OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“ถึงหน้าแคบ แต่ใจกว้าง”…ไอเดียเปลี่ยนพื้นที่แคบให้ดูกว้างและน่าอยู่มากขึ้น

เมื่อการต่อเติมพื้นที่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการรีโนเวทตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ หรืออาคารที่มีหน้าแคบในปัจจุบัน เพราะแนวคิดของสถาปนิกมากมาย ได้แสดงศักยภาพของการออกแบบให้เราเห็นว่า มีอีกหลายวิธีที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่แคบให้ดูกว้างและน่าอยู่มากขึ้น โดยไม่ต้องต่อเติมหรือขยายพื้นที่ใดๆ วันนี้ Dsign Something จึงรวบรวมแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมหน้าแคบจากสถาปนิก เพื่อเป็นไอเดียดีๆในการรีโนเวทกันค่ะ

1.สร้าง Double Space

เมื่อการรักษาพื้นที่ใช้สอย หรือต่อเติมให้มีพื้นที่มากที่สุด เพื่อความสะดวกสบายอย่างเดียวนั้นไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการอยู่อาศัยเสมอไป เพราะบางทีการยอมเสียพื้นที่ชั้นสอง เพื่อให้พื้นที่เชื่อมต่อกับชั้นล่างจนเกิดเป็นพื้นที่ Double high ก็ให้ความรู้สึกถึงความโปร่งโล่ง และตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากกว่า เพราะแสงแดดสามารถส่องลงมาถึงและอากาศสามารถถ่ายเทได้ดีกว่าอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งไอเดียดีๆสำหรับบ้านที่หน้าแคบที่ให้ความรู้สึกกว้างและอยู่สบายนั่นเอง

เช่น บริเวณ Common Space และห้องประชุมในชั้น 3 ของออฟฟิศภายในตึกแถว Creative Crews สตูดิโอของคนรุ่นใหม่ มีการทุบพื้นส่วนกึ่งภายนอก เพื่อสร้างพื้นที่ Double Space เป็นส่วนสำหรับนั่งพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิด และปลูกต้นไม้ภายในอาคารเพื่อสร้างความร่มรื่นและผ่อนคลายให้กับผู้ใช้งาน

———-

2.วางผังแบบ Open plan

โดยปกติแล้วการวางผังภายในบ้าน จะแบ่งเป็นฟังก์ชันแยกออกจากกันเป็นห้องๆ ข้อดีคือ มีความเป็นสัดส่วน แต่ข้อเสียคือกินพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นพื้นที่แคบจึงเหมาะสมกับการวางผังแบบ “Open plan” หรือวางผังแบบเชื่อมต่อหลากหลายฟังก์ชันเข้าด้วยกัน เพื่อให้พื้นที่ดูกว้างมากกว่าปกติ ไม่มีผนังมากั้นสายตา ซึ่งในการแบ่งสัดส่วนของแต่ละฟังก์ชันนั้น อาจจะใช้การเปลี่ยนระดับความสูงเล็กน้อย หรือไม่ก็แบ่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า แถมยังทำให้ห้องดูกว้างขวางมากกว่าอีกด้วย

———-

3.เปลี่ยนทิศทางของบันได

“บันได” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนเมื่อรีโนเวทอาคารที่มีขนาดแคบ เพราะนอกจากเป็นเรื่องของโครงสร้างแล้ว ตึกแถวเก่าๆที่มีอายุมากส่วนใหญ่จะมีขนาดและตำแหน่งของบันไดกินพื้นที่ไปมาก ทำให้การรีโนเวทออกแบบพื้นที่ภายในมีข้อจำกัด และเหลือพื้นที่ในการจัดสรรน้อยนั่นเอง

รูป Before และ After ในการปรับเปลี่ยนแนวบันไดของออฟฟิศภายในตึกแถว

———-

4.ใช้กระจกเงาสะท้อนพื้นที่

ด้วยคุณสมบัติของ “กระจกเงา” ที่เราทราบกันดีว่า สามารถสะท้อนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามได้ จึงไม่แปลกหากเราเห็นงานออกแบบที่มีการใช้กระจกติดอยู่บนผนังของพื้นที่ภายในอาคารที่มีความแคบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ดีที่จะช่วยสะท้อนทำให้พื้นที่ดูมีมิติมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ดูกว้างขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อด้วยการแต่งเติมในแบบง่ายๆ

ตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ “ร้านหลงโถว คาเฟ่” ที่รีโนเวทตึกแถวเก่าหน้ากว้างไม่ถึง 4 เมตร ด้วยกระจกเงาบานใหญ่ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนพื้นที่ภายในร้านให้ดูเหมือนมีที่นั่งแบบเหล่าเต๊งสองฝั่งแล้ว ยังช่วยสร้างเอกลักษณ์การตกแต่งให้น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…http://bit.ly/Lhong-tou-cafe 

———-

5.สร้างช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ

ช่องเปิดด้านบน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “สกายไลท์” หากออกแบบไว้ในตำแหน่งที่แสงธรรมชาติสามารถเข้ามาได้ในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยทำให้บ้านมีความสว่าง รวมถึงทำให้พื้นที่ดูโปร่งโล่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็ต้องระวังเรื่องทิศทางของแสงแดดด้วยเพื่อไม่อากาศภายในบ้านร้อนจนเกินไป

ตัวอย่างการรีโนเวทตึกแถวของ “คุณณรงค์ โอถาวร แห่ง SO Architects ที่ตั้งใจออกแบบสกายไลท์ด้านหลังของบ้าน เพื่อให้แสงสว่างจากธรรมชาติส่องลงมาตั้งแต่ชั้นบนสุดลงมาจนชั้นล่างสุดของบ้าน ทำให้พื้นที่ของบ้านในแต่ละชั้นสว่าง น่าอยู่และโปร่งโล่งมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่… http://bit.ly/Renovate_CommercialBuilding_So 

———-

6.เลือกใช้สีและวัสดุในโทนอ่อน

การเลือกวัสดุและโทนสีให้ห้องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยได้ และหากเลือกใช้สีอ่อน กับผืนผนัง เฉดสีอ่อนจะช่วยทำให้พื้นที่ภายในห้องดูละมุนตาและดูกว้างขึ้น รวมถึงบรรยากาศในการอยู่อาศัยที่ดี สดใสและมีชีวิตชีวาขึ้นมาโดยทันที

หวังว่าวิธีการออกแบบต่างๆข้างต้นจะเป็นไอเดียที่ดีสำหรับคนที่กำลังอยากรีโนเวทพื้นที่แคบอย่างไรให้ดูกว้าง โปร่งโล่ง และน่าอยู่มากขึ้น ทั้งนี้ก็ลองเลือกวิธีที่เหมาะสม และสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองกันด้วยนะคะ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading