หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมมามากกว่า 10 ปี อันที่จริงต้องกล่าวว่าตั้งแต่เริ่มเรียนในคณะสถาปัตยกรรมแล้วด้วยซ้ำที่ คุณหนึ่ง–เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR ได้ชิมลางในสายงานนี้ด้วยการเริ่มประกวดแบบจนฝีมือและวิธีคิดที่มีต่องานสถาปัตยกรรมถูกบ่มเพาะจนกระทั่งตกผลึก แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่วิธีในการออกแบบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมุมมองที่คุณหนึ่งมีต่อทุกองค์ประกอบในอาชีพนี้อย่างใส่ใจ ตั้งแต่บริบท ผู้คน ไปจนถึงธรรมชาติ จนสุดท้ายแล้วทั้งหมดได้ถูกนำมากลั่นกรองและออกมาเป็น EKAR บริษัทสถาปนิกที่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการออกแบบ ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เมื่อไหร่ที่เรามีแนวทางแบบนั้นเมื่อไหร่ ผมว่าคือความล้มเหลวในอาชีพผมแล้ว’
เหตุผลในการเลือกเรียนสถาปัตยกรรม
‘เหตุผลของการเลือกเรียนสถาปัตย์ ตั้งแต่เด็กผมก็เรียนศิลปะมาตั้งแต่แรกแล้ว คุณพ่อเป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ ในครอบครัวก็จะรายล้อมไปด้วยดนตรี การวาดรูป ในตอนที่ต้องเลือกเรียนขึ้นมาเราก็พบว่า มันมีความสนใจเราอยู่ไม่กี่อย่าง ดนตรี ศิลปะและอีกอันนึงที่ตอนนั้นที่เราเลือกก็คือพวก Creative อะไรที่เขาคิด A หาคำตอบคำถามเป็น A เราตอบ B C D อะไรอย่างนี้ ก็ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ ก็ค่อนข้างคิดว่าตัวเองชอบทางนี้แน่นอนแล้ว วันที่ยังไม่รู้อะไรมากก็คือว่า ดนตรี มันก็กลับไปคิดถึงอาชีพว่าจะทำอาชีพอะไรยังไงพ่อแม่เขาถึงจะสนับสนุนนะ แล้วก็วาดรูปก็พอ ๆ กัน งานศิลปะก็พอ ๆ กัน ส่วนเรื่อง Creative ไปสายนิเทศฯ อะไรพวกนี้ก็จริง ๆ ก็ไม่ได้รู้จักมันมาก แล้วก็ดูเหมือนว่ามันหลุดจากเรื่องการวาดรูปไปเยอะเหมือนกัน จนออกมาที่การเรียนวิชาสถาปัตยกรรมก็เลยเลือกเรียนอันนี้’
คณะสถาปัตยกรรมสร้างวิธีการคิดและมุมมองที่มีต่อชีวิต
‘ผมว่าตัวผมมันมีเชื้อของการเป็นสถาปนิกอยู่แล้วนะครับก็คือ เป็นคนช่างสังเกตแล้วก็สร้างสมมติฐา คิดวิเคราะห์อะไรก็ทำมาตั้งแต่เด็ก แต่พอทำอาชีพมาถึงทุกวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องว่าอยากให้แตกต่าง มันเป็นเรื่องของชีวิตคน เป็นเรื่องของชีวิตคน แล้วก็เป็นเรื่องของการทำอะไรเพื่อคนอื่น เพื่อให้สิ่งรอบ ๆ ข้างมันดีขึ้น สถาปัตยกรรมมันกลายเป็นเรื่องนั้น’
ช่วงชีวิตของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
‘ผมเรียน Landscape มาก่อน Landscape มา 1 ปี แล้วค่อยขยับมาเรียนสถาปัตย์ ซึ่งมันก็ดีมากนะ ทำให้เราเข้าใจ ทุกวันนี้เราทำงานแบบ Contextualism คือ อ้างอิงสภาพแวดล้อม ซึ่งเราเห็นว่ามันสำคัญมาก ๆ สำคัญกว่างานสถาปัตยกรรม หลังจากนั้นก็ไปเรียนสถาปัตย์ 5 ปีที่เรียนเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาเพาะบ่มนะ เป็นช่วงเวลาที่สนุก แล้วก็ไม่ต้องไปคิดถึงความจริงอะไรมาก แล้วก็เป็นช่วงที่ทำให้จินตนาการโลดแล่นไปได้กว้างไกลที่สุดครับ ผมว่านักเรียนสถาปัตย์ทุกคนรู้ 5 ปีนั้น คือ Introduction ของทั้งชีวิตเราเลยนะ คือ คนเรียนสถาปัตย์นี่ไม่มีทางเหมือนคนอื่นเลย ชีวิตเขาจะไม่มีวันจบงาน คืองานจะอยู่ตลอดทั้งปี งาน Project จะอยู่ทั้งปี ทำมา 10 กว่าปี ก็เป็นแบบนั้น จะอะไรมันจะคิดทุกอย่างเป็นงานไปหมด คือมัน Blend กลายเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งมันเพาะบ่มมาตั้งแต่ตอนเรียนนี่แหละครับ รูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างนั้น’
จุดเริ่มต้นของการประกวดแบบระหว่างเรียน
‘เราเริ่มต้นจากการเป็นมนุษย์ขี้สงสัย เวลาเราทำงานไปส่งอาจารย์แต่ว่าผลลัพธ์บางทีอาจารย์ก็ไม่ได้คิดเหมือนเรา เราก็มีคำถามต่อว่ามันใช่เหรอ เราก็พยายามหาคำตอบมาจากที่อื่น ซึ่งก็คือ การประกวดแบบ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่สุดเราแค่อยากจะรู้ หลังจากนั้นก็กลายเป็นว่าเราทำเพื่อเราจะได้ตกผลึกความคิดของเรามากกว่าครับ เราไม่ได้ทำเพื่อให้เขาดูแล้ว เราทำเพื่อให้เราได้ทำ เพื่อให้เราได้คิด แล้วเราก็ได้ส่งมันออกไป ผมจะเป็นพวกทำอะไรไปให้ถึงสุด พอเข้าใจแล้วก็พอแล้ว’
เส้นทางของ EKAR
‘เริ่มรู้สึกว่าที่เราทำมาตลอด 5 ปี ที่เราสนุกกับมันมันไม่ใช่คำตอบของคำว่าสถาปัตยกรรมเลย พอมาเริ่มทำงานแล้วก็รู้สึกว่าสถาปัตยกรรมมันไม่ได้ว่ากันด้วยเรื่องความคิดอย่างเดียว มันต้องทำความคิดให้กลายเป็นความจริง ทีนี้ทำงานอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่ ความคิดมันไม่ใช่ความคิดของเรา ไม่ใช่ความเชื่อของเราแล้ว มันตอบโจทย์บางอย่าง คือตอบคำถาม ตอบ Function ตอบแนวทางของบริษัทนั้น โอเค เราเรียนรู้อะไรจากเขาเยอะ แต่ว่ามันยังมีคำถามในใจในแบบที่เราเชื่อ มันไม่ได้เอาแนวคิดเราไปทำให้เกิดขึ้นจริง วิธีเดียวที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ของคำถามเราก็คือ ทำบริษัทด้วยตัวเราเองครับ ก็เลยเป็นที่มาที่เราเริ่ม Set Up วันแรกๆ เลยที่เป็นบริษัท Ekar’
วิธีคิดในแบบ EKAR
‘เราเริ่มตกผลึกทุกอย่างมาทั้งหมดเป็น 10 ปีแล้ว วันนี้เองเรารู้แล้วว่าความจริง มันไม่ใช่สิ่งที่มันจับต้องได้อยู่ตรงนั้น ความจริงมันไปไกลกว่านั้นอีก เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของชีวิต จะถามหาแนวทางกับชีวิตนี่มันไม่มี ถ้าเมื่อไหร่เราพบว่างานสถาปัตยกรรมออกมามันมีแนวทางใดแนวทางหนึ่ง คนเห็นงานนี้ปุ๊บรู้เลยว่างานเรา งาน Ekar เห็นรูปทรง รูปถ่ายออกมารู้เลยว่างานเรา เมื่อไหร่ที่เรามีแนวทางแบบนั้นเมื่อไหร่ ผมว่าคือความล้มเหลวในอาชีพผมแล้ว มันควรจะสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทั้งหมดตามรูปแบบ ลักษณะเฉพาะของเงื่อนไขนั้นๆ แล้วคำว่าแนวทางที่เราชอบถามกัน อุดมการณ์บ้างล่ะ แนวคิดบ้างล่ะ มันตีกรอบความคิดเราจนทำให้ทุกคนต้องอยากไปสู่จุดนั้น จุดที่มีแนวทางของตัวเอง ซึ่งผมว่ามันอาจจะไม่ใช่คำตอบของสถาปัตยกรรมที่ดี’
ขั้นตอนการออกแบบของ Ekar จนมาเป็นสถาปัตยกรรม
‘เราจะใช้เวลากับช่วงเวลาของความคิดเยอะมาก อย่างที่บอกว่าชีวิตมันดิ้นได้แล้วมันก็เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดในแต่ละช่วงเวลา มันมีช่วงหนึ่งครับที่ว่าพยายาม Implement ความคิดนั้นออกมาเป็นการSketch ซึ่งมันก็เวิร์ค แต่ว่าผมพบว่า เมื่อไหร่ที่เราทำให้ความคิดกลายเป็นความจริงเมื่อไหร่ มันกลายเป็นกรอบให้เรากลายเป็นอันนั้นไปแล้ว ทีนี้ผมก็รู้สึกว่าการเขียนและการ Sketch ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมถ้ามันยังไม่ตกผลึก ผมจะไม่ Sketchถ้ายังไม่คิดแล้วตกผลึก แล้วการตกผลึก ก็ห้ามตกผลึกด้วยการ Sketch หรือการตัด Model การทำไปคิดไปมันกลายเป็นว่ามันหลอกตัวเราเอง
หลังมานี้พอเราเชื่อว่า ‘สถาปัตยกรรม’ มันคือเรื่องที่มันดิ้นได้ขนาดนั้น เราเลยพูดมันออกมา ซึ่งเป็นจุดตรงกลางระหว่างความคิดกับรูปธรรม ทุกวันนี้ผมจะคิดงานมาจนเสร็จนะ คิดมา 2-3 วัน เสร็จปุ๊บก็แบบ ‘ขอเวลาคุยหน่อย’ คุยกับใครก็ได้เลยนะ แรกๆ ผมจะไม่ค่อยชอบฟัง แต่ผมก็ได้ตกผลึกแล้วว่า เราไม่ได้ต้องการอะไรจากเขาเลย เราแค่ต้องการพูด แล้วเราก็เชื่อในความคิดของเราไปแต่คนที่ เขาคุยสนุกมันก็ช่วยเราได้ดีขึ้นอยู่แล้ว แต่มันไม่ต้องมีคนนี้ก็ได้ พอคุยกันเสร็จแล้วพี่ถึงค่อย Sketch สำหรับพี่คือวิธีนี้เลยถามแบบข้างบนเลย พอเสร็จทั้งหมดก็ค่อยไปทำ แล้วพอทำแล้วมันไม่เวิร์คก็กลับมาทำใหม่ๆ’
ประเภทงานที่ถนัด
‘ทุกวันนี้คนอื่นจะคิดว่าเราถนัดบ้านเพราะว่าเราออกแบบบ้านเยอะ ซึ่งอาชีพเรามันจะถูกกำหนดอาชีพด้วยงานที่มันเสร็จ จริงๆ แล้วสิ่งที่เราถนัด คือ เราถนัดการออกแบบการใช้ชีวิตในแต่ละสถาปัตยกรรมนั้นๆ เวลาลูกค้ามาพูดถึง Planning ผมพาเขาไปคนละเรื่องเลยนะ ผมไปคุยในเรื่องว่าชีวิตเขาอยากเป็นยังไง เขาอยากจะมีครอบครัวแบบไหน ผมก็จะบอกเขาว่ายังไม่ต้องพูดเรื่อง Plan ได้ไหม ยังไม่ต้องพูดเรื่อง Function ซึ่งในนิยามของผมคือ กำลังจะทำชีวิตใหม่ แล้วมาเอาชีวิตในอดีตมากำหนดชีวิตในอนาคต คือผมว่ามันแปลกมาก แล้วจ่ายเงินจ้างสถาปนิก แล้วผมก็จะบอกว่าอย่าเอาชีวิตในอดีตมากำหนดชีวิตในอนาคตของคุณ’
โครงการที่ท้าทายที่สุดในช่วงเวลาทำงาน 10 กว่าปีที่ผ่านมา
‘เรื่องความท้าทายผมว่าเป็นคำถามที่ตอบยากสำหรับเรามากเลยนะ มันแปลกที่เราถามหาความท้าทาย เพราะความท้าทายมันเป็นเรื่องขั้นต้นที่ทำให้เรา Drive ชีวิตมาถึงทุกวันนี้ได้ จนเราลืมไปแล้วว่ามันพิเศษ มันเหมือนอากาศที่เราต้องหายใจ อีกแง่คือมันก็ท้าทายทุกอันแหละ ถ้าไม่ท้าทายเราคงตายไปแล้ว เราคงไม่มีชีวิต เราคงไม่มีอากาศหายใจแล้วแหละ ทุกงานถ้ามันไม่มีความท้าทาย บริษัทก็คงจะอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเงินนะ แต่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คงไม่มีอากาศหายใจ
แต่ละโครงการก็จะมีความพิเศษในแบบของมัน แต่ถามว่าอะไรมากกว่าอะไร ผมนึกไม่ออก ความท้าทายของเราก็คือว่า เราจะฝึกการลดอัตตาของเรายังไง ซึ่งมันพัฒนาเราเอง พัฒนาวิธีคิด พัฒนาจิตใจด้วย แล้วมันก็ส่งผลไปถึงทุกวันนี้ ที่ทำให้เราเข้าใจงานสถาปัตยกรรมว่ามันไม่ใช่เรื่องของแนวทางอะไรทั้งนั้น ซึ่งผ่านอันนั้นมาได้ เราอาจจะเลือกว่าเราจะทำ หรือไม่ทำต่อก็ไม่เป็นไร วันนั้นเราคิดอย่างนี้เลยจริง’
วิธีรับมือกับช่วงที่หมด Passion
‘ช่วงที่หมด Passion จริงๆ อยากจะบอกว่าไม่มี แต่จะเป็นเรื่องคน ทำให้เขาไม่ Happy มันก็ท้อแท้ ช่วงนั้นก็ท้อ แต่ก็เป็นคนสู้ไง เวลาเจอปัญหาบางคนก็อาจจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่เราจะพัฒนาตัวเองยังไงได้บ้าง คือเราพัฒนาตัวเองตลอดทุกมุมเลย เท่าที่เราจะทำได้เพื่อจะได้ไปถึงจุดปลายทาง เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมมันดี แต่เรารู้ว่ามันไม่ได้จบที่งานออกแบบ’
หากให้ย้อนเวลากลับไปเลือกเรียนช่วงมหาวิทยาลัยอีกครั้ง
‘ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะเลือกเรียนสถาปัตย์ครับ มันเป็นอาชีพที่มันมีความสุขนะ คือว่าตอนนี้ที่ทำให้ขับเคลื่อนชีวิตไปได้ เพราะว่าเราทำเพื่อให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ทำให้สังคมดีขึ้น แต่ที่มันดีไปอีก คือมันทำให้เราดีขึ้นด้วย เราทำงานให้คนอื่นมันเหมือนกับว่าเราก็ได้พัฒนาตัวเราเองด้วย แล้วก็พัฒนาคนรอบๆ ข้างเรา วันนี้ผมทำงานใช่ไหม ก็พัฒนาน้องๆ ในออฟฟิศอะไรอย่างนี้ คือมันไม่ใช่งานของเราอีกต่อไปแล้ว มันกลายเป็นการทำให้สิ่งรอบๆ ข้างมันดีขึ้น’
มุมมองของที่มีต่ออาชีพสถาปนิก
‘ถ้าคิดแบบที่พี่ทำอยู่ก็เป็นอาชีพที่ได้ทำอะไรให้คนอื่น ที่สุดแล้วมันเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงมันต้องดีขึ้นเท่านั้นแหละ มันเหมือนหมอที่ได้รักษาคนนะ แล้วที่มันดีกว่านั้นอีก มันเป็นความเปลี่ยนแปลงชีวิตไง สถาปัตยกรรมมันดีตรงที่ว่ามันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตแหละ’
ความสำเร็จในอาชีพสถาปนิก
‘ความประสบความสำเร็จในอาชีพของพี่ในทุกวันนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้ก็ขอแค่ว่างานที่เราทำออกไป ทำให้ชีวิตของคนที่ไปใช้งานดีขึ้น ทำบ้านให้เขา ชีวิตเขาดีขึ้น ชีวิตครอบครัวเขาดีขึ้น ชีวิตลูกๆ เขาดีขึ้น แล้วเขาก็อาจจะได้ไปทำอะไรดีๆ ให้คนอื่นต่อ เรื่องที่ผมพูดทั้งหมดสถาปัตยกรรมมันเป็นชีวิตไง ตามหลักแล้ว พอมันเป็นเรื่องเดียวกันแล้วสถาปัตยกรรมนั้นๆ มันก็จะดีขึ้นไปเอง’
ฝากถึงน้องๆ ทั้งที่ทั้งกำลังเรียนและเพิ่งเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
‘อยากบอกว่าระบบการเรียนสถาปัตย์ คือ การสอนก่อนการที่จะเข้าไปเป็นสถาปนิก แต่ไม่ได้สอนวิธีการทำอาชีพสถาปนิก ผมบอกน้องที่เข้ามาทำงานว่า ‘ที่มานี่พี่จะสอน’ เพราะการเป็นสถาปนิกมันไม่ใช่แค่ได้บทเรียนของการทำงานสถาปัตย์ ไม่ใช่แค่ได้บทเรียนของการออกแบบ แต่มันเป็นมันจะเป็นบทเรียนของทุกอย่างเลย ตั้งแต่การไป Site การวิเคราะห์ ซึ่งหัวใจมันไม่ใช่งานออกแบบนะ เขาให้ใช้คำว่าทำงานให้เป็น ปีสองปีแรกคือทำตามให้ได้ แล้วปีที่ 3 ทำให้เป็นก็พอ 3-4 แล้วปีที 5 ถึงเป็นสถาปนิก ที่ผมคิดนะ โอเคแต่ถ้าน้องเก่ง จริงๆ แล้ว ปีแรกก็คือทำงานเป็นแล้วก็เป็นสถาปนิกไปแล้ว
สรุปคือ จบมาอย่าไปคิดว่าไปทำงานให้เขา จบมาให้คิดว่าไปเรียนหนังสือกับเขาอีก 2 ปี แล้วก็เปลี่ยน Mind Set ทุกอย่างเลย ฟันธงเลยว่าที่คุณจบมานี่ไม่ได้รู้อะไรกับอาชีพสถาปนิกเลย แล้วก็ 2 ปีแรกให้ไปเรียนรู้ให้มากที่สุด อย่าไปรู้แค่การออกแบบ รู้วิธีการเป็นสถาปนิก แล้วหลังจากนั้น ถ้าคิดว่า Collect ได้มากพอ คุณถึงจะมาทำงานของตัวเองได้เร็ว ถ้าอยากจะเปิดออฟฟิศเอง ก็จงรู้ว่าไปเอามาให้ครบทุกมิติ แล้วก็ค่อยมาทำ ซึ่งถ้ามันไม่ครบทุกมิติ ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ’
แม้ทุกวันนี้ Ekar จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทออกแบบที่เรียกได้ว่า ‘ติดลม’ แล้ว แต่คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว นั้นกลับไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือความสำเร็จและจุดสูงสุดของวิชาชีพ แต่ความสำเร็จ คือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ดี และได้ส่งต่อสเปซที่ดีที่มีคุณภาพเพื่อให้ผู้ใช้พื้นที่ได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทุกๆ อย่างรอบตัวดีขึ้นในเวลาเดียวกัน
คุณหนึ่ง–เอกภาพ ดวงแก้ว
Faculty Of Architecture – Chiang Mai University Bachelor Of Architecture