ถ้า ‘หุ่นไล่กา’ คือสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตั้งไว้ท่ามกลางธรรมชาติอย่างกลมกลืน อาคารสถาปัตยกรรมที่มีชื่อว่า ‘หุ่น | ไร่ | กา’ แห่งนี้ก็คงเป็นสิ่งแปลกปลอมจากฝืมือของมนุษย์ที่สามารถอยู่ร่วมกันกับบริบทของท้องทุ่งนาได้อย่างลงตัวไม่ต่างกัน
ด้วยความตั้งใจอยากพัฒนาผืนที่ดินเปล่าที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นคุณย่า ‘หุ่น | ไร่ | กา ท้องนาบ้านย่า’ คาเฟ่และรีสอร์ทแห่งใหม่ ที่ตั้งอยู่ใจกลางทุ่งนาในตำบลมะขามสูง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จึงปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อเปิดต้อนรับผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยือน พักผ่อน และสัมผัสบริบทท้องทุ่งนาแสนเรียบง่าย ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ คุณภูริทัต ชลประทิน สถาปนิกจาก ธรรมดา อาร์คิเทค ที่เกิดและเติบโตที่ จังหวัดพิษณุโลก เช่นเดียวกัน
ตัวแทน ‘หุ่นไร่กา’ ที่ไม่ปรากฏตัว ‘หุ่นไล่กา’
“ส่วนหนึ่งเราเป็นเด็กต่างจังหวัดกันอยู่แล้ว ออฟฟิศทุกวันนี้เดินไปก็ถึงทุ่งนาแล้ว เราเลยรู้สึกว่า ภาพของทุ่งนาไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไร ก็เลยไปรีเสิร์ชกันดูจนพบว่า จริงๆ แล้วมันยังมีหุ่นไล่กา ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่สิ่งที่มีโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เพื่อไปแก้ปัญหาที่เกิดกับทุ่งนา เราเลยหยิบประเด็นความแตกต่างตรงนี้กับการอยู่ร่วมกันได้ มาเป็นประเด็นในการออกแบบ” สถาปนิกผู้ออกแบบเล่า
“ช่วงที่วางคอนเซ็ปต์ เราก็เหมือนทิ้งเป็นประเด็นคำถามปลายเปิดการออกแบบของเราไว้ส่วนหนึ่งด้วย พอเราได้รับโจทย์ ได้ทำจริงจังทั้งหมดแล้ว เราตั้งคำถามก่อนเลยว่า เวลาไปเจอบริบทที่เป็นทุ่งนา เรามักจะเจอแต่กองฟาง ซุ้มไม้ไผ่ แล้วมันยังมีประเด็นอื่นๆ ได้อีกไหมนอกจากประเด็นนี้”‘หุ่น | ไร่ | กา’ เกิดจากการตั้งคำถามว่า เมื่อเรานึกถึงบริบทที่เป็นทุ่งนา เรามักจะนึกถึงกองฟาง ซุ้มไม้ไผ่ แล้วมันยังมีประเด็นอื่น ๆ ได้อีกไหม? จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์หุ่นไล่กา ซึ่งความน่าสนใจก็คือ เราจะไม่ได้เห็นหุ่นไล่กาสักตัวอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ แต่หุ่นไล่กาในที่นี้จะถูกแทนที่ด้วยตัวเพลนแทน แต่ละเพลนเป็นเหมือนหุ่นไล่กาหนึ่งตัวที่วางอยู่ในทุ่งนา เมื่อนำมาวางคู่กัน 2 เพลนก็เกิดเป็นตัวสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบให้มีความเรียบง่ายและลดทอนรายละเอียดให้มากที่สุด โดยตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางบริบทของท้องทุ่งนาเหมือนกันกับหุ่นไล่กานั่นเอง
กำแพงที่ดูเรียบง่ายแต่มีรายละเอียดในตัวเอง
