OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

The Hay Equestrian Center & Eatery สถาปัตยกรรมที่ออกแบบเพื่อสร้างความสุขให้กับ ‘ม้า’ และ ‘ผู้คน’

ย้อนกลับไปก่อนจะมาเป็นโรงเรียนสอนขี่ม้าและร้านอาหารไทย-ยุโรป ฟิวชั่น ตกแต่งในสไตล์สแกนดิเนเวียน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเอกชัย 131 ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ดินเปล่าผืนใหญ่กว่า 4 ไร่ของครอบครัวที่มีความผูกพันกับม้ามาโดยตลอด ลูกชายอย่าง คุณดริว-บุณยวัฒน์ อดุลสิริพงศ์ จึงมีความตั้งใจที่อยากจะต่อยอดคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เป็นฟาร์มม้าแห่งใหม่ขึ้นมา

“เริ่มแรกครอบครัวของผมเลี้ยงม้า เราต้องการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เราเลี้ยงอยู่ อยู่รอดไปต่อและมีคุณค่า ก่อนหน้านี้เราเลี้ยงม้าปล่อยไว้เฉยๆ เลย แต่คราวนี้เราอยากจะสร้างคุณค่าอะไรกับตัวเขา เขามีประโยชน์ที่จะให้คนอีกหลายคนได้มาฝึกได้มาเรียนขี่ม้า แต่ทีนี้ด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เรื่องของเศรษฐกิจ ถามว่าจะให้เราเลิกเลี้ยงม้า ตัดชีวิตของเขาเลย แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหนต่อ สภาพแวดล้อมของเขาในอนาคตที่ไม่มีเราแล้วจะเป็นยังไง เราก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เราเลยหาทางจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ ทั้งที่ดิน ม้า และบุคลากร ก็มาระดมความคิดกันว่า เราจะทำโรงเรียนสอนขี่ม้าในแนวทางที่ไม่เหมือนใคร โดยใส่แรงบันดาลใจของทุกคนในครอบครัวผม และทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป” คุณดริวเล่าถึงที่มาของการจุดประกายทำร้านแห่งนี้

แรกเริ่มโจทย์ในการออกแบบของร้านเป็นเพียงแค่การสร้างโรงเรียนสอนขี่ม้าเท่านั้น ก่อนจะขยับขยายให้มีส่วนของร้านอาหาร ซึ่งมีที่มาจากน้องสาวของคุณดริวที่มีความสนใจและความรู้ในการทำอาหารอยู่แล้ว จากความคิดที่ยังคงให้ความสำคัญและอยากดูแลม้า ประกอบกับความสามารถของคนในครอบครัว ที่ดินซึ่งเหมาะเป็นทั้งพื้นที่ของม้าและร้านอาหารในที่เดียวกัน จึงผนวกกันจนเกิดเป็นร้าน The Hay Equestrian Center & Eatery ในเวลาต่อมา โดยได้ทีมสถาปนิกจาก Architectkidd มารับหน้าที่ช่วยดูแลด้านการออกแบบให้ในครั้งนี้

ความตั้งใจแรกหลักของคุณดริวคือ ‘การสร้างพื้นที่เป็นมิตร’ ทั้งของม้าและลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการ โดยหนึ่งในโจทย์การออกแบบที่ทางสถาปนิกเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจก็คือ ‘การสร้างพื้นที่สำหรับอาชาบำบัด’ ซึ่งเป็นการนำม้ามาช่วยในการเสริมสร้างการพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย การออกแบบต่างๆ จึงมีความเป็นมิตรกับผู้ที่แวะมาเยือน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่สนใจเรียนขี่ม้า

โดยหนึ่งในทีมสถาปนิก Architectkidd เล่าว่า “Owner เขาจะเป็น New Generation ตัวครอบครัวเขามีความผูกพันกับม้าอยู่แล้ว เขามีม้าแข่ง ม้าที่ปลดเกษียณ และม้าที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นตอนแรกเลยที่เราโดนติดต่อโดยคุณดริว เขาก็มีความสนใจที่อยากจะทำฟาร์มม้าให้เป็นพื้นที่ของเด็กๆ และการทำอาชาบำบัด ซึ่งเราเองก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”

รูปลักษณ์อาคารที่ตีความจากสรีระของม้า

หากมองจากภายนอกจะเห็นว่า รูปลักษณ์ของอาคารมีความโดดเด่นด้วยส่วนโค้งนูนและโค้งเว้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจมาจากสรีระของม้า โดยนำเอาวัสดุไม้มาเรียงต่อกันและใช้หลักการทำคล้ายๆ กับเฟอร์นิเจอร์ที่มีการขึ้นโครงสร้างก่อน เพื่อให้ออกมาเป็นรูปทรงของเพดานและผนังตามที่ต้องการ

“ถ้าดูภาพรวม เราลองนึกถึงกล้ามเนื้อของม้าที่มีส่วนเว้าโค้ง ส่วนนูนออกมาให้ดูมีสรีระ แต่ก็ไม่ได้ดูแข็งจนน่ากลัวเกินไป สิ่งที่เราเน้นเลยจะเป็นเพดานและผนัง นอกนั้นเราก็ปล่อยให้เป็นสีของวัสดุอย่างเดียว ด้วยเวลาที่สเปซเป็น grid ปกติพอเวลาไปเมิร์ชกับสเปซ มันก็จะสร้าง Perspective ที่ต่างจากอาคารทั่วไป”

ภาพโครงสร้างของตัวอาคาร The Hay Equestrian Center & Eatery

ในขณะเดียวกันสถาปนิกยังเลือกที่จะคงไว้ซึ่งผิวสัมผัสของวัสดุเดิมที่ปล่อยเนื้อผิวให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางคุณดริวมอบให้กับทีมสถาปนิก เนื่องจากต้องการให้เลือกใช้วัสดุอย่างไม้ประดู่ที่ทางเจ้าของหาได้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

“เราก็คุยกันว่า ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติของมัน เราก็อยากปล่อยไว้ให้มันเป็นธรรมชาติ ซึ่งทางทีมกับเจ้าของก็เห็นสอดคล้องกัน” สถาปนิกเล่าเสริม “ตอนแรกเขาก็ลังเลว่าจะย้อม แต่เราก็บอกว่า ให้ปล่อยธรรมชาติ แล้วลองดูว่า ความรู้สึกจะเป็นอย่างไร เพราะพวกเราเองก็ชอบทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ และสีก็เป็นสีที่เหมือนม้า ปกติเราก็อาจจะไม่กล้าใช้วัสดุไม้ที่มีลวดลายและสีต่างกันมาก สีอ่อนและสีแก่ แต่เมื่อทุกอย่างออกมา มันก็ได้ความบริสุทธิ์ เราก็ให้ช่างได้อิสระในการเลือกไม้ ก็เป็นผลสรุปออกมาที่น่าพึงพอใจ”

เชื่อมโยงพื้นที่ในและนอกไว้อย่างกลมกลืน

“ความที่ไซต์อยู่ค่อนข้างไกลจากเมือง ตอนแรกเราดีไซน์ในเรื่องของ Playground ขึ้นมาด้วย”

เดิมทีบริเวณด้านหน้าของตัวร้าน ทีมสถาปนิกยังออกแบบให้ร้านมีพื้นที่ Playground ไว้สำหรับเด็กๆ ด้วยการนำเอาการละเล่น (Play) กิจกรรม (Activity) และตัวอาคาร (Building) มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน แต่ด้วยความที่ทางเจ้าของเห็นว่า ในส่วนของร้านอาหารมีพื้นที่รองรับลูกค้าเพียงพอแล้ว แผนการออกแบบในส่วนนี้ จึงถูกพับเก็บเอาไว้ก่อน โดยหลงเหลือแค่พื้นที่คอกม้าตัวเล็กที่เด็กๆ สามารถแวะมาให้อาหารม้ากันได้

ด้วยความตั้งใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ของเด็กๆ และครอบครัว ซึ่งต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้ เมื่อเดินเข้าภายในของอาคารที่มีเปลือกภายนอกเป็นไม้แห่งนี้ จะพบว่า สถาปนิกเลือกที่จะรายล้อมด้วยผนังกระจกที่มีช่องขนาดใหญ่เปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติ ซึ่งสามารถเลือกเปิด-ปิดได้ตามความต้องการใช้งานของพื้นที่ เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในออกไปสู่ภายนอกได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ต้นไม้ของจริงตกแต่งไว้ด้านในของพื้นที่ ซึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องของแสงสว่าง เพราะเป็นกระจกล้อมรอบด้าน ทำให้แสงสว่างเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ ของตกแต่งส่วนใหญ่ในร้านยังเป็นของที่ทางเจ้าของร้านชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นไวน์เซลล่าร์ที่ถูกติดตั้งอยู่ตรงกลางของบันได อานม้า ฟางม้า และของที่ระลึกกระจุกกระจิกที่ได้มาจากการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย

ส่วนบริเวณพื้นที่บนชั้นสองถูกออกแบบพื้นที่ให้เป็นอเนกประสงค์สำหรับรองรับกิจกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ห้องประชุม งานจัดเลี้ยง งานแต่งงาน หรือนิทรรศการ

พื้นที่เอื้อต่อการใช้งานของม้าและคน

แม้องค์ประกอบสำคัญของ The Hay จะเป็นม้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องให้ความสำคัญของคนที่มาใช้บริการ สังเกตได้จากแนวคิดเรื่องการวางพื้นที่ของคนและม้าที่สถาปนิกเลือกที่จะวางพื้นที่ให้รบกวนกันน้อยที่สุด และพวกเขายังใส่ใจในเรื่องของมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคนและม้า เนื่องจากที่ตั้งของร้านอยู่ติดริมถนน

ภาพผังบริเวณโครงการ

“จากโจทย์เราจะได้พื้นที่ของคอกม้ามาก่อนที่อยู่ทางด้านหลังของปีกขวา เป็นโซน Private ของม้า แล้วทีนี้เราก็เริ่มจากคนที่เข้ามาใช้โครงการ ก็คือลานจอดรถที่เราไว้ในส่วนที่เงียบที่สุด ไม่ได้กระทบกับที่อยู่อาศัยของม้า เราก็เหมือนจะสร้างกำแพงที่เป็นตัวบังกิจกรรมภายในทั้งหมด แล้วก็จะให้คนที่เข้ามาใช้โครงการ สามารถเดินผ่านลูปทางเดินได้ด้วย ในส่วนนี้ก็จะเป็นจุดพบกัน ระหว่างลูกค้า หรือสตาฟที่ดูแลม้า เป็นเหมือนตัวเซ็นเตอร์ของพื้นที่ไซต์”

ทางเดินเข้าสู่ตัวอาคารมีการไล่ระดับจากสูงมาต่ำ เพื่อให้คนในร้านอาหารสามารถนั่งอยู่ที่เก้าอี้ แต่ก็ยังสามารถมองออกไปเห็นทัศนียภาพภายนอกได้อีกด้วย และบริเวณทางเดินสัญจรของผู้มาใช้บริการยังออกแบบให้มีแผงกันแดด ส่วนบริเวณกำแพงเลือกใช้อิฐบล็อกที่มีลักษณะเป็นรู เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านมาสามารถเห็นทัศนียภาพของลู่วิ่งของม้า โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนม้าแม้แต่น้อย

ด้วยความที่ม้าเป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่สำหรับเคลื่อนไหว หากถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ สิ่งที่ทีมผู้ออกแบบคำนึงถึงคือ ‘การสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้งานของม้า’ โดยออกแบบให้มีส่วนของลู่วิ่งของม้า 2 ประเภท คือ ลู่วิ่งปิดด้านในสำหรับใช้ในการฝึก กับลู่วิ่งวงกลมที่ใช้ฝึกการเดิน ตั้งสิ่งกีดขว้างให้ม้ากระโดด หรือวิ่งได้

สถาปนิกเล่าว่า “เนื่องจากทางเจ้าของเขาเป็น Expert เรื่องของม้าอยู่แล้ว เรื่องของ Circulation ของม้าว่าจะทำอะไรยังไง มันก็ได้ Input มาจากเขา จากคอกม้า ออกมาอาบน้ำ หรือออกไปวิ่ง มันจะมีลูปของม้าที่ผ่านระหว่างสองอาคาร แล้วออกไปวิ่งด้านนอกได้”

“ม้าของเขาจะคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับสัตว์อื่นๆ เช่น เป็ด และไก่ มันก็ดูเป็นคอมมูนิตี้ของสัตว์ แล้วก็จะมีม้าเล็กเพื่อให้เด็กให้อาหาร เพราะฉะนั้นเรื่องของเนเจอร์ว่า ม้าตัวผู้และม้าตัวเมียแยกกันยังไง หรือว่าม้าที่คึกจะจัดการยังไง เขาก็อธิบายให้เราฟัง และได้รับการจัดการตามนิสัยของม้า เหมือนเขาจะค่อนข้างรู้จักม้าแต่ละตัวของเขา ว่าตัวนี้มายังไง มีที่มายังไง”

ซึ่งทั้งหมดนี้คือ อีกผลงานการออกแบบที่เกิดจากความใส่ใจ เพื่อให้ม้าและผู้คนที่แวะมาเยือนมีประสบการณ์ที่ดีที่สุด ก่อนปิดท้ายการสนทนาทีม Architectkidd ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ในฟาร์มมีม้าที่มีชื่อว่า ‘คิดดี’ อีกด้วย ซึ่งเป็นลูกม้าที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทางทีมทำงานร่วมกับที่นี่ หากใครอยากพบกับคิดดี มาเรียนขี่ม้า หรือนั่งรับประทานอาหารในบรรยากาศดีๆ The Hay Equestrian Center & Eatery ก็พร้อมรอต้อนรับทุกคนเสมอ

Owner: คุณดริว-บุณยวัฒน์ อดุลสิริพงศ์ และครอบครัว
Architect: Architectkidd
Location: ซอยเอกชัย 131 เขตบางบอน กรุงเทพฯ
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์