OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

10 นักออกแบบไทย กับการถอดรหัสสีแห่งปี 2021 TOA Color Decoding Trends 2021

เพราะสีสันสัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้คน และความรู้สึกของคนเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามปัจจัยแวดล้อมที่หลากหลาย นั่นทำให้แต่ละปี สีสันที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนจึงเปลี่ยนแปลงไป และในปี 2021 นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนมากมาย เป็นโจทย์ที่ทำให้ TOA ออกค้นหาเฉดสีใหม่แห่งปี ที่ตอบคำถามงานออกแบบเพื่อที่อยู่อาศัยในชีวิตวิถีใหม่

TOA Color of the Year 2021 เฉดสีใหม่สำหรับปี 2021 ในครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นจากการค้นหาสีที่จะช่วยแต่งแต้มความสุขในชีวิตวิถีใหม่ เพราะสีสันอยู่รอบตัวเราในทุกๆ วัน การเดินทางออกตามหาแรงบันดาลใจในการเลือกใช้สีของปีนี้จึงเกิดขึ้นผ่านโจทย์กระบวนการถอดรหัสสี TOA Color Decoding Trends 2021 เพื่อค้นหา 10 สีที่สร้างพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และความสุขสำหรับทุกคน

ที่มาของทั้ง 10 สี

เพราะสีคือทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา ทั้งสิ่งที่ตามองเห็น และสิ่งที่ฝังตรึงอยู่ในประสบการณ์ นี่จึงเป็นที่มาที่ TOA ได้เชิญ 10 นักออกแบบชั้นนำระดับประเทศมาสร้างสรรค์ Moodboard จากแรงบันดาลใจและความสนใจเฉพาะบุคคล เพื่อนำมาแปลความถอดรหัสเป็น 10 สีที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี 2021

หลังจากรวบรวมสีที่น่าสนใจจากนักออกแบบทั้ง 10 ท่านแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสีของ TOA ก็เป็นผู้นำสีทั้งหมดมาเรียบเรียงและวิเคราะห์ โดยแบ่งหมวดหมู่ตามความสัมพันธ์กับทัศนคติ รสนิยม และบริบทการอยู่อาศัย ออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อิทธิพลของสีในเชิงจิตวิทยา (Psychology) วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ (Culture & Lifestyle) ประสบการณ์ส่วนบุคคล (Experience) องค์ประกอบในงานออกแบบ (Element Design & Material) และสีสันของวิทยาศาสตร์ (Science)

จากสีสันทั้งหมดที่มากมายหลายเฉด นำมาแตกค่าออกเป็น Gradient ให้เห็นถึงความถี่ของสีในเชิงคุณภาพและปริมาณ แล้วค่อยสรุปออกมาเป็น 10 สีแห่งปี โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ Muted หรือสีโทนกลางที่ใช้เป็นสีพื้นฐานสำหรับงานออกแบบ และ Chroma หรือสีสันสำหรับแต่งแต้มเพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

01 อมตะ หลูไพบูลย์ – Department of ARCHITECTURE

คุณอมตะเลือกใช้ภาพยนตร์มาเป็นสื่อกลางสำหรับ Moodboard ในปีนี้ นั่นก็เพราะความสนุกในการรับแรงบันดาลใจจากศาสตร์อื่นๆ เพื่อใช้เปิดมุมมองในการสร้างสรรค์งานออกแบบ ประกอบกับส่วนตัวที่เป็นคนชอบชมภาพยนตร์ แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ในการทำงานจึงมาจาก scheme สีในภาพยนตร์ซึ่งถูกบันทึกเป็นเหมือนกับห้องสมุดในสมอง ที่พร้อมจะดึงออกมาใช้งานได้ทุกครั้งที่มองเห็นความเป็นไปได้ทั้งเรื่องโอกาสและอารมณ์

02 พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์, ปานดวงใจ รุจจนเวท – Anonym

ปฏิสัมพันธ์และสมดุลระหว่างมนุษย์ ที่ว่าง ธรรมชาติ และบริบท เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของ Anonym จึงส่งผลต่อมายังการเลือกสีสันของแรงบันดาลใจที่ได้จากความสงบและการโหยหาธรรมชาติในช่วง Work From Home ของผู้คนยุคโควิด-19 ภาพบันดาลใจทั้งหมดจึงมาจากสีจากแมกไม้ สายน้ำ การกระทบของแสงแดดตลอดวัน วัสดุธรรมชาติที่สร้างความรู้สึกอบอุ่น รวมทั้งสีกลางที่สบายและรับกับแสงธรรมชาติได้ดี

03 ชนะ สัมพลัง – Architect 49 House Design

จากงานอดิเรกที่ชื่นชอบในการสะสมของเล่น กลายมาเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของงานออกแบบด้วยการหยิบเอาสีสันและความรู้สึกจากความสุขมาเป็นส่วนหนึ่งใน Moodboard ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นสีสันที่มีตั้งแต่ค่ากลางที่สุดอย่างสีขาว ดำ เทา ซึ่งอยู่ร่วมกับสีสันสดใสจากคาแร็กเตอร์ของความสนุกได้อย่างลงตัว แรงบันดาลใจจากความสุขเช่นนี้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในการใช้สีและเทคนิคการเล่นกับสีได้อย่างน่าสนใจ

04 จีรเวช หงสกุล – IDIN Architects

ความคลุมเครือของเฉดสีและการจับคู่สีคือหัวเรื่องที่คุณจีรเวชสนใจ เพราะก่อให้เกิดบทสนทนาที่น่าสนใจหลายประการทั้งในแง่ของมุมมองและความคิด ซึ่งส่งผลต่อการสร้างประสบการณ์ทางการออกแบบที่คาดไม่ถึงตามมาอีกมากมาย นั่นจึงทำให้ Moodboard ประกอบขึ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัวตั้งแต่ภาพวาด ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานในแง่ของความเปลี่ยนแปลง ทั้งสีสันจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์

05 จูน เซคิโน – Junsekino Architect and Design

จากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนกลับมามองเห็นถึงสิ่งใกล้ตัว หรือ Back to Basic กันมากขึ้น สีสันและแรงบันดาลใจที่เลือกมาจึงเป็นสิ่งรอบตัวที่มองเห็นและจับต้องได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งความพื้นฐานนี้ รวมไปถึงความเป็นพื้นถิ่นของผู้คนในประเทศซึ่งมีซิกเนเจอร์ของสีสันของวัสดุ สีของกระบวนการผลิต และสีจากบริบทแวดล้อมที่เป็นตัวของตัวเอง เกิดเป็นสีสันที่ส่งผลถึงอารมณ์ที่เราอาจมองไม่เห็นมัน แต่รับรู้ได้ด้วยความรู้สึก

06 กิจธเนศ ขจรรัตนเดช – Taste Space

เพราะเป็นสตูดิโอออกแบบที่ทำงานกับคาเฟ่และร้านอาหาร แรงบันดาลใจในเรื่องสีสันของคุณกิจธเนศจึงมาจากอาหารแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น แหล่งที่มา กระบวนการทำอาหาร จนกระทั่งมาถึงอาหารที่เป็นพระเอกของจาน ซึ่งสีสันทั้งหมดบอกเล่าธรรมชาติของอาหารที่ผู้คนกินกันเป็นปกติแต่อาจไม่ได้คิดถึง และถูกหยิบมาเป็นเฉดสีเพื่อสำหรับสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับอาหารและพื้นที่สำหรับผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน

07 มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา – Hypothesis

ภาวะของสีจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งวัสดุ สภาพแวดล้อม และอารมณ์ เป็นสิ่งสร้างสรรค์เรื่องราวและความหมายมากมายให้กับงานออกแบบ พร้อมกันกับส่งผลไปถึงการสร้างความรู้สึกและแรงบันดาลใจให้กับการทำงาน เพราะเทรนด์ของสีเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา และหมุนวนกลับมาเป็นวัฏจักรเพื่อเติมเต็มประสบการณ์และความเข้าใจให้กับชีวิตและงานสถาปัตยกรรม

08 พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, หฤษฎี ลีละยุวพันธ์, ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ – PHTAA Living Design

แต่ละงานออกแบบที่ต่างก็มีคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเอง นั่นทำให้ข้อจำกัดของการใช้สีถูกทลายลง Moodboard ที่สร้างสรรค์ขึ้นในครั้งนี้จึงประกอบขึ้นจากแนวความคิดที่ต้องการหาชุดสีใหม่ผ่านการมองเห็นของคนตาบอดสีที่ทำงานในสายการออกแบบ ผลลัพธ์จึงเป็นการจับคู่กันระหว่างภาพจากสีที่มองเห็นด้วยสายตาปกติกับสายตาคนตาบอดสี เหมือนกับมีฟิลเตอร์ที่สร้างสรรค์สีโทนใหม่ ให้มุมมองความสวยงามในอีกมุมถึงแม้จะเป็นภาพเดียวกัน

09 ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ – Vin Varavarn Architects

สีจากธรรมชาติของวัสดุคือสีสันในมุมมองของ ม.ล.วรุตม์ เพราะทุกวัสดุบนโลกเองต่างก็มีเฉดสีที่หลากหลายและผสมผสานอยู่ในตัวอยู่แล้ว Moodboard ที่ได้จึงเป็นการแปลความหมายของสีตามธรรมชาติมาสู่งานออกแบบได้อย่างตรงไปตรงมาและตรงตามธรรมชาติของตัววัสดุ และเมื่อเฉดสีตามธรรมชาติทั้งหลายมารวมตัวประกอบกัน ก็สามารถสร้างเฉดสีใหม่ได้อีกรูปแบบหนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติ

10 วสุ วิรัชศิลป์ – VaSLab ARCHITECTURE

สีสันจากผลงานที่ผ่านมาของ VaSLab แม้จะเกิดจากเนื้อแท้ของวัสดุเอง หากแต่สีสันเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับบริบทที่รายล้อมรอบข้างจนกลายเป็นเฉดสีใหม่ที่ละเมียดละไม และสร้างปรากฏการณ์ทางการมองเห็นที่ขับเน้นสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ สีสันจึงเกิดจากการท่องโลกกว้างออกไปมองเห็นงานสถาปัตยกรรมและธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศแตกต่างกัน เพื่อจารึกประสบการณ์ของสีสันและอารมณ์ผ่านการมองเห็นด้วยตาตัวเอง

สามารถโหลดไฟล์โทนสีแห่งปี 2021 ได้ที่ : https://bit.ly/2LqXuVv