เพราะเป็นคนเชียงใหม่ที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน มีครอบครัวที่จังหวัดกรุงเทพฯ ความเนิบช้าในแบบสเน่ห์ของภาคเหนือจึงเริ่มเลือนลาง คุณโบ ธนิกานดา ยาคล้าย เจ้าของร้านจึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างพื้นที่ร้านขายโทสต์ โดยเนรมิตกลิ่นอายความเนิบช้าของจังหวัดเชียงใหม่มาอยู่ ณ Ing Craft Toast Cafe & Backyard ย่านพุทธมณฑลสาย 2 ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติที่รายล้อม ร้านคราฟท์โทสต์แห่งนี้จึงเชิญชวญคนกรุงให้เข้ามาดื่มด่ำรสชาติหอมหวาน รวมทั้งบรรยากาศที่จะทำให้ลืมความวุ่นวายไปชั่วขณะ
คุณโบเริ่มต้นเล่าว่า “Ing มันก็มาจากอิงแอบ แอบอิง ให้คนได้มารีแล็กซ์ พักผ่อน หนีจากความวุ่นวาย เพราะถ้าพูดถึงเชียงใหม่ เราจะรู้สึกถึงความต่อนยอน มันคือความเนิบที่ทำให้ชีวิตช้าลง เราเองชอบไปคาเฟ่ชานเมืองที่มีต้นไม้เยอะๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าที่กรุงเทพฯ มีคาเฟ่แบบนี้น้อย เราเลยอยากยกความเป็นเชียงใหม่ ยกสิ่งที่เราชอบมาไว้ที่นี่ ที่กรุงเทพฯ”
“ความตั้งใจแรกของเรา คือการทำร้านทำคาเฟ่ที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่เชียงใหม่แต่มีความมินิมอล เข้ากับสมัยปัจจุบัน และสามารถเข้ากับความเป็นกรุงเทพฯ ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันเลยดูมีกลิ่นอายของความเป็นเชียงใหม่มากกว่า คือทำให้เจ้าของรู้สึกถึง Sense of Belonging ทำให้ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของเขา เข้ามาแล้วรู้สึกคุ้นเคย” คุณแอม -อรชุมา สาระยา สถาปนิก เล่าเสริม
คุณแอม–อรชุมา สาระยา คุณแทน–ธิตินาท ธรรมชูเชาวรัตน์ สถาปนิก และคุณโบ–ธนิกานดา ยาคล้าย คุณเอก–ณรงค์ศักดิ์ ยงรักเกียรต เจ้าของร้าน (เรียงตามลำดับ)
ร้านแบบบ้านๆ และบรรยากาศของความเป็นกันเอง
ความเป็นบ้าน ความเป็นกันเอง จึงเป็นความรู้สึกแรกที่คุณโบว์ต้องการให้เกิดขึ้นภายในร้าน ถ่ายทอดสู่การวางผังอาคาร โดยทีมสถาปนิกจัดวางพื้นที่ทั้งหมดในลักษณะคล้ายกับวิลเลจเล็กๆ ที่แบ่งอาคารแต่ละหลังออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจน นั่นคือ ตัวอาคารคาเฟ่หลัก พื้นที่ชานเอาท์ดอร์ และพื้นที่ส่วนเซอร์วิส ก่อนจะเปิดโอกาสให้พื้นที่สีเขียวเป็นตัวแทรกซึมและทำหน้าที่ร้อยเรียงอาคารทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสวนที่แทรกอยู่ในทุกจุดของพื้นที่ร้านยังสร้างมุมมองและบรรยากาศที่แตกต่างกัน กลายเป็นบรรยากาศร่มรื่นที่ทุกคนสามารถมาเอนกาย แอบอิงในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเต็มที่
“ถ้าเราทำตัวเป็นลูกค้าเอง เราจะแฮปปี้กับการที่ได้มานั่งในร้านแบบนี้ เราเลยอยากให้ลูกค้าได้รู้สึกแบบนั้น เหมือนเราได้กลับบ้านที่เชียงใหม่ และได้แชร์พื้นที่บ้าน พื้นที่ร้านให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนกับเรา” คุณโบว์กล่าว
Inside-out เมื่ออาคารมีธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่ง
เมื่อสายตาพ้นจากกลุ่มต้นไม้ที่เรียงรายเพื่อกันเสียงรถบริเวณถนน ทางเข้าหลักลาดขึ้นเนินก่อนจะเปิดมุมมองสู่อาคารหลักสีขาวตัดกับไม้โอ๊คสีน้ำตาลแก่ สร้างบรรยากาศอบอุ่นและโคซี่เสมือนบ้านหลังเล็กท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ อาคารคาเฟ่หลักถูกดีไซน์หลังคาแบบ Lean-to หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อเพิงแหงน ผสมความไทยนิดๆ ด้วยการใช้จันทันไม้สีแก่ หลังคาเพิงแหงนยังมีส่วนที่สูงที่สุดสร้างบรรยากาศร้านให้โปร่ง โล่ง โดยไม่จำเป็นต้องขยายอาคารภายในให้ใหญ่จนคับ เต็มพื้นที่
วิธีการดีไซน์สเปซภายในอาคารหลักจะเห็นได้ว่า ผนังแต่ละส่วนจะอยู่ในลักษณะระนาบตั้งทั้งหมด คั่นด้วยช่องเปิดกระจก เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถถ่ายเทเข้าสู่สเปซหลักได้ต่อเนื่อง ถึงแม้จะนั่งอยู่ภายในอาคารที่ติดแอร์ แต่เมื่อมีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงรวมถึงสามารถมองเห็นพื้นที่ภายนอกได้ ทำให้อาคารและธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยที่ไม่ถูกตัดขาด
ผนังอิฐทาสีขาวขนาบข้างตัวร้านรับหน้าที่เป็นตัวหลักในการควบคุมสเปซ คอนโทรลให้มุมมองเกิดขึ้นภายในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้รู้สึกตัดจากความวุ่นวายภายนอกและได้ใช้เวลาพักผ่อนอยู่ภายในร้านอย่างแท้จริง ผนังอิฐขาวบริเวณอาคารยังมีการยื่นระยะ โดยเว้นที่ว่างด้านข้างเป็นกระจก ทำให้การปิดกั้นของสเปซนั้นหายไป กลายเป็นว่าผนังภายในทั้งสองไม่ได้ชนกัน ผู้ที่นั่งอยู่ภายในก็จะไม่รู้สึกถึงความเป็นกล่องของอาคาร และยังเปิดโอกาสให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้มากขึ้นด้วย
Dtips: เรื่องราวของผนังอิฐยังแฝงดีเทลของการก่อสร้าง โดยมีการฝังอลูมิเนียมเอาไว้ทั้งบริเวณด้านล่างและด้านบน ก่อนที่จะใส่กระจก เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของการเรียงอิฐ ซึ่งหากลองสังเกตจากรูป จะคล้ายกับว่าไม่มีกระจกซ่อนอยู่บริเวณนั้นเลย
หลังคาเพิงแหงนฝั่งตรงข้าม ถูกออกแบบให้เป็นภาษาเดียวกันเพื่อเพิ่มความกลมกลืนเป็นเรื่องราวเดียว ซึ่งเป็นการทดลองโครงสร้างที่ยื่นออกจากผนังถึง 3 เมตรกว่า ทำให้หลังคาสามารถลอยอยู่โดยไม่จำเป็นต้องมีเสามาบดบังวิว หรือเสียพื้นที่ใช้สอยไปโดยไม่จำเป็น เมื่อไม่มีเสามาบังสายตา ภายใต้หลังคาจึงถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ชานกว้างและมีตั่งสำหรับนั่งพักผ่อนภายนอก ซึ่งตรงกับประตูทางเข้าหลักของอาคารพอดี ทำให้ทั้งสองสเซกลายเป็นวิวให้แก่กันและกัน
ข้อดีของการออกแบบวางผังอาคารเป็นสองส่วนในลักษณะดังกล่าว ยังสร้างช่องลมให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ เมื่อแดดร่มลมตกในช่วงบ่าย ลมธรรมชาติไหลเข้าสู่อาคารทั้งหมด ทำให้ลูกค้าสามารถออกมานั่งเล่น สัมผัสความเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องอยู่แต่ภายในห้องแอร์
บริเวณด้านหน้าเป็นสวนพ็อกเก็ตเล็กๆ พร้อมชุดเก้าอี้ไม้ซึ่งเป็นของสะสมที่คุณโบว์ เจ้าของร้าน นำมาจากเชียงใหม่ โดยบริเวณนี้จะกลายสิ่งนำสายตาและนำความรู้สึกให้คนรับรู้ถึงกลิ่นอายความเป็นเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นส่วนที่คนจะมองเห็นเป็นสิ่งแรกเมื่อเข้ามาในบริเวณร้าน
พื้นที่ด้านหลังเป็นสวนเล็กๆ พร้อมที่นั่งที่ถูกจัดวางไว้ ซึ่งช่วงบ่ายๆ จะได้ร่มเงาของอาคาร ทำให้สามารถใช้งานพื้นที่ได้โดยไม่ร้อน การดีไซน์ด้วยการใช้ทรายบริเวณพื้นยังถูกใจเด็กๆ เกิดเป็น Kids Play Zone เล็กๆ และด้วยช่องเปิดที่มองเห็นกันได้ทั้งหมด จึงทำให้คุณพ่อ คุณแม่และทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้สะดวก กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัว
“เราพยายามดีไซน์สำหรับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ในอีกแง่หนึ่ง อาคารหลักทางเจ้าของก็สามารถมองเห็นสเปซโดยรอบได้ทั้งหมด ใครอยู่ตรงไหน ทำอะไร ทำให้สามารถเข้าถึงและควบคุมทุกอย่างได้ง่าย เรียกได้ว่าไม่มีจุดบอดของอาคารเลย”
รายละเอียดที่ซ่อนอยู่แบบไม่ขัดหูขัดตา
อาจเพราะความชื่นชอบส่วนตัวของคุณโบว์ ผสมผสานกับความใส่ใจของสถาปนิก ถึงแม้จะเป็นร้านขนมปังโทสต์ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่พื้นที่แห่งนี้กลับแทรกรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ อณูของพื้นที่
“ร้านคาเฟ่มันต่างจากบ้าน บ้านคือคนอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ ซึมซับดีเทลงานออกแบบได้ แต่ร้าน มันฉาบฉวย คนมาแล้วเขาก็ไป เราเลยต้องทำอย่างไรให้คนรู้สึกเข้าใจได้เร็วที่สุดว่าเราจะสื่ออะไร ส่วนดีเทลเล็กๆ มันเป็นอะไรที่ทำให้คนรู้สึกสมูท ไม่ขัดหูขัดตาไปมากกว่า” คุณแอมเล่า
“การใส่รายละเอียดลงไป มันคือการทำให้ภาพใหญ่มันชัดขึ้น ยิ่งรายละเอียดเราดีเท่าไร คนจะยิ่งรู้สึกว่าอะไรคือรายละเอียด คือเขาจะซึมซับสิ่งเหล่านั้นเข้าไปเอง โดยที่เราไม่ต้องพยายามบอกว่าเราใส่ดีเทลลงไปนะ ที่นี่อาจจะไปเหมือนคาเฟ่ที่อื่นบ้าง มู้ดโทนมันซ้ำกันได้ แต่ความเป็นเอกลักษณ์ของสเปซ ด้วยรายละเอียดนี่แหละ จะทำให้รู้สึกแตกต่างจากที่อื่น” คุณแทน ธิตินาท ธรรมชูเชาวรัตน์ สถาปนิกเล่าเสริม
วัสดุหรือองค์ประกอบทั้งหมด ถูกซ่อนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ร้านโทสต์แห่งนี้มีความยูนีคและกลายเป็นที่น่าจดจำ พื้นบริเวณชานเอาท์ดอร์ทางสถาปนิกเลือกใช้อิฐ บ.ป.ก. แต่ความพิเศษคือ อิฐที่ถูกนำมาใช้เป็นอิฐเสียที่เกิดจากการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงจนเกินไป ทำให้สีที่ได้ค่อนข้างเป็นสีเทาดำหม่นๆ สร้างเสน่ห์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน
ส่วนกระเบื้องบริเวณพื้น บางแผ่นถูกนำมาออกแบบขึ้นใหม่โดยผสมกระเบื้องของลำปางเข้าไป สร้างดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้คนจดจำ อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นภายในร้านยังเป็นการดีไซน์ขึ้นใหม่ทั้งหมด “บริเวณท็อปโต๊ะเราเอากระเบื้องลำปางเข้ามาผสม เพราะเรามองว่าเวลามาคาเฟ่ คนมักจะถ่ายภาพขนม เครื่องดื่มหรืออาหารกันบนโต๊ะ เราต้องการให้คนเห็นแล้วจดจำได้ว่ามันคือร้านนี้เท่านั้น มันไม่มีทางจะมีที่อื่น กลายเป็น signature ของร้าน”
โต๊ะกลมทั้งเตี้ยและสูงที่เสริมบริเวณตั่งภายนอกยังถูกดีไซน์ให้มีระดับที่เท่ากันพอดีจากพื้น เพื่อให้คนที่มองออกไปเห็นไม่เกิดความรู้สึกขัดหูขัดตา และด้วยลักษณะของพื้นที่ที่เป็นตั่งบริเวณกว้าง พฤติกรรมของคนใช้งานน่าจะเกิดการขยับตัวเยอะ โต๊ะกลมจึงช่วยเซฟร่างกาย ลบขอบมุมที่จะอาจทำให้เกิดอันตรายได้เมื่อใช้งาน
ผนังด้านหนึ่งภายในร้าน สถาปนิกดีไซน์ด้วยกระจกซึ่งมีแบกกราวด์เป็นต้นไม้และผนังสีขาวที่พร้อมจะเปลี่ยนสีไปตามธรรมชาติในทุกช่วงเวลา ทั้งเช้า กลางวันและเย็น สร้างฉากที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มาถ่ายรูป หรือสร้างความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอกได้อย่างเป็นกันเอง
ใครพอจะมีเวลาว่าง ลองมาใช้เวลาเอนกาย แอบอิงภายใน Ing Craft Toast Cafe & Backyard ก่อนจะสัมผัสกลิ่นอายความเนิบช้าในแบบเชียงใหม่โดยที่เราไม่ต้องไปไหนไกลจากเมืองกรุง Ing Craft Toast Cafe & Backyard เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00
Location: พุทธมณฑลสาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
Owner: ธนิกานดา ยาคล้าย และณรงค์ศักดิ์ ยงรักเกียรต
Architect : อรชุมา สาระยา จาก common space.architect และธิตินาท ธรรมชูเชาวรัตน์
Landscape : อนุสรณ์ เหล่าพวงศักดิ์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
แผนที่ Ing Craft Toast Cafe & Backyard: