OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

เมื่อ ‘ความแออัด’ ถูกชุบชีวิตด้วยพลังของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่รับฟังคนในชุมชน

ภายใต้แสงสีจากตึกระฟ้าและอาคารสูงมากมายในเมืองหลวง ที่สาดส่องทักทายทั้งยามกลางวัน และยามค่ำคืน ชวนให้เรารู้สึกถึงความเจริญ ความสนุกสนาน และความศิวิไลซ์ แต่ใครเล่าจะรู้ว่าเบื้องหลังมุมมืดของตึกสูงและความเจริญเหล่านั้น ยังคงซ่อนชุมชนแออัด ที่มักถูกสังคมมองว่าเต็มไปด้วยปัญหา แหล่งมั่วสุม แหล่งกำเนิดยาเสพติดที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นปัญหามานับสิบๆ ปี หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุมชนคลองเตย’ ชุมชนแออัดที่ เก่าแก่ ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ    

เพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) และกองทัพภาคที่ 1 จึงร่วมกันในโครงการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตยเฟส 3 ขึ้น โดยชักชวนสถาปนิกผู้ผ่านผลงานการออกแบบโรงเรียนในชุมชน งานออกแบบร่วมกับมูลนิธิต่างๆ อย่างคุณวิน วรุตม์ วรวรรณ จาก Vin Varavarn Architects (VVA) มาร่วมกันพัฒนาบ้านพักอาศัย ใช้ความคิดสร้างสรรค์เติมเต็มเพื่อให้ชุมชนแออัด ได้รับการพัฒนาและน่าอยู่อาศัยมากขึ้นด้วยฝีมือสถาปนิก

ปัญหาที่ต้องคุยกับผู้อยู่อาศัยจริง

คุณวินเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้เข้าไปเพื่อขับไล่ แต่อาศัยความสมัครใจจากชาวบ้านในชุมชน ว่าเขาอยากจะเข้าร่วมโครงการพัฒนานี้หรือไม่ ซึ่งทางกองทัพจะทำการประสานงานกับหัวหน้าชุมชน และค้นหากลุ่มที่พักอาศัยที่ต้องการเข้าร่วมโครงการผ่านการทำแบบสอบถาม

ย้อนกลับไปในการออกแบบเฟสที่ 1 ของโครงการ ทางกองทัพเป็นผู้ริเริ่มออกแบบพัฒนาบ้านไปทั้งหมดกว่า 28 หลัง  ซึ่งมีบ้านต้นแบบเพียงรูปแบบเดียว ซึ่งอาจไม่ตอบสนองกับขนาดที่ดินจริงของชาวบ้านที่มีล็อกแบ่งอย่างชัดเจน และแตกต่างกันทั้งลักษณะของเลย์เอาท์ และขนาด เมื่อนำบ้านต้นแบบที่ถูกเตรียมไว้ไปลง ณ พื้นที่จริง พบปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ชาวบ้านค่อนข้างหวงแหนที่ดินของตน และต้องการสร้างบ้านให้เต็มพื้นที่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ในเฟสแรกจึงมีปัญหาหน้างาน จากการต้องปรับแปลนบ้าน ยืด หด ตามระยะที่ดิน การทำงานของทีมทหารช่างในการก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีการปรับแก้ไขปัญหาหน้างานตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถควบคุมความสวยงามของบ้านได้อย่างที่ต้องการ
(ภาพถ่ายโครงการบ้านพักอาศัยในเฟสที่ 1 หลังจากสร้างเสร็จสมบูรณ์)

ในเฟส 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมสถาปนิกเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ คุณวิน คณะทำงานของมูลนิธิฯ และกองทัพ จึงเห็นตรงกันที่จะออกแบบให้ตัวบ้านสามารถที่จะ ยืด หด และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น กำหนดวิธีการปรับรูปแบบของบ้านตามพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทีมก่อสร้าง รวมถึงสร้าง Prototype ให้บ้านสามารถปรับได้ทั้งหมด 8 แบบด้วยกัน เพื่อให้บ้านลงตัวอยู่ภายในล็อกที่ดินของชาวบ้านได้อย่างพอดี
(ภาพแสดงแนวคิดโครงการบ้านพักอาศัยในเฟสที่ 2)

สำหรับเฟส 3 ที่กำลังก่อสร้างขึ้นในปัจจุบัน โจทย์เริ่มต้นขึ้นในลักษณะเดิม ด้วยบ้านต้นแบบ 1 หลังที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 30 ตารางเมตร ซึ่งที่ดินบางผืนก็มีขนาดไม่ถึง 30 ตารางเมตร บ้างก็เล็ก ใหญ่ บูดเบี้ยว แตกต่างกันทั้งหมด ทำให้แปลนที่ออกแบบต้องมีลักษณะแตกต่างกันตามผืนที่ดินของชาวบ้าน ‘การปรับรูปแบบบ้านให้เรียบง่าย สามารถปรับ shape ได้ง่ายมากที่สุด โดยไม่กระทบตัวโครงสร้าง’ จึงกลายเป็นที่มาของการออกแบบบ้าน Prototype ภายในเฟสนี้ “เราทำให้เรียบง่ายมากๆ เพื่อที่เวลามันเกิดปัญหาหน้างาน เวลาปรับมันจะไม่กระทบกับรูปแบบบ้านมากนัก ซึ่งครั้งที่แล้วเราพบปัญหานี้ในตอนก่อสร้างจริงค่อนข้างมาก เราเลยลองเสนอรูปแบบใหม่ที่มันเรียบง่ายขึ้น เพื่อที่ทางหน้างานจะทำงานได้ง่าย ในการปรับเปลี่ยนตามพื้นที่หน้างานจริง” สถาปนิกเล่า

หัวใจสำคัญของการทำโครงการเพื่อชุมชน หรือโครงการที่มีปัญหาซับซ้อนในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องความสวยงาม ความโดดเด่นแบบที่เรามักคุ้นตาและมองหา แต่เป็นการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่จริงของชุมชน เพื่อให้บ้านพักตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย ในการออกแบบจึงเป็นการหยิบนำข้อดี ข้อด้อยของเฟสที่ 1 และ 2 มาเรียนรู้ ปรับปรุง และแก้ไข ให้งานออกแบบสามารถตอบโจทย์กับชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
(ภาพแสดงแนวคิดโครงการบ้านพักอาศัยในเฟสที่ 3)

ความเรียบง่ายที่ตอบโจทย์คนในชุมชน

“อย่างเฟสก่อนเวลาออกแบบ ผมจะมองในมุมสถาปนิกหน่อย เราเห็นว่าพื้นที่มันมีจำกัด พอเราเข้าไปดูพื้นที่จริง เขาไม่ทำครัว มันเลยกลายเป็นซอกเล็กๆ ที่เขาเอาฟูกไปปูนอนด้านใน เราก็เลยมองว่ามันไม่จำเป็นต้องกั้นเป็นห้องเล็กๆ มีห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ผมเลยเสนอเขาไปว่า ผมอยากทำพื้นที่ข้างในให้มันโล่ง เพราะอยากให้ชาวบ้านเข้าไปแล้วรู้สึกว่าบ้านมันกว้างขวางขึ้น”

ความคิดในมุมมองสถาปนิกที่คุณวินเล่าสวนทางกับความเป็นจริง เมื่อได้คุยกับทางชุมชน ชาวบ้านกลับเลือกที่จะกั้นห้อง เพราะเป็นความรู้สึกที่ไม่เคยมีมาก่อน ชาวบ้านในชุมชนไม่เคยมีห้องนอน ห้องนั่งเล่น เพราะเดิมบ้านเพิงสังกะสีที่เขาเคยอยู่ เป็นเพียงพื้นที่โล่งๆ ตามแบบที่คุณวินได้เสนอไปในตอนแรก
(ภาพถ่าย ณ พื้นที่จริง ภายในชุมชนคลองเตย)

ประเด็นสุดละเอียดอ่อนในเรื่องต่อมา คือ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว เนื่องจากบางครั้ง บ้าน 1 หลัง ก็ไม่ได้มีการอยู่อาศัยแค่เพียงคนในครอบครัว แต่รวมไปถึงญาติ พี่น้อง และคนอื่นๆ มาอาศัยอยู่ด้วยในพื้นที่ การกั้นห้องให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว จึงอาจตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง  

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นข้อจำกัดหลักๆ คือ ขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรที่ไม่สัมพันธ์กัน บ้านหลังใหญ่แต่มีคนอยู่เพียงไม่กี่คน และบ้านหลังเล็กที่มีสมาชิกมากถึง 5-7 คน การออกแบบจึงกลายเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน ซึ่งทางสถาปนิกมองว่าอาจจะต้องมีการต่อเติมชั้นลอยเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นตัวบ้านจึงต้องมีความสูงในส่วนหลังคาเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานเป็นห้องใต้หลังคาได้สำหรับบ้านที่มีจำนวนประชากรในครอบครัวมากกว่าพื้นที่ที่เขามีอยู่
(ภาพแปลนบ้านพักอาศัยในเฟสที่ 3 ที่มีความแตกต่างกันทั้งเลย์เอาท์และขนาด)

รูปลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากการทลายข้อจำกัด

ในเฟสก่อนๆ บ้านถูกออกแบบในลักษณะหลังคาจั่ว เพื่อให้คนในชุมชนเห็นแล้วสามารถนึกถึงความเป็นบ้าน และเข้าใจได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยขนาดที่ดินที่มีความหลากหลาย หลังคาทรงจั่วหน้างานจริงจึงผิดรูป ผิดร่าง ผิดสัดส่วน และไม่สวยงาม สำหรับเฟสล่าสุด ทีมสถาปนิกแก้ไขด้วยการปรับหลังคาให้เป็นเพิงแหงน เพื่อให้ในการปรับหรือวางแปลนบ้านหลังต่างๆ เกิดความน่าสนใจ ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบและรักษาภาพรวมให้ยังคงความสวยงามอยู่

จากการเข้าไปสำรวจพื้นที่จริง หลังจากที่ชาวบ้านเข้าไปอาศัยอยู่ภายในบ้านเฟสก่อนๆ สีสันสดใส เหลือง ชมพู เขียว น้ำเงินสดถูกแต่งแต้มลงบนผนังผืนใหญ่ แทนที่สีน้ำตาลไม้ๆ อารมณ์มูจิจนหมดสิ้น ทีมสถาปนิกจึงต้องกลับมาย้อนคิดว่าความชื่นชอบของคนในชุมชน และความสวยงามที่สถาปนิกมองเห็นอาจจะต่างกัน สิ่งที่เราคิดว่าสวยและดี อาจไม่ตอบความต้องการของเขาเสียทั้งหมด บ้านในเฟสนี้จึงมีการปรับช่วงทางเข้าบ้านให้มีสีสัน ซึ่งเปิดโอกาสให้ทางชาวบ้านสามารถเลือกสีที่เขาชื่นชอบได้ด้วยตนเอง
เพราะซอยและถนนภายในชุมชนคลองเตยนั้นแคบมาก การออกแบบจึงจำเป็นต้องเลือกใช้วัสดุที่นำเข้าไปติดตั้ง หรือก่อสร้างได้ง่าย ประกอบหน้างานได้สะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากวัสดุทุกอย่างต้องขนย้ายด้วยกำลัง และแรงคนเข้าไปยังพื้นที่ ส่วนผนังออกแบบขึ้นโดยใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ Shera ส่วนหลังคาเป็นหลังคาเมทัลชีทที่มีฉนวนกันความร้อน

การออกแบบยังพยายามลดพื้นที่ซอกหลืบที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านไปทิ้งขยะไว้ให้มากที่สุด ซึ่งยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการมั่วสุม และอันตรายที่อาจเกิดตามมาได้อีกระดับหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้ถูกเปิดให้กลายเป็นพื้นที่เปิด โล่ง ติดไฟส่องสว่างและปลูกต้นไม้ กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่คนในชุมชนสามารถมานั่งเล่น หรือพูดคุยกันได้สะดวก
(ภาพแสดงแนวคิดโครงการบ้านพักอาศัยในเฟสที่ 3)

“ต้องออกตัวว่า ผมโชคดีที่ได้มาทำกับทีมงานที่ค่อนข้างเก่ง บางครั้งการลงไปพูดคุยกับทางชาวบ้าน บางมิติเราก็ต้องอาศัยคนที่เข้าจะพูดภาษาเดียวกัน ทำให้เข้าใจกันและกันได้ง่ายกว่า ต้องมีคนที่เชี่ยวชาญเข้าไปทำ ส่วนเราเป็นสถาปนิก โจทย์เป็นแบบนี้  ความต้องการเป็นแบบนี้ งบประมาณเป็นแบบนี้ เราทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่ผมได้รับมาแต่ละโปรเจกต์คือสมการ แล้วเราก็หาวิธีการแก้สมการในแบบของเราเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ดีที่สุดเท่าที่เราจะหาได้”

สถาปนิกยังเสริมว่า หลังจากที่ผ่านโปรเจกต์ในลักษณะนี้มามากมาย ทำให้พบว่า ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายๆ อย่าง และแก้ไขได้จริง หากเราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ หรือการออกแบบถูกนำมาใช้พัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรม หรือพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาจริงในส่วนอื่นๆ ก็คงจะช่วยให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นได้ไม่มากก็น้อย “มันจะมีการแก้ปัญหาเพื่อแก้ปัญหาแล้วจบไป แต่การแก้ปัญหาที่ช่วยให้พื้นที่ดูดีขึ้นด้วย มันก็ยิ่งดี” สถาปนิกทิ้งท้าย

Location : ชุมชนคลองเตย
Project Initiator :
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) และกองทัพภาคที่ 1
Engineer :
Next Steps Design & Consultants
Architect :
ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ  Vin Varavarn Architects (VVA)
Landscape Architect :
Shma Soen
Material :
Shera , Suntech Steel Works และ Lamptitude
Photo Credits : Vin Varavarn Architects (VVA)