Location: อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
Designer: อุกฤษฏ์ บวรสิน, ศตวัชร ขัตลิวงศ์ , ปาลิดา เศรษฐศุภร , ณพิชญา เพิ่มแสงงาม, พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Photographer: ธนชาติ สุขสวาสดิ์ , baanlaesuan.com
หากพูดถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่ อีกหนึ่งภาพจำของใครหลายๆ คน คงจะเป็นประตูเมืองเก่าที่คอยต้อนรับทักทายนักท่องเที่ยว เป็นเหมือนแลนด์มาร์กของเมืองที่บ่งบอกว่าคุณมาถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ด้วยบริบทและเอกลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความชัดเจน จึงกลายเป็นโจทย์หนึ่งที่ทีมสถาปนิกจาก blankstudio นำมาออกแบบ Wonderwall Hotel โรงแรมสีสนิมในโซนเมืองเก่าแห่งนี้ ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ช่วยเตือนให้คนนึกถึงบริบทของความเป็นเชียงใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างไว้ได้อย่างลงตัว
คงสภาพเดิมแบบ ‘สัจจวัสดุ’
ด้วยตำแหน่งพื้นที่ เดิมเป็นที่ดินของหุ้นส่วนคนหนึ่งในบริษัท blankstudio ซึ่งถูกเช่าเพื่อทำเป็นเกสต์เฮ้าส์อยู่แล้ว เมื่อถึงคราวหมดสัญญาเช่าและย้ายออกไป ทีมออกแบบจึงมีโอกาสเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เพื่อทำเป็น Wonderwall Hotel อย่างที่เราเห็น ซึ่งทีมออกแบบตั้งใจที่จะเก็บตึกเกสต์เฮาส์ที่มีอยู่เดิมเอาไว้เพียงแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่เมื่อจะสร้าง ‘โรงแรม’ สิ่งที่ยังขาดไป คือส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเช่น ส่วนต้อนรับ จึงมีการสร้างตึกใหม่ขึ้นมาอีกหลังหนึ่งเพื่อเสริมในส่วนของพื้นที่ส่วนกลางโรงแรมนั่นเอง
โดยจุดเริ่มต้นในการออกแบบนั้น ทางทีมผู้ออกแบบต้องการจะคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยการเก็บทุกอย่างไว้ แม้แต่สีภายนอกอาคาร และมีการเคลือบสีเพื่อให้สีเก่าไม่หลุดร่อน ส่วนภายในจะถูกทำใหม่ทั้งหมด ทำให้ลูกค้าที่เข้าพักเกิดความรู้สึกเซอไพรส์จากความรู้สึกที่ขัดแย้งกันระหว่างเก่าและใหม่
ภาพภายนอกของอาคารเกสต์เฮาส์เดิมก่อนรีโนเวท
“การที่คงสภาพเอาไว้มันต่อเนื่องไปกับแนวคิดการออกแบบ เราต้องการสะท้อนถึงสัจจวัสดุ ต้องการสะท้อนวัสดุต่างๆ ในตัวโครงการออกมาว่ามันมีความสวยงามในตัวของมันเอง เวลาลูกค้าเข้ามา เขาก็จะสงสัยว่าทำไมภายนอกมันเก่าจัง ดูโทรมนิดๆ ตรงนี้ก้เป็นเรื่องราวให้ทางโรงแรมได้เล่าต่อว่าตึกนี้มันมีที่มา มีประวัติอย่างไร”
ฟังก์ชัน Public และ Private ที่อยู่ด้วยกันได้
โรงแรมแห่งนี้มีฟังก์ชันหลักๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองอาคารอย่างชัดเจน อาคารแรกคือ ตึกเกสต์เฮาส์เดิมที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่เป็นส่วนห้องพักของโรงแรมที่มีทั้งหมด 14 ห้อง ส่วนอีกอาคารจะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้บริเวณชั้น 1 เป็นส่วนต้อนรับของโรงแรม รวมถึงร้านกาแฟที่เปิดสาