คงพูดได้ว่า สถาปัตยกรรม เปรียบเสมือนเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ทั้งการออกแบบที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ งานดีไซน์ที่ทิ้งประเด็นเอาไว้ให้ขบคิด การออกแบบที่สะท้อนปัญหาที่เรามองเห็นในของสังคม หรือแม้แต่การที่เรามักเห็นสถาปัตยกรรมระดับเทพ หรือสถาปนิกระดับปรมาจารย์ ที่มีการทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังที่ไม่ใช่เพียงความหวือหวา สวยงามที่อยู่ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว การมองสถาปัตยกรรมในภาพกว้างๆ จึงไม่ใช่แค่เพียงเป็นอาคารหลังหนึ่ง
การพยายามทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นเครื่องมือที่ตอบคำถามบางอย่างในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่คุณแจ๊ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท Supermachine Studio ให้ความสำคัญ มากกว่าการออกแบบเพื่อหาเลี้ยงชีพ เราจึงได้เห็นผลงานของ Supermachine Studio ที่โดดเด่น และแตกต่าง เปรียบได้กับการแต่งเพลงเพื่อชีวิตของเหล่าศิลปิน
คุณแจ๊ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท Supermachine Studio
หล่อหลอมตัวตนที่ ‘ฮอลแลนด์’
ใครที่รู้จัก Supermachine Studio คงจะคุ้นกับผลงานแปลกตาที่คว้ารางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย แต่จุดเริ่มต้นของคุณแจ๊คนั้นก็ธรรมดาๆ ในฐานะของการเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ขวนขวายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ “ผมเป็นคนจังหวัดอุบลฯ พ่อแม่เป็นข้าราชการ ซึ่งเราก็ยังชอบบอกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอก แต่เพราะชอบวาดรูปเล่นกับพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยอยากเข้าคณะสถาปัตย์ ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้เรียนสถาปัตย์ ที่จุฬาฯ ซึ่งชีวิตทั่วไปในตอนนั้น เราก็เหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ เล่นรักบี้ จีบสาว แล้วก็กินเหล้า (ยิ้ม) ”
ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาเรียนจบที่บังเอิญเป็น ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ พอดิบพอดี ทำให้โอกาสการหางานในประเทศไทยช่วงเวลานั้นแทบจะเป็นศูนย์ คุณแจ๊คจึงได้โอกาสไปทำงานอยู่ที่สิงคโปร์หนึ่งปีเต็มก่อนจะเกิดเป็นความเบื่อหน่าย และมองหาโอกาสใหม่ๆ ก่อนจะสมัครเรียนปริญญาโท Urban Architecture ที่ The Berlage Institute of Architecture ประเทศฮอลแลนด์
ซึ่งคุณแจ๊คเล่าว่า ‘ฮอลแลนด์’ เปรียบเสมือนสถานที่ที่หล่อหลอมตัวตนจนมีวันนี้ แนวคิด กระบวนการ การตั้งคำถามในงานออกแบบ ล้วนเป็นรากฐานที่ได้รับการสั่งสมและปลูกฝังมาจากประเทศฮอลแลนด์ทั้งสิ้น ซึ่งหลังจากเรียนปริญญาโทจบ คุณแจ๊คก็กลับมาสานฝันตามแบบฉบับของคนยุคใหม่ ที่ต้องการสร้างกลุ่มนักออกแบบเป็นของตัวเอง “หลังจากกลับมา เราก็ตั้งกลุ่มขึ้นมา ทำงานกับเพื่อนประมาณ 5 ปี ซึ่งมีความหลากหลายมาก เพราะมีทั้งเพื่อนที่ทำ Exhibition ทำ Interior Designer เราได้เรียนรู้ความเหนื่อยยากของงานออกแบบแต่ละสาขา ได้เรียนรู้วิธีทำงานหลากหลายรูปแบบ พอเวลามันผ่านไป 5 ปี แล้วเรามาเริ่มก่อตั้งออฟฟิศเอง เราก็เลยทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่สถาปัตยกรรมหลักเพียงอย่างเดียว”
“ถ้าให้วิเคราะห์งานตัวเองนะ ผมว่ามันได้อิทธิพลมาจากการที่เราอยู่ที่ฮอลแลนด์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ฮอลแลนด์จะมีความคิดความอ่านไม่เหมือนประเทศเรา ซึ่งในยุคนั้นเขาจะออกไปทางเสรีนิยม ไม่หัวโบราณ โสเภณีและกัญชาถูกกฏหมาย เพราะปรัชญาของการควบคุมที่ยอมให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้มันเลยทำให้เราคิด ตั้งคำถามกับสิ่งนั้น สิ่งนี้ กับโจทย์ต่างๆ ตลอดเวลา”
การตั้งคำถาม สู่ผลงานสะท้อนสังคม
เมื่อการตั้งคำถามกับโจทย์ใหม่ๆ นำพาให้ทิศทางผลงานของ Supermachine Studio พยายามเข้าถึงกลุ่มคน และตอบปัญหาที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งคุณแจ๊คเองเปรียบเทียบเหมือนกับ ภาพยนตร์ตลกร้ายที่มักจะจิกกัดสังคม หรือสะท้อนประเด็นอะไรบางอย่างเอาไว้ได้อย่างแยบคาย
“นี่เป็นโปรเจกต์แก้มคิงคอง ซึ่งถ้าคุ้นๆ ก็จะเป็นโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง แต่ตอนนั้นมันน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 เราเลยมองว่าแก้มลิงมันไม่พอแล้ว มันต้องใช้แก้มคิงคอง เราก็เลยทำโปรเจกต์ขึ้นมาเป็น Conceptual Project ซึ่งโปรเจกต์นี้จะเป็นการย้ายเมืองนครสวรรค์ขึ้นไปอยู่บนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ให้คนเข้าไปอยู่ได้สามล้านคน ข้างในจะมีระบบพลังงานบริสุทธิ์ที่สามารถใช้หมุนเวียนใช้ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเมือง”
โปรเจกต์แก้มคิงคอง (Conceptual Project)
Photo Credits : Supermachine Studio
คุณแจ๊คเล่าอย่างสนุกสนานและยังเสริมด้วยว่า โปรเจกต์เหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเพียงแนวคิดที่ไม่ได้สร้างขึ้นจริง แต่ก็เปรียบเสมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของ Supermachine Studio ซึ่งนั่นคือ การพยายามทำให้งานออกแบบเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์สังคมในวงกว้างได้โปรเจกต์แก้มคิงคอง (Conceptual Project)
Photo Credits : Supermachine Studio
สถาปัตยกรรม ที่มากกว่าการทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีพ
เราคิดอยู่นานก่อนจะตัดสินใจถามคุณแจ๊คไปว่า “แล้วงานออกแบบเหล่านี้ ที่ไม่ได้สร้างจริง ไม่ได้เงิน แล้วคุณแจ๊คคาดหวังที่จะเห็นอะไร?”
“มันจะเกี่ยวกับคำถามบางอย่าง คือ เราเห็นว่าวงการสถาปัตยกรรมควรเป็นอย่างไร? ผมมองว่าวงการสถาปัตยกรรมของเมืองไทย ประมาณ 99% เป็นการทำเพราะต้องหล่อเลี้ยงชีพ ทำเพื่อเป็นอาชีพ เพื่อให้ซื้อรถได้ มีค่าเช่า ค่ากิน ซึ่งในความเป็นจริงมันมีที่อื่นๆ ที่เขาใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือในการจรรโลงจิตใจได้มากกว่านั้น เหมือนเพลงนั่นแหละ เรามีเพลงเพื่อชีวิต มี Rap Against Dictatorship ที่มันเหนือไปกว่าเพลงที่สร้างความบันเทิง สถาปัตยกรรมก็คล้ายๆ กัน เราก็เลยอยากทำอะไรที่ แน่นอนว่าต้องเลี้ยงชีพเราได้ แต่ก็ประเทืองปัญญาได้ด้วย หรือเอาไว้จิกกัดสังคมได้ด้วย”
“อย่างสมัยยุค 90s มันก็จะมีงานพวก Paper Architects คือ งานในกระดาษที่ไม่ได้สร้างจริง งานพวกนี้ ไม่ใช่งานที่ไม่มีคุณค่านะ บางทีมันก็เป็นงานที่สะท้อนสังคมในช่วงเวลานั้นๆ อย่างสมัย 70s Isozaki สถาปนิกญี่ปุ่น ก็มีการใช้สถาปัตยกรรมในการหาคำตอบ ออกแบบเมือง แผ่ขยายโดยใช้ module แก้ปัญหาเมืองที่แน่นเกินไป แต่ประเทศไทยไม่ค่อยใช้สถาปัตยกรรมในการทำเรื่องพวกนี้ สถาปัตยกรรมในเมืองไทยส่วนใหญ่มันเลยเป็นเพียงแค่เครื่องมือหาเลี้ยงชีพ เจ็บเนอะ (หัวเราะ)”
จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ Supermachine Studio ยังคงมีทั้ง Conceptual Project ที่หยิบยกประเด็นต่างๆ มาให้เราขบคิดกันอยู่เรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการออกแบบโปรเจกต์ Commercial หลากหลายรูปแบบ “ผมขอเปรียบเทียบง่ายๆ อย่างพี่ตูน Bodyslam พี่ตูนออกอัลบั้มมา 7-8 อัลบั้ม ถ้าเกิดอัลบั้มที่แมสมากๆ อย่าง ยาพิษ คนก็จะฮิต แต่พอเป็นความหวังและจักรวาล พูดถึงเรื่องชีวิต หรือความหวังมากๆ คนก็จะไม่ค่อยฟัง ผมเลยมองว่ามันต้องมีการผสมกัน ระหว่างสิ่งที่หาเลี้ยงชีวิต งานที่เราคิดว่าเหมาะสม กับสิ่งที่มันหล่อเลี้ยงสมองเราด้วย”
Baan Paa Kor Dum School, an earthquake relief school in chaingrai
Photo Credits : Supermachine Studio
Supermachine Studio กับการมองโลกให้เป็นศิลปะ
อย่างที่เราบอกข้างต้นว่าผลงานของ Supermachine Studio นั้นค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหลัก งาน Installation งาน Exhibition งานอีเวนท์ หรือแม้แต่การออกแบบเวทีคอนเสิร์ตใหญ่อย่าง Big Mountain Music Festival
“เราโชคดีตรงที่ ด้วยพื้นเพของเรา เราทำศิลปะควบคู่มากับสถาปัตยกรรม โปรเจกต์แรกๆ ก็โชคดีได้รู้จักกับป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เลย ตอนนั้นเราทำ Installation ให้กับพี่เต็ด แล้วสิ่งที่เราทำ มันกลับมาสอนเราในเรื่องสถาปัตยกรรม เพราะการทำ Installation มันงบน้อย แล้วทำยังไงให้ใช้งบน้อยที่สุดโดยมีความคิดสร้างสรรค์เยอะที่สุด”
Big Mountain Music Festival 6
Photo Credits : Supermachine Studio
“มองกลับมาที่งานสถาปัตยกรรม มันก็ฝึกให้เราคิดว่า เราจะประยุกต์นำองค์ประกอบหรือสิ่งของพวกนี้เข้าไปในงานออกแบบของเราอย่างไร อย่างงาน Hubba-to สิ่งที่เราคิด คือ ทำไมเราไม่สามารถจะนำเสนองานระบบให้มันโชว์ได้ ทำยังไงถึงให้มันอยู่ร่วมกันได้กับความสวยงาม จะว่าไปแล้วมันก็คือเรื่องเดียวกัน เราเรียนรู้จากงานศิลปะ เพราะเราทำงานศิลปะมาเยอะและก็ยังคงทำอยู่ เพราะฉะนั้น Supermachine มันเลยเริ่มต้นจากการมองโลกแบบนี้”
Hubba-to Co working & Artisan space
Photo Credits : Supermachine Studio
การสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย ผ่านกระบวนการทำงานที่มักมองหาสิ่งใหม่ที่ไม่จำเจ ทำให้คุณแจ๊คสนุกไปกับการเรียนรู้และการได้ตั้งโจทย์ใหม่ๆ อะไรที่ยิ่งยาก ยิ่งกลายเป็นความท้าทายสำหรับสถาปนิกคนนี้ “เราอยากทำทุกอย่าง แต่ก็มีบางอย่างที่เราชอบเป็นพิเศษ อย่างห้องสมุด เพราะหาทำยาก เนื่องจากคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ อย่างสามสี่เดือนก่อน มีคนมาจ้างให้เราทำแผนกชุดชั้นใน เห้ย แบบนี้ชอบเลย เพราะหาทำยาก ซึ่งพอทำจริงๆ ก็ยากมาก เพราะออฟฟิศเราก็มีแต่ผู้ชาย นี่แหละ เราอยากทำอะไรแบบนี้เรื่อยๆ อยากให้มีโจทย์อะไรที่แปลกใหม่มาให้ลองตั้งคำถามกับมัน”
เปรียบเทียบสถาปัตยกรรมเป็นอะไรสักหนึ่งอย่าง สิ่งนั้นคือ…?
“เป็นเหมือนหนังสือกับเพลง เราชอบบอกว่าสถาปัตยกรรมเป็นเหมือนเครื่องมือของสถาปนิกที่เอาไว้เล่าเรื่องของช่วงเวลานั้นๆ อย่างศาลาเฉลิมไทย หอสมุดแห่งชาติ มันจะเป็นเหมือนศิลาจารึกของช่วงเวลานั้นๆ ถ้านักเขียนใช้ตัวหนังสือทำร้ายคน สถาปนิกก็ใช้ผนัง ฝ้า ของบ้านนี่แหละทำร้ายคน”
แนวคิดที่ว่าสะท้อนในเห็นผ่านโปรเจกต์ 10 cal tower ที่คุณแจ๊คพยายามหยิบยกประเด็นเรื่อง Movement ของคน เพื่อให้คนหันมาสนใจในการขยับร่างกายมากขึ้น ผ่านการใช้โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเป็นตัวออกแบบ
10 Cal Tower
Photo Credits : Supermachine Studio
“การเป็นสถาปนิกมันก็มีทั้งสุขและทุกข์นะ สำหรับการทำงานในตอนนี้ มันคือความท้าทายในการแอบนำเรื่องที่เราสนใจเข้าไปซ่อนอยู่ในงาน ออกแบบ เช่น เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยากให้คนตระหนักเรื่องขยะ เราจะออกแบบอาคารอย่างไร ให้มันทั้งสวยงามและตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ แต่ปัญหาก็คือ เราไม่สามารถทำในสิ่งนั้นได้ทั้งหมด เรามีสังคมในอุดมคติของเรา แต่เราจะทำยังไงให้เมืองไทยมันสามารถสร้างอะไรแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้น ความสุขของการออกแบบสถาปัตยกรรม คือ เรายังสนุกในการหาคำตอบ ยังเป็นความท้าทายในทุกวันว่าเราจะทำให้มันเกิดขึ้นอย่างไร แต่สิ่งที่เป็นความทุกข์ ก็คือ เออ มันยากว่ะ (หัวเราะ)”