoEn

Lighting Designer : Gooodlux Design Consultancy
Story : รังสิมา อรุณธนาวุฒิ
Photographs : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

จากร้านอาหารส้มตำที่เปิดมากว่า 15 ปี ขยับขยายสู่ ‘Baansomtum Flagship Bangna & Horme Cafe’ สาขาที่ 10 โดยตั้งใจผสานพื้นที่ร้านอาหารเข้ากับคาเฟ่และพื้นที่สีเขียว รวมถึงสะท้อนความเป็น ‘บ้านส้มตำ’ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง อาหาร และ สถาปัตยกรรม ได้อย่างกลมกล่อม   

เวลาที่เรากินอาหารแล้วอร่อย เราไม่ต้องอธิบายเยอะ เราเลยอยากทำงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ต้องพูดเยอะ ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามารู้สึกกับสิ่งต่างๆ ที่เราออกแบบได้โดยที่ไม่ต้องอธิบาย ทำให้เขารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มันใช่ คล้ายๆ กับความรู้สึกเวลาที่เรากินอาหารอร่อยแล้วเรารู้สึกดี”  จากแนวคิดข้างต้นของทายาทและสถาปนิกผู้ออกแบบอย่าง คุณป๊อป-สุวภัทร ชูดวง จาก Supar Studio ถูกตีความสู่การออกแบบบทสรุปของบ้านส้มตำสาขาแฟล็กชิปสโตร์ ผ่านเส้นสาย รายละเอียด รวมถึงวัสดุของการออกแบบที่ร้อยเรียงเรื่องราวของสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมเอาไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้ โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ
คุณป๊อป-สุวภัทร ชูดวง สถาปนิกจาก Supar Studio

คืนพื้นที่สีเขียวสู่เมือง

ร้านอาหารท่ามกลางพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ เริ่มต้นด้วยพื้นที่ขนาด 4 ไร่ ในทำเลดีติดถนนใหญ่ที่เข้าถึงได้สะดวก  ประกอบกับที่ทีมออกแบบได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า สถิติพื้นที่สีเขียวของย่านบางนายังขาดสวนระดับชุมชน หรือสวนย่านในขนาดเล็ก หลังจากมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ที่ไปได้ไกลมากกว่าที่ควรจะเป็น บ้านส้มตำสาขาที่ 10 จึงขยายความพิเศษสู่โปรแกรมที่แตกต่าง โดยเพิ่มส่วนของคาเฟ่ และพื้นที่สีเขียวเข้ามาเติมเต็มซึ่งกันและกันภายในพื้นที่เดียว
“ถ้าจะมองง่ายๆ มันคือก้อนสามก้อน สวน บ้านส้มตำ และหอมคาเฟ่ ที่ต่างซัพพอร์ทกันไปโดยไม่มีใครขัดแย้งใคร อย่างเช่น ตอนเช้ามากินอาหารเช้าที่คาเฟ่ เสร็จไปกินอาหารกลางวันต่อที่ร้านส้มตำ กินส้มตำเสร็จอาจจะกลับมากินของหวานต่อ ซึ่งถ้าเรามาตอนเย็นเราจะเห็นเด็กวิ่งเล่น คนที่เข้ามาใช้เขาก็รู้สึกดื่มด่ำกับบรรยากาศสวน กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่เขาจะชอบพื้นที่สีเขียว ตรงนี้ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดึงดูดคาเฟ่กับร้านอาหารด้วย” สถาปนิกกล่าว
ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสวนระดับย่านแห่งใหม่ หรือเข้ามาเติมเต็มบรรยากาศภาพรวมให้เป็นไปด้วยความร่มรื่น พื้นที่สีเขียวยังเป็นตัวเชื่อมโยงความรู้สึก โดยเข้าถึงคนได้ง่าย ทุกเพศและทุกช่วงวัย ไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับแนวคิดของร้านบ้านส้มตำซึ่งเป็นอาหารที่ทุกคนสามารถลิ้มลองได้

