OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

กึ๋น-กศินร์ ศรศรี นักออกแบบผู้ค้นหาความหมายของการเป็นสถาปนิก ผ่านการเดินทางและปรัชญาการออกแบบ

“สุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาเป็นเรื่องของวิถีชีวิตมากกว่า ว่าเราอยากจะมีกลุ่มคนหรือมีวิถีชีวิตในแต่ละวันเป็นแบบไหน?”

คุณกึ๋น-กศินร์ ศรศรี สถาปนิกแห่ง Volume Matrix Studio เอ่ยระหว่างการสัมภาษณ์เรื่องแนวคิดการทำงานด้านสถาปัตยกรรมและจุดเริ่มต้นของการเป็นสถาปนิก ท่ามกลางร่มเงาไม้ใหญ่รอบด้าน และลมพัดเบาๆ คลายร้อน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คุณกึ๋นเป็นเพียงนักเรียนมัธยมที่คิดสนุกกับลายเส้นสถาปัตยกรรม ก่อนที่เพื่อนๆ จะเข้ามาชักชวนไปติวสอบเอ็นทรานซ์เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง และเข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ในเวลาต่อมา “กว่าจะปรับตัวได้ ตอนที่เพิ่งสอบติดใหม่ๆ พูดตามตรงว่าเราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นสถาปัตย์ฯ อินเตอร์ และพอเราไม่อินกับภาษาหรือแนวคิดแบบนักเรียนอินเตอร์ จึงทำให้ช่วงนั้นเราเลือกที่จะเกเรและคิดว่าเดี๋ยวเอ็นทรานซ์ใหม่ก็ยังได้” คุณกึ๋นเล่าสั้นๆ ถึงความรู้สึกในช่วงแรกเริ่มที่ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักออกแบบ

จากเพียงแค่คิดสนุก สู่เส้นทางการเป็นสถาปนิก

คุณกึ๋นยังเล่าต่อว่า หลังจากเกเรมาได้สักระยะหนึ่งจวนจะขึ้นปี 2 ได้มีการจัดประกวดแบบที่ Great Architect อย่าง Zaha Hadid เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ประจวบกับที่ระหว่างนั้นเป็นช่วงปิดเทอมของตน คุณกึ๋นจึงได้คิดสนุกส่งงานออกแบบเข้าประกวดเล่นๆ จนสามารถเข้าตาคณะกรรมการและได้ขึ้นไปนำเสนอผลงานกับ Zaha Hadid ด้วยตัวคุณกึ๋นเอง “ต้องขอบคุณตอนนั้น ที่เราคิดสนุกใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ส่งผลงานเข้าไป เพราะประสบการณ์ในการประกวดแบบครั้งนั้นทำให้เราเลิกเกเรและกลับมามุ่งมั่นเรียนสถาปัตย์ฯ อินเตอร์ต่อ” ถึงแม้ผลการประกวดจะยังไม่ได้รับรางวัลใดก็ตาม แต่คุณกึ๋นกลับสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่คึกคักของแวดวงการสถาปนิก ก่อนจะปรับมุมมองที่มีต่อวิชาชีพนี้ใหม่อีกครั้ง ว่าการเป็นสถาปนิกก็ดูเป็นอาชีพที่ท้าทายและน่าสนุกดีไม่น้อย งานออกแบบในช่วงวัยเรียนของคุณกึ๋นจึงค่อยๆ เข้มข้นขึ้นนับแต่นั้นมา

ซึ่งส่วนหนึ่งของความเข้มข้นดังกล่าว แน่นอนว่าได้ไปปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ (Thesis) ของคุณกึ๋น ผ่านการออกเดินทางเพื่อสำรวจหลักฐานข้อมูลและตกตะกอนความคิดในแง่มุมของ “รกรากสถาปัตยกรรมไทยจากทั่วทุกภูมิภาค” จนทำให้คุณกึ๋นได้ค้นพบแนวทางและวิถีชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเวลาต่อมาว่าตนเองอยากเป็นสถาปนิกแบบไหนและอยากจะสื่อสารอะไรในเส้นทางนี้

การจากไปยังอีกจุดหมาย เพื่อค้นหาตัวตนที่ยังคงอยู่

ด้วยอาชีพ และวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกต้มยำกุ้งในปี 40 คุณกึ๋นคือนักศึกษาจบใหม่ที่คาดเดาอะไรไม่ได้กับการยื่นสมัครงานในยุคที่สถาปนิกจากหลายบริษัททั่วประเทศถูกเชิญออก การเดินทางเพื่อตอบคำถามบางอย่างเกี่ยวกับวิถีของสถาปัตยกรรมสำหรับคุณกึ๋นจึงควรค่าแก่เวลาต้องเดินทางต่อ และประเทศสหรัฐอเมริกาคือสถานที่ที่คุณกึ๋นเลือกเป็นจุดหมาย เพื่อออกสำรวจและเรียนรู้ความเป็นมาของผู้คนในแต่ละเมือง โดยมีสมุดบันทึกคู่กายเป็นดั่งเพื่อนพูดคุยและบอกเล่าความคิดผ่านการวาดเส้น ไดอาแกรม ไปจนถึงบทกลอน

“ตอนอยู่อเมริกา ถึงแม้ผมจะไม่ได้จับงานสถาปัตยกรรมเลย แต่ผมจะมีสมุดจดติดตัวอยู่เสมอ เพื่อบันทึกการเดินทางผ่านการขีดเขียนหรือสเก็ตเรื่องราวของเมือง อาคาร และสถานที่ที่ผมเดินทางไปทุกๆ แห่ง ซึ่งนั่นทำให้ผมไม่เคยละการวาดเส้นสถาปัตยกรรมตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นั่น”

หลังจากคุณกึ๋นค่อยๆ บรรจงเล่าถึงการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนและความหมายของการเป็นสถาปนิก ผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งในประโยคบอกเล่า คือผู้ที่เข้ามาสะกิดตัวตนของคุณกึ๋นให้หวนกลับมาคิดระหว่างการนั่งสเก็ตภาพในย่าน New York Central Park ด้วยถ้อยคำว่า “Are you architect?” “คุณเป็นสถาปนิกเหรอ?” ระหว่างนั้นคุณกึ๋นทำได้เพียงแต่อ้ำอึ้งว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้หญิงสาวชาวอเมริกันคิดเช่นนั้น ก่อนจะกลับมาค้นพบตัวเองด้วยการเปิดอ่านสมุดบันทึกทุกเล่มของตน ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่คุณกึ๋นยังคงซื่อสัตย์ต่อตัวตนเสมอมา คือการเป็นสถาปนิกและความรักในการออกแบบ Place หรือพื้นที่

การตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้าน M. ARCH ที่มหาวิทยาลัย SAVANNAH COLLEGE OF ART AND DESIGN จึงเป็นเป้าหมายต่อไปของการเดินทางบนเส้นทางนี้

“What’s Beauty” หนึ่งในคำถามแรกของอาจารย์จากคลาสเรียนที่คุณกึ๋นเล่าให้ฟังถึงความประทับใจต่อเนื้อหาการเรียนการสอนของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยแนวคิดที่ไม่ได้ถูกตีกรอบแต่กลับเปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันผ่านการตั้งคำถามสั้นๆ ชวนฉุกคิด จนทำให้คุณกึ๋นเลือกวิเคราะห์อย่างนักปรัญชา และหยิบข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของการดำเนินชีวิตมาใช้ร่วมกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมอยู่เสมอ

“ผมคิดว่าปรัญชาการออกแบบสำหรับประเทศไทยจริงๆ ค่อนข้างสำคัญมากนะ เพราะเรามักถูกสอนให้สนใจแต่เรื่องของฟอร์มหรือรูปลักษณ์ภายนอกกันมากกว่าที่จะมองในเรื่องของความเป็นจริงหรือรายละเอียดของวิถีชีวิต อาจารย์ที่อเมริกาเขามักตั้งคำถามสั้นๆ อย่าง What’s Beauty? หรือ What’s Perfection? เพื่อให้นักเรียนได้ถกเถียงกัน ซึ่งคำถามและคำตอบเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจว่าทุกคำตอบมันไม่มีผิดมีถูก แต่มันเกิดจากประสบการณ์ที่แตกต่างของคนเหล่านั้น ความสวยหรือความสมบูรณ์แบบของแต่ละคนก็ถูกนิยามไม่เหมือนกัน ฉะนั้นปรัญชาการออกแบบจึงทำให้ผมเข้าใจหน้าที่ของสถาปนิกมากขึ้น”

การกลับมาสู่การทำงานบนเส้นทางที่รัก

แม้คุณกึ๋นจะห่างหายจากวงการสถาปนิกไทยไปสักระยะ แต่การกลับมาประเทศไทยพร้อมกับความหมายของการเป็นสถาปนิกหลังจากจบการศึกษาปริญญาโทในครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อยสำหรับ Volume Matrix Studio บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกก่อตั้งขึ้นหลังจากคุณกึ๋นได้เรียนรู้งานสถาปนิกในบริษัทชื่อดังระดับประเทศ และทำความคุ้นเคยกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจนถ่องแท้อย่างไม่ใจอกใจร้อน

“เราจงทำเมื่อเราพร้อมและอย่ารีบร้อน” คุณกึ๋นกล่าวระหว่างบทสนทนาถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาในวงการสถาปนิก โดยเปรียบเทียบการทำงานในสายวิชาชีพกับการต่อยมวยให้ฟังว่า หากเรามีกำลังการชกต่อยที่ไม่มากพอ หรือไม่มีลูกเล่นในการหาทางหนีทีไล่ โอกาสที่เราจะเป็นผู้ชนะบนสังเวียนคงมีไม่มากนัก แต่หากเราหมั่นซ้อมกับกระสอบทรายอยู่เสมอ โดยเพิ่มความเข้มข้นไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีกำลังที่มากพอ อย่างน้อยๆ เราก็อาจสามารถยืนให้ครบยกได้ และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือเราทุกคนต่างต้องรู้ระดับตัวเองว่าเราทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเหนื่อยกายและใจแล้ว อาชีพสถาปนิกก็อาจกลายเป็นงานที่ไร้ความสนุก

จิตวิญญาณของบ้าน กับการออกแบบที่ไร้หัวโขน

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า คุณกึ๋นเป็นสถาปนิกที่มีความสุขกับการได้พูดคุยกับเจ้าของบ้าน โดยมองเพียงว่าการพบเจอในแต่ละครั้งก็ไม่ต่างอะไรกับการได้พบปะกับเพื่อนสักคนและเข้าไปช่วยเขาแก้ปัญหา คุณกึ๋นจึงเรียกกระบวนการสร้างสรรค์งานทั้งหมดนี้ว่าเป็นการตีความและถอดโขนของเจ้าของบ้าน “เพราะโดยธรรมดาของมนุษย์คงไม่มีใครใส่ชุดสูทหรือผูกไทอยู่ที่บ้านกันหรอก แต่อาจนุ่งเพียงแค่ผ้าขาวม้าหรือใส่เสื้อยืดง่ายๆ เท่านั้น และนั่นคือตัวตนของเขา” คุณกึ๋นไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นนักออกแบบแต่ยังเป็นผู้รับฟังที่ดีและมองเจ้าของบ้านให้ลึกเข้าไปมากกว่าเปลือกนอกอย่างที่ตาเห็น

งานออกแบบบ้านทุกหลังของ Volume Matrix Studio จึงเป็นงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง คุณกึ๋นจะมองว่าสถาปนิกเป็นเพียงแค่ผู้ปรุงแต่งส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมให้มีความกลมกล่อมขึ้นเท่านั้น

“จิตวิญญาณของบ้าน” คำที่คุณกึ๋นใช้เรียกแทนปรากฎการณ์ของบรรยากาศที่เกิดขึ้นภายในบ้านแต่ละหลัง ได้ถูกกล่าวขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของศาลาที่รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นเขียวขจี สถานที่ที่เป็นทั้งบ้านและสำนักงานสถาปนิก Volume Matrix Studio “บ้านแต่ละหลังก็จะมีจิตวิญญาณหรือบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไปตามตัวตนของเจ้าของบ้าน ซึ่งอีกหนึ่งบทบาทของสถาปนิกที่ดี คือเราต้องนำพาหรือออกแบบจิตวิญญาณเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรม เพราะสถาปัตยกรรมคือการออกแบบ Place หรือสถานที่ที่ไม่ใช่ Object” “อย่างตอนนี้ที่เรานั่งกันอยู่คุณรู้สึกถึงอะไร รู้สึกถึงลมไหม” คุณกึ๋นขยายความและถามกลับระหว่างการสนทนา

คุณกึ๋นเล่าต่อว่า ลมเย็นๆ ที่เราสัมผัสได้นั้นแน่นอนว่าคืออากาศ ซึ่งในอากาศมีบรรยากาศซ่อนอยู่ และหากบรรยากาศกับจังหวะมีความลงตัวเกิดขึ้น เราจะสัมผัสได้ถึงปรากฎการณ์หรือความรู้สึกถึงจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้น อาจกล่าวกันอย่างง่ายๆ ว่าเป็นความรู้สึกที่มากกว่าความสบายกาย แต่เป็นความสบายใจ ความรู้สึกอบอุ่น ประทับใจ ไปจนถึงความรู้สึกผูกพันต่อสถานที่ การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของตัวอาคารจึงไม่ใช่แนวคิดหลักสำหรับคุณกึ๋นสักเท่าไหร่นัก บ้านบางหลังที่ได้ออกแบบก็อาจแทบจะมองรูปด้านกันไม่ออก แต่เชื่อว่าเจ้าของบ้านเท่านั้นที่จะเข้าใจและสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเหล่านี้จนยากจะปฏิเสธ

“ผมก็ผ่านการสำรวจตัวเองมาหลายครั้งนะว่าจริงๆ แล้วผมอยากจะเป็นอะไรบนโลกใบนี้ ที่ตัดภาพของสังคม ครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมออก เพราะผมมองว่าการอยากทำกับพรวรรค์มันค่อนข้างต่างกัน บางคนอยากจะเป็นหรือพยายามจะเป็นแต่เขากลับไม่ได้เป็นสิ่งนั้น ซึ่งมันจะมีบางอย่างเช่นกันที่เป็นตัวเราเลยแต่เราแค่ยังไม่ยอมรับสิ่งนั้นก็เท่านั้นเอง และสุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาเป็นเรื่องของวิถีชีวิตมากกว่า ว่าเราอยากจะมีกลุ่มคนหรือมีวิถีชีวิตในแต่ละวันเป็นแบบไหน?”

ประโยคบอกเล่าสุดท้ายของบทสนทนาจากคุณกึ๋น-กศินทร์ ศรศรี สถาปนิกที่ทำให้เข้าใจอย่างช้าๆ ว่าทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทางเดินในสายวิชาชีพนักออกแบบ หรือแม้แต่การออกแบบบ้านให้กับผู้อาศัย ความสุขที่ได้ทำและความสบายใจที่ได้อยู่ ณ ที่แห่งนั้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการตัดสินใจลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

คุณกึ๋น-กศินร์ ศรศรี สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Volume Matrix Studio Co.,Ltd
ปริญญาตรี คณะสถาปัตย์กรรมและการออกแบบ มหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเล้าธนบุรี (SoA+d KMUTT)
ปริญญาโท M. ARCH SAVANNAH COLLAGE OF ART AND DESIGN (SCAD)

ภาพประกอบบทความจาก Volume Matrix Studio Co.,Ltd