OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

จาก Nagaya House สู่ Row House บ้านกล่องคอนกรีตทรงโมเดิร์นของ Tadao Ando

Azuma House หรือที่รู้จักกันในชื่อ Row House เป็นหนึ่งในผลงานน่าสนใจช่วงแรกๆ ของสถาปนิกมีชื่อชาวญี่ปุ่นอย่างทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) ซึ่งถูกออกแบบและสร้างขึ้นในปี 1976 ตั้งอยู่ในเขต Sumiyoshi ใจกลางเมืองโอซาก้า ซึ่งถือเป็นย่านค้าขายและที่อยู่อาศัยสำหรับคนชนชั้นกลางในสมัยนั้น โดยบริบทรอบข้างเป็นบ้านไม้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเรียกว่า นากายะ (Nagaya) ซึ่งจะสร้างชิดติดกัน ใช้โครงสร้าง และผนังร่วมกันเหมือนลักษณะของตึกแถว บ้านแบบนากายะนี้เป็นที่นิยมในยุคเอโดะ ในขณะที่เศรษฐกิจและเมืองกำลังขยายตัว ที่ดิน จึงถูกซอยย่อยให้สามารถปลูกที่พักอาศัยสำหรับหลายครัวเรือน เก็บภาษีตามความหน้ากว้างของบ้านที่หันเข้าสู่ถนน ทำให้เกิดที่ดินลักษณะหน้าแคบ แต่ลึก

ทาดาโอะ อันโดะ เกิดและโตที่เมืองโอซาก้า รวมถึงโตมาในบ้านลักษณะนี้เช่นกัน ทำให้เขารับรู้ถึงปัญหาของการอยู่อาศัยต่างๆ เช่น พื้นที่ที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว ผู้คนที่เดินผ่านไปมาที่ถนนสามารถมองผ่านบานหน้าต่างหน้าบ้านเข้ามา ความมืดในห้องขณะทำการบ้าน หรือแม้แต่ความหนาวเย็น น้ำฝน ที่รั่วซึมเข้ามาภายในบ้าน

แต่กระนั้นเองประสบการณ์เหล่านี้ที่อันโดะได้ซึมซับตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้เป็นข้อเสียไปทั้งหมด สำหรับสถาปนิกคนนี้แล้ว เขาได้เรียนรู้ความสวยงามของธรรมชาติไปพร้อมกัน สิ่งเหล่านี้ จึงส่งผลต่อแนวคิดการออกแบบ Row House โดยการที่อันโดะเลือกสร้างสภาพแวดล้อมภายในขึ้นเอง ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธบริบทรอบๆ เพื่อตัดขาดจากความวุ่นวายและสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ผ่านผนังคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่ากับความสูงของบ้านไม้สองชั้นข้างเคียง ปิดล้อมพื้นที่ทั้ง 4 ด้าน ให้เป็นเหมือนกล่องทึบ

แม้ว่าผนังคอนกรีตจะดูขัดแย้งกับบริบทโดยรอบที่เป็นบ้านไม้เก่าในสมัยนั้น แต่ก็แทรกตัวอยู่อย่างสงบนิ่งกลมกลืน มีเพียงส่วนทางเข้าเท่านั้นที่ถูกเจาะลงบนผนังคอนกรีตด้านหน้า ให้เป็นการเน้นทางเข้าอย่างเรียบง่าย ซึ่งหากมองรูปด้านหน้าจะเห็นเพียงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชิ้นซ้อนกัน

บ้านทรงกล่องทึบที่มีแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง

Row House เป็นยูนิตกลางในแถวของบ้านนากายะบวกกับลักษณะของที่ดิน หน้าแคบ แต่ลึก ตัวบ้านหน้ากว้างเพียง 3.2 เมตร ยาว 12.8 เมตร (ซึ่งแคบกว่าตึกแถวของไทยที่ทั่วไปจะกว้าง 4 เมตร) ปัญหาที่มักพบในอาคารลักษณะนี้คือเรื่องของ “แสง” เป็นเรื่องยากที่แสงธรรมชาติจะส่องถึงห้องที่อยู่ลึกเข้าไปด้านหลัง โดยเฉพาะในบ้านพื้นถิ่นของญี่ปุ่นที่ปลูกชิดติดกัน จะมีพื้นที่ลานเล็กๆ กลางบ้าน เรียกว่า โทริ นิวะ (Tori-niwa)

เพื่อเปิดให้มีแสงธรรมชาติและมีการระบายอากาศที่ดีในอาคาร อันโดะเลือกใช้วิธีเดียวกันนี้ในรูปแบบใหม่คือ การเลือกปิดช่องเปิดทั้งหมดที่ผิวผนัง และเลือกเปิดช่องแสงบริเวณคอร์ทกลางบ้าน คล้ายกับพื้นที่ โทริ นิวะ ในบ้านพื้นถิ่น แม้จะเป็นจุดเดียวที่เปิดรับแสง แต่ทุกพื้นที่ในบ้านกลับได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึงเป็นจุดเด่นของงาน Row House เลยทีเดียว ทำให้บ้านหลังนี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในเรื่องของวิธีสร้างแสงธรรมชาติให้ผ่านเข้าสู่อาคารที่มีลักษณะหน้าแคบยาว แต่มีหน้าต่างไม่เพียงพอ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นำมาปรับใช้ได้อย่างมีประโยชน์มาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

สร้างประสบการณ์ภายในบ้านที่น้อมรับธรรมชาติ

ภายในบ้านแปลนสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัดแบบสมมาตร แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน คอร์ทกลางบ้านแยกพื้นที่ส่วนหน้าและหลังออกชัดเจน เมื่อเข้าไปจะพบกับห้องนั่งเล่น ผ่านคอร์ทเข้าไปเป็นห้องครัวและห้องน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอน 2 ห้อง หันหน้าเข้าหากัน โดยมีคอร์ททำหน้าที่เป็น “จุดเชื่อมต่อ” ระหว่างพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง และเชื่อมต่อพื้นที่ภายในกับพื้นที่ภายนอก สถาปนิกยังเลือกที่จะสร้างความคลุมเครือให้พื้นที่ให้คนในบ้านได้รู้สึกเหมือนเชื่อมโยงกับบริบทและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติภายนอกผ่านองค์ประกอบในการออกแบบต่างๆ แม้ยืนอยู่ภายในบ้าน ก็ยังสามารถมองเห็นท้องฟ้า แดด ลม ฝน ผ่านองศาของแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไปแต่ละฤดู ทอดเงาที่ต่างกันไปในแต่ละวัน ฝนและหิมะที่ผ่านเข้ามา ล้วนเป็นเครื่องหมายแสดงถึงกาลเวลาที่หมุนไป ปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่สถาปนิกชาวปุ่นคนนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

แม้ว่าการสร้างคอร์ทกลางบ้าน อาจจะไม่ได้สร้างความสะดวกสบายสูงสุดแก่ผู้อยู่อาศัย ยิ่งหากต้องเดินผ่านในฤดูฝนหรือฤดูหนาว ไม่ว่าจะเดินจากห้องนั่งเล่นไปยังห้องครัว หรือจากชั้น 1 ขึ้น ชั้น 2 แต่อันโดะ ก็เชื่อว่าสถาปัตยกรรมควรสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน ประสบการณ์ที่ดีไม่ได้จำเป็นต้องประกอบด้วยความสะดวกสบายไปทั้งหมด การน้อมรับธรรมชาติเองก็สร้างความมีชีวิตชีวาให้ผู้ใช้งาน บ้านควรตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และตัวบ้านเองสามารถกำหนดรูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิตเช่นกัน คล้ายกับประสบการณ์สมัยเด็กในบ้านนากายะของเขา

ความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ

หัวใจสำคัญในการออกแบบของอันโดะคือ “ความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ” ดังนั้นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ถูกเลือกใช้ จึงมักมีรูปทรงและวัสดุเรียบง่าย เพื่อช่วยส่งเสริมให้ธรรมชาติได้แสดงบทบาทอย่างโดดเด่นในพื้นที่นั้น

ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่แฝงลงไปในชิ้นงานของเขา เช่น การใช้บานกระจก สูงจากพื้นถึงฝ้า เป็นผนังภายในด้านที่หันเข้าคอร์ท เพื่อเปิดรับแสงจากคอร์ทได้เต็มที่ การปูพื้นไม้พื้นห้องนอน เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีหลังการตื่นนอน เมื่อเท้าสัมผัสลงบนพื้นไม้จะไม่เย็นมากนัก การใช้ผนังคอนกรีตสูงทึบ ขนาบสองฝั่งของคอร์ท เมื่อแสงกระทบผนังสีเทา ผิวกึ่งด้าน ทำให้เกิดทั้งการสะท้อนและเกิดเงา เกิดบริเวณที่สว่างและพื้นที่ในเงาสลัว ช่วยเพิ่มมิติของพื้นที่ และการเผยเนื้อแท้ของวัสดุ ทำให้เกิดความเรียบง่ายอย่างเป็นธรรมชาติ ผนังคอนกรีตเปลือย ฉาบ ไม่ทาสี ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติของตัววัสดุ ไม่เสแสร้ง วางตัวอย่างเงียบสงบคล้ายเป็นผืนผ้าใบ เปิดโอกาสให้ แสงเงาได้วาดลวดลายของมัน

การใช้ผนังคอนกรีตเปลือยที่แสดงฝีมือของช่างก่อสร้าง เป็นสิ่งที่เขาได้ซึมซับมาจากสมัยเด็กที่เป็นผู้ช่วยช่างในสตูดิโอต่างๆ ได้กลายเป็นเหมือนลายเซ็นของทาดาโอะ อันโดะ ตั้งแต่งานยุคแรกๆ อย่าง Row House จนถึงปัจจุบัน ผนังคอนกรีตที่ผ่านการทดลองมายาวนาน จนค้นพบสัดส่วนที่ลงตัวระหว่าง ซีเมนต์ หิน ทราย น้ำ ทำให้เกิดผิวสัมผัสอย่างที่เขาต้องการ ในปัจจุบันมีคำเรียกว่า คอนกรีตของอันโดะ (Ando’s concrete) เป็นคอนกรีตที่มีลักษณะเฉพาะตัว


หากย้อนกลับไปที่ปรัชญาโลกตะวันออกทั้ง เต๋า เซน ขงจื้อ ชินโต ล้วนกล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่าง คน กับ ธรรมชาติ ซึ่งเป็นรากสำคัญในแนวความคิดของคนญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว ทั้งการใช้แสงธรรมชาติ การวางผังล้อมคอร์ท รวมถึงพื้นที่ชานโทริ นิวะ เป็นสปิริตของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของญี่ปุ่น สถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนนี้ เลือกนำจิตวิญญาณเหล่านี้มาเรียบเรียงใหม่ และสื่อสารออกมาด้วยภาษาของตัวเอง ในยุคสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุในโลกอุตสาหกรรมที่ต่างออกไปจากเดิม จากบ้านไม้สู่บ้านคอนกรีต จากฝาโชจิ (ฝาผนังกรุกระดาษ) สู่บานกระจก จากโทริ นิวะ สู่คอร์ทใน Row House แม้ว่ารูปลักษณ์หน้าตาของอาคารจะเปลี่ยนไป แต่สปิริตของพื้นที่ในรูปแบบเดิมยังคงอยู่

ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando)

ภาษาในการออกแบบของ ทาดาโอะ อันโดะ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ชีวิตในญี่ปุ่นและการออกเดินทางไปหลายประเทศเพื่อดูงานของสถาปนิกระดับโลกอย่าง Le Corbusier Frank Lloyd Wright และ Mies van der Rohe เขาเคยกล่าวว่าการเดินทางเป็นครูคนสำคัญ ทำให้เขามีความคิดที่ลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่ในแง่ของสถาปัตยกรรม การเดินทางหล่อหลอมทัศนคติที่มีต่อสังคมและโลกใบนี้ จนกลายเป็นตัวตนของเขา เป็นความเรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง ทั้งเรื่องของรูปทรงพื้นที่ ศิลปะการใช้แสงธรรมชาติ การเผยเนื้อแท้ของวัสดุ รวมถึงเทคนิคการก่อสร้างที่มีกลิ่นอายงานคราฟต์

จากวัยเด็กในบ้านนากายะสู่การออกแบบบ้าน Row House เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวชีวิตของ ทาดาโอะ อันโดะ ผ่านงานสถาปัตยกรรม ในปัจจุบันผลงานของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนนี้ ได้เป็นที่ชื่นชอบแพร่หลายอยู่ทุกมุมโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกา

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.homeguides.sfgate.com
http://www.archiweb.cz/en/b/dum-azuma
http://www.architravel.com/project/row-house-azuma-house/
http://www.encyclopedia.com/people/literature-and-arts/architecture-biographies/tadao-ando
http://www.interactiongreen.com/
http://www.artic.edu/