OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

แปลงโฉม MANA House บ้านลูกผสมสไตล์ไทย – ญี่ปุ่น – สแกนดิเนเวีย

มามะ ชวนมาเยี่ยมชมบ้านรีโนเวทใหม่ในเมืองเชียงใหม่  ผลผลิตจากช่วงโควิดที่เพิ่งเสร็จได้ไม่นาน  ออกมาเป็นผลงานออกแบบที่ผสมผสานความเป็นไทย – ญี่ปุ่น – สแกนดิเนเวีย ไว้อยู่รวมกันได้อย่างอบอุ่นลงตัว  จากตึกแถวเก่าที่ครอบครัวซื้อไว้เมื่อ 13 ปีก่อน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินหนึ่งรอบปีนักษัตร  สภาพบ้านที่ทรุดโทรมเกินจะทนไหว จำเป็นต้องได้รับรีโนเวทใหม่เป็นบ้านพักที่ยึดหลักความเรียบง่ายผ่อนคลาย คุมโทนความอบอวลนวลตาด้วยสีขาว เทา น้ำตาล เป็นแกนหลัก หยิบจับเอาความทรงจำวันเก่าของดีไซเนอร์สาวชาวเหนือ มาต่อยอดกับประสบการณ์ทำงานในญี่ปุ่นและเดนมาร์ก จนกลายเป็นบ้านชื่อว่า MANA House

และถ้าคุณรู้สึกสงสัยว่าบรรยากาศของจริงจะอบอุ่นเหมือนในรูปมั้ย งั้นทำไมไม่ลองไปเชคอินดูด้วยตัวเองหล่ะ !!
บ้านหลังนี้เปิดให้เช่าสำหรับคนที่สนใจ ใครอยากไปเที่ยวพักผ่อนหรือจะลองเช่าเป็น studio ถ่ายรูปเก๋ๆ ตามประสาคนชอบความมินิมอล บอกเลยว่า ต้องมานะ ! 

MANA House  29/1 ซอยสนามบินเก่า เชียงใหม่
ออกแบบโดย :  Chana Mahayosanun
รูปภาพ :  Beer Singnoi

ก่อนจะมา เป็น MANA House

คุณชนา สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้เริ่มเล่าที่มาที่ไปว่า  ตอนแรกจะซ่อมแค่หลังคารั่วค่ะ แต่พอเจ้าของบ้านที่เพิ่งเรียนจบ Spatial Design จากเดนมาร์คมา เลยลงทุนออกแบบให้ดีๆไปเลย โจทย์จากทางบ้านคือ ยังคงมี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เหมือนตัวบ้านก่อนรีโนเวท ตัวฟังก์ชั่น จะรองรับการมาพักของทั้งครอบครัวได้ ซึ่งมีสมาชิกในบ้าน 7 คน นอกจากนี้ เนื่องจากบ้านนี้อยู่ใกล้ โรงพยาบาลสวนดอก บ้านนี้ยังจะเป็นที่พัก และ พักฟื้น ของพ่อแม่  เมื่อมารับการรักษาที่โรงพยายาล
บ้านเก่าทึบและมืดมาก ต้องพึ่งแสงไฟฟ้าในเวลากลางวัน โจทย์เลยต้องทำให้บ้านดูโล่งและมีแสงจากธรรมชาติเข้ามาในบ้านให้ได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันต้องปลอดภัย กันขโมย และถ้าไฟไหม้ก็หนีได้ นอกจากนี้ อาคารหลังบ้านเป็นร้านอาหารที่หันส่วนครัวมายังตัวบ้าน จึงต้องออกแบบให้ กันกลิ่นอาหารที่จะเข้ามายังตัวบ้านด้วย 

วิธีการศึกษา คือ ดูโครงสร้างก่อน และออกแบบโดยไม่ยุ่งกับ โครงสร้างเดิมเลย แม้จะทุบผนังออก และ ใช้ผนังเบา แทนผนังเดิม และ เริ่ม design โดยการลองวางplanning แบบต่างๆ ว่าแบบไหน จะได้พื้นที่ใช้สอยที่เป็นประโยชน์มากทีสุด สุดท้ายทดลองไปประมาณ 64 planning ได้ค่ะ

เมื่อตะวันออก มาเจอตะวันตก

ไอเดียการออกแบบเริ่มมาจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นของบ้านหลังเก่า โดยพยายามจะเพิ่มการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้ได้มากที่สุด ดูเรื่องมุมมองสายตา ว่าแบบไหนจะรู้สึกโล่ง และหลอกตาให้บ้านดูกว้างขึ้น บ้านหลังนี้เป็น space ไทยๆที่นาชอบมากคือ ชาน  หรือ ประตูคู่ของห้องน้ำชั้นล่าง ที่เห็นได้ทั่วไปของประตูล้านนา

คอนเซปหลักของบ้านคือ wall-less ทำให้ผนังในบ้านมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเป็นการยัด function เข้าไปในผนังกั้นส่วนต่างๆ เช่น รั้ว เป็น ตู้จดหมาย หรือ ห้องใต้บันได ลากยาวไปเป็นครัว หรือ ห้องนอนชั้นบนที่ใช้ ตู้มาแทนผนังกั้นห้อง ทำให้เพิ่มพื้นที่มากขึ้น ไอเดียนาได้รับอิทธิพลมาจากการใช้พื้นที่ทุกส่วนของญี่ปุ่น รวมๆกับ mood and tone ของบ้านในสแกนดิเนเวียน เช่น สีไม้/สีเทาของอิฐ รวมถึงไฟด้วย  แล้วพยายามจะใช้สัจจะวัสดุให้ได้มากที่สุด และนาพยายามซ่อนแอร์ทุกตัวด้วยค่ะ เลยได้เป็นภาษาไม้ระแนงทั่วบ้านเลย นิยามมันเลยผสมๆกัน ระหว่าง ไทย/ล้านนา/ญี่ปุ่น/ สแกนดิเนเวีย ค่ะ  แปลกใจเหมือนกันที่พอบ้านเสร็จแล้วทุกคนพูดว่ามันคือบ้านญี่ปุ่น

ไม่หวั่น แม้วันมามาก

บ้าน MANA House มีที่พักเพียงพอสำหรับ 6 คน จะออกทริปกับแก็งค์เพื่อนหรือพาครอบครัวมาก็รองรับได้สบาย  ด้วยบรรยากาศความเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน จะทำอาหารกินเองง่ายๆ ภายในบ้าน หรือจะเปิดประตูมีที่นั่งพักหน้าบ้านออกมารับลมเข้าบ้านชิลๆ  เพิ่มขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในภายนอกเชื่อมถึงกัน  เพราะการออกแบบพื้นชั้นล่าง นาตั้งใจอยากให้เข้ามาแล้วมองไปให้เห็นหลังบ้านเลย ตรงนี้น่าจะทำให้บ้านดูกว้างขึ้น การวางโต๊ะกินข้าวและ kitchen island ชุดครัวแบบมีเกาะกลาง เป็นแนวยาวก็ช่วยให้บ้านดูโล่งขึ้นด้วยค่ะ ตรงชานพักบันได ยื่นต่อออกไปข้างนอกให้เป็นชานเป็น space ที่ไหลจากภายใน-ภายนอก

ส่วนโต๊ะทำงานเอามาไว้หน้าบ้านเพราะเป็นพื้นที่ที่ได้แสงธรรมชาติตอนกลางวันสาดถึง จะได้ไม่ต้องพึ่งหลอดไฟค่ะ ชั้น 2 เลือกที่จะวางห้องน้ำไว้หลังบ้านเพราะงาน service เก่าด้วย และแสงตอนกลางวันที่เข้าทางหลังบ้านค่ะ พอวางห้องน้ำไว้ตรงนั้นจะได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคแล้วเป็น buffer แผงกั้นความร้อนระหว่างภายนอกบ้านกับห้องนอนค่ะ ส่วนการเชื่อมกันระหว่างทั้ง2ห้องนอน ถ้าพักทั้งครอบครัวเปิดประตูไว้ก็จะช่วยทำให้ทั้ง 2 ห้องนอนรู้สึกกว้างขึ้น แต่ถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัวก็ปิดประตูค่ะ

และตัวชาน ที่ยกจากพื้นมา 40 cm. ในบ้านด้านใต้เป็นชั้นวางรองเท้า และพอมันยกจากพื้นมา 40 cm. เลยทำให้เป็น built-in bench ไปด้วย สามารถนั่งใส่รองเท้าได้

มานี่ มีมุมอวด

จริงๆชอบหมดเลยค่ะ 55555 จะชอบส่วนจากโต๊ะกินข้าวมองไปยังโต๊ะทำงานค่ะมากเป็นพิเศษค่ะ รู้สึกว่ามันมี pattern เยอะดี patternของระแนงไม้ที่ซ่อนแอร์ pattern ของกระเบื้อง อีกมุมที่ชอบคือหน้าต่างด้านล่างค่ะ จริงๆพยายามทำให้มันรู้สึกเหมือนกรอบรูป ถ้ามองเข้ามาจากภายนอกบ้านค่ะ อ้อ แล้วก็อยากอวดว่าบ้านนี้มีเครื่องล้างจานค่ะ เพราะเจ้าของบ้านนอกจากจะไม่ชอบล้างจาน 5555  นาว่าเครื่องล้างจานทำให้บ้านดูเรียบร้อยขึ้นเยอะเลยค่ะ เพราะพวกจานที่ตากแห้งจะอยู่ด้านใน แทนที่จะเป็นบนเค้าเตอร์ งบทุกอย่างรวมเฟอร์นิเจอร์ งานไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้านทุกอย่างแล้ว 1.8 M ค่ะ

มีมากกว่าสไตล์  เมื่อจะทำบ้านใหม่ 

บ้านหลังนี้นาออกแบบแล้วเข้าไปเช็คงานทุกอาทิตย์ค่ะ แล้วก็ปรับแบบ แก้แบบหน้างานเยอะเลย โชคดีที่ได้ผู้รับเหมาดีค่ะ ช่วยกันแก้ปัญหาหน้างานกันไป  นาว่าบ้านสะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านที่ดีมากๆเลยค่ะ space จะต้องสอดคล้องกับ lifestyle ของเจ้าของบ้าน นาว่ามันเป็นงาน tailor-made มากกว่าซื้อสำเร็จ บ้านมีความละเอียดอ่อนมาก ถ้าจะทำบ้านหลังใหม่ นาว่าลองถามว่าตัวเองอยากได้อะไรในบ้าน functionแบบไหน อะไรสำคัญ มากกว่าการตกแต่งสไตล์ไหน เพราะสุดท้ายแล้วสไตล์สามารถปรับแต่งภายหลังได้ แล้วลองคุยกับสถาปนิกดูค่ะ 

Chana Mahayosanun