OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Sou Fujimoto กับ ‘ที่ว่าง’ ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมมนุษย์ ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรม

เพราะคนและสถาปัตยกรรมต่างก็ต้องพึ่งพากันและกัน สถาปัตยกรรมออกแบบมาเพื่อมนุษย์ และมนุษย์ก็ต้องอาศัยสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองกิจกรรมและความเป็นอยู่ที่ตนเองต้องการ อีกทั้งยังมีธรรมชาติเป็นตัวส่งเสริม แต่งแต้มให้บรรยากาศของทุกสิ่งรวมตัวอยู่ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ สถาปัตยกรรมของ โซ ฟูจิโมโต้ (Sou Fujimoto) จึงพิสูจน์ให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างและพฤติกรรมของมนุษย์ บทบาทของอาคารที่ต้องใกล้ชิดกับผู้คน ต่างก็เป็นหัวใจสำคัญของงานออกแบบ

สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้นี้จึงโด่งดังจากการฝากผลงานมากมายที่โดดเด่นด้วยการจัดสรรฟังก์ชันภายใน ซุกซ่อนเรื่องราวชีวิต การใช้งาน และการอยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับที่ว่างทางสถาปัตยกรรมได้อย่างแนบเนียน จนเรียกได้ว่า เป็นสถาปนิกผู้เปลี่ยนนิยามการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
โซ ฟูจิโมโต้ (Sou Fujimoto)
Photo Credits: https://sixtysixmag.com/sou-fujimoto/

Primitive Future เมื่อสถาปัตยกรรมอนาคตหวนคืนสู่ความดั้งเดิม

Sou Fujimoto จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยโตเกียวในปี ค.ศ. 1994 เมื่อจบการศึกษาผลงานเริ่มแรกของเขามักจะเป็นโครงการสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลา 6 ปี เขาก็ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทออกแบบของตนเองในชื่อ ‘Sou Fujimoto Architects’ ขึ้นในปี ค.ศ. 2000
Naoshima Pavillion
Kagawa , Giappone , Japan
Photo Credits;
https://divisare.com By Fernanda Castro

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ฟูจิโมโต้ เกิดในเมืองเกาะตอนเหนือที่สุดของประเทศญี่ปุ่นอย่างฮอกไกโด ห้อมล้อมไปด้วยเทือกเขา ป่าสน และอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เขาสำรวจและเรียนรู้โลกธรรมชาติตั้งแต่วัยเยาว์ การบรรยายของเขาที่ Architectural League of New York ในปี ค.ศ. 2014 สะท้อนถึงความสนใจดังกล่าวผ่านเรื่องราว “Between Nature and Architecture” สถาปัตยกรรมของเขาจึงเป็นการตั้งคำถามกับแนวคิดใหม่ๆ โดยนำแรงบันดาลใจจากโครงสร้างแบบออร์แกนิกและความเป็นธรรมชาติมาตีความที่ว่างขึ้นใหม่ เกิดเป็นปรัชญาการทำงานที่เรียกว่า ‘Primitive Future’ หรือ การหวนคืนสู่ความเรียบง่ายแบบดั้งเดิมในอดีต

ปรัชญาที่ว่าเปรียบได้กับถ้ำในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นเสมือน พื้นที่ดิบว่างโล่งที่ฟังก์ชันภายในถูกกำหนดขึ้นโดยอาศัยพฤติกรรมของมนุษย์ ผลงานของฟูจิโมโต้จึงมักสะท้อนแนวคิดดังกล่าวให้เราเห็นเรื่อยมา
House N Oita , Japan
Photo Credits ;
https://www.archdaily.com

House NA 
Tokyo , Japan  

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับฟูจิโมโต้ และเป็นตัวอย่างผลงานที่ชัดเจนในเรื่องของการจัดสรรฟังก์ชัน คือ House NA บ้านของคู่รักหนุ่มสาวที่มีขนาดพื้นที่ใช้งานทั้งหมด 914 ตารางฟุต บ้านหลังดังกล่าวโดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุโปร่งใสอย่างกระจกเป็นหลัก ซึ่งหากมองจากภายนอก หลายคนคงเกิดความสงสัยเช่นเดียวกับเราว่า แล้วบ้านที่โปร่งใสเช่นนี้จะอยู่อาศัยได้จริงหรือ?
Photo Credits ; https://cdn.orangenews.hk , http://prod-upp-image-read

ด้วยความที่ House NA ตั้งอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นของกรุงโตเกียว ทุกพื้นที่จึงต้องถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด แนวคิดการออกแบบสะท้อนวิถีชีวิตการอยู่อาศัยบนต้นไม้ของมนุษย์ในยุคโบราณ โดยนำกิ่งก้านของต้นไม้มาตีความเป็นงานสถาปัตยกรรม ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว พื้นที่ภายในบ้านถูกจัดสรรออกเป็น 21 ระดับด้วยความสูงต่ำที่ลดหลั่นคล้ายกับกิ่งไม้ และแบ่งพื้นที่แต่ละส่วนตามความเหมาะสมของฟังก์ชันการใช้งานซึ่งค่อนข้างหลากหลาย โดยไม่มีผนังภายในกั้น  ความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยถูกคอนโทรลด้วยการใช้ผ้าม่าน ซึ่งช่วยทั้งบังแสงแดด หรือปิดกั้นสเปซจากพื้นที่ภายนอก สร้างความเป็นส่วนตัวเฉพาะฟังก์ชันการใช้งานนั้นๆ

จากคำถามว่าบ้านหลังจะอยู่อาศัยได้จริงหรือไม่ สู่ตัวอย่างของการจัดสรรฟังก์ชันที่โด่งดังไปทั่วโลก จนกลายเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจ ยิ่งในยุคที่มีการขยายตัวของประชากรและเมืองรวดเร็วอย่างนี้
Photo Credits ; http://www.dom2.hr

จาก ‘ธรรมชาติ’ สู่ความหมายสถาปัตยกรรมของ Sou Fujimoto

ความแตกต่างระหว่างโตเกียวที่ผมเรียนสถาปัตยกรรมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ผมเติบโตมานั้นน่าสนใจมาก ในใจกลางโตเกียวและในย่านที่อยู่อาศัยเราไม่พบพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่แบบนั้น แต่การเดินผ่านถนนสายเล็กๆ ที่คดเคี้ยวของเมือง ทำให้ผมรู้สึกว่ามันก็ไม่ต่างจากการเดินผ่านป่าสักเท่าไร” ฟูจิโมโต้กล่าว

ด้วยความที่ใกล้ชิดธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก ประสบการณ์การเดินเล่นในป่าที่ฮอกไกโดกลายเป็นแบคกราวด์ที่สะท้อนตัวตนและซุกซ่อนอยู่ในทุกผลงานของฟูจิโมโต้ ซึ่ง ป่า ที่ว่านี้ถูกตีความหมายทั้งธรรมชาติที่ตรงตัว การนำภูมิทัศน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม และเลเยอร์ของความหลากหลาย ทำให้เรามักจะเห็นสถาปัตยกรรมของเขามักแบ่งออกเป็นก้อนหรือชั้นที่แยกตัวออกจากกัน หรือในบางครั้งก็มักจะตั้งตัวโดดเด่น แต่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่น  Serpentine Pavilion (London , 2013) พาวิลเลียนที่ถูกสร้างขึ้นชั่วคราว เชิญชวนผู้มาเยือนให้มีส่วนร่วมด้วยโครงสร้างเหล็กสีขาวที่นำมาประกอบกันขึ้นเป็นกล่อง กริดสี่เหลี่ยมโปร่งที่สามารถมองเห็นทะลุ กลืนไปสวนที่อยู่โดยรอบ พื้นกริดสี่เหลี่ยมหลายระดับที่ถูกสร้างขึ้นยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าไปใช้งาน มนุษย์ สถาปัตยกรรมและธรรมชาติจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างแนบเนียน
Serpentine Pavilion London , 2013
Photo Credits ; https://www.architecturaldigest.com , https://iwan.com

House of Hungarian Music
Budapest , Hungary

Photo Credits ; https://www.archdaily.com

ผลงานประกวดแบบในยุคหลังๆ ของฟูจิโมโต้ ยังคงสะท้อนแนวคิดการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ หรือภูมิทัศน์ House of Hungarian Music หรือสถานที่จัดแสดงดนตรีแห่งใหม่ของโลกมีรูปลักษณ์โดดเด่นด้วยการออกแบบหลังคาแบบลอยตัว ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก “ภาพการสั่นสะเทือนของเสียงในแบบเกลียวคลื่น” ด้านบนของหลังคายังออกแบบในลักษณะรูพรุน ที่เปิดให้แสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคารได้อย่างเต็มที่ ฟอร์มบิดพลิ้วของอาคารสะท้อนลักษณะของใบไม้ รายล้อมด้วยธรรมชาติหนาแน่นภายในสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการี
รูพรุนขนาดใหญ่บริเวณหลังคาออกแบบเพื่อรองรับการเติบโตของต้นไม้ที่อยู่ภายในอาคาร หากต้นไม้โตเต็มวัยทั้งหมด เราคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า สถาปัตยกรรมแห่งนี้จะกลมกลืนกับธรรมชาติราวกับการจัดแสดงดนตรีท่ามกลางความร่มรื่นของป่าไม้ที่รายล้อม ฟูจิโมโต้ออกแบบผนังทั้งหมดด้วยการใช้กระจก เพื่อให้อาคารเปิดกว้างและโปร่งใส ลดการปิดกั้นระหว่างสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมให้มากที่สุด “มันสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากที่เราได้ทำงานในสวนสาธารณะแห่งแรกของโลก ซึ่งผมตื่นเต้นกับงานออกแบบชิ้นนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเราไม่เพียงสร้างสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ยังนำประสบการณ์ในสวนสาธารณะเข้ามาสู่อาคารด้วย” ฟูจิโมโต้กล่าว

Musashino Art University Museum & Library
Tokyo , Japan

Photo Credits ; https://archeyes.com

Musashino Art University Museum & Library เป็นห้องสมุดแห่งใหม่สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปะที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมชิ้นนี้โดดเด่นด้วยองค์ประกอบที่ห้องสมุดที่ดีควรมี นั่นคือ ชั้นหนังสือ หนังสือ แสงและบรรยากาศของสถานที่ ซึ่งฟูจิโมโต้เนรมิตให้เกิดขึ้นภายในอาคารโปร่งใสที่มีโครงสร้างเป็นชั้นหนังสือสูง 9 เมตร คั่นด้วยช่องเปิดให้แสงธรรมชาติไหลผ่านเข้าสู่สเปซภายใน
Photo Credits ; https://archeyes.com

สเปซภายในถูกวางผังในลักษณะเกลียว ขด เป็นชั้นๆ ทำให้ผู้ใช้อาคารสามารถเดินวนรอบและห้อมล้อมไปด้วยชั้นหนังสือจำนวนมากที่ไม่มีทางสิ้นสุด คงกล่าวได้ว่าห้องสมุดแห่งนี้โชว์เอกลักษณ์ความเป็นห้องสมุดได้อย่างชัดเจน เรียบง่าย และตรงไปตรงมา แต่ยังคงแฝงความน่าสนใจเอาไว้ภายใต้แนวคิดตามแบบฉบับของฟูจิโมโต้ได้เป็นอย่างดี
Forest of Light for COS  Milan , Italy 2016
Photo Credits ; https://archeyes.com

“ทุกครั้งที่เราสร้างสถาปัตยกรรม ฟังก์ชันจะคงอยู่ แต่ผู้คนมักจะทำให้มันไปได้ไกลกว่านั้น วิธีที่พวกเขารับรู้พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมมักจะเกินความตั้งใจของสถาปนิกเสมอ” – โซ ฟูจิโมโต้ (Sou Fujimoto)

เพราะสถาปัตยกรรมจะสมบูรณ์ได้ต้องผ่านการใช้งานจากมนุษย์ พฤติกรรมหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในจึงกลายเป็นสเน่ห์สำคัญที่แต่งแต้มให้สถาปัตยกรรมมีชีวิตมากกว่าจะตั้งตะหง่านโดดเด่นรอการเชยชมเพียงอย่างเดียว ในอีกแง่มุมหนึ่ง มนุษย์ที่สัมผัสสถาปัตยกรรมโดยตรงยังต้องการความสะดวกสบาย การใช้สอยที่ตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขา จึงอาจพูดได้ว่าสถาปัตยกรรมที่ดีควรเอื้อให้ มนุษย์ สถาปัตยกรรมและธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวและไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน ดังเช่นสถาปัตยกรรมของ โซ ฟูจิโมโต้

ภาพและข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.floornature.com , https://en.wikipedia.org/wiki/Sou_Fujimoto , https://edition.cnn.com ,https://worldarchitecture.org

Photo Credits (ภาพปก) ;
https://www.archdaily.com , https://www.architecturaldigest.com