OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Niran.Apartment มากกว่าหอพักนักศึกษา คือ พื้นที่ศิลปะสาธารณะสำหรับชุมชน

Location: สนามจันทร์ นครปฐม
Architect: ปวัน ฤทธิพงศ์ จาก RAD Studios
Owner: คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ถ้าพูดถึงชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย หนึ่งในสิ่งที่มักถูกพูดถึงนั่นก็คือ ‘หอพักนักศึกษา’ ซึ่งภาพจำของหอพักนักศึกษาของหลายๆ คนคงไม่ได้สวยหรู บางทีอาจจะเป็นเพียงห้องพักห้องเล็กๆ อพาร์ทเมนท์ หรืออาคารง่ายๆ อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยสามารถเดินทางสะดวก แต่ Niran.Apartment กลับเป็นมากกว่านั้น เป็นหอพักที่ใส่ใจทั้งชีวิตและการอยู่อาศัยของนักศึกษา รวมถึงชุมชนที่อยู่โดยรอบ เพื่อให้สถาปัตยกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นมีหน้าที่เอื้อประโยชน์อื่นมากกว่าการเป็นห้องพัก โดยได้ คุณปูน-ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกจาก RAD Studios มาเป็นผู้ออกแบบ

 

Niran.apartment เป็นหอพักนักศึกษาที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งแท้จริงแล้วเจ้าของหอพักนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นของครอบครัว คุณเฟิด-คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ หรือที่เรารู้จักกันในฐานะนักร้องนำวง Slot Machine นั่นเอง

 คุณเฟิดคาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ เจ้าของโครงการ และคุณปูน-ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกจาก RADS Studio

ก่อนจะมาเป็น Niran.apartment

ถ้าย้อนเวลากลับไป ทั้งครอบครัวและคุณเฟิดเองเติบโตขึ้นในจังหวัดนครปฐม นอกจากนั้นคุณเฟิดยังเป็นศิษย์เก่าของมหาลัยวิทยาลัยศิลปากร เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณเฟิดรู้สึกผูกพันกับสถานที่แห่งนี้เป็นพิเศษ ประกอบกับมีพื้นที่บริเวณหน้าบ้านของคุณเฟิดซึ่งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยและเดิมเป็นกิจการปั๊มน้ำมันของที่บ้านซึ่งหมดสัญญาไปแล้ว ทำให้คุณเฟิดตัดสินใจที่จะสร้างอะไรสักอย่างขึ้นบนที่ดินผืนนี้ 

ด้วยความที่คุณเฟิดและคุณเฟิร์น น้องสาว ค่อนข้างที่จะสนิทและมีความชอบในหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่ชอบเหมือนๆ กัน นั่นคือ ‘ศิลปะ’ เมื่อมองถึงความเหมาะสมของบริบทและตำแหน่งสถานที่ คุณเฟิดและน้องสาวจึงตัดสินใจสร้างหอพักนักศึกษาที่นำเอาความชื่นชอบในศิลปะของทั้งคู่มารวมกัน จนเป็นจุดเริ่มต้นของ niran.apartment

ที่อยากเน้นศิลปะค่อนข้างมาก เพราะรู้สึกว่าตอนที่เราเป็นนักศึกษา มันไม่มีที่ให้เราแสดงออก และเราเองก็มีความศรัทธาในการเรียนศิลปะ เรารู้สึกว่าการเรียนศิลปะมันทำให้คนสามารถประยุกต์ไปทำอาชีพไหนก็ได้ ถ้าเกิดคุณมีหัวศิลป์ เลยรู้สึกว่าอยากจะทำให้พื้นที่ตรงนี้ช่วยลดช่องว่างระหว่างงานศิลปะกับคนให้มันน้อยลง”

การทำเพื่อชุมชนและศิลปะ

หอพักนักศึกษาในรูปร่างสามเหลี่ยมล้อมด้วยตะแกรงสีขาวแปลกตานี้ แท้จริงแล้วเปรียบเสมือนพื้นที่ศิลปะสาธารณะสำหรับชุมชน ซึ่งคุณปูน สถาปนิกได้เล่าให้เราฟังว่า ภายในจะประกอบไปด้วยฟังก์ชัน 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกนั้นจะเป็นส่วนของธุรกิจหรือส่วนของหอพัก ซึ่งโจทย์คือการออกแบบให้มีจำนวนห้องที่เยอะเพื่อที่จะไม่เสียพื้นที่และออกแบบห้องให้แตกต่างสร้างความน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และกิจกรรมของนักศึกษา


“หอพัก คนส่วนมากจะคิดว่ามันคือสิ่งที่เราให้คนเช่าแล้วเป็นการอยู่แบบชั่วคราว มันอาจจะมีคนเข้าคนออก มันอาจจะอยู่ไม่นาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองเต็มที่ แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมมองว่าชีวิตประจำวันทุกวันมันมีความสำคัญ ถ้าใช้อันนี้ไม่สะดวก ใช้อันนั้นไม่ดี มันก็ทำให้ชีวิตที่เราเรียนมหาวิทยาลัยมันก็ไม่มีความสุข”

แต่ในส่วนที่สองนั้น คือการทำอะไรกลับคืนให้ชุมชน ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างเป็น hidden space ที่สามารถดึงคนในชุมชนมารวมตัวกันได้ และสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันทั้งคนภายในหอและคนภายนอก เราจึงเห็นลานกิจกรรมขนาดใหญ่บริเวณตรงกลาง ซึ่งลานกิจกรรมตรงนี้จะเปิดกว้าง โดยรองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบทั้งกิจกรรมจากทางมหาวิทยาลัย กิจกรรมของนักศึกษา หรือกิจกรรมสำหรับชุมชน



โดยเมื่อเราเดินเข้ามาจากบริเวณทางเข้า จะพบกับส่วนชั้นหนึ่งซึ่งเป็นลานจอดรถทั้งหมด เมื่อผ่านบันไดตรงมุมตึกขึ้นมา จะพบกับลานกิจกรรมที่เป็นเอเทรียมขนาดใหญ่ขนาบไปด้วยห้องว่างทั้งซ้ายและขวาที่เปิดโอกาสให้เช่าเพื่อทำกิจการต่างๆ ส่วนชั้นสามจนถึงชั้นเจ็ดจะเป็นส่วนของห้องพักทั้งหมดประมาณ 78 ห้อง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่


สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์  จากบริบทและคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน

คุณเฟิดเขาเป็นคนที่คาแรคเตอร์ค่อนข้างชัด และเขามีหลักในการใช้ชีวิต ในการทำเพลง หรืออะไรก็ตามในชีวิตส่วนตัวที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ และผมก็ชอบที่จะไปศึกษาว่าตัวตนของเขาเป็นอย่างไร รวมถึงบริบทของนครปฐม มีพระปฐมเจดีย์ หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกอย่างรวมกันจนมาเกิดเป็นงานนี้”


ด้วยฟังก์ชันสาธารณะและฟังก์ชันที่ต้องการความเป็นส่วนตัว คาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของคุณเฟิดและน้องสาว รวมถึงบริบทของพื้นที่ ประเด็นเหล่านี้ต่างก็เป็นที่มาของรูปลักษณ์ของโถงกลางคล้ายสามเหลี่ยมที่เรามองเห็น คุณปูนยังบอกว่ามันคือสัญลักษณ์มือสามเหลี่ยมที่คุณเฟิดชอบใช้ด้วย ทั้งหมดยังเชื่อมโยงไปถึงสัญลักษณ์ของพระปฐมเจดีย์ที่มียอดแหลม  นำมาสร้างรูปแบบที่แสดงถึงความมินิมอล และ Futuristic อันเป็นสไตล์ที่คุณเฟิดชื่นชอบเป็นพิเศษ

ซึ่งในการออกแบบสเปซเป็นรูปทรงนี้นั้น นอกจากจะโดดเด่นและแตกต่างแล้ว หากเราลองดูที่ภาพตัดของอาคาร ด้วยลักษณะของสเปซที่เอียงขึ้น เราจะเห็นสเปซตรงกลางเอเทรียมเป็นรูปตัวเอ ซึ่งในแต่ละชั้นจะได้พื้นที่ที่มีความหลากหลายและเกิดรูปแบบของห้องที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อสร้างห้องพักได้อย่างคุ้มค่าแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับส่วนรวม

                                                                       

วัสดุที่แสดงถึงความเป็น นิรันดร์

เมื่อเดินเข้ามายังโถงกลางนิรันดร์อพาร์ทเมนท์แห่งนี้ ภาพที่ซ้อนขึ้นมาให้นึกถึงคงจะเป็นฉากยานอวกาศจากหนัง sci-fi สักหนึ่งเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเพราะโทนสีขาวสนิท สะอาดตาทั้งอาคาร แพทเทิร์นของฟาซาด หรือวัสดุที่มีความมันเงา สะท้อนความแปลกตาที่ทางผู้ออกแบบเลือกใช้  

ซึ่งทางคุณปูนเองเลือกใช้วัสดุที่สามารถสะท้อนได้ในตัวเอง อย่างเช่น กระจกที่เป็นตัวปิดฟาซาดทั้งสองด้าน เพื่อเน้นให้สเปซมีความยาวต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดสมกับชื่อของนิรันดร์ แต่การใช้กระจกในทางสูงนั้นอาจจะไม่เหมาะสักเท่าไร คุณปูนจึงเลือกใช้อลูมิเนียมที่ยังคงคุณสมบัติสะท้อนได้เช่นเดียวกัน แต่มีความเหมาะสมมากกว่า



ส่วนโทนสีขาวสะอาดตาทั้งอาคารนั้น เป็นความชื่นชอบส่วนตัวของคุณเฟิร์น ประกอบกับนิรันดร์แห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศิลปะและอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณปูนจึงตั้งใจให้อาคารแห่งนี้คล้ายกับผืนผ้าใบเปล่า เป็นพื้นที่ส่วนกลางเปิดกว้างทางความคิด ที่พร้อมให้นักศึกษา หรือคนที่สนใจในศิลปะลงมาแต่งเติมพื้นที่แห่งนี้ได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน

 โดดเด่นและแตกต่างด้วย ‘Facade’

ลักษณะของสเปซที่เป็นทรงเอที่มีลักษณะบีบลงด้านล่าง ทำให้ตัวฟาซาดต้องมีลักษณะปิดแต่โปร่งเพื่อทำหน้าที่เป็นราวกันตกที่ป้องกันความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย แต่ในขณะเดียวกันยังมองเห็นพื้นที่กิจกรรมบริเวณชั้น 1 ได้ ด้วยสเปซที่ค่อนข้างกว้าง คุณปูนจึงตั้งใจสร้างแพทเทิร์นของฟาซาดที่จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น



“สเปซรูปตัวเอนี้ยังมีข้อดีที่ช่วยให้คนที่ทำกิจกรรมอยู่บริเวณชั้นล่างสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ชั้นบนได้ ซึ่งคนที่เดินอยู่ชั้นบนจะถูกบังคับสายตาจากผนังที่เอียงให้ลงมาสู่บริเวณพื้นที่ด้านล่างโดยอัตโนมัติ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นช่องของฟาซาดบางช่วงที่มีจังหวะเปิดช่องใหญ่ เพื่อสามารถทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถมามองดูกิจกรรมด้านล่างได้อย่างถนัดตามากขึ้น”

ซึ่งขั้นตอนในการสร้างแพทเทิร์นของฟาซาดเหล่านี้ก็ถือว่าซับซ้อนไม่น้อย และเป็นการทดลองวิธีการใหม่ๆ โดยคุณปูนจะเขียนสคริปต์ขึ้นมาเพื่อนำไปเข้าโปรแกรมที่สถาปนิกมักใช้ขึ้นโครงสามมิติอย่าง Rhino ซึ่งทางผู้ออกแบบจะเป็นผู้สร้างเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัย ทำให้โปรแกรมสร้างแพทเทิร์นออกมาในแบบที่เราเห็น ส่วนไหนที่อยู่สูง ต้องการความปลอดภัยมากหรือบริเวณที่อยู่ใกล้ช่องเปิด ฟาซาดจะยิ่งมีความถี่มากขึ้นนั่นเอง


Gateway to the Universe สู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์

“Gateway to the Universe จริงๆ เป็นคำของคุณเฟิด คุณเฟิดเขาชอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับสเปซ เกี่ยวข้องกับอวกาศ เพราะคุณเฟิดเองก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่ความสงบสุขจนเป็นนิรันดร์”

จากประสบการณ์ที่เคยเป็นเด็กหอมาก่อน จึงทำให้คุณเฟิดเข้าใจถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัย และต้องการให้ผู้ที่เข้าพักอาศัยรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน ไม่ได้รู้สึกว่าสถานที่นี้เป็นเพียงหอพักที่จะมาอยู่ชั่วคราว ในการออกแบบภายในของห้องทั้งสามรูปแบบ จะมีความคล้ายคลึงกับคอนโดมิเนียมหรือโรงแรม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กมหาวิทยาลัยที่ต้องการความสะดวกสบาย และต้องการพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย



จริงๆ คำว่า นิรันดร์ แนวคิดมันก็มาจากเราต้องการให้เขารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เพราะสุดท้ายแล้วผมว่าชีวิตทุกคนต้องการความสุขหรือความสงบง่ายๆ ถึงแม้บางทีจะเป็นเพียงชั่วขณะสั้นๆ แต่อยากให้คนที่มาอยู่ตรงนี้ มีความสุขเป็นนิรันดร์” คุณเฟิดกล่าวทิ้งท้ายถึงชื่ออันไพเราะของอพาร์ทเมนท์แห่งนี้


มากกว่าการเป็นหอพักนักศึกษา ฟังก์ชันที่เสริมเข้ามาเพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มคนที่หลากหลาย ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำเพื่อคนท้องถิ่นหรือชุมชนโดยรอบ เราจึงได้เห็นตัวโปรแกรมและรูปลักษณ์อันโดดเด่นที่ช่วยสร้างความแตกต่าง ส่งเสริมคาแรคเตอร์ของเจ้าของและสถานที่ตั้งได้อย่างลงตัว