วัสดุอย่างบล็อกอิฐและบล็อกช่องลมถูกนำมาใช้งานอย่างสวยงามและมีประสิทธิภาพ ผ่านกำแพงขนาดใหญ่ที่ใช้บล็อกช่องลมวางเรียงกันสลับไปมา ซึ่งสถาปนิกได้ใส่อัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นทุ่งนาลงไปในงานอีกด้วย หากสังเกตดี ๆ แพทเทิร์นบนกำแพงที่เห็นนั้นจะมีลักษณะเป็นเหมือนทุ่งนา ผ่านการวางกริดไลน์ของบล็อกอิฐและบล็อกช่องลมที่สลับไปมาเรียงกันคล้ายเส้นสายของทุ่งนาที่เรามักเห็นเป็นช่อง ๆ หากมองจากมุมสูง
“บล็อกอิฐกับบล็อกช่องลม ในตัวบล็อกช่องลมที่เป็นกำแพงสูงยาวไปหกสิบเมตร เป็นเหมือนกับเราจับตัวผืนนาไปตั้งขึ้นมาเลย จากแนวราบขึ้นมาเป็นแนวหน้ากระดานแทน แล้วในตอนที่วางกริดไลน์ของมัน เราก็ต้องการใช้แพทเทิร์นเป็นเหมือนแพทเทิร์นของทุ่งนา วางลงไปเป็นกำแพงในแนวตั้ง”อีกความน่าสนใจของกำแพงคือ ในตอนกลางวันกำแพงจะทำหน้าที่ช่วยกรองแสง กรองลม และสร้างเฉดเงาให้กับตัวคาเฟ่อีกด้านหนึ่ง ส่วนช่วงพลบค่ำแสงไฟที่ซ่อนตัวอยู่ในกำแพงก็จะสาดส่องออกมาให้เราได้เห็น นอกจากนี้ในส่วนของผนัง ผู้ออกแบบยังใส่ลูกเล่นบนพื้นผิวด้วยวิธีการนำสีฝุ่นโทนส้มอิฐมาผสมกับซีเมนต์ ฉาบแล้วเกลี่ยด้วยเกลียงเหล็กอันใหญ่จนเกิดเป็นพื้นผิวสัมผัสทำมือที่แปลกใหม่ขึ้นมา
“เราอยากให้ตอนกลางวันกำแพงมันแสดงและทำงานแบบหนึ่ง พอตกเย็นก็ให้มันทำงานอีกแบบหนึ่ง เรื่องของทิศทางการตั้งของแนวกำแพง เราก็ทำเหมือนมันเป็นหุ่นไล่กาตัวหนึ่งเลย โดยการนำโมเดลไปทดลองกับไซต์จริงๆ ลองไปวางหมุน ไปวางเช้ากลางวันเย็น เพื่อให้เห็นว่า วางทิศทางอย่างไรแล้วจะเวิร์กที่สุด”
พักชมสิ่งน่าสนใจระหว่างทางสักครู่
เพื่อบอกเล่าถึงความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมอย่างเป็นค่อยเป็นค่อยไป และให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการได้ใช้เวลาระหว่างการเดินเข้าไปมากที่สุด โครงการจึงถูกวางทางสัญจรที่ทำให้ผู้มาเยือนเข้าถึงอย่างไม่เป็นลำดับ เพื่อชะลอคนให้อยู่กับส่วนต่างๆ ซึ่งคนที่เข้ามาจะไม่สามารถเดาออกได้เลยว่า ตัวอาคารทั้งหมดจะเป็นอย่างไร แต่จะค่อยๆ รับรู้ได้จากการค่อยๆ เดินผ่าน และเห็นสิ่งน่าสนใจระหว่างทางที่ทีมผู้ออกแบบพยายามนำเสนอ“เรารู้อยู่แล้วว่า ภาพปลายทางของเราคือทุ่งนา แต่เราอยากให้คนเข้าไปเห็นภาพทุ่งนาให้ได้ช้าที่สุด และระหว่างทางจะต้องมีสิ่งน่าสนใจ ฉะนั้นการเข้าถึงโครงการก็จะไปตามลูปตาของเรา ผมอยากชะลอคนให้อยู่กับส่วนต่างๆ ที่เราคิดกันไว้ให้ได้นานที่สุด ก่อนที่คุณจะไปถึงโซนคาเฟ่ คุณรู้อยู่แล้วว่า คุณมา หุ่น ไร่ กา คุณจะเห็นทุ่งนา เพียงแต่ว่า คุณจะเห็นมันได้ช้าลงหน่อย แล้วก็ใส่ใจระหว่างทางกับเรื่องราวที่เราสร้างขึ้น”
หุ่น | ไร่ | กา ท้องนาบ้านย่า ยังแบ่งพื้นที่ของโครงการที่เน้นพื้นที่ภายนอกมากกว่าพื้นที่ภายใน โดยคำนึงถึงการใช้งานที่ต้องการเชื่อมโยงผู้คนที่แวะเวียนมากับบริบทรอบข้างที่เป็นทุ่งนาธรรมชาติ เพื่อให้พวกเขาได้รับลมรับแสงแดดได้เต็มที่ แม้แต่พื้นที่บริเวณภายในร้านเองก็เลือกใช้ผนังกระจกเงาที่นอกจากจะเปิดรับแสงธรรมชาติจากภายนอกแล้ว ยังสร้างลูกเล่นเป็นเงาสะท้อนภาพของผืนทุ่งนาให้เข้ามาสาดส่องที่กระจกเงาอีกฝั่งหนึ่ง
ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละฤดูกาลส่งผลให้โทนสีของทุ่งนามีความแตกต่างกันไป บางฤดูกาลมีสีเขียวชอุ่ม บางฤดูกาลท้องทุ่งนาเปลี่ยนกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งคงเรียกได้ว่า องค์ประกอบต่างๆ ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ลม ฝน หรือแม้แต่ตัวทุ่งนาเอง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้มีความสมบูรณ์แบบขึ้น
สถาปัตยกรรมที่สนุกกับการทิ้งคำถามให้คิดต่อ
“โปรเจ็กต์นี้สนุกตรงวิธีการทำงานมากกว่า เนื่องจากว่าไม่ได้เจอช่างที่เป็นทีมใหญ่มืออาชีพเลย บางทีช่างทำงานกันอยู่สองสามคน แล้วเราให้ทำอะไรที่มันแปลกๆ เขาก็จะตั้งคำถามกับเราว่า ทำไปทำไม แต่เขาก็ทำด้วยความสุข รอยยิ้ม มันเป็นไซต์ที่ทำงานกันอย่างมีความสุขจริงๆ ทั้งเจ้าของ ตัวเรา แล้วก็ทีมช่างในทุกๆ ส่วนเลย”
สถาปนิกยังเล่าเสริมอีกว่า ในมุมมองของผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการ หุ่น | ไร่ | กา ยังให้อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นเสมือนลูกสาวกํานัน มีความทันสมัยนิดๆ เชยหน่อยๆ แต่ก็ยังมีเสน่ห์แบบบ้านๆ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ถือว่าเป็นผลงานน่าพึงพอใจที่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาคิดไว้เลยทีเดียวก่อนปิดบทสนทนา คุณตั้ม สถาปนิกผู้ออกแบบยังเล่าถึงความสนุกของงานชิ้นนี้ว่า “แค่สนุกกับสิ่งที่เราคิดกัน แค่ยิ้ม มีความสุขกับมัน อันนี้ผมว่าเราก็มีความสุขแล้ว มีคนตั้งคำถามกับเราเยอะว่า อะไรคือหุ่นไล่กา? ซึ่งพอไซต์งานอยู่ใกล้กับออฟฟิศ บางทีเราก็ไปนั่งอยู่ที่ไซต์ ฟังคนเขาคุยกัน บางคนบอกหุ่นไร่กาคงเป็นกำแพงนี่แหละ คงเป็นนู่นนี่แหละ ผมว่ามันสนุกที่ทำให้เราได้ยินจินตนาการ เหมือนเราทิ้งพื้นที่ไว้ให้เขาคิดและจินตนาการต่อ เราไม่ได้ซีเรียสว่า คนจะต้องเข้าใจงานเรานะ เพราะผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า เราไปพูดแทนสถาปัตยกรรมไม่ได้ สถาปัตยกรรมต้องทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับคนอื่นเอง แล้วคนตีความกลับมายังไง อันนั้นมันก็เรื่องของเขา ซึ่งเราก็ทำหน้าที่ของเราได้โอเคแล้ว เราก็สนุกกับมัน”
ความเป็น ‘หุ่น | ไร่ | กา’ ที่เรียบง่ายนี้สร้างความประหลาดใจและเกิดการตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางทุ่งนาที่สีสันเปลี่ยนไปตามฤดูกาลแห่งนี้ จึงรอคอยทุกคนให้เข้ามาหาคำตอบ สัมผัสด้วยตา และรับรู้กันด้วยใจกับที่แห่งนี้ หุ่น | ไร่ | กา ท้องนาบ้านย่า
Location: ตำบลมะขามสูง อำเภอเมือง จ.พิษณุโลก
Owner: คุณทวินันท์ ฉิมนาค และคุณภัทรพงษ์ แต่งเนตร
Designer: ธรรมดา อาร์คิเทค
Design Team: คุณภูริทัต ชลประทิน คุณภัทรพงศ์ ผูกเหมาะ คุณจิรศักดิ์ จุลมณี และคุณขุมทอง ชลประทิน
Photographer: Panoramic Studio