OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“พาสาน” แลนด์มาร์คใหม่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมแห่งการผสานวิธีชีวิตริมน้ำ

หนึ่งในการออกแบบเมืองที่ดี คือการออกแบบให้เป็นเมืองที่สามารถจดจำได้ ซึ่ง “แลนด์มาร์ค” ก็ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ที่จะสามารถสร้างกับรับรู้ของเมืองให้เป็นที่จดจำ รวมถึงยังเป็นหมุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยวไปในตัว

“พาสาน” แลนด์มาร์คใหม่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมแห่งการผสานวิถีชีวิตริมน้ำ คือที่ท่องเที่ยวชมวิวใหม่ของเมืองนครสวรรค์ ที่แม้จะใช้เวลาในการออกแบบก่อสร้างไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ

“พาสาน” ชื่อของสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินขนาดประมาณ 3 ไร่ เศษ บริเวณเกาะยม หัวมุมของจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ในอำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา สายเลือดใหญ่ของวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน โดยอาคารหลังนี้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจกันของเทศบาลนครนครสรรค์ ชมรมรักษ์เจ้าพระยา และ ประชาชนชาวนครสวรรค์ เพื่อเป็นการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตริมน้ำ รวมถึงการสร้างเสริมอาชีพและเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการจัดโครงการประกวดแบบนี้ขึ้น

ผลงานที่ได้รับคัดเลือกนั้นมีชื่อว่า “พาสาน” เป็นผลงานการออกแบบของ นายไกรภพ โตทับเที่ยง จากบริษัท ฟาร์ส สตูดิโอ จำกัด คำว่า “พาสาน” มาจาก “ผสาน”  ซึ่งสื่อความหมายว่าอาคารแห่งนี้เป็นที่ที่จะพาผู้คนให้เข้ามาผสานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของชาวต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผังและโครงสร้างของอาคารที่โค้งทอดยาวเป็นสะพานขนาดใหญ่ มีเส้นสายแนวทางเดินชมวิวทิวทัศน์มาสอดประสานและบรรจบกันที่ปลายทั้งสองด้าน ยังตั้งใจสื่อถึงการรวมตัวกันของแม่น้ำทั้ง 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน ต่างไหลมารวมกันเป็น 2 สาย ปิงและน่าน กลายมาเป็นหนึ่งเดียวกันคือแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นการออกแบบโครงสร้างอาคารเชิงสัญลักษณ์รวมถึงผนวกพื้นที่จุดชมวิวและพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของชาวนครสวรรค์ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว ในส่วนของสะพานโค้งซึ่งทางเดินชมวิวสถาปนิกเลือกใช้เป็นโครงสร้างเหล็กเป็นหลักจึงสามารถออกแบบให้มีระยะโค้งและมีความสูงได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียงกับโครงสร้างคอนกรีต ร่วมกับวัสดุไม้ในการตกแต่งพื้นและผนังภายใน โดยความสวยงามหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดจากระยะไกล นอกจากรูปทรงที่โค้งโฉบเฉี่ยวน่าสนใจแล้ว ยังมีการนำวัสดุแผ่นโลหะสีทองแดง ผิวแวววาวมากรุเป็นหลังคาโค้งด้านบนและไหลมายังด้านข้างของตัวอาคาร ทำให้อาคารดูมีความทันสมัย สวยงามมากขึ้นอีกด้วย

อาคารหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,892 ตารางเมตร  นอกจากจะมีส่วนสะพานเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ภายในยังประกอบไปด้วย สำนักงาน ห้องจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์ ด้านหลังมีลานประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมและแพท่าน้ำอีก 2  หลัง  เมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีการจัดแสดง แสง สี เสียง วิถีชีวิตความผูกพันระหว่างผู้คนกับสายน้ำ ประวัติความเป็นมา เรื่องราวของชาวนครสวรรค์ ฉายไปยังตัวอาคารผ่านระบบ Multimedia โดยขณะนี้ได้เปิดให้เข้าชมแล้วอย่างไม่เป็นทางการโดย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง  20.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม