OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Terrazzo House พลิกโฉมการรีโนเวทบ้าน ซ่อนกรอบของความเก่าเอาไว้เบื้องหลัง

เพราะ ‘ทำเล’ ของที่อยู่อาศัยก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ ของการออกแบบ ที่ดินและทำเลที่ถูกใจจึงทำให้หลายคนมักยอมจำนนและเลือกที่จะรีโนเวทบ้านเก่าบนที่ดินเดิมแทนที่จะหันไปเลือกซื้อบ้านจัดสรรหลังใหม่ หรือทุบทำลายของเดิมอย่างไม่เหลือเยื่อใย ไม่ต่างจาก Terrazzo House บ้านรีโนเวทที่เริ่มต้นขึ้นบนที่ดินบ้านเก่า ราคาดี ติดรถไฟฟ้าสถานีบางนา ก่อนจะได้ คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR Architects มาแปลงโฉม ตีความการรีโนเวทในรูปแบบใหม่จนแทบไม่เห็นเค้าเดิม ซึ่งหากไม่บอกเราก็คงไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้ คือ บ้านรีโนเวทที่ซุกซ่อนบ้านเก่า 20 กว่าปีเอาไว้ภายใน

ความต้องการที่มาพร้อมข้อจำกัด

ถึงแม้ทำเลและราคาจะถูกใจเจ้าของบ้าน แต่ก็มาพร้อมข้อจำกัดหลายประเด็นที่ต้องใช้การออกแบบเข้ามาเรียบเรียงให้สเปซลงตัวมากขึ้น  ข้อจำกัดแรกของบ้าน คือ ที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ดินกงสี ประกอบไปด้วยกลุ่มบ้าน 6-7 หลังภายในรั้วเดียวกัน ซึ่งเป็นของคนในตระกูลเดียวกันทั้งหมด บ้าน Terrazzo House จึงเปรียบเสมือนคนนอกที่เข้าไปอาศัยอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่รู้จักกันเองและคุ้นเคยกันดีอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนข้อจำกัดที่ 2 คือ เรื่องของงบประมาณ ประกอบกับสภาพบ้านที่มีสแปนเสาค่อนข้างแคบ และมีความสูงเพดานต่ำกว่าบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งต้องบอกว่าข้อจำกัดทั้งสองสวนทางกับความต้องการของทางเจ้าของ ซึ่งต้องการฟังก์ชันห้องนอนมาสเตอร์ ที่มี walk-in closet และห้องน้ำขนาดใหญ่ เหมือนบ้านหรือคอนโดในยุคปัจจุบัน พร้อมที่จอดรถมาตรฐาน 2 คัน  ต่างจากบ้านเก่าที่มีเพียงถนนเล็กๆ หน้าบ้านที่ใช้สำหรับสัญจรและจอดรถไปในตัว

ภาพก่อนและหลังรีโนเวท

“บ้านหลังนี้ทางเจ้าของเขาอยู่อาศัยกัน 2 คน แต่แพลนว่าจะมีลูกในอนาคตบวกกับมีคุณพ่อคุณแม่แวะเวียนมาหาบางครั้ง ห้องใหญ่ๆ เหล่านั้นจึงเป็นฟังก์ชันเพียงไม่กี่อย่างที่เขาขอ เพราะเขาเองก็รู้ว่างบประมาณมีจำกัดมาก หน้าที่เราจึงเป็นการไปดูว่าบ้านเก่าหลังนี้จะสามารถต่อเติม หรือทำอะไรให้มันใหม่ขึ้นได้บ้างไหม อันนี้คือโจทย์ตอนเริ่มต้น มีแค่นั้นเลย” คุณหนึ่งเล่า

ทำบ้านใหม่ และบ้านเก่า ให้อยู่ด้วยกัน

จากการไปสำรวจพื้นที่จริง ทำให้คุณหนึ่งมองว่าด้วยสภาพเดิม สแปนเดิมของบ้านน่าจะยาก ที่จะได้ฟังก์ชันตรงตามที่เจ้าของต้องการ จึงนำเสนอทางเลือกหนึ่ง ซึ่งออกแบบหลังคาที่จอดรถให้กลายเป็นก้อนของอาคาร เพิ่มฟังก์ชันห้องนอนเข้าไป “เราคิดธรรมดามาก ซึ่งเราก็มองติดตลกว่า เราเอาที่จอดรถมาบังบ้านทั้งหลังไปเลย ซึ่งถ้าทำอาคารก้อนที่จอดรถใหม่นี้ให้สวย เราก็จะได้บ้านใหม่ที่ไม่ต้องไปรีโนเวทบ้านเก่า พูดง่ายๆ ก็คือเก็บลักษณะเดิมไว้ 100% แค่ทาสีใหม่เฉยๆ และเอาก้อนที่จอดรถใหม่ไปบังบ้านเก่าไว้” คุณหนึ่งอธิบาย

ข้อดีของบ้านกล่องที่ออกแบบขึ้นใหม่ ยังแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างรั้ว ผนังของอาคารทั้งหมดและประตูโรงรถ กลายเป็นรั้วของบ้านที่เป็นเกราะกำบังให้ผู้อยู่อาศัย
 คุณหนึ่งเล่าว่า สิ่งหนึ่งในบ้านหลังนี้ที่รู้สึกชื่นชอบตั้งแต่แรกเห็น คือ กลิ่นอายของความวินเทจ ซึ่งภายในเราจะเห็นหินขัด พื้นไม้ปาร์เก เป็นวัสดุเก่าที่มีเห็นในยุคสมัยนั้น ภายในบ้านมีการเล่นระดับขั้นบันไดประมาณ 0.40 ม. ถึงแม้การเล่นระดับจะทำให้เพดานดูเตี้ยลง แต่คุณหนึ่งกลับมองว่านี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ควรจะรักษาไว้  “นัยยะของเรา คือ เราต้องการ ทำบ้านใหม่ บ้านเก่าให้อยู่ด้วยกัน คนนอกอาจจะเห็นบ้านเป็นบ้านสมัยใหม่เลย แต่เมื่อเราเดินเข้าไปบริเวณคอร์ด เราจะเห็นบ้านเดิมทั้งหลังอยู่ด้านหลังของอาคารใหม่นี้”
เมื่อบ้านใหม่ต้องถูกสร้างเอาไว้ด้านหน้าเพื่อบดบังโครงสร้างเดิมของบ้านเก่า และบ้านทั้งสองหลังก็จำเป็นต้องเชื่อมถึงกันเพื่อให้ฟังก์ชันการใช้งานกลายเป็นบ้านใหญ่หลังเดียว แปลนของอาคารจึงมีรูปทรงคล้ายตัว L ที่มีฟังก์ชันเสริมเป็นพื้นที่รับประทานอาหาร และยังรับบทเป็นTransition Area คอยเชื่อมโยงบ้านใหม่และบ้านเก่าเข้าหากัน ทำให้ภาพรวมของบ้านทั้งหมดดูมีขนาดใหญ่กว่าที่เคย ในส่วนของ Transition Area นี้ สถาปนิกยังแก้ปัญหาเพดานเตี้ยด้วยการออกแบบ Double Space เปิดโล่งสองชั้น ที่ช่วยให้บ้านดูโปร่งมากขึ้น

แปลนบ้าน Terrazzo House ชั้น 1 และชั้น 2

บริเวณห้องนั่งเล่นถูกกดให้ต่ำลง เล่นระดับล้อไปกับบ้านเดิม ซึ่งสถาปนิกลำดับเรื่องราวให้บริเวณนี้เป็นศาลา คล้ายใต้ถุนบ้านไทย โดยสามารถเปิดประตูบานเลื่อนใหญ่ ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ให้กว้างออกได้ตลอดทั้งแนวและซ่อนเอาไว้ด้านหลังผนังทึบ คล้ายเรือนที่เปิดโล่ง สามารถทักทายผู้คนที่ผ่านไปมา หรือแขกที่มาเยี่ยมบ้าน
กำแพงด้านหลังทีวี ยังมีแสงธรรมชาติไล้ไปตามผนัง ซึ่งแสงเหล่านี้เกิดจากการเหลื่อมกันของแมสอาคารแต่ละก้อน โดยหากมองจากภายนอก เราจะเห็นก้อนสี่เหลี่ยมประมาณ 3 ก้อนที่เหลื่อมกันไปมาได้อย่างชัดเจน

‘Original Fake’ สเน่ห์ของวัสดุเทียมที่เสมือนจริง

วัสดุที่ใช้ในการออกแบบ ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สร้างความประหลาดใจให้เราได้ไม่น้อย เพราะแท้จริงแล้ว หินขัดที่เราเห็นรอบตัวบ้าน ไม่ใช่วัสดุหินขัดแท้ แต่เป็นกระเบื้องลายหินขัดที่โชว์ลวดลาย เผยลายเส้นกระเบื้องให้เห็นอย่างชัดเจนว่านี่ไม่ใช่หินขัดหล่อในที่อย่างที่เราเข้าใจกัน

ผู้ออกแบบตั้งใจเลือกใช้หินขัด เพื่อแสดงสเน่ห์ของบ้านเก่าตามยุคสมัย และยังควบคุมงบประมาณได้ง่ายเนื่องจากเป็นวัสดุราคาถูกและทนทาน แต่ด้วยความที่การทำหินขัดบนผนังผืนใหญ่ในทางตั้งนั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และในขั้นตอนการก่อสร้างได้ ‘ช่างเวก’ ผู้รับเหมาชาวบ้านที่อยู่ในซอยละแวกบ้านมาเป็นผู้คุมงาน วิธีการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุจึงต้องเอื้อให้ก่อสร้างได้ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก ตามความถนัดของช่างเวก หินขัดแท้จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นกระเบื้องลายหินขัดอย่างที่เห็น
“มันมีสิ่งหนึ่งที่เราพยายามย้ำในการออกแบบมาสักพักหนึ่ง นั่นคือ Original Fake หรือวัสดุเทียมที่แท้จริง เราพยายามหาความงามของวัสดุเทียมที่ทุกคนชอบต่อต้านว่า ทำไมถึงไม่ใช้ของจริง เราหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้เพราะเรามองว่า เมื่อผ่านเทคโนโลยีของยุคสมัยปัจจุบัน เราก็ถือว่ามันเป็นวัสดุจริงไปเรียบร้อยแล้ว สถาปนิกควรจะรู้ข้อดีและนำมาใช้ เพื่อให้เห็นสเน่ห์ของวัสดุเทียมได้มากที่สุด”

คุณหนึ่งจึงนำกระเบื้องหินขัดที่ว่า มาออกแบบเล่นรอยต่อหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากหินขัดแท้ ที่เป็นวัสดุไร้รอยต่อ กระเบื้องหินขัดถูกนำมาจัดแพทเทิร์นให้ตรงกัน และชนมุมของอาคารด้านต่างๆ ได้อย่างเรียบร้อย ตามขนาดความยาวประมาณ 1.2 ม. ส่วนที่เหลือก็แบ่งให้เกิดการใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด โดยไม่เหลือเศษ บางส่วนถูกตัดให้สั้นเพียง 10 ซม. เพื่อให้กระเบื้องสามารถจบลงมุมพอดี และต่อกันได้เกือบทั้งหมด
บริเวณหลังคาจั่วออกแบบด้วยโครงสร้างไม้ ซึ่งล้อไปกับโครงสร้างเดิมของบ้าน ซึ่งส่วนที่อยู่ในบริเวณบ้านเก่า จะเป็นการโชว์โครงสร้างเดิมทั้งหมด แต่ในส่วน Double Space ของบ้านใหม่ จะเป็นโครงสร้างที่ออกแบบขึ้นใหม่ ภายในบ้านจึงมีทั้งของใหม่และเก่าต่อเนื่องกันไปภายใต้กรอบหลังคาเดียวกัน
‘ซ่อนอยู่ภายใน’ ที่เรากล่าวข้างต้น สำหรับบ้านหลังนี้จึงไม่ใช่เพียงคำเปรียบเปรย แต่หมายถึง การซ่อนเอาไว้ภายในอย่างแท้จริง การรีโนเวทหาทางอยู่ร่วมกันของความใหม่และความเก่า ถูกตีความให้เห็นในมิติที่แตกต่างออกไป เสน่ห์ของบ้านกล่องสุดโมเดิร์นที่เผยตัวตนอย่างโดดเด่น และเสน่ห์ของความวินเทจแบบบ้านเก่าที่อยู่เบื้องหลัง กลับอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว โดยสามารถพิสูจน์และรับรู้ได้จากเจ้าของบ้านเพียงเท่านั้น
Location : บางนา กรุงเทพฯ
Gross Built Area : 358 ตารางเมตร
Owner : กิตติยา สังข์อุบล
Architect & Interior : EKAR Architects
Structure Engineer : คทาวุธ ไชยแสน และธีรวัฒน์ กงจักร์
Contractor : เวก เหม็นเณร
Photograph : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์