OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ย้อนเรื่องราวของสถาปัตยกรรมลูกผสมเมืองภูเก็ต ที่ถูกหลอมรวมขึ้นจากวิถีชาวเพอรานากันและวัฒนธรรมตะวันตก

เมื่อที่มาและเส้นสายของสถาปัตยกรรมเมืองเก่าภูเก็ต ไม่ได้ถูกเรียบเรียงขึ้นเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ถูกหลอมรวมขึ้นจากเรื่องราวของวิถีชีวิตคนรุ่นเก่า และวัฒนธรรมที่ถูกแทรกซึมเข้ามาช่วงประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการค้า จนกลายเป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัดในรูปแบบของสถาปัตยกรรมปีนัง หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีส สู่ย่านการค้าเก่าแก่ของ จ.ภูเก็ต ที่ยังคงสร้างความงดงามให้กับตัวเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

“ดีบุก” ใต้แผ่นดินนครภูเก็ต
กับการนำพาสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และศิลปะ เข้ามาเยือน

หากกล่าวถึงความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสในย่านเมืองเก่าภูเก็ต คงต้องย้อนกันกลับไปร่วมร้อยกว่าปี ในยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรืองกับการเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุดีบุก ซึ่งระหว่างนั้นได้มีกลุ่มชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยเข้ามาลงทุนกิจการเหมืองแร่ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากตอนใต้ของจีนอพยพเข้ามารับจ้างเป็นกุลี และก้าวขึ้นเป็นนายเหมืองด้วยเช่นกัน การผสมผสานของวัฒนธรรมจึงได้ถูกหลอมรวมขึ้นในยุคนั้น และปรากฎให้เห็นเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่ยังคงถูกสืบทอดต่อกันมา

ปัจจุบันชาวจีนฮกเกี้ยนถือเป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ของตระกูลโบราณอันมั่งคั่ง ที่ยังคงถูกเรียกในชื่อว่า “ชาวเพอรานากัน” หรือ “บาบ๋า” คำเรียกชาวเลือดผสมหรือลูกหลานชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่อาศัยในแถบชายแดนใต้ และสืบทอดกันมาถึงหลายชั่วรุ่น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายให้พบเห็นในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตั้งแต่อาหาร การแต่งกาย วิถีชีวิต รวมถึงสถาปัตยกรรมที่สามารถพบเห็นได้ถึงเส้นสายของวัฒนธรรมตะวันตกและวิถีของชาวตะวันออกที่ผสมผสานรวมกัน ก่อนจะถูกนิยามให้เป็นสไตล์ชิโนโปรตุกีส ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า ชีโน แปลว่าจีน และโปรตุกีส ที่เป็นการเรียกรูปแบบของสถาปัตยกรรมยุโรปยุคนีโอคลาสสิก หรือบ้านฝรั่งจากคำเรียกขานของคนยุคนั้น

อีกทั้งการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม ยังได้ถูกถ่ายทอดมาในลักษณะของการก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีรูปแบบเป็นตึกแถวหรือเตียมฉู่ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ที่มีหลังคาทรงสูง ประดับลวดลายของประตูหน้าต่างชั้นล่างในแบบจีน ขณะที่ชั้นบนเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้ และบานเกล็ดกระทุ้ง พร้อมกับประดับด้วยลวดลายปูนปั้นในแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ซึ่งเส้นสายของอาคารในลักษณะนี้ก็ยังสามารถพบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมของเมืองจอร์จทาวน์ (George Town) รัฐปีนัง ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชายแดนใต้อย่างมาเลเซียเช่นเดียวกัน

การออกแบบที่แฝงไว้ซึ่งแนวคิดของความเชื่อและประโยชน์ใช้สอย
ของชาวจีนฮกเกี้ยน หรือเพอรานากัน

นอกจากเรื่องความงดงามของอาคาร การออกแบบที่พื้นที่ภายในพักอาศัยของชาวเพอรานากันหรือบาบ๋าก็ยังโดดเด่นไปด้วยประโยชน์ใช้สอยที่แฝงถึงการยึดถือหลักฮวงจุ้ยตามความเชื่อของชาวจีน อย่างช่องทางเดินเชื่อมต่อระหว่างตึก ที่ถูกเรียกว่า “หง่อคาขี่” หรือทางเดินกว้าง 5 ฟุต บริเวณหน้าบ้านได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยป้องกันแดดและฝนให้กับผู้ที่เดินผ่านไปมา อีกทั้งในแง่ของการค้าขายก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยในย่านได้ด้วย

ด้วยที่ตัวอาคารมีลักษณะการใช้งานเป็นร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย การจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านจึงประกอบไปด้วย ส่วนด้านหน้าที่เป็นร้านค้า ขยับเข้ามาภายในบ้านก็จะพบกับห้องรับแขก ห้องอาคาร และห้องครัวตามลำดับ อีกทั้งลักษณะความลึกของอาคารยังถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อเรื่องโชคลาภ ด้วยแนวคิดที่ว่าความลึกและความยาวของอาคารเปรียบเสมือนลำตัวมังกร ที่ยิ่งลึกและยาวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำพาโชคลาภเข้ามาในบ้านมากเท่านั้น

ซึ่งอาคารบางหลังแถบย่านเมืองเก่าภูเก็ตก็มีความลึกถึง 70 เมตร หรือบรรจบกับซอยถนนอีกซอยเลยทีเดียว การออกแบบช่องแสงและลมกลางตัวบ้าน หรือที่เรียกกันว่า “ฉิมแจ้” จึงได้ถูกนำมาใช้กับลักษณะอาคารชิโนโปรตุกิส เพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทอากาศได้ดีในบริบทของบ้านที่เป็นอาคารตึกแถวขนาดยาวเช่นนี้ รวมถึงได้มีการออกแบบบ่อน้ำแทรกเข้าไปที่บริเวณฉิมแจ้ เพื่อเสริมฮวงจุ้ยให้กับบ้านหรืออาจมองในมุมที่ว่า บ่อน้ำที่ออกแบบให้รับกับช่องลมได้พอดิบพอดีก็อาจสามารถช่วยพัดไอน้ำจากบ่อเข้ามาภายในตัวบ้าน และช่วยให้บรรยากาศเย็นสบายมากขึ้น

ในแง่ของการตกแต่งภายในและการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ก็ถือเป็นการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจไม่ต่างกัน ตั้งแต่ดีไซน์ของ Arch จากยุคนีโอคลาสสิคแบบยุโรป โต๊ะดื่มชาจากวิถีจิบชายามบ่าย และการเลือกใช้เตียงเหล็กหรือเตียงฝรั่งที่มีลักษณะเป็นเตียงติดม่านมาใช้ ก็เป็นอีกหนึ่งอิทธิพลจากตะวันตกที่ถูกถ่ายทอดมาสู่ชาวตะวันออกได้อย่างสวยงาม

เปิดบ้านเล่าเรื่องตัวเอง

ปัจจุบันชาวเพอรานากันในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ยังคงใช้วิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่เสมอ พร้อมกับเปิดบ้านเล่าเรื่องตัวเอง เพื่อสืบทอดและเผยแพร่ความงดงามของวัฒนธรรมให้คงอยู่ไปอีกหลายชั่วรุ่น ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าใครที่ได้แวะเวียนเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวเพอรานากันและสถาปัตยกรรมที่ทรงเสน่ห์ในย่านนี้ จะต้องกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานที่แห่งนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างแท้จริง

ขอบคุณทีมงาน TBEX ที่ชวน Dsignsomethingไปสัมผัสกับประวัติศาตร์และเรื่องราวความงดงามของสถาปัตยกรรมรวมถึงวิถีชีวิตชาวเพอรานากันในเมืองเก่าภูเก็ตได้อย่างใกล้ชิด  จนพบว่าสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิตของผู้คนนั้นเป็นเรื่องเดียวกันและเชื่อมโยงกันมาหลายยุคสมัยอย่างมีเหตุมีผล ที่ไม่ใช้เพียงแค่ความสวยงามเหนือกาลเวลา แต่ทุกเส้นสายกลับเล่าไปถึงความเป็นมาของทุกช่วงชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อ