ฟอร์มและฟังก์ชัน กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

เราอยากทำงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ต้องพูดเยอะ” จากคำพูดตั้งต้นของคุณป๊อป สู่โจทย์ของการสร้างสถาปัตยกรรมที่ทำให้คน ‘รู้สึก’ การออกแบบเลย์เอาท์แปลนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทีมสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ฟอร์มและฟังก์ชันกลมกลืนกันมากที่สุด โดยเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างลื่นไหล ในขณะที่ร้านกาแฟ และร้านอาหารยังแยกฟังก์ชันออกจากกันอย่างชัดเจน
“สังเกตว่าเวลาที่เราเข้ามาในงานสถาปัตยกรรมแล้วมันดีจนเราไม่ต้องพูด เพราะว่าฟอร์มกับฟังก์ชันมันกลมกลืนกัน ถ้าสองสิ่งนี้กลมกลืนกันเมื่อไร คือเราไม่ต้องอธิบาย คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนสถาปัตย์เขาจะเข้าใจเลยว่า เราอยากจะให้เขาเดินไปตรงไหน ทำอะไร ใช้งานอย่างไร เราไม่ได้อยากจะทำงานที่มีทฤษฎีเยอะๆ เพราะสิ่งที่สำคัญคือสัญชาตญาน” สถาปนิกเล่าเสริม
แปลนภาพรวมของอาคารนำเสนอผ่านรูปทรงที่พบเห็นได้ในธรรมชาติอย่าง Spiral Shape โดยฝั่งทรงกลมจะเป็นส่วนของร้านกาแฟ ซึ่งถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์การวางเคาน์เตอร์บาร์ที่สามารถทำงานได้สะดวกที่สุด ต่างจากบ้านส้มตำซึ่งจะมีการวางโต๊ะ และครัวทรงเหลี่ยมเพื่อรับการบริการส่วนร้านอาหาร รูปทรงคล้ายก้นหอยจึงเป็นตัวพาให้ฟอร์มและฟังก์ชันต่างดึงดูดเข้าหากัน โดยมีพื้นที่สีเขียวแทรกซึมเข้ามาผสมผสานทุกองศารอบอาคารได้อย่างแนบเนียน
ภาพแสดงแนวความคิดร้าน Baansomtum Flagship Bangna & Horme Cafe และแปลนภาพรวมโครงการ
(Credit: Supar Studio)

พื้นที่ทั้งหมดถูกออกแบบด้วยระดับที่แตกต่าง โดยบ้านส้มตำและสวนจะออกแบบโดยยกระดับจากคาเฟ่ขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้เวลาที่เรานั่งอยู่ภายในร้านกาแฟ เราจะสามารถมองเห็นสวนในระดับสายตาอย่างพอดิบพอดีและรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติโดยรอบเป็นตัวช่วยบล๊อกมุมมองจากถนนได้บางส่วน ซึ่งมุมมองต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนส่งเสริมซึ่งกันและกันตามความตั้งใจแรกที่วางไว้  
ภาพแสดงแนวความคิดร้าน Baansomtum Flagship Bangna & Horme Cafe (Credit: Supar Studio)

ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง อาหาร และ สถาปัตยกรรม

“ด้วยความที่เราทำทั้งงานออกแบบ และร้านอาหาร เรามองว่าอาหาร และ สถาปัตยกรรม มันเหมือนกันตรงความเบสิกที่เราต้องเข้าใจในวัตถุดิบและวัสดุ อย่างสมมติถ้าเราดูคนที่ทำอาหารได้ดี เขามักจะเข้าใจว่าวัตถุดิบธรรมดาที่คนกินกันเป็นประจำ เขาจะทำตรงนั้นให้ออกมาดีได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาเราออกแบบสถาปัตยกรรม หลักการคล้ายๆ กัน คือเราเลยอยากจะเอาของเบสิกมาแสดงศักยภาพ แสดงความเข้าใจในวัสดุนั้นๆ”

จากแนวคิดข้างต้น บ้านส้มตำและหอมคาเฟ่จึงถูกถ่ายทอดความอบอุ่นผ่านวัสดุพื้นฐานที่พบเห็นได้ง่ายอย่าง ไม้อัด  เหล็ก ดิน และพื้นที่สีเขียว แต่ในความธรรมดาของวัสดุเหล่านี้ สถาปนิกออกแบบเพิ่มความสนุกสนาน โดยพลิกแพลงผ่านรูปแบบของการนำไปใช้ที่แตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งหากเราลองสังเกต จะเห็นได้ว่า ไม้อัดถูกนำมาใช้หลายส่วนของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเสาซึ่งโชว์ชั้นไม้ให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งต่างๆ หรือแม้แต่ฝ้าเพดาน  เช่นเดียวกับเหล็กที่ถูกนำมาโชว์เทคนิคโครงสร้าง ซึ่งบิดโค้งไปตามรูปแบบของอาคารได้อย่างลงตัว
เมื่อโจทย์ของบ้านส้มตำและหอมคาเฟ่ ตั้งใจให้คนทุกช่วงอายุสามารถรับประทานได้ทั้งหมด ประเด็นนี้จึงถูกนำเสนอผ่านวัสดุเช่นเดียวกัน โดยนำ ดิน กรวด และพื้นที่สีเขียว เข้ามาเป็นช่วยสร้างความอบอุ่น เป็นกันเอง และเข้าถึงง่าย โดยดินจะถูกนำมาใช้ในส่วนของผนังเพื่อเบรกความรู้สึกแข็งกระด้างจากปูนหรือเหล็ก ส่วนพื้นที่สีเขียวโดยรอบได้ภูมิสถาปนิกมากฝีมืออย่าง Shma SoEn มาเป็นผู้ออกแบบสร้างเส้นสายภูมิทัศน์โดยรอบให้ผสานเข้ากับอาคารได้อย่างลงตัว โดยสวนบริเวณด้านหน้าจะเป็นโซนต้นไม้ใหญ่ ไม้ดอกและไม่พุ่มที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด ส่วนด้านหลังจะเป็นไม้ดอกที่ให้สีสัน และมีพื้นที่โล่งเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมในอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ คือ การออกแบบโดยใช้ระบบโครงสร้างเดียวกันทั้งหมด ทำให้อาคารหลังนี้มีเพียง section เดียว โดยมีเสากลมเหล็กกล่องหุ่มด้วยไม้อัดอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลัก (Main Structure) ส่วนเหล็กฉากบริเวณด้านนอกจะเป็นเพียงตัวค้ำ ที่ช่วยดึงหลังคาลงมาให้สามารถต้านแรงลมได้
ภาพแสดงแนวความคิดร้าน Baansomtum Flagship Bangna & Horme Cafe (Credit: Supar Studio)
เมื่อมองผิวเผิน รูปทรง Spiral Shape ที่ขดแล้วขยายออก ยังทำให้อาคารจั่วฝั่งบ้านส้มตำดูคล้ายกับบ้านธรรมดาๆ หลังหนึ่ง ซึ่งตรงกับแนวคิดบ้านส้มตำในทุกๆ สาขาที่ต้องการให้คนที่เข้ามาทานอาหารรู้สึกอบอุ่นเสมือน ‘บ้าน’

บทสรุปของความเป็น ‘บ้านส้มตำ’

“เมื่อก่อนที่เราทำ บ้านส้มตำ พอมีคำว่า บ้าน เราตีความแต่คำว่าความอบอุ่น แต่สำหรับสาขานี้ เป็นเหมือน flagship เราเลยมาดูว่าในรายละเอียดของความเป็นบ้านส้มตำมันคืออะไร ซึ่งเราจะมี Core Brand คือ ความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ การซื่อตรงกับวัตถุดิบ ความอบอุ่น  และความสนุกสนานเวลากินส้มตำ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากแสดงออกมาให้เห็นผ่านการออกแบบอาคาร คือแสดงตัวตนให้มันชัด” สถาปนิกทิ้งท้าย
ไม่เพียงแต่ตัวตนของที่แสดงออกผ่านสถาปัตยกรรม ที่ชวนให้เราเห็นไปด้วยไปกับสิ่งที่คุณป๊อปกล่าวไว้ แต่บ้านส้มตำสาขาที่ 10 นี้ยังทลายกำแพงเดิมของความเป็นร้านอาหาร ด้วยบทบาทของพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนในย่านบางนามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น สร้างจุดพักที่สามารถใช้เวลาร่วมกันระหว่าง คน และ ธรรมชาติได้มากกว่าที่เคย
สำหรับใครที่สนใจ บ้านส้มตำและหอมคาเฟ่ เปิดให้บริการทุกวัน โดยร้านบ้านส้มตำเปิดให้บริการในเวลา 11.00 – 22.00 (last order 21.30) ส่วนร้านหอมคาเฟ่เปิดให้บริการ 09.00 – 20.00

แผนที่ร้าน :

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading