หลายครั้งที่เรามักพบเจอแนวความคิดในการออกแบบให้กลมกลืนกับบริบท แทรกตัวอยู่อย่างนอบน้อม เงียบสงบ ราวกับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของธรรมชาติ แต่นั่นไม่ใช่แนวทางในการออกแบบ เดอะมูรายา โรฮา (La Muralla Roja) อพาร์ทเมนท์สีแดงที่ตั้งอยู่บนหน้าผาหินลาดชัน ติดชายฝั่งเมืองคาลป์ในประเทศสเปน
คำว่า ‘มูรายา โรฮา’ เป็นภาษาสเปน แปลว่า กำแพงสีแดง (The Red Wall) ซึ่งนับว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับการอธิบายหน้าตาของอพาร์ทเมนท์แห่งนี้ได้ดี เนื่องจากหากมองจากภายนอกแล้วจะเห็นทั้งอาคารเป็นสีแดง ตัดกับบรรยากาศสีฟ้าน้ำทะเลของชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างพอดิบพอดี ทำให้อาคารแห่งนี้มีความโดดเด่น สามารถมองเห็นแต่ไกล โดยยังเป็นความตั้งใจของ ริคาร์โด โบฟิล (Ricardo Bofill) สถาปนิกชาวสเปน ผู้ออกแบบอาคารหลังนี้นี่เอง
เริ่มต้นจากแนวคิดที่ไม่ตายตัว
I don’t want to copy myself or repeat endlessly certain shapes, like some other architects… I want to adapt to local conditions and traditions — Ricardo Bofill
ริคาร์โด โบฟิล ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ Ricardo Bofill Taller de Arquitectura (RBTA) ซึ่งภายในองค์กรประกอบด้วยบุคคลที่มีความสามารถจากหลากหลายสาขาวิชา นอกจากสถาปนิกและดีไซน์เนอร์แล้ว ยังมี นักคณิตศาสตร์ นักดนตรี นักสังคมวิทยา นักปรัชญา ผู้สร้างภาพยนตร์ เพราะโบฟิลมีความคิดว่าสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ สถาปัตยกรรมจึงไม่สามารถแยกออกจากเรื่องอื่นได้ ซึ่งการทำงานร่วมกับบุคคลจากหลากหลายสายอาชีพ เปิดโอกาสให้เขาคิดวิเคราะห์ถึงสถาปัตยกรรมจากแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากในมุมมองของสถาปนิก สิ่งนี้ทำให้ผลงานของเขาไม่ได้มีวิธีคิดที่ตายตัว ในแต่ละงานของเขา จะเริ่มต้นจากความคิดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงต่อพื้นที่นั้นๆ ทั้งในเชิงกายภาพและวัฒนธรรม โบฟิลกล่าวว่าสถาปัยกรรมที่ดีไม่ควรถูกทำซ้ำขึ้นในพื้นที่อื่นได้
แนวความคิดจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เช่นเดียวกับ มูรายา โรฮา อพาร์ทเมนท์ที่ตั้งอยู่เลียบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทางตอนเหนือของแอฟริกา เขาจึงเลือกใช้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแถบแอฟริกาเหนือที่เรียกว่า Casbah ซึ่งมีหน้าที่เป็นป้อมปราการ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอพาทร์ทเมนท์แห่งนี้ ทั้งผนังสูงทึบ ปิดล้อมคล้ายกับหอคอย บันได สะพานเชื่อม และระบบทางเดินภายใน ล้วนใช้แนวความคิดเดียวกับ Casbah แต่ในมูรายา โรฮา โบฟิลเลือกใช้สัดส่วนความสูงของผนังที่มากกว่า Casbah ส่งผลให้รูปทรงอาคารมีลักษณะเป็นเส้นตั้งสูงชลูดจำนวนมาก ดูโดดเด่นตัดกับเส้นนอนของภูมิทัศน์ชายฝั่งทะเล
กำแพงสีแดงและกำแพงสีฟ้า
รูปลักษณ์ภายนอกอาคารที่ดูซับซ้อนสะท้อนจากการจัดเรียงฟังก์ชั่นภายในอย่างมีระบบ กล่าวคือเป็นอาคารที่ไม่มีระบบเปลือกอาคาร (Facade) ผนังอาคารคือเปลือกอาคารทั้งหมด ฉะนั้น สี ของผนังจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อภาพของอาคารนี้ โบฟิลกำหนดให้ผนังรอบนอกอาคารทั้งหมดถูกทาด้วย สีแดง ในทางกลับกันผนังภายในทาด้วย สีฟ้า ซึ่งเป็นคู่สีตรงข้ามของสีแดง สีฟ้าในที่นี้หมายถึง สีของท้องฟ้าจึงมีทั้ง สีฟ้า สีชมพู และสีม่วง นอกจากการแบ่งสีตามผนังภายนอกภายในแล้ว องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแต่ละส่วนจะมีสีที่ต่างกันออกไปตามหน้าที่ ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบคอนสตัครติวิสต์ (Constructivism) แสงมีผลต่อให้ความเข้มอ่อนของสีผนัง ส่งผลต่อบรรยากาศภายในอาคาร บางครั้งผนังให้เฉดสีที่คอนทราสต์กับท้องฟ้า บางครั้งอาจจะให้เฉดสีอาจดูกลมกลืน เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของอาคารหลังนี้ที่ในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละวัน แสงที่สะท้อนผนังภายในอาคารสร้างบรรยากาศที่ต่างกันไป
โมดูลทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ภายในอาคารประกอบด้วยอพาร์ทเมนต์ 50 ยูนิต มี 3 ขนาดคือ 60 ตารางเมตร (ห้องสตูดิโอ) 80 ตารางเมตร (1ห้องนอน) และ 120 ตารางเมตร (2 ห้องนอน) หากสังเกตจะพบว่า ขนาดห้องแต่ละประเภท เป็นสัดส่วนที่ลงตัวกัน เพราะแปลนอาคารเกิดจากโมดูลของรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มาประกอบกันอย่างมีระบบ ในลักษณะของ เครื่องหมายบวก (Greek Cross) จุดตัดของแขนเครื่องหมายบวกเป็นแกนของอาคาร (Core) ถูกวางเป็นส่วนเซอร์วิสคือ ห้องครัวและห้องน้ำของแต่ละยูนิต โถงบันไดและคอร์ทภายในเกิดจาก ที่ว่าง ระหว่างการเชื่อมต่อรูปทรง บนดาดฟ้าใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของที่พักอาศัยเช่น ที่อาบแดด สระน้ำ และซาวน่า หากมองจากมุมบนเห็นได้ว่าแปลนมีความสลับซับซ้อนไม่น้อยคล้ายกับเขาวงกต
ริคาร์โด โบฟิล
ริคาร์โด โบฟิล เติบโตมาในยุคแห่งสงคราม ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และ สงครามกลางเมืองในสเปน ภายในบ้านของเขา มีพ่อผู้เป็นทั้งสถาปนิกและช่างก่อสร้าง และแม่ผู้เป็นศิลปิน บุคคลทั้งสองมีอิธิพลต่อความคิดและความสนใจของเขาเป็นอย่างมาก โบฟิลเรียนรู้เทคนิคการก่อร้างและการออกแบบจากพ่อ ส่วนแม่ส่งเสริมให้เขามีความคิดที่ลึกซึ้งในเชิงปรัชญา หัดตั้งคำถามและเข้าใจความเป็นมนุษย์ ชีวิตการเป็นสถาปนิกของโบฟิล เริ่มต้นในช่วงอายุ 18 หลังจบการศึกษาจาก School of Fine Arts ในสวิสเซอแลนด์ และได้กลับมาที่สเปน พ่อของเขาสอนให้เขาเป็นสถาปนิกด้วยการให้ลงมือทำ ผลงานชิ้นแรกของโบฟิลคือการออกแบบบ้านพักตากอากาศเล็กๆในเมือง Ibiza ซึ่งลูกค้าคือพ่อและแม่ของเขาเอง
ในช่วงยุค 60 เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโครงการที่พักอาศัยเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งโบฟิลก็ได้มีโอกาสในการออกแบบอาคารพักอาศัยหลายแห่ง ทำให้โบฟิลมีความสนใจในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในแถบเมดิเตอเรเนียนที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอาหรับในแอฟริกาเหนือ เขาจึงเดินทางไปแอลจีเรีย เพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของชาว Tuareg กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮาร่า ทั้งวัฒนธรรม ความคิด รวมไปถึงวิธีการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งโบฟิลได้นำแนวความคิดกลับมาใช้ในการออกแบบอาคารพักอาศัยในช่วงนั้น ทั้งในแง่ของรูปทรงและการใช้พื้นที่ในอาคาร ดังปรากฏให้เห็นใน มูรายา โรฮา และงานอื่น ๆ เช่น วอลเดน 7 (Walden 7)
หากสังเกตผลงานของริคาร์โด โบฟิล จะพบว่างานของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน และไม่ถูกจำกัดตัวเองอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในแต่ละงานของโบฟิลมีความแตกต่างกันออกไปตามความคิดของเขาที่เชื่อว่า ทุกงานควรเริ่มต้นจากแนวความคิดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีความเฉพาะเจาะจงกับบริบทนั้น ๆ เช่นเดียวกับ La Muralla Roja อพาร์ทเมนท์สีแดง ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้
อ้างอิงข้อมูลและรูปจาก
http://www.ricardobofill.com
http://www.biography.yourdictionary.com/ricardo-bofill
http://www.misfitsarchitecture.com/2019/07/07/architecture-misfit-36-ricardo-bofill
http://www.admiddleeast.com/architecture-interiors/architecture/how-ricardo-bofills-retro-utopian-vision-is-now-capturing-a-new-audience
http://www.archisearch.gr/books/ricardo-bofill-visions-of-architecture-monograph
http://www.archdaily.com/795215/ricardo-bofill-why-are-historical-towns-more-beautiful-than-modern-cities
http://www.archisearch.gr/books/ricardo-bofill-visions-of-architecture-monograph