อาคารหลังคาทรงจั่วริมน้ำ คลุมทับอีกชั้นด้วยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ กับโลเคชั่นที่เงียบสงบในหมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ หลังจากที่รู้ว่าสเปซที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบข้างแห่งนี้คือพื้นที่พักอาศัยที่ควบรวมกับพื้นที่ทำงานของนักสร้างสรรค์ ไม่แปลกเลยที่อาคารที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้จะกลายเป็น ‘ออฟฟิศในฝัน’ ของเราและใครอีกหลายคนในชั่วพริบตา
Sher Maker สตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ที่ก่อตั้งโดยสองสถาปนิก คุณโอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร และคุณตุ๋ย-พัชรดา อินแปลง คือเจ้าของพื้นที่ทำงานแห่งที่ว่าแม้ภาพลักษณ์ภายนอกอาคารหลังนี้จะดูแปลกตาจากโปรเจกต์สร้างชื่อให้กับสตูดิโอ อย่างการรีโนเวทฟาซาดปั๊มน้ำมันด้วยกระเบื้องเซรามิกสีมุก หรือร้านกาแฟ The Light Trap และ Boonma Cafe อย่างสิ้นเชิง ทว่าหลายๆ องค์ประกอบของผลงานเหล่านั้น รวมถึงประสบการณ์จากการออกแบบตลอด 4 ปีที่ผ่าน ได้ถูกย่อยมาไว้ที่ ‘ออฟฟิศในฝัน’ ของพวกเขาด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่าการเดินสำรวจบ้านจะทำให้เรารู้จักชีวิตเจ้าของบ้านมากขึ้น มาถึงตรงนี้แล้ว เรามาเดินเท้าสำรวจอาคารหลังนี้ไปพร้อมๆ กับการทำความรู้จักตัวตนและวิธีคิดของ Sher Maker ด้วยกันดีกว่า
พื้นที่ที่ให้งานและชีวิตโตไปพร้อมกัน
เดิมที Sher Maker มีออฟฟิศเก่าอยู่บริเวณถนนท่าแพ สำหรับคนเชียงใหม่ พื้นที่ตรงนั้นนับว่ามีความวุ่นวายสูงทีเดียว เพราะมันกระจุกด้วยแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านค้า รวมถึงโรงเรียน
“เราโฟกัสเรื่องพื้นที่ทำงานของตัวเองจริงจังช่วงปีที่ 3 หลังจากเปิดออฟฟิศ เรามองว่าเราอยากโฟกัสกับงานจริงๆ อย่างเดียว ไม่อยากเสียพลังงานกับอย่างอื่นแล้ว อีกอย่างคือวิธีการทำงานของสตูดิโอมันเชื่อมโยงกับชีวิตของเราอย่างแยกไม่ออกเลย มีคนบางกลุ่มสามารถตื่นเช้า นั่งรถไปทำงานที่ออฟฟิศ ตอนเย็นกลับบ้านมานอนดูเนตฟลิกซ์และเลิกคิดเรื่องงานได้ แต่พวกเราไม่ใช่คนแบบนั้น เรารู้สึกว่างานกับชีวิตเป็นโฟล์วเดียวกัน ดังนั้นการจะทำพื้นที่ทำงานขึ้นมา หรือพื้นที่มันควรจะประกบด้วยอะไรบ้างมันจึงมาจากวิธีคิดแบบนี้”ตุ๋ยบอกเราว่าข้อดีของการตัดสินใจเซ็ตอัพออฟฟิศเล็กๆ ที่เชียงใหม่ เมืองที่เธอนิยามว่ามีต้นทุนทางเวลาถูกกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั่นคือเธอและคนอื่นๆ ในออฟฟิศสามารถจัดการโฟล์วชีวิตของตัวเองได้ สิ่งสำคัญคือมีเวลาอ่านในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะสามารถต่อยอดงานออกแบบในอนาคตของตัวเอง และมีเวลาเหลือสำหรับการทดลองกับวัสดุและสิ่งอื่นๆ การมีพื้นที่ทำงานกว้างๆ ที่รองรับกิจกรรมพวกนี้ได้แบบครบจบในที่เดียวน่าจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด โชคดีที่คนรู้จักของเธอมีพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในหมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ว่างอยู่พอดี
“พี่เจ้าของไม่ได้มีแพลนจะทำอะไรกับที่แปลงนี้ ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นดงกระถิน ตอนขอเช่าระยะยาวเขามีเงื่อนไขแค่ว่าขอให้ช่วยปลูกต้นไม้ใหญ่ที่พอจะมีประโยชน์ในอนาคตไว้ให้เขาหน่อย เพราะฉะนั้นสิ่งปลูกสร้างบนที่แปลงนี้มันเลยไม่สามารถใช้หลักการ office building ได้”
ตะค้อ ยางนา ตะเคียน เพกา มะค่า และพะยูง ทั้งหมดนี้คือรายชื่อไม้ยืนต้นที่พวกเขาเลือกปลูกตามคำขอของเจ้าของผืนดิน ตัวอาคารที่ต้องก่อสร้างขึ้นจึงต้องเอื้อต่อการเติบโตของพวกมันไปด้วย
“ปกติการจัดการพื้นที่รกร้างเราต้องถมที่เพื่อปรับระดับผิวดินด้วย แต่ที่นี่เราเลือกปรับเฉพาะส่วนที่เราจะใช้สำหรับการก่อสร้างอาคาร และต้นไม้เดิมหลายๆ ต้นก็ยังเติบโตอยู่ เพราะงั้นเราเลยไม่เห็นความจำเป็นที่จะสร้างภาวะความแตกต่างให้กับอาคารและผืนดินเดิม”
ห้องทำงานที่ทำให้เห็นความหมายของสิ่งรอบตัว
การออกแบบอาคารให้กลมกลืนไปบริบทแวดล้อมเป็นหัวใจของโปรเจกต์แห่งนี้ ในเวลาเดียวกัน ประสบการณ์ทำงานหลายๆ ปีที่เก็บเกี่ยวมาทำให้เธอมองเห็นความสำคัญของการได้รื่นรมย์กับสภาพแวดล้อมขณะทำงานชัดขึ้นด้วย
“ส่วนตัวเรารู้สึกว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมันมีผลกับทำงานของเรามากๆ ถ้าเราจะเป็นสถาปนิกที่ไปทำอาคารสักอาคารที่อยากให้มันมีผลกับมนุษย์ในเชิงความรู้สึกจริงๆ เราเองก็ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มันซัพพอร์ตความรู้สึกเราด้วย และพักหลังนี้เราเดินทางไปดูไซต์คนเดียวบ่อย แล้วรู้สึกว่าสเปซมันทำงานกับเรามากๆ ระหว่างนั้นเราก็เอาประสบการณ์พวกนั้นมาเก็บเป็นวัตถุดิบเวลาทำงาน หรือเวลาออกแบบอะไรให้ตัวเองด้วย”พื้นที่ครึ่งหนึ่งของใต้หลังคาทรงจั่วถูกแบ่งเป็นห้องทำงานของสมาชิก Sher Maker นอกจากนี้พวกเขายังทำห้องให้เพื่อนฝูงสามารถเช่าอยู่ด้วยได้อีก 3 ยูนิต อีกครึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางรองรับกิจกรรมอย่างการทดลองวัสดุ ขึ้น mock-up การประชุมตรวจแบบ พื้นที่ทำงานของทีมช่างเจ้าประจำ ไปจนถึงการนั่งล้อมวงรับประทานอาหารและนั่งพักผ่อนตรงริมน้ำ
“ตอนออกแบบเราไม่ได้คิดเรื่องฟอร์มเลย คิดแค่ว่าเป็น protecting roof วางไว้บนไซต์ ตรงไหนมีต้นไม้เดิมอยู่ก็เจาะหลังให้มันเติบโต แล้วก็ขอแบ่งพื้นที่ใต้ผืนหลังคานั้นใช้งาน วิธีคิดของเรามีแค่นี้เลย อาคารนี้เราเขียนแค่แปลนที่บอกว่าตำแหน่งเสาอยู่ตรงไหน กับเซกชั่นที่บอกว่าเสาแต่ละต้นสูงเท่าไหร่ แล้วก็เรียกช่างที่เป็นทีมเราเข้ามาคุย มันคือการเขียนแบบไปด้วยสร้างไปด้วยจริงๆ”
หากใครได้ย่างกรายเข้าไปสำรวจเสาแต่ละต้นของอาคารอาจสักเกตเห็นร่องรอยจากจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดระหว่างการก่อสร้าง เช่น การทิ้งรูที่เจาะผิดไว้ หรือตำหนิที่เกิดจากการเปลี่ยนแผนระหว่างทาง ที่แน่ๆ สิ่งที่เธอตอบกลับกลับทำเราประหลาดใจ
“แต่เราชอบนะ มันดูมีร่องรอยของ tectonic อยู่ มองแล้วเห็นเลยว่าอันนี้ช่างขี้เกียจเจียร แม้จะมีความไม่เรียบร้อยแต่มันก็ไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไรที่ใหญ่ขนาดนั้น อาคารนี้มันมีความหมายกับเราเพราะเราอยู่กับมันตั้งแต่เส้นแรกที่เขียนลงบนกระดาษ จนกลายเป็นอาคารที่เราได้ใช้งานจริงๆ เห็นตึกก่อรูปขึ้นพร้อมๆ กับความคิดเราที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นปีต่อปี มันเป็นเรื่องแบบนั้นนะ”
ลดรอยต่อระหว่างผืนดินเดิมและอาคารใหม่ด้วยวัสดุบ้านๆ
สิ่งที่ทำให้ตัวอาคารเบลนด์เข้ากับผืนดินดั้งเดิมได้ดี คือการปูพื้นโถงด้วยวัสดุหาง่ายอย่างหินเกร็ดจากงานก่อสร้างและอิฐมอญที่หาได้จากแหล่งใกล้ตัว หากใครเคยเห็นงานออกแบบเก่าๆ ของพวกเขาน่าจะพอสังเกตได้ว่าสิ่งที่ Sher Maker ทำได้ดีมากๆ คือการนำวัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ“เราสนใจงานแลนด์สเคปโดยเฉพาะในมุมที่มันทำหน้าที่สร้างมิติให้กับอาคาร หรือเป็น ambient ให้ชีวิตคนที่ใช้อาคารนั้นจริงๆ แล้วเรารู้สึกว่าเวลาออกแบบอาคารสักอาคารหนึ่ง ถ้าเราเอาแต่คิดว่าอยากจะเอาอาคารไปป๊อบอัพวางบนผิวดิน โดยที่ไม่ได้คิดถึง ambient หรือสิ่งที่อยู่ระหว่างอาคารกับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมันจะแข็งไปหมด เราว่ามันเป็นวิธีคิดที่ไม่ค่อยประนีประนอมเท่าไหร่
“เวลาเราไปดูไซต์ เราไม่ได้ดูอาคารอย่างเดียว แต่เราจะดูสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกับตัวอาคารด้วย แล้วเราชอบเอาศาสตร์นี้มาหยอดลงในงานที่เราทำ เพราะฉะนั้นการทำออฟฟิศตัวเอง แวดล้อมของไซต์เดิมมันป่าสุดๆ อยู่แล้ว ถ้าเรายินยอมให้บรรยากาศเหล่านั้นเข้ามาถึงอินทีเรียร์ในออฟฟิศมันคงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะฉะนั้นวิธีการทำโถงของเราคือใช้งานฮาร์ดสเคปง่ายๆ ไปเลย เอาอิฐมาปู ไม่ว่าจะฝนตก พื้นเปียก ช่างกำลังจะเชื่อมเหล็ก ขนกระเบื้องที่ทดลองเผากันเองมาวาง เราไม่จำเป็นต้องกลัวเลยว่าพื้นโถงจะเปื้อนหรือเลอะเทอะ” เรียกได้ว่าเรียบง่ายแถมยัง practical มากทีเดียว
ประโยชน์ของคนใช้พื้นที่ต้องมาเบอร์หนึ่ง
“ในแง่การก่อสร้าง พอเราเป็นเจ้าของและลงมือทำกันเองมันเลยไม่ค่อยซับซ้อน เราว่าสถาปนิกส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเหมือนกันว่า สิ่งที่ซับซ้อนกว่าการก่อสร้างอาคารคือฟีดแบ็คหลังจากใช้อาคารมากกว่า เรื่องพวกนี้สำคัญ คือเมื่อเรายอมให้สภาวะแวดล้อมมามีเอฟเฟ็คต่อชีวิตประจำวันมากๆ อย่างเวลาหน้าหนาวที่นี่จะหนาวมาก พวกเราแทบจะก่อไฟในออฟฟิศ (หัวเราะ) หรือช่วงฤดูฝน ตอนเย็นก็จะมียุงบ้าง”แม้จะเป็นอาคารที่เปิดรับธรรมชาติเต็มที่ ที่แน่ๆ เสน่ห์ของที่นี่คงจะหนีไม่พ้นพื้นที่โถงส่วนกลาง ตุ๋ยบอกเราว่า พื้นที่ตรงนั้นคือมุมที่บ่งบอกความเป็น Sher Maker ได้ดีที่สุด ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่เพื่อนๆ สถาปนิกจากออฟฟิศอื่นๆ ชื่นชอบความเฟรนด์ลี่และมิกซ์ยูสของมันอีกด้วย
“โถงกลางที่รกๆ ตรงนั้นเป็นทั้งที่ที่เราใช้กินข้าวเที่ยง ลูกค้ามาก็ประชุมตรงนั้น ช่วงที่ต้อง curate ของเพื่อจัดนิทรรศการ เราวางมันบนโต๊ะปิงปอง หรือเวลาปาร์ตี้หรือกินหมูกระทะกันก็จะเป็นบริเวณหน้าจั่วที่ติดกับริมน้ำ มันเป็น multi-space ที่หลายๆ ออฟฟิศขาดแคลนนะ ที่สำคัญเราไม่ต้องแคร์มากนักว่ามันจะสวยงามไหม แค่ใช้ๆ งานไป ซึ่งมันดูเป็นวิถีชีวิตของเรามากที่สุดแล้ว”เธอเรียกโถงตรงกลางที่เราเห็นตรงนี้ว่าเป็น between space ที่หมายถึงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างต้นทางกับปลายทาง เช่น ทางเดินระหว่างกลับบ้าน สำหรับคนในสายสถาปัตย์อาจจะคิดถึงเรื่องพวกนี้น้อยกว่าคนในสายแลนด์สเคป หรือนักผังเมือง แต่เธอเลือกที่จะย่อยมันลงมาใน routine ที่เล็กจิ๋วกว่านั้น นั่นคือ between space ระหว่างโต๊ะทำงานกับโต๊ะกินข้าว เธอเชื่อว่ารายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้จำเป็นมากๆ ในการซัพพอร์ตโฟล์วในการใช้ชีวิตของคนในอาคาร
นอกจากจะแคร์เรื่องโฟล์วของคนที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกันแล้ว ในวันข้างหน้าเธอยังอยากเห็น Sher Maker เติบโตไปทิศทางไหน เราโยนคำถามสุดท้ายนี้ไปยังตุ๋ย
“เป็นแบบนี้แหละ ออฟฟิศขนาดเล็กที่อยู่ในป่า มีสตาฟไม่เกิน 4-5 คน เราชอบงานสเกลเล็กถึงกลาง เรารู้สึกว่ามันทำให้เราได้เห็นทุกการเติบโตของคนกับอาคาร และสนุกกับการได้เจอโจทย์ที่หลากหลาย อะไรที่แปลกๆ หรือโปรเจกต์ที่โดนกดค่าก่อสร้างส่งมาเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่เราคงต้องดูก่อนนะว่าเมคเซนส์ไหม หรือมันส่งผลกับสตาฟของเขายังไงบ้าง เราสนใจเรื่องพวกนี้ เราว่าสถาปัตยกรรมมัน improve คนได้เยอะถ้าเราทำมันอย่างถูกวิธี และต้องไม่คิดว่าทำเสร็จแล้วสวย มีคนใช้แล้วจบ ถ้าเราผลักประโยชน์ของสิ่งที่เราออกแบบให้ไปได้ไกลกว่านั้นก็น่าจะดี”
Location: หมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
Owner & Designer: คุณโอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร และคุณตุ๋ย-พัชรดา อินแปลง จากสตูดิโอ Sher Maker
Story: เบญจวรรณ มังกรอัศวกุล
Photographer: Rungkit Charoenwat, Sher Maker