เมื่อเอ่ยชื่อ เรียวอันจิ (Ryōan-ji) ไม่ว่าจะหมายถึงวัด หรือ สวนหิน อาจไม่ใช่ชื่อที่ใครหลายคนจะนึกภาพออก แต่ถ้าเปิดภาพสวนหินที่เต็มไปด้วยกรวดซึ่งถูกกวาดเป็นวงคลื่นอย่างพิถีพิถัน ก็คงจะร้องอ๋อ!กันได้ไม่ยาก
ผมได้มีโอกาสไปเยือนวัดแห่งนี้เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา และอย่างไม่ปฏิเสธ ผมตื่นเต้นมาก เพราะหากใครที่ได้อยู่ในแวดวงอาชีพอันเกี่ยวกับงานออกแบบหรือปรัชญาแล้ว เมื่อกล่าวถึงนิกายเซน สวนแห่งนี้ก็จัดได้ว่าเป็น Iconic สำคัญที่ต้องไปเยือนให้ได้ซักครั้งก่อนตาย
เรื่องและภาพ : วุฒิกร สุทธิอาภา
ถนนหน้าวัดเรียวอันจิ
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ชานเมืองเกียวโต ละแวกเดียวกับวัดคินคะคุจิ โดยจากที่พักในเมืองโอซาก้าผมจับรถไฟรอบเช้าไปลงที่เกียวโตและนั่งรถเมล์ต่อไปจนถึงป้ายหน้าวัดได้ในตอนสายๆซึ่งก็เรียกว่าเดินทางแบบสบายๆไม่ต้องถึงกับรีบร้อน แต่ก็ถึงกับผงะเล็กน้อยเมื่อลงจากรถเมล์ เพราะภาพที่เห็นหน้าวัดนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าเสาไฟฟ้า ทางม้าลาย ตู้กดน้ำ และร้านของที่ระลึกเล็กๆบนถนนขนาดสองเลนถ้วนโดยมีวิวภูเขาเป็นฉากหลัง(โอเค ผมอาจจะจินตนาการว่ามรดกโลกจะต้องคูลกว่านี้) เอ…หรือว่ามันคือความเรียบง่ายแบบเซน และใช่…ป้ายทางขวาในรูปนั่นแหละครับ คือทางเข้าของวัดเรียวอันจิแห่งนี้
แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปภายในวัดแห่งนี้เรามาดูประวัติและที่มาของสวนแห่งนี้กันก่อนดีกว่าครับ วัดเรียวอันจิ(Ryoan-ji) แปลได้ว่าวัดมังกรสันติ อาณาบริเวณวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยศตรวรรษที่ 11 โดย Fujiwara Saneyoshi จนกระทั่งในปีค 1450 โชกุน Hosokawa Katsumoto ก็ได้เข้าครอบครองพื้นที่แถบนี้รวมทั้งอาณาบริเวณของวัดและได้เริ่มสร้างหมู่บ้านรวมถึงก่อตั้ง “วัดเรียวอันจิ” ขึ้น แต่วัดแห่งนี้ก็ได้ถูกทำลายลงในปี 1473 จากสงคราม ก่อนที่จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1488 โดย Hosokawa Matsumoto พร้อมๆกับสวนหินแห่งนี้
แผนผังของวัดเรียวอันจิ จะเห็นสวนหินอยู่ตรงกลางทางดานบนของตัววัด
สวนหิน Ryoan-Ji เป็นสวนแบบ Hiraniwa ในสไตล์แบบ Karensansui ซึ่งก็คือสวนในพื้นที่แนวราบโดยเลือกใช้องค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงพื้นภูมิแห้งแล้งตามธรรมชาติด้วยการจัดวางก้อนหิน, กรวดขาว และพืชจำพวกมอส โดยสวนหินแห่งนี้มีส่วนประกอบหลักคือ ตัวสวน, Hojo หรือศาลาไม้ และกำแพงสวนที่ทั้งปิดกั้นและเชื่อมโยงสวนนี้สู่วิวภูเขาด้านหลัง ด้วยขนาด 248 ตารางเมตร กว้าง 10 เมตร และยาว 25 เมตร มีการจัดวางหินซึ่งกระทำให้ดูเกิดขึ้นโดยธรรมชาติทั้งหมด 15 ก้อนแบ่งเป็น 5 กลุ่มอยู่บนกลุ่มหญ้ามอสรูปวงกลม ซึ่งองค์ประกอบที่ร้อยเรียงหินเหล่านี้เข้าด้วยกันคือระนาบหินกรวดที่ในทุกเช้าจะถูกกวาดให้กลายเป็นวงคลื่นที่มีรูปลักษณ์แปรแปลี่ยนไปทุกวัน และเมื่อมองจากศาลาไม้ออกไปยังสวน ผู้ชมสวนจะสามารถเห็นความสัมพันธ์จากภายในศาลาไปยังสวนและต่อเนื่องออกไปยังทิวทัศน์ภายนอกได้
บรรยากาศเมื่อแรกเดินเข้าสู่สวนหิน
และแล้วก็ได้เวลาเดินเข้าไปชมของจริงที่ภายใน หลังจากที่จัดแจงซื้อตั๋วเข้าชมและดั้นด้นเดินเข้าไปจนถึงสวนหินอันเลื่องลือ ผมก็ได้พบกับฝูงชนที่นั่งกันอยู่เต็มชานไม้ทั้งฝรั่ง เอเชีย และคนไทยด้วยกัน ทำให้ต้องมองหามุมยืนเพื่อที่จะรับชมความเซนนี้ให้ได้เต็มตา และหลังจากที่เริ่มชินกับฝูงชนแล้ว เรียวอันจิก็เหมือนจะเริ่มกล่าวทักทายผม…นั่นก็ความความนิ่ง…เนิบ…ของหินทั้ง 15 ก้อน
กรวดขาว หญ้ามอส ผนังดินเหนียว และก้อนหิน สามองค์ประกอบหลักของสวน
นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติขณะนั่งชมสวนที่ชานไม้ของศาลา(Hojo)
เพราะเสน่ห์ที่ทำให้ใครต่อใครต่างต้องมาเยือนสวนแห่งนี้นั้น ไม่ใช่เพียงความงามอันเรียบง่ายของสวนเพียงเท่านั้น แต่ยังมีปริศนาแห่งหิน 15 ก้อนอีกด้วย กล่าวกันว่าผู้ใดก็ตามที่เข้ามาชมสวนแห่งนี้นั้น จะนับหินได้เพียง 14 ก้อนเสมอ โดยที่แต่เดิมนั้น ปลายทางของปริศนาเซนดังกล่าวได้ถูกนิยามไว้ว่า “ผู้ใดซึ่งจะเห็นได้ถึงหินก้อนที่ 15 ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ซึ่งบรรลุถึงพร้อมแล้วด้วยฌานในขั้นสูง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปริศนาเซนนี้กลับเป็นอุบายที่สร้างขึ้นด้วยหลักการออกแบบล้วนๆ
ผังการจัดวางของหินทั้ง 15 ก้อนที่สัมพันธ์กับแกนอาคารของศาลาไม้
แม้จะไม่จะไม่ปรากฏนามของผู้ออกแบบสวนแห่งนี้ แต่สวนแห่งกลับมีการออกแบบที่แยบยลและละเอียดอ่อนอย่างเหลือเชื่อ จากภาพ จะเห็นได้ว่า หินในกลุ่ม B นั้นจะวางตัวอยู่บนแกนกึ่งกลางของศาลา(Hojo) ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วนั้น เมื่อผู้คนได้เดินเข้ามาเพื่อชมความงามของสวนแห่งนี้ ก็มักจะต้องมาเริ่มที่จุดกึ่งกลางนี้อยู่เสมอ และจากจุดนี้เองจะเห็นได้ว่า แม้หินทั้ง 15 ก้อนนั้นจะมองเห็นได้ชัดเจนจากผังรวม แต่เมื่ออยู่ในมุมมองปกติ นั้นก็คือชานไม้ของศาลา เราจะไม่มีทางมองเห็นหินได้ครบทั้ง 15 ก้อนเลย ด้วยการจัดวางที่ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งหินหนึ่งก้อนจะถูกบังและลบเลือนหายไปจากคลองสายตาเสมอ และนั่นเองที่ทำให้ไม่ว่าจะนับยังไง…เราก็จะนับไม่ถึง 15 นั่นเอง
สัดส่วนและการจัดวางที่สัมพันธ์กันระหว่างศาลาและสวนสร้างให้เกิดมุมมองที่ทำให้นับก้อนหินได้เพียง 14 ก้อน
ในส่วนของอิทธิพลที่สวนแห่งนี้ส่งไปถึงเหล่าศิลปินและนักออกแบบทั้งหลาย สวนหินแห่งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคน ตัวอย่างเช่น John Cage คีตกวี นักเปียโน นักเขียน และนักปรัชญาทางดนตรีชาวอเมริกันที่ได้ประพันธ์ผลงานชื่อ Ryoanji เอาไว้ในช่วงปี 1983-1992 ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น https://youtu.be/s8HYbzuaWVo ซึ่งเขายังได้สร้างผลงานSketchภาพสวนแห่งนี้โดยภายหลังถูกรวมเล่มเอาไว้ใน John Cage: Ryoanji Catalogue Raisonné of the Visual Artworks Vol. I “Where R = Ryoanji.” ทั้งยังได้บอกว่า 170 ภาพที่ได้วาดเอาไว้คือความพยายามที่จะเก็บ “สิ่งที่เห็น” ให้ได้มากที่สุดโดยสื่อ “นัยยะ” ให้น้อยที่สุดผ่านสิ่งที่ “เรียบง่าย” ที่สุดอย่างดินสอดำ
John Cage’s pencil drawings “Where R = Ryoanji”
แม้กระนั้นสวนหินแห่งเรียวอันจิเอง ก็ไม่ได้พยายามที่จะเป็นสิ่งใดมากไปกว่าแค่ “สวน” เลย ดังเช่นที่ นักประวัติศาสตร์ภูมิสถาปัตยกรรมชาวเยอรมันนามว่า Gunter Nitschke ได้กล่าวเอาไว้ว่า“ข้าพเจ้าค้นพบว่าสวนเรียวอันจิแห่งนี้ไม่ได้พยายามที่จะแสดงสัญญะใดๆให้ประจักษ์แก่ผู้ใดเลย, หรือเพื่อไม่ให้เกิดเป็นความเข้าใจผิดจึงอาจกล่าวได้ว่า เรียวอันจิไม่ได้ตั้งใจจะแสดงสิ่งใด สร้างภาพ หรือตีค่าเทียบเคียงความสวยงามของธรรมชาติอันสามารถหาได้จากทั้งทางโลกและทางธรรมใดๆ, ข้าพเจ้า…ได้ประจักษ์เพียงนามธรรมของการจัดวาง ‘วัตถุธรรมชาติ’ ในสวนแห่งนี้, การจัดวางในพื้นที่ที่ยังประโยชน์สู่การปลุกเร้าจิตสำนึกภายในให้เข้าสู่ฌานสภาวะเพียงเท่านั้น”
ความคลุมเครือระหว่างความเป็นธรรมชาติ และความตั้งใจจัดวาง ก่อคำถามให้เกิดขึ้นในใจผู้ชมสวน
สุดท้ายแล้ว ความงดงามของสวนแห่งนี้สำหรับผมกลับเป็นความไม่แน่นอนขององค์ประกอบที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หญ้ามอส หรือกรวดขาวที่แปรเปลี่ยนพื้นผิวลักษณะไปได้ในแต่ละวัน กำแพงดินเหนียวที่เต็มไปด้วยร่องรอยของกาลเวลา จนถึงพื้นหลังของทิวทัศน์และแมกไม้ เป็นภาพขัดแย้งของความนิ่งสงบและการแปรเปลี่ยนที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ยิ่งได้นั่งชมใต้แสงแดดอุ่นๆแล้วกลับทำให้ผมค่อยๆรู้สึกสัมผัสไปยังบางสิ่งที่ลึกลงไปข้างในของจิตใจ
ความเชื่อมโยงของสวนและอาคารที่เกื้อกูลขับเน้นความสำคัญซึ่งกันและกัน
เมื่อผละออกมาจากชานไม้ที่ฝั่งสวนและเดินไปรอบๆ ผมเริ่มมองเห็นหลายๆสิ่งที่รวมตัวกันอยู่รอบๆศาลานี้ ธรรมชาติภายนอก และพื้นที่ภายในที่ก่อร่างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดเป็นจังหวะที่สอดคล้องของแสงและเงาบนความต่างของพื้นที่ ความสลัวของแสงที่ถูกลำดับชั้นของพื้นที่ค่อยๆลดความเจิดจ้าลง จากภายนอกจนถึงภายใน ผมเริ่มมองเห็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไป
ภายในศาลาจะมีประตูบานเลื่อนกระดาษเรียกว่า Fusuma ซึ่งสร้างให้จังหวะของแสงเชื่อมโยงพื้นที่ภายนอกให้รับรู้ได้แม้อยู่ภายใน เกิดเป็นลำดับของพื้นที่ที่ลงตัว
ในทีแรกที่รู้ว่าจะได้ไปเยือนวัดเรียวอันจิ ผมหวังว่าจะได้พบกับความตื่นตา เป็นความคาดหวังคล้ายๆกับการที่เราเห็นสวนแห่งนี้ในหนังสือ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างกลับดูธรรมดาผิดคาด แรกพบผมผิดหวังเล็กน้อย แต่ด้วยความธรรมดานั้น ผมกลับค่อยๆมอง และทำความเข้าใจทีละนิดลงไป สุดท้ายผมกลับพบกับบางสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าที่คาดไว้ว่าจะได้เจอ
จากเช้าจนบ่าย ผมเริ่มเข้าใจปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในสวนแห่งนี้มากขึ้น หินก้อนที่ 15 นั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ฌานขั้นสูงใดๆ แต่อาจต้องอาศัยความเข้าใจในชีวิตบ้าง หลายเรื่องในชีวิตเราก็ไม่สามารถใช้ตาเนื้อมองเห็นได้ เปรียบได้กับหินก้อนที่ 15 ที่มันอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด แต่หากเราตั้งใจใช้ตามองก็จะไม่เห็น อย่างไรก็ตาม…แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นหินก้อนนั้น แต่มันก็ไม่เคยหายไปไหน เรารับรู้ได้ รู้สึกถึงตัวตนของมันได้ ไม่ใช่ด้วยตา…แต่เป็นด้วยใจ เราเลือกได้ว่าจะเชื่อว่ามีหินก้อนที่ 15 อยู่ หรือจะตีความว่าหินทั้ง 14 ก้อนคือความเป็นจริงตามปัจจุบัน และปล่อยทิ้งให้หินก้อนที่ 15 ไม่มีตัวตนไปเลยก็ได้ สิ่งเหล่านี้เปรียบได้กับความปล่อยวางและเลือกที่จะเข้าใจ เพราะหากเรายังตามหาหินก้อนที่ 15 อยู่ต่อไป คงไม่มีวันที่ใจเรา…จะสงบลง
เพียงหิน กรวด และหญ้า ก็เกิดเป็นความงามได้เมื่อถูกจัดวางอย่างปราณีตบรรจง หรือนี่จะเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ผู้ออกแบบสวนนั้นต้องการจะสื่อ
มีศาลาจึงมีสวน มีภายในจึงมีภายนอก มีแสงจึงมีเงา ทุกสิ่งล้วนมีด้านตรงข้ามที่สร้างให้เกิดกันและกัน ณ สวนแห่งนี้ ผมนั่งอยู่ที่ชานไม้เนิ่นนาน มองไกลออกไปยังป่าด้านหลัง ผมกับภายในของตัวผมเริ่มสร้างบทสนทนาขึ้นแก่กัน ผมในปัจจุบันกับอุดมคติของผมที่เก็บไว้ภายใน ความนิ่งสงบของสวนเริ่มกัดกร่อนเอาสิ่งเกินจำเป็นออกไปจากภายในใจ มากพอที่ผมจะเริ่มพบสิ่งที่สูญหายไปในช่วงเวลาวุ่นวายของชีวิต บางครั้งมันอาจเหมือนหินก้อนที่ 15 ที่เราคิดไปเองว่าไม่มีอยู่จริง เพียงแต่เราลืมไปเองมากกว่าว่ามันยังคงอยู่ตรงนั้น…จนกระทั่งแสงแดดได้ส่องลงมา ผมจึงพบว่า “ความไม่มีอะไร” กลับให้ “อะไร” ได้มากมาย แล้วคุณล่ะ? หากยังตามหาหินก้อนที่ 15 อยู่…ลองมาเยือนเรียวอันจิซักครั้งซิครับ คุณอาจจะได้ค้นพบมัน…จากข้างในใจ
แดดอ่อนๆในยามบ่ายของวัดเรียวอันจิและสวนหินแห่งนี สามารถนั่งมองได้ไม่รู้เบื่อเลยจริงๆ