ขึ้นชื่อว่า ‘สำนักงาน’ เราคงนึกถึงรูปแบบอาคารที่มักเป็นตึกสูงระฟ้าหน้าตาเหมือนกันไปหมด ยิ่งเป็นสำนักงานของ ‘ธนาคาร’ ยิ่งทำให้นึกถึงบรรยากาศการทำงานที่แอบตึงเครียด คราคร่ำไปด้วยพนักงานที่แต่งตัวเนี้ยบๆ ทว่า K+ Building สำนักงานแห่งใหม่ของ KASIKORN Business – Technology Group หรือ KBTG ผู้ขับเคลื่อนทางด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย กลับกระโดดออกจากกรอบออฟฟิศแบบน่าเบื่อจำเจเดิมๆ ได้สำเร็จ
ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ของอาคารที่มีลวดลายพื้นผิวแปลกตาเหมือนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ภายในอาคารที่มีบรรยากาศผ่อนคลายเหมือนนั่งอยู่ในร้านคาเฟ่ และสวนร่มรื่นเล็กๆ บนชั้นดาดฟ้าที่ไม่ได้มีแค่ต้นไม้ที่สวยงาม แต่เต็มไปด้วยสมุนไพร จนหลายคนคงไม่คาดคิดว่า อาคารที่ว่านี้จะเป็นสำนักงานของบริษัทในเครือธนาคารที่เคยคุ้นชิน ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่า ผลงานโปรเจ็กต์ในครั้งนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ pbm ทีมผู้ออกแบบออฟฟิศบุญรอดฯ ที่เคยคว้ารางวัล TIDA Awards 2019 สาขา Best of Workspace Design ซึ่งถือเป็นออฟฟิศที่ออกแบบตกแต่งภายในที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีมาก่อนนั่นเอง
องค์กรยุคใหม่ที่มีความทันสมัย และมีความคิดสร้างสรรค์
หลังจากที่ K+ ตัดสินใจมาตั้งทำเลอยู่ใจกลางเมืองที่สามย่าน ซึ่งแวดล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าร้านอาหาร รวมถึงพื้นที่สาธารณะ โปรเจ็กต์สำนักงานซึ่งปรับปรุงจากอาคารเดิมที่เป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมมาก่อน จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและสะดวกในการเดินทางมากขึ้นคุณกังวานสิริ เตชะวณิช และคุณนโรตม์ กิตติวณิชานนท์ สถาปนิกจากทีม pbm เล่าให้เราฟังถึงที่มาของคอนเซปต์สำนักงานแบบใหม่ว่า โจทย์ในการออกแบบของ K+ Building คือการสร้างพื้นที่ทำงานให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่และสื่อสารความเป็นองค์กรที่มีความทันสมัย รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับหลังจากที่ได้รับโจทย์ ทางทีมได้เข้าไปรีเสิร์ชข้อมูล โดยหนึ่งในนั้นคือ “เธอเธอ” โปรเจกต์โฆษณาของ KBTG ที่อยากสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กำกับโดยคุณเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ทางทีม pbm จึงได้หยิบคาแรกเต็อร์ของ KBTG ซึ่งก็คือ “ง่ายๆ และเป็นมิตรกับทุกคน” มาคิดต่อยอดนำไปสู่กระบวนการออกแบบ
“หลังจากได้รับโจทย์ เราเริ่มจากมองว่าภาพของ KBTG จะต้องเป็นอย่างไร เป็นบริษัทที่ล้ำสมัย มีความ Future Realistic แล้วไปศึกษาว่า สิ่งที่ K+ Building ต้องการสื่อเป็นอย่างไร เราลองไปดูโฆษณา “เธอเธอ” ของทาง KBTG ที่มีพรีเซ็นเตอร์ที่ไม่ได้แต่งหน้าทาปากหรือทำผม เลยเป็นไอเดียที่เรากลับมาคิด สุดท้ายไฟนอลโปรดักส์ของเขาอย่างแอปพลิเคชั่น K+ ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเราเลยนะ ทำมาเพื่อให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น มันไม่น่าเป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นอาคารที่เราออกแบบเป็นอาคารสำนักงานก็จริง แต่ก็ยังต้องคงคาแรกเต็อร์ของ K+ คือง่ายๆ และเป็นมิตรกับทุกคน”
กระโดดออกจากกรอบออฟฟิศน่าเบื่อจำเจเดิมๆ
“อย่างแรกเลยภาพที่เกิดขึ้น ในการออกแบบสำนักงานหรือออฟฟิศ รูปแบบอาคารประเภทนี้ พูดง่ายๆ เลยคือมันมักจะเป็นรูปแบบอาคารที่ค่อนข้างน่าเบื่ออยู่เสมอ แต่ออฟฟิศมันเปลี่ยนคำนิยามไปแล้ว ไม่ใช่แค่เป็นสถานที่ไว้แค่คนทำงานแล้ว ทำไมออฟฟิศถึงเป็นงานที่มีคุณภาพและสวยไม่ได้ ทำไมจะคอนเซปต์หรือฟังก์ชันไม่ได้ อันนี้เราต้องพ้นขีดจำกัดมันก่อนว่า ความเป็นออฟฟิศมันไม่ใช่เป็น Boring building type นะ แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้อง express ความเป็นตัวตนของ owner หรือแบรนด์ออกมาเหมือนกัน”นอกจากจะมีบทบาทเป็นพื้นที่ทำงานแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างปฎิสัมพันธ์กับผู้คน ชวนให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศในการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร ถ่ายทอดออกมาเป็น “Workplace Exhibition” ที่ทาง pbm ตั้งใจออกแบบให้ผู้ใช้อาคารสามารถเข้าใจพื้นที่ได้โดยง่าย และสามารถมองเห็นทุกพื้นที่ของอาคารได้ตั้งแต่เข้ามาถึงพื้นที่โถงต้อนรับของอาคาร ผ่านทางสัญจรหลักที่เป็นบันไดขนาดใหญ่กลางอาคาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้ผู้ใช้อาคารได้เข้ามาสำรวจกับบรรยากาศการทำงานของ KBTG และทำให้ผู้ใช้อาคารรู้สึกถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาทำความรู้จักกับ KBTG ผ่านประสบการณ์ใช้งานอาคาร
“ตัวโถงบันไดมีหน้าที่หลักในการทำให้ง่าย ที่นั่งออกแบบให้สูงๆ ต่ำๆ ให้เข้ากับกิจกรรมการใช้งาน เพื่อให้การนั่งมีมิติขึ้น ตรงนี้จะเป็นโถงบันไดกลางที่อยู่ระหว่างแต่ละชั้น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะเป็นเหมือนโถงพักคอย มานั่งรอ นั่งประชุม หรือกลายเป็นทาวน์ฮอลล์ขนาดใหญ่ที่รองรับผู้ใช้งานทั้งอาคารได้ สามารถชาร์ตแบตเอาโน้ตบุ๊กมานั่งทำงานตรงนี้ได้ด้วย”
ฟังก์ชันภายในที่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ เพื่อคนทำงาน
อาคารสำนักงานประกอบไปด้วย 5 ชั้น แต่ละพื้นที่ของสำนักงานให้ความสำคัญกับการออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำงานที่ต้องการความเป็นส่วนตัว พื้นที่รองรับการประชุมที่สามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสมของผู้คนเข้าร่วม ไปจนถึงมีตู้ล็อกเกอร์ไว้จัดเก็บสัมภาระต่างๆ และบอร์ดขีดเขียน“ด้วยความเป็นสำนักงานใหม่ จึงไม่มีการกำหนดที่นั่งประจำ ทุกคนสามารถนั่งได้ทุกที่ และรู้สึกว่าทุกที่เป็นที่ของเขา ทุกคนที่มาทำงานที่นี่ จะเรียกว่าเป็น Thinker เขาคิดได้เมื่อไหร่ก็สามารถจดไอเดียได้ทันที เพราะฉะนั้นควรจะมีบอร์ดไว้รองรับการทำงานในยุคสมัยใหม่ เขาเลยต้องการบอร์ดแปะกระดาษสำหรับขีดเขียนเยอะ ตัวบอร์ดก็ต้องการเป็นฟังก์ชันทั้งเป็นกระดานขีดเขียน การเป็นแผ่นแม่เหล็ก รวมถึง pegboard ไว้ใช้เวลาปักหมุด เป็นบอร์ดก็จริง แต่หน้าที่ก็สามารถรองรับได้ 3-4 อย่าง”
นอกเหนือจากการเป็นสำนักงานที่มีพื้นที่ทำงานหลากหลายรูปแบบ บนพื้นที่ขนาด 8,000 ตารางเมตรของ K+ Building บนชั้น 4 ยังจัดสรรพื้นที่ “แฮกกาธอน” (Hackathon) ซึ่งเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะเป็นการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทีม pbm จึงสร้างห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีฟังก์ชันขยับเคลื่อนย้ายได้ง่ายและสะดวกในการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์
“จุดประสงค์ของชั้น 4 เนื่องจากเขาเป็น Tech company เขาจะมีการจัด Hackathon ที่คล้ายๆ อีเว้นท์หนึ่งที่จัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือตั้งโจทย์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นในแต่ละสเตจ จะมีลักษณะการใช้พื้นที่ไม่เหมือนกัน เริ่มจากสเตจแรกคนเยอะสุด ก็จะต้องใช้พื้นที่ที่เป็นลานอเนกประสงค์ มีการตั้งโต๊ะ มีการพรีเซ็นต์งาน หรือ pitch ไอเดียกัน มันก็จะต้องใช้ระบบของห้องประชุมขนาดใหญ่ที่รองรับคนได้เยอะ พอสองเรื่องนี้มาผนวกกันในขณะที่พื้นที่เรามีจำกัด เราก็เลยทำอัฒจรรย์ที่ยืดหดได้ เพื่อให้สเต็ปแรกของตรงนั่งอัฒจรรย์ก็ตั้งโต๊ะไปเลย ยี่สิบโต๊ะรับคนได้สองร้อยคน พอสเตจลึกๆ ก็ดึงอัฒจรรย์ออกมา” เพื่อรองรับคนจำนวนมากที่มาชมการนำเสนองาน
ตัวอาคารเปล่งแสงที่แสดงตัวตนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
ด้วยความที่ K+ นั้นเป็นแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ทาง pbm จึงได้ถอดแนวความคิด “from invisible product to visible space” จนเกิดเป็นผลลัพธ์ในงานออกแบบเปลือกอาคาร โดยการเลือกใช้วัสดุหุ้มเปลือกอาคารภายนอกด้วยอลูมิเนียมเจาะรูแบบ custom made ที่ซ่อนสัญลักษณ์ทางดิจิตอลผ่าน pattern แบบ 0 1 เข้ามาสวมกรอบอาคาร เพื่อสื่อถึงความเป็นเทคโนโลยีและแอปพลิเคชัน โดยในการออกแบบรูปลักษณ์อาคารภายนอกก็ยังอ้างอิงจากไอเดียหลักที่เป็นตัวบันได ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโดยมีบันไดขึ้นไป
ตัวอาคารภายนอกแสดงตัวตนให้ visible ในช่วงมิติเวลาที่แตกต่างไป ในเวลากลางวันอาคารจะโดดเด่นด้วยสีขาวที่มีลวดลายพื้นผิวแปลกตาเหมือนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในตอนกลางคืน อาคารจะเปล่งแสงแสดงตัวตนให้ visible ออกมา จากงานออกแบบไฟภายนอกอาคารที่ทั้งหมดจะถูกซ่อนเอาไว้ภายใน
หากนึกถึงแบรนด์ธนาคารกสิกรไทย หลายคนคงนึกถึง ‘สีเขียว’ ซึ่งเป็นสีที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของแบรนด์ ที่มักพบเห็นได้ทั้งในโลโก้ ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน หรือการตกแต่งสาขาต่างๆ แต่สำหรับอาคาร K+ ผู้ออกแบบเลือกที่จะถ่ายทอดภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ ผ่านองค์ประกอบในการออกแบบต่างๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ทำงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นองค์กรยุคใหม่ที่ทันสมัย สร้างพื้นที่การทำงานของทุกคนให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตร หรือใช้วิธีเจือสีเขียวเข้าไปในการเลือกใช้วัสดุที่ปรากฏตัวบนเปลือกของอาคาร
“ในการออกแบบสำนักงาน อย่างที่บอกมันเคยเป็น Boring building type เราอยากเปลี่ยนนิยามของ สำนักงานว่า มันไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่คือสถานที่ที่คนมารู้จักพบปะกัน แล้วมันจะหล่อหลอมความเป็นวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงสามารถที่จะแสดงตัวตนและวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้นๆ ได้”
บนชั้นดาดฟ้าของอาคารสำนักงานยังมีสวนเล็กๆ ที่มีการไล่ระดับของสวนด้านล่างขึ้นไปสู่สวนด้านบน ซึ่งนอกจากจะสร้างบรรยากาศร่มรื่น สถาปนิกยังให้ความสำคัญในการสร้างพื้นที่เพื่อเอื้อให้เกิดการพบเจอและรู้จักกับคนใหม่ๆ มีการเข้าถึงกันและกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่มีแค่ต้นไม้ที่สวยงาม แต่ปลูกพืชพรรณออร์แกนิคด้วยสมุนไพรต่างๆ ที่พนักงานสามารถมีส่วนร่วมในปลูกหรือนำกลับบ้านได้ และด้วยพื้นที่จำกัด จึงเลือกออกแบบให้ทางเดินในสวนสามารถเดินวนลูปได้ เพื่อให้การเดินในสวนได้รู้สึกว่ามีความยาวมากกว่าพื้นที่ที่มีจริงๆ
“แน่นอนว่า สถาปนิกออกแบบอาคารมาเพื่อให้คนใช้งาน ดังนั้นคนที่ใช้งานจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาคารสำนักงานเป็นอาคารที่คนใช้เวลามากกว่า 8 ชั่วโมง มากกว่าอาคารอยู่อาศัยเสียอีก เพราะฉะนั้นคุณภาพชีวิตของคนในอาคารเลยเป็นสิ่งสำคัญ”สำหรับ K+ สิ่งที่น่าสนใจกว่าความสวยงามของอาคารคือ การออกแบบที่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี สภาพแวดล้อมที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกในชีวิตการทำงาน จึงถือเป็นคำเชื้อเชิญสำคัญที่อยากชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้ออกจากกรอบเดิมๆ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในอาคารสำนักงาน K+ Building แห่งนี้
K+ BUILDING
Client: KASIKORN Business-Technology Group
Location: Samyan
Photographer Credit: ©Spaceshift Studio