ในช่วงหลังๆ มานี้ เรามักจะเห็นเรื่องราวของบ้านรีโนเวทโผล่ขึ้นมาในหน้า news feed ต่างๆ หรือตามโลกออนไลน์ไม่เว้นในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้หลายคนเริ่มหันความให้ความสำคัญกับการต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลงบ้านเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ การพักผ่อน รวมถึงกิจกรรมของครอบครัว
แต่ในอีกนัยหนึ่งอาจคิดเล่นๆ ได้ว่า เพราะ ‘บ้าน’ คือสิ่งปลูกสร้างระยะยาว ซึ่งบางครั้งก็มีอายุมากกว่าเราเสียอีก ‘บ้าน’ ของใครหลายๆ คน จึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดในวัยเด็กที่เราคุ้นเคย เมื่อมีเรื่องราวของความผูกพันเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายคนจึงเลือกที่จะต่อเติมและขยับขยายบ้านเก่าแทนที่จะหันไปซื้อบ้านหลังใหม่ ซึ่งอาจใช้งบประมาณที่มากกว่า และต้องแลกมาด้วยช่วงเวลาของการปรับตัว แต่แน่นอนว่าบ้านแต่ละหลังก็ย่อมแตกต่างกันไปตามเรื่องราวของเจ้าของ Dsign Something จึงขอรวบรวม 10 เรื่องราวบ้านรีโนเวท เผื่อเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กับใครที่กำลังคิดจะแปลงโฉมบ้านในสไตล์ที่ชอบ และตอบโจทย์ความพอดีให้กับชีวิต
1 Owned Home
บ้านรีโนเวทดีเทลละเอียดยิบที่ชวนให้รู้สึกถึงการเป็น ‘เจ้าของบ้าน’ อย่างแท้จริง
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ และลูกๆ ต่างก็แยกย้ายออกไปมีครอบครัวของตัวเอง คุณแอม -อรชุมา สาระยา ผู้เป็นลูกสาวและสถาปนิก จาก Common Space Architect จึงเริ่มลงมือวางแผนรีโนเวทบ้านเก่าขนาด 50 ตารางวา อายุกว่า 40 ปีให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมถึงตอบสนองไลฟ์สไตล์และกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ชื่นชอบได้มากขึ้น
จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือ ถึงแม้จะมีขนาดที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่กลับซ่อนดีเทลของงานดีไซน์ อัดแน่นอยู่ในทุกมุมของพื้นที่ ซึ่งคุณแอมเล่าว่า “เราพยายามออกแบบรายละเอียดลงไปเพื่อให้บ้านมีคาแร็กเตอร์ เมื่อผู้อยู่อาศัยได้ซึมซับคาแร็กเตอร์เหล่านั้น เขาจะเห็นคุณค่าของสเปซในงานออกแบบของตัวเอง เกิดเป็นความรัก ความภูมิใจในสถาปัตยกรรมที่เขาอยู่”
ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สีคลาสสิค อย่างโต๊ะไม้เชอรี่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นของสะสมเก่าของคุณแม่ เสริมด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือองค์ประกอบไม้ที่คุณแอมทำขึ้นใหม่โดยเขียนแบบเองทั้งหมด ผสานไปกับองค์ประกอบของบ้านไม้เก่าที่ยังคงสมบูรณ์ ไร้ที่ติ โครงสร้างตงไม้แดงบริเวณฝ้า พื้นไม้เก่าและพื้นหินอ่อนยังคงทิ้งร่องรอยแห่งความทรงจำเอาไว้ “เรื่องราวที่เขาผูกพันกับองค์ประกอบนั้นๆ นี่แหละคือเสน่ห์และสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้าน มันเป็นบ้านของผู้อยู่อาศัยคนนั้นจริงๆ” สถาปนิกกล่าว
Designer : อรชุมา สาระยา Common Space Architect
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความบ้าน Owned Home เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/3hrmasr
2 MANA House
บ้านลูกผสมสไตล์ไทย – ญี่ปุ่น – สแกนดิเนเวีย
MANA House เริ่มต้นจากตึกแถวสภาพทรุดโทรมในย่านซอยสนามบินเก่า จังหวัดเชียงใหม่ที่ครอบครัวเคยซื้อไว้เมื่อ 13 ปีก่อน เมื่อได้โอกาสประจวบเหมาะ ประกอบกับเพิ่งเรียนจบ Spatial Design จากประเทศเดนมาร์ก คุณชนา ดีไซน์เนอร์สาวชาวเหนือจึงตัดสินใจลงมือรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายบ้านพักก่อนจะเปิดให้คนทั่วไปสามารถเช่าได้
การออกแบบเริ่มต้นจากแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านหลังเก่า โดยพยายามเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้ได้มากที่สุด แนวคิดหลักของบ้าน คือ wall-less ซึ่งทำให้ผนังในบ้านมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น โดยยัดฟังก์ชันเข้าไปในผนังกั้นส่วนต่างๆ เช่น รั้วเป็นตู้จดหมาย ห้องนอนชั้นบนใช้ตู้เป็นตัวกั้นห้องแทนผนัง โดยไอเดียเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากการใช้พื้นที่ตามแบบฉบับบ้านญี่ปุ่น ผสมผสานไปกับมู้ดแอนด์โทนของบ้านในแบบสแกนดิเนเวียน เช่น สีไม้ สีเทาของอิฐ และเน้นการใช้สัจจะวัสดุให้ได้มากที่สุด
Designer : Chana Mahayosanun
Photographer : Beer Singnoi
อ่านบทความบ้าน MANA House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/2KXr2d2
3 Joyce & Jo House
ความต้องการครอบครัวขยาย สู่การรีโนเวทที่ทลายกำแพงเดิมของ ‘ทาวน์โฮม’
เมื่อเริ่มมีความคิดที่จะขยับขยาย คุณเนตรศิริ และคุณศุภฤกษ์ เจ้าของบ้านคู่แต่งงานใหม่จึงเริ่มมองหาบ้านขนาดพอเหมาะ จนมาพบกับทาวน์โฮมหลังหนึ่งก่อนจะมอบหมายให้สถาปนิกจาก Design In Motion ออกแบบรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นที่พักอาศัยอันอบอุ่นสำหรับครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น
โจทย์หลักของบ้าน คือการแก้ปัญหาบ้านเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดด้วยลักษณะที่ดินหน้าแคบแต่ลึก ในการออกแบบจึงเน้นทำให้พื้นที่ภายในโปร่งได้มากที่สุด โดยใช้แสงธรรมชาติ และการหมุนเวียนของลมเป็นองค์ประกอบหลัก สถาปนิกเปลี่ยนฟังก์ชันภายในใหม่ โดยออกแบบพื้นที่ฝั่งหนึ่งของชั้นล่างให้เป็นส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร คอร์ดด้านหน้าและคอร์ดด้านหลังที่เชื่อมถึงกันทั้งหมด และผลักฟังก์ชันกึ่งทึบตัน เช่น ห้องแม่บ้าน ห้องครัว และบันได ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของบ้าน เพื่อดึงการไหลเวียนของลมและแสงธรรมชาติให้ผ่านเข้าได้มากที่สุด
Designer : Design In Motion
Photographer : ศุภกร ศรีสกุล
อ่านบทความบ้าน MANA House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/3qSxVvm
4 Renovation Nak-Niwat
เพิ่มความสุขให้คนในครอบครัว ด้วยพื้นที่แห่งการอยู่อาศัย ‘ร่วมกัน’
ถึงแม้จะต้องการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่การได้มีพื้นที่ส่วนตัวก็ยังเป็นสิ่งที่คนส่วนมากต้องการเช่นเดียวกัน บ้าน Renovation Nak-Niwat หลังนี้ จึงถูกออกแบบจัดสรรพื้นที่เป็นสัดส่วน และยังคงสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว โดยได้สถาปนิกจาก OPH Architects มาเป็นผู้ออกแบบ
แรกเริ่ม บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเก่ารุ่นคุณพ่อคุณแม่ โดยแบ่งเป็นอาคารบ้านหลักและบ้านรองซึ่งแยกกันอย่างชัดเจน ทำให้สเปซแต่ละส่วนไม่เชื่อมต่อกัน เกิดพื้นที่ตรอกเล็กๆ ที่ใช้งานไม่ได้อย่างเต็มที่ การออกแบบ Layout Plan ของบ้านจึงเหมือนการมัดรวมพื้นที่บ้านรองและบ้านหลัก พื้นที่ตรอกเล็กๆ ถูกออกแบบใหม่ให้เป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ยังคงเน้นการแบ่งพื้นที่ด้วยองค์ประกอบที่ยืดหยุ่นได้ เช่น การเลือกใช้พาร์ทิชัน เพื่อให้ ‘บ้าน’ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในอนาคต
Designer : ไพลิน หงษ์วิทยากร จาก OPH Architects
Photographer: กีรติ อึ้งสุทธิพรชัย และ ณภัทร ภัทรยานนท์
อ่านบทความ Renovation Nak-Niwat เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/39m3gRm
5 35 Years House
ซื้อบ้านเก่า 35 ปี มารีโนเวทในสไตล์ที่ (คิดว่า) ชอบ และอยู่กับผลลัพธ์ที่พอดีกับชีวิต
บ้านหลังนี้เป็นของคุณวิรุฬห์ กุลตัณฑ์ อดีตอินทีเรียดีไซน์เนอร์ที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพมือดี และยังรับหน้าที่วางแผน ออกแบบ คุมงาน แปลงโฉมบ้านเก่าอายุกว่า 35 ปีหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านสำหรับครอบครัวในสไตล์ที่ตนเองและภรรยาชื่นชอบ
ไอเดียของการรีโนเวทได้แรงบันดาลใจมาจากพูลวิลล่าแบบรีสอร์ท ในลักษณะชั้นเดียว ดูแลรักษาง่าย มีพื้นที่ใช้สอยพอประมาณ โปร่งโล่ง และสบาย เฟอร์นิเจอร์ไม้บางส่วนเกิดจากการใช้ไม้เดิมที่พบจากการรื้อโครงสร้างหลังคา นำมาแปรรูปเป็นพื้นไม้ หรือโต๊ะรับประทานอาหาร เพื่อให้เกิดการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าที่สุด อีกหนึ่งไฮท์ไลท์ของบ้าน คือ คอร์ทกลางบ้าน ซึ่งคุณวิรุฬห์ ยอมเสียพื้นที่ใช้สอย 1 ใน 6 ของบ้าน เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่โล่งที่สามารถมองเห็นท้องฟ้า หรือพื้นที่สีเขียวภายนอกได้แทน
Designer : วิรุฬห์ กุลตัณฑ์
อ่านบทความบ้าน 35 Years House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/2KXsOLe
6 Maki House
บ้านรีโนเวทขนาดพอดี ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเป็นตัวเองได้มากที่สุด
Maki House เป็นบ้านรีโนเวทในซอยโชคชัย 4 ย่านลาดพร้าวซึ่งไม่ต่างจากบ้านทั่วๆไปในกรุงเทพฯ ที่อัดแน่นไปด้วยบ้านต่างๆ รายล้อม แต่สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นจุดเด่นของบ้าน คือ พื้นที่สีเขียวภายนอก สถาปนิกจึงออกแบบวางฟังก์ชันทั้งหมดโดยเลือกใช้พื้นที่จุดศูนย์กลางของบ้านซึ่งติดกับสวนเป็นจุดเริ่มต้น แล้วจึงวางพื้นที่ใช้สอยในส่วนอื่นๆ ภายในชั้นหนึ่งให้อยู่ในบริบทของกรอบของโครงสร้างเก่า
พื้นที่นั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร พื้นที่นั่งทำงาน และบาร์เล็กๆ เชื่อมโยงถึงกันในลักษณะ Open plan ที่เปิดโอกาสให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน รวมถึงเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ระเบียงไม้และสวนด้านนอกได้โครงสร้างบ้านเดิมที่เป็นรูปจั่ว ยังเป็นเอกลักษณ์ที่สถาปนิกตั้งใจรักษาเอาไว้ โดยนำมาตีความใหม่ให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น ลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นทิ้ง ก่อนจะมาเป็นบ้านหลังคาทรงจั่ว เรียบง่าย สีขาวที่เราเห็นกัน
Designer : สิทธิชัย ชมภู PERSPACETIVE
Photographer: Anan Naruphantawat
อ่านบทความ Maki House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/3iSin8k
7 N135 House
ชุบชีวิตบ้านเก่า เกิดเป็นบ้านเรียบง่ายขนาดพอดี ในพื้นที่และงบประมาณจำกัด
เมื่อสถาปนิกรับบทเป็นทั้งเจ้าของบ้าน และนักออกแบบที่ต้องมาแปลงโฉมบ้านของครอบครัวตนเอง เรื่องราวของ N135 House จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่มีการวางฟังก์ชันแปลกกว่าบ้านปกติทั่วๆ ไป ทำให้ผู้ออกแบบต้องปรับเปลี่ยนภายในของบ้านใหม่เกือบทั้งหมด บ้านภายในมีการเล่นระดับด้วยโครงสร้างเดิม ทำให้ระดับเป็นตัวแบ่งสเปซแต่ละส่วนอย่างชัดเจน แต่ขณะที่ยังมองเห็นซึ่งกันและกัน
หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้ คือ ช่องเปิด ซึ่งออกแบบให้สัมพันธ์กับมุมมอง เน้นการไหลของทิศทางลมและพยายามเปิดมุมมองไปที่พื้นที่สีเขียวบริเวณส่วนกลางให้มากที่สุด ส่วนบริเวณอื่นๆ ที่มองเห็นเพื่อนบ้าน จะถูกลดขนาดและวางในตำแหน่งที่สร้างความเป็นส่วนตัวให้การอยู่อาศัย “เราพยายามใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุดที่มันควรจะเป็น เพราะเรารู้สึกว่าพื้นที่แค่นี้ก็อยู่พอแล้ว มันเป็นสเกลสำหรับครอบครัวที่อยู่แล้วมันพอดี ถ้าเราดูแลบ้านได้ดีและไม่เหนื่อยจนเกินไป มันน่าจะอยู่แล้วมีความสุขกว่า” สถาปนิกและเจ้าของบ้านกล่าว
Designer : ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ Ilikedesignstudio
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความ N135 House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/3ccqQli
8 Modular House
เชื่อมหน้าให้ถึงหลัง…รีโนเวท ‘บ้านทาวน์เฮาส์’ แบ่งปันแสง
เคยมีคนกล่าวว่า ‘การออกแบบที่ดีช่วยยกระดับคุณภาพของการอยู่อาศัยได้’ บ้านทาวน์เฮาส์สีขาวสะอาดตาหลังนี้ จึงถูกแปลงโฉม จากบ้านเก่าทรุดโทรมอย่างหนักที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นทาวน์เฮาส์โปร่งแสงแห่งความสุข โดยได้สถาปนิกจาก Black Pencils Studio มารับหน้าที่ออกแบบ
ด้วยความที่โครงสร้างเก่าผุพังจนยากที่จะนำมาใช้งานต่อได้ สถาปนิกจึงเลือกที่จะคงไว้เพียงโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของบ้านเดิม และเนรมิตพื้นที่ภายในใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นจากการทลายกำแพงภายในบ้านเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ประกอบกับความต้องการของเจ้าของซึ่งอยากให้บ้านสว่าง จึงมีการออกแบบช่องเปิดเพื่อรับแสงเข้าสู่โถงกลางบ้าน ทำให้ตัวบ้านถูกแบ่งฟังก์ชันออกเป็นด้านหน้าและหลังอย่างชัดเจนผ่านระบบโมดูลาร์ ด้วยการใช้แนวกริดโครงสร้างเดิมของเสาคานเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ในแต่ละฟังก์ชัน อีกทั้งยังแบ่งความยาวจากบ้านที่กว้าง 6 เมตร ออกเป็น 6 ส่วน เกิดเป็นเส้นสายต่อเนื่องกันทั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวผนังที่ก่อขึ้นใหม่ หรือฟังก์ชันการใช้งานภายใน
Designer : ชุติ ศรีสงวนวิลาส Black Pencils Studio
Photographer: Spaceshift Studio
อ่านบทความ Modular House เต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/3t20mJi
9 รีโนเวท ‘บ้านทาวน์เฮ้าส์’
แบ่งสันปันส่วน เติมเต็มความสุขในการอยู่อาศัย
เชื่อว่า ‘Home Sweet Home’ คงเป็นประโยคที่เรานึกถึงเสมอเมื่อได้สัมผัสกับความอบอุ่นของการอยู่อาศัย คำนิยามเหล่านี้คงไม่ต่างไปจากบ้านทาวน์เฮาส์รีโนเวทของคุณทราย และคุณน็อต สองสถาปนิกและเจ้าของบ้านที่ลงมือแปลงโฉมบ้านหลังนี้ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย กลายเป็นบ้านที่แสนอบอุ่นในทุกๆ วัน
บ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น อายุกว่า 30 ปี ถูกดัดแปลงโดยยอมเสียพื้นที่บริเวณชั้นสองขนาด 3×2 ตารางเมตร เพื่อเปิดทะลุให้ห้องนั่งเล่นชั้น 1 กลายเป็น Double high ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งได้มากกว่าบ้านทาวน์เฮาส์ทั่วไป รวมถึงมีช่องสกายไลท์ที่เปิดรับแสงจากภายนอก ทำให้ห้องนั่งเล่นสว่างขึ้น ถัดจากห้องนั่งเล่นจะเป็นห้องครัว ที่มีพื้นที่เล็กๆ ด้านนอกคอยเปิดรับธรรมชาติอย่างแสงแดด สายลม และสายฝนที่หมุนเวียนเข้ามาทักทาย ผู้อยู่อาศัยจึงสามารถรับรู้ได้ถึงกาลเวลา และสัมผัสสภาพอากาศจากภายนอกได้แม้จะอยู่ภายในบ้าน
Designer : วิภาวี เกื้อศิริกุล และสิทธนา พงษ์กิจการุณ A Millimetre
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://dsignsth.me/39jQd2O
10 รีโนเวทบ้านตึกแถว
จังหวะแสง-กาลเวลา-ความสัมพันธ์ของพื้นที่
ด้วยความที่เติบโตมากับอาคารประเภทตึกแถว และคุ้นชินกับทำเลเดิม คุณณรงค์ โอถาวร เจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก SO Architects จึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมในมุมมองใหม่ ก่อนตัดสินใจต่อเติมความสุขเพื่อสร้างครอบครัวกับภรรยา คุณพิมพิดา โอถาวร ภายใต้ตึกแถวที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ในย่านสี่พระยา
หากมองจากภายนอกอาจจะเหมือนบ้านตึกแถวเพียงหนึ่งคูหา แต่พื้นที่ภายในตั้งแต่ชั้น 2 จะมีการเชื่อมต่อระหว่างสองคูหาเข้าด้วยกัน และด้วยความต้องการให้พื้นที่โล่งที่สุด โปร่งที่สุด และมีของน้อยที่สุด ฟังก์ชันในชั้นแรกจึงมีเพียงโถงทางเข้า ครัว และพื้นที่นั่งเล่นที่มีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติให้สาดส่องเข้ามาจากสวนเล็กๆ ด้านหลังบ้าน แต่ด้วยความชื่นชอบระดับความสว่างของแสงที่แตกต่างกัน ระหว่างคุณณรงค์ที่ชอบแสงสลัวๆ และคุณพิมที่ชอบแสงสว่างๆ พื้นที่ภายในบ้านจึงถูกออกแบบเล่นกับจังหวะของแสงในพื้นที่แตกต่างกันตามช่วงเวลา
Designer : ณรงค์ โอถาวร SO Architects
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : http://dsignsth.me/2M7MD2W