OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

5 สถาปัตยกรรมสร้างจริงจากเครื่องพิมพ์ 3D PRINTER

“สร้างบ้านได้รวดเร็ว และประหยัด ด้วยความไฮเทคของเทคโนโลยี”

เป็นที่ทราบกันดีเกี่ยวกับระยะเวลาในการสร้างบ้านสักหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การตกแต่งภายในไปจนถึงการเข้าอยู่อาศัย ล้วนแล้วแต่ใช้ระยะเวลานานร่วมครึ่งค่อนปี ซึ่งเราอาจเคยได้ยินเทคโนโลยีการสร้างบ้านโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3D Printer กันมาบ้าง ซึ่งกระบวนการในการพิมพ์จะพิมพ์ผนังภายนอกด้วยซีเมนต์เรียบเป็นชั้นๆ ตามค่าโปรแกรมที่ได้ตั้งไว้ ไปจนเสร็จสมบูรณ์

ปัจจุบันนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่นอกจากประหยัดการใช้เวลาก่อสร้างแล้ว ยังลดการใช้วัสดุได้มาก เพราะทุกอย่างออกแบบมาให้พอดีจากการพิมพ์ซีเมนต์นั่นเอง การก่อสร้างแบบใหม่ที่เน้นการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และนี่คือ 5 ตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจริงในสเกล 1:1 จากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D PRINTING ที่กำลังพัฒนาในวงการอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในปัจจุบัน

– House in Milan design week –

Architects & Engineers | CLS Architetti and Arup Engineering

Location | Milan’s Piazza Cesare Beccaria, Italy

เริ่มต้นกันด้วยงานล่าสุดจาก บ้านคอนกรีตต้นแบบที่สร้างด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ขนาด100 ตารางเมตร ที่ถูกจัดแสดงตลอดช่วงเวลา 1 สัปดาห์ในงานเทศกาล “Milan design week 2018” ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่ 35 ชิ้นประกอบกัน ซึ่งพื้นภายในประกอบไปด้วยพื้นที่นั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ

“บ้านทั้งหลังถูกพิมพ์โดยใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ละส่วนของผนังใช้เวลาสร้างประมาน 1 ชั่วโมง และใช้เวลาในการปล่อยให้คอนกรีตคงตัวอีกเพียง 5 นาที” บริษัท Arup Engineering กล่าว และยังบอกอีกว่าสามารถตั้งโปรแกรมให้เครื่องพิมพ์ปรับเปลี่ยนผนังให้ใหญ่ขึ้น เล็กลง หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนรูปร่างก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเฟอนิเจอร์ได้อีกด้วย

หลังจากงาน Milan design week สิ้นสุดลง บ้านหลังนี้ถูกนำไปจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Italcementt ซึ่งชิ้นส่วนต่าง ๆ จะถูกแยกออกจากกันและนำไปประกอบใหม่อีกครั้งบนที่ใหม่ แม้จะเป็นแค่บ้านต้นแบบ แต่บ้านหลังนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในปัจจุบัน มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างอาคารที่มีความซับซ้อน และยังสามารถนำวัสดุที่ใช้ก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ความก้าวหน้าในการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนได้จริง

– Micro Home –

Architects | DUS Architects

Location | Amsterdam, Netherlands

ภาพอาคารสีดำขนาดเล็กกะทัดรัด พื้นที่ 8 ตารางเมตรนี้ เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนสภาพแวดล้อมของเมือง และเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวในช่วงภัยพิบัติของสังคม ซึ่งความพิเศษอยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นวัสดุชีวภาพสามารถนำมา Reuse ย่อยสลายเพื่อพิมพ์ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติใหม่อีกครั้งได้

พื้นผิวของอาคารมีสีดำ เกิดจากสีของน้ำมันลินสีด (linseed oil) ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักทางวัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และมีการใช้คอนกรีตในบางส่วนของอาคารเช่น พื้น เพื่อเพิ่มความทนทานในการใช้งาน ส่วนรูปแบบของผนังออกแบบจากมุมของโครงสร้างอาคารที่ยื่นออกมาสร้างพื้นผิวให้อาคารดูมีมิติมากขึ้น

พื้นที่ภายในเพียงพอสำหรับเตียงนอนได้สำหรับหนึ่งคน และมีทางเข้าที่สามารถนั่งระหว่างวันได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับห้องน้ำส่วนตัว แต่เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติก็สามารถสร้างอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถใช้งานได้จริง

– 3D-printed tiles filled –

Architects |  Emerging Objects

Location | Oakland, California

พื้นที่เจริญเติบโตของพืชสีเขียวขนาดเล็ก ภายในกระเบื้องรูปร่างหกเหลี่ยมที่เรียงรายกว่า 4,500 แผ่น เพื่อห่อหุ้มอาคารหลังนี้ไว้ สร้างสรรค์โดย Emerging Objects บริษัทที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติในการทดลองและก่อสร้างอาคารใหม่ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย

บนหลังคาและผนังด้านข้างนั้นสร้างจากเซรามิกและทำหน้าที่กันฝนด้านนอก ส่วนกระเบื้องด้านหน้าอาคารนั้นถูกออกแบบให้มีรูและช่อง คล้ายกับการติดกระเป๋าขนาดเล็กเพื่อปลูกพืชน้ำชนิดต่าง ๆ ให้เติบโตขึ้นภายใน เกิดเป็นผนังที่มีชีวิตจากความเขียวชะอุ่ม ที่กลมกลืนไปกับอาคาร

– Office of the Future –

Architects | Killa Design

Location | Dubai, United Arab Emirates

ความโมเดิร์นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาคารสำนักงานแห่งนี้ เป็นสำนักงานอาคารที่แรกของโลกที่สร้างด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติที่สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบและถาวร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ “Dubai Future Foundation” และใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค

โครงสร้างทั้งหมดทำมาจากคอนกรีต ใช้เวลาในการพิมพ์ส่วนประกอบทั้งหมด 17 วัน  ใช้เวลาในการติดตั้ง 2 วัน และงานส่วนต่างๆ ที่เหลือ เช่น การบริหารจัดการอาคาร การตกแต่งภายใน และการตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบอีก 3 เดือน

การก่อสร้างครั้งนี้สามารถลดต้นทุนแรงงานไปกว่า 50 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับการก่อร้างอาคารปกติที่มีขนาดเท่ากัน อีกทั้งยังสามารถลดเศษเหลือที่เกิดจากการก่อสร้างอย่างสูญเปล่าให้น้อยลง และลดกลายปล่อยก๊าซหรือสารเคมีที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโครงการอีกด้วย

– House in Austin –

Architects | ICON Construction

Location | Texas, United States

บ้านพร้อมอยู่สร้างด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ภายใน 1 วันด้วยราคา 4,000 ดอลลาร์หลังนี้ เป็นบ้าน 1 ชั้นที่มีพื้นที่ 60 ตารางเมตร วัสดุหลักคือปูนซีเมนท์ โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างคงทนและระยะการใช้งานที่มากกว่ามาตรฐานทั่วไปในการสร้างบ้าน

บริษัทผู้ผลิตเชื่อว่าเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติจะสามารถประโยชน์มหาศาลให้แก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยได้ โดยเริ่มต้นโครงการในการระดมทุนเพื่อบริจาคบ้านให้แก่ครอบครัวที่ประสบปัญหาและไร้ที่อยู่อาศัยในลาตินอเมริกา นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า ในอนาคตผู้คนจะสามารถดาวน์โหลดแบบบ้านที่ผลิตโดยเครื่องพิมพ์ 3D และย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านได้ภายในเวลาเพียง 1 วัน

ในปัจจุบันนักออกแบบและบริษัทอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทำงานเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจะนำไปสู่การสร้างที่อยู่อาศัยที่รวดเร็วและประหยัดซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งแนวคิดทั้งหมดคือการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่ายังคงมีทางเลือกใหม่ที่เป็นไปได้สำหรับการก่อสร้าง

ขอบคุณข้อมูลจาก designboom , archdaily