OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

‘เก็บของเดิม เติมของใหม่’ ก่อนเป็น Hidden Garden Hostel ที่ชวนสัมผัสบรรยากาศความเป็นเชียงใหม่ทุกแง่มุม

Location: 11 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่
Owner: บ.ทีทีทีซี โฮสเทล จำกัด
Area : 600 ตารางเมตร
Lead Architect : อรรถสิทธิ์ กองมงคล Full Scale Studio
Design Team : กฤตานน ฉั่วชุมแสง สุรศักดิ์ จิตรเอียด โสภิดา จิตรจำนอง และสุจินดา ตุ้ยเขียว Full Scale Studio
Landscape :
Studiomaekmai
Structural Engineer :
พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Photographs :
ชัยพร โสดาบรรลุ

ภาพหนึ่งที่คุ้นตาของจังหวัดเชียงใหม่ คือ อาคารตึกแถวเก่าในย่านอนุรักษ์ ไม่เพียงแต่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตาเท่านั้น อาคารเหล่านี้ยังเป็นเสมือนตัวแทนความทรงจำที่ชวนให้เราหวนนึกถึงประวัติศาสตร์ของเมือง รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่หล่อหลอมให้เกิดเป็น ‘จังหวัดเชียงใหม่’ ซึ่งคุณอรรถ อรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกท้องถิ่นจาก Full Scale Studio นำความเป็นเชียงใหม่ที่ว่านี้ มาตีความและออกแบบผ่านการรีโนเวทอาคารพาณิชย์เก่า 3 คูหาอายุ 40 กว่าปีให้กลายเป็น ‘Hidden Garden Hostel’ ที่ชวนนักท่องเที่ยวมาระลึกถึงความหลังผสานความร่วมสมัยของเชียงใหม่ไปพร้อมๆ กัน

บริบท ‘ความเป็นเชียงใหม่’ สู่แนวคิดที่ตั้งใจคืนธรรมชาติให้ย่านวัวลาย

อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนวัฒนธรรมเส้นสำคัญอย่างถนนวัวลาย ซึ่งเป็นย่านชุมชนที่โดดเด่นในการทำหัตถกรรม เครื่องเงินมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งเมือง และยังคงหลงเหลืออยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ‘วัวลาย’ จึงกลายเป็นย่านเก่าแก่ที่มีคุณค่า เป็นโซนอนุรักษ์ที่มีกฏหมายควบคุมในหลายๆ เรื่อง  ‘บริบท’ เหล่านี้จึงกลายเป็นโจทย์หนึ่งที่สถาปนิกและเจ้าของโครงการเห็นพ้องต้องกัน โดยพยายามผลักดัน สร้างเอกลักษณ์ และทำให้ Hidden Garden Hostel เป็นตัวแทนที่สะท้อนความเป็นเชียงใหม่เอาไว้
ด้วยความที่คุณอรรถเป็นสถาปนิกท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่เชียงใหม่มานาน ความเป็นเชียงใหม่ จึงไม่เพียงแต่นำเสนอผ่านเรื่องราวของย่านเท่านั้น แต่ยังตีความผ่านสภาพอากาศที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ความรู้สึกถึงอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไป คุณอรรถจึงตั้งใจผลักดันให้ Users ที่จะเข้ามาใช้งานภายในสเปซมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพอากาศให้มากที่สุด
เพื่อพังทลายข้อจำกัดในเรื่องทึบแสงและการระบายอากาศของอาคารพาณิชย์เดิม แนวคิดพื้นที่สีเขียว ถูกแลกกับพื้นที่ใช้สอยโดยแทรกซึมเข้ามาภายในอาคาร เพื่อสร้างบรรยากาศสบายๆ ของย่านวัวลายแบบดั้งเดิม และยังเป็นไฮไลท์ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกประหลาดใจ และสัมผัสได้ถึงพื้นที่ธรรมชาติที่ซุกซ่อนอยู่หลังฟาซาดอาคารพาณิชย์หน้าตาบ้านๆ แห่งนี้ “ความเป็นย่านวัวลาย ปัจจุบันมันเป็นชุมชนเมืองที่หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศความสบายๆ หรือบรรยากาศเดิมๆ บางทีก็จะหายไป เราเลยคิดว่า เราจะนำเรื่อง วัฒนธรรม สภาพอากาศ และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ มาเป็นตัวแทนแนวคิดในการออกแบบหลักๆ” สถาปนิกเล่าเสริม
ภาพแสดงแนวคิด Hidden Garden Hostel  Photo Credit: Full Scale Studio

เปลี่ยนโฉมอาคารพาณิชย์เก่า

หลังจากได้แนวคิดที่จะนำธรรมชาติเข้ามาปฏิสัมพันธ์ภายในอาคาร สถาปนิกจึงเริ่มออกแบบอาคารเดิมที่ถูกสร้างเต็มพื้นที่ดิน โดยเปลี่ยนพื้นที่ตรงกลางให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคารให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้เข้าพัก
ในการเปลี่ยนแนวคิดที่ตั้งใจไว้ให้เป็นสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้ ทีมออกแบบจึงเริ่มเล่าเรื่องราวผ่านการสร้างประสบการณ์ในการเข้าใช้พื้นที่เป็นลำดับขั้น โดยแรกเริ่มจะเป็นการรับรู้ภายนอกอาคารที่ยังคงไว้ซึ่งภาพจำของอาคารพาณิชย์ในแบบเดิมๆ แต่เมื่อเข้าสู่ภายใน เราจะเจอโถงตอนรับและพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโล่งเผยให้เห็นพื้นที่สีเขียวกลางอาคารได้บางส่วน รวมถึงมีบันไดเหล็กเจาะรูที่พาดผ่านกลางสวนทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ในแนวตั้ง ซึ่งเมื่อเราเดินผ่านบันไดเหล็กนี้ขึ้นมาจะพบกับพื้นที่ชั้นสองและชั้นสาม เป็นที่ตั้งของโซนห้องพักทั้งหมดและพื้นที่ดาดฟ้าตามลำดับ
แปลน Hidden Garden Hostel ทั้ง 3 ชั้น Photo Credit : Full Scale Studio

ที่ว่างหรือพื้นที่สวนที่เกิดขึ้น ทีมออกแบบอ้างอิงจากแนวกริดเสาและคานของโครงสร้างเก่าภายในอาคารทั้งหมด ซึ่งหากเรามองจากแปลนจะเห็นพื้นที่สีเขียวรูปร่างคล้ายตัว L โดยปลายตัว L ถูกออกแบบให้เป็นสระว่ายน้ำเล็กๆ เพื่อให้เกิดเป็นมุมส่วนตัวที่สร้างบรรยากาศแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ “สเปซที่เกิดขึ้นมันน่าสนใจในแง่ที่ว่า เป็นบริบทเดิมของอาคาร การเก็บโครงสร้างเดิมบางอย่างเอาไว้ทำให้อาคารมันน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เอื้อให้เกิดสเปซที่พิเศษ” สถาปนิกกล่าวเสริม
เพื่อแก้ปัญหาความลึกและความแคบของอาคารพาณิชย์เดิม สถาปนิกจึงออกแบบทางสัญจรภายในอาคารใหม่ทั้งหมด โดยโอบล้อมคอร์ดยาร์ดบริเวณกลางอาคารและกระจายออกเพื่อเป็นทางเชื่อมไปสู่สเปซต่างๆ และเพื่อเพิ่มความน่าสนใจไปอีกระดับ สถาปนิกเลือกใช้บันไดเหล็กเจาะรูพาดผ่านกลางสวน เพื่อทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของสวนที่อยู่บริเวณกลางอาคารได้อย่างเต็มที่มากที่สุด บันไดโปร่งที่เจาะรูยังช่วยให้แสงแดดและน้ำฝนจากธรรมชาติ สามารถพาดผ่านหรือไหลลงมายังสวนที่อยู่ด้านล่างได้เช่นเดียวกัน

มอง ‘ความเป็นเชียงใหม่’ ผ่านวัสดุ

“ผมมองว่าความเป็นเชียงใหม่บางทีมันไม่ใช่อดีตเพียงอย่างเดียว อะไรที่มันหล่อหลอมให้เชียงใหม่เป็นแบบทุกวันนี้ ผมว่ามันคือวัฒนธรรมหนึ่งของเชียงใหม่ที่มันร่วมสมัย” จากแนวคิดข้างต้นของสถาปนิก ความเป็นเชียงใหม่ในแง่มุมอื่น จึงปรากฏตัวผ่านเรื่องของวัสดุ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น การเลือกใช้หลังคาแป้นเกล็ด ราวกันตกไม้ งานเทคนิคที่ทำจากไม้ งานจักสาน งานหวาย ซุ้มกันสาด ประตู  หน้าต่าง กระเบื้องเคลือบ เซรามิก หรือกระจกพิมพ์ลาย องค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทีมออกแบบดึงเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พบเห็นได้บ่อยมาออกแบบเพื่อสะท้อนความเป็นเชียงใหม่ และสร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่นในพื้นที่ที่พบเห็นได้ทั่วไป
วัสดุอีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจ  คือของเดิมที่มีภายในพื้นที่ ซึ่งสถาปนิกเลือกที่จะเก็บพื้นผิวของเสา และคานเดิมเอาไว้ทั้งหมด เสากลมที่มีผื้นผิวเป็นหินขัด รวมถึงพื้นกระเบื้องดินเผาหกเหลี่ยม บริเวณ Reception และ Common Area หน้าด้านอาคาร ซึ่งเป็นวัสดุที่สวยงามและถือว่าหายากในยุคปัจจุบัน  ภายในอาคาร Hidden Garden Hostel หลังนี้จึงมีทั้งกลิ่นอายของความเก่าและความใหม่ ผสมผสานเป็นความร่วมสมัยที่กลมกล่อมลงตัวอย่างที่เราเห็น
“การตีความความเป็นวัฒนธรรมบางทีก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นสิ่งที่เราตีความและนำเสนอต้องมีประโยชน์ต่อผู้ใช้อาคาร ต่อชุมชน มันไม่ใช่แค่เรื่องความงาม เพราะความงามเป็นแค่เรื่องของการมอง การรับรู้ ซึ่งการมองเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ และงานรีโนเวทก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเอาออกและแทนที่ด้วยที่ว่าง ซึ่งแทนที่จะเป็นที่ว่างเฉยๆ เราเปลี่ยนตรงนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อคืนประโยชน์ให้ชุมชนไม่มากก็น้อย” สถาปนิกกล่าว
หนึ่งในสิ่งสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมในย่านพื้นที่อนุรักษ์ คือกลิ่นอายหรือเรื่องราวของสถานที่ที่ยังคงแฝงตัวเอาไว้ ถึงแม้รูปลักษณ์และสเปซภายในจะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ ‘Hidden Garden Hostel’  ที่หยิบเอาบริบท เรื่องราว ประวัติศาสตร์ความเป็นย่านและความเป็นเชียงใหม่มาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว

แผนที่: