บ้านในอนาคตจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน ? เชื่อว่านี่คือคำถามที่หลายคนอยากรู้ ยิ่งในยุค COVID-19 อย่างนี้ บ้านที่หลายคนคุ้นเคยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตากันสักหน่อย ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ใช่แค่ COVID-19 เท่านั้น แต่สถานการณ์หลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันก็ทำให้ ‘บ้าน’ เกิดวิวัฒนาการจนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาที่เกิดจากประชากร หรือแม้แต่ประเด็นในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กลุ่มวิจัยทางสถาปัตยกรรม ผู้เพื่อเปิดโอกาสให้เหล่านักออกแบบได้แสดงความคิดสร้างสรรค์อย่าง ‘arch out loud’ จึงจัดการแข่งขัน HOME Competition 2020 ซึ่งหยิบยกเอาประโยคคำถามยอดฮิต ‘บ้านในอนาคตคืออะไร?’ มาใช้เป็นหัวข้อหลักของการแข่งขัน ผ่านมุมมองแนวคิดหลักทั้งสามประการ คือ นวัตกรรม (Innovation) ความสามารถในการปรับตัว (adaptability) และแนวทางปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
ในครั้งนี้ Dsign Something จึงรวบรวมบ้าน 5 หลังที่คว้ารางวัลจากการประกวดนี้ เราลองมาดูกันดีกว่าว่า บ้านในอนาคตจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหนกันบ้าง ?
Shadow Housing เล่นกับแสงและเงาจากธรรมชาติ
By Jeffrey Liu , Haylie Chan
‘Shadow Housing’ ที่ออกแบบโดย Jeffrey Liu และ Haylie Chen คือผู้ชนะการแข่งขันดังกล่าว โดยบ้านหลังนี้เป็นแบบจำลองที่ตั้งอยู่ในสภาพอากาศแห้งแล้งใจกลางกรุงลอสแองเจลิส เพื่อรองรับการใช้ชีวิตร่วมกันในยุคหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19
บ้านหลังนี้นำแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นปัจจัยหลักของการออกแบบ โดยเสนอรูปแบบการอยู่ร่วมกันในพื้นที่กลางแจ้งที่ปลอดภัยสำหรับโรคระบาด โดยกิจกรรมประจำวันจะสลับไปมาระหว่างช่วงเวลาของการทำงานและการทำกิจกรรมภายในบ้านตามพื้นที่ร่มและพื้นที่ที่มีแสงแดด บริเวณชั้นล่างจะประกอบไปด้วยยูนิตส่วนตัวที่ปิดล้อมเป็นห้อง และยูนิตที่คล้ายคลึงกับชานบ้านในลักษณะกึ่งเปิดกึ่งปิด
แตกต่างจากชั้นบนที่เปิดโล่ง และประกอบไปด้วยชุดผนังทำมุมต่างกันแต่ละองศา เพื่อให้เกิดสเปซ แสงและเงาที่พอดีกับฟังก์ชันการใช้งาน ตามช่วงเวลาที่กำหนดของวัน เพื่อช่วยให้การทำงานบ้านและการทำงานประจำเป็นระบบระเบียบมากขึ้น และไม่ปะปนกันเหมือนปัญหาที่มักพบเป็นอันดับต้นๆ ในการ Work From Home
A House for 4 Furnitures เฟอร์นิเจอร์หลักเป็นหัวใจของบ้าน
By Calvin Yang Yue , Taku Samejima
ด้วยความที่ยุคหลังๆ บ้านมักจะมีฟังก์ชันที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เราจึงมักมองข้ามความจริงที่ว่า กิจกรรมประจำวันของเราวนเวียนอยู่กับเฟอร์นิเจอร์เพียงแค่ 4 ชนิด นั่นคือ เก้าอี้ โต๊ะ เตียงและห้องน้ำ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 มาเยือน ที่อยู่อาศัยของเราถูกแยกออกจากกันมากขึ้น การใช้ชีวิตร่วมกันถูกลดน้อยลง เฟอร์นิเจอร์ที่เคยถูกมองข้าม จึงกลายเป็นโลกใบใหม่ที่มีผลทั้งทางกายภาพและทางจิตวิทยาสำหรับการอยู่อาศัย
A House for 4 Furnitures จึงเป็นบ้านที่นำเสนอเฟอร์นิเจอร์ทั้ง 4 แบบนี้ โดยแต่ละชิ้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแสดงพฤติกรรมการทำงาน การรับประทานอาหาร การนอนหลับและการทำความสะอาดตามลำดับ เฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวจะถูกวางไว้ที่จุดโฟกัสทั้ง 4 จุด ล้อมรอบด้วยทางเดินที่ไหลเวียนต่อเนื่องกัน ขึ้นและลงวนเป็นลูป และห่อหุ้มแต่ละสเปซด้วยผนังทรงโค้งเป็นวงกลม ทำให้ฟังก์ชันแต่ละส่วนถูกแยกออกจากกันเป็นก้อนชัดเจน แต่ก็ยังคงลื่นไหลเป็นเรื่องราวเดียวกันภายในบ้านหลังเดียว เรียกได้ว่า บ้านหลังนี้เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยเตือนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมหลักทั้ง 4 ที่เกิดขึ้นในบ้านไม่เว้นแต่ละวัน
Biohackers Residence ถ้ำของนักทดลอง
by Samuel Eesses , Jonathan Wong
เมื่อแนวคิด Biohackers หรือ นักวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่ใช้หลักการ ‘Do-It-Yourself’ เปลี่ยนสภาพร่างกายด้วยการ ‘ทดลองกับตัวเอง’ เป็นหลัก เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น Biohackers Residence จึงออกแบบขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มคนดังกล่าว โดยเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนกลางสำหรับการทดลองด้วยตนเอง ซึ่งภายในจะประกอบไปด้วยเทคโนโลยีเชิงพื้นที่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทดลองต่างๆ กับร่างกาย
Biohackers Residence จึงเปรียบได้กับถ้ำของนัดทดลอง Sci Fi ที่เราเคยเห็นตามภาพยนตร์ เวิร์คสเตชั่นและพื้นที่เลานจ์ส่วนกลางได้รับการออกแบบด้วยรูปฟอร์มออร์แกนิกที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจำลองให้ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกลอย่างทะเลทรายในรัฐยูทาห์ ออกแบบขึ้นด้วยวัสดุที่ผสมผสานทางชีวภาพที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบาย และการฆ่าเชื้อโรค รูปทรงของสถาปัตยกรรมที่แปลกตาทั้งภายนอกภายใน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บ้านหลังนี้จะคว้ารางวัลชนะเลิศในแง่ของนวัตกรรมไปครอง
STUYVESANTTOWN บ้านเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูจิตใจ
by Carla Bonilla Huaroc
ส่วนรางวัลในหัวข้อของความสามารถในการปรับตัว ตกเป็นของ STUYVESANTTOWN บ้านที่หยิบยกประเด็นสำหรับวิกฤตคนไร้บ้าน และที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่เคยติดคุกมาก่อน
โดยสถานที่ตั้งคือ Stuyvesanttown ในนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งในอดีตเคยวางแผนเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังสงคราม ก่อนจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นอพาร์ทเมนท์คอมเพล็กซ์สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยในช่วงเปลี่ยนผ่าน อพาร์ทเมนท์แห่งนี้รับบทเป็นนักบำบัดที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คน ซึ่งภายในจะประกอบไปด้วยยูนิตที่มีลักษณะคล้ายหอพัก นอกจากนี้ยังมีห้องเรียน สำนักงานและพื้นที่จัดการประชุม รวมถึงยังมีองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้ก้าวไปสู่การเลี้ยงดูตัวเองได้หลังจากที่พบเจอความยากลำบากในชีวิต
HOUSE IS NOT A HOME บ้านที่แก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคม
By Qin Ye Chen , Yiwen Wang
“สถาปัตยกรรมจะสามารถแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคมได้อย่างไร” และ “สถาปัตยกรรมจะสามารถจัดระเบียบการมีส่วนร่วมของชุมชนในช่วงเวลาต่างๆ กันได้หรือไม่?” ‘HOUSE IS NOT A HOME’ คือ ผู้ชนะรางวัล Pragmatism หรือ แนวทางปฏิบัตินิยม ซึ่งจะมาตอบคำถามสำคัญเหล่านี้ที่สะท้อนวิถีชีวิตคนเมืองในยุคปัจจุบัน
การออกแบบที่อยู่อาศัยนี้จะเป็นตัวกำหนดนิยามใหม่ของ ‘บ้าน’ ให้เป็นพื้นที่สำหรับการรู้จักและมีส่วนร่วมกับวัตถุรวมถึงคนอื่น ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง โดยแสดงให้เห็นถึงความรู้ ความตระหนักและการมีส่วนร่วมของเพื่อนบ้านในหลาย ๆ ช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำความรู้จักเพื่อนบ้านผ่านบานหน้าต่าง หรือพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้ผู้อยู่อาศัยต่างครอบครัวผลัดกันมาครอบครองในบางวันของสัปดาห์ หรือสิ่งของที่เก็บรวบรวมในห้องเก็บของที่จะเปลี่ยนไปตามชั่วโมง
ในการออกแบบจะผสมผสานประเภทของที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบให้ทับซ้อนและแทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ทำให้โครงการนี้นำเสนอสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิตในเมืองที่รองรับวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้วิธีการที่มนุษย์ได้เป็นศูนย์กลาง สร้างจินตนาการเชิงพื้นที่ ยังช่วยแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคม ผ่านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
ภาพและข้อมูลอ้างอิงจาก :
designboom.com ,archdaily.com , thehomecompetition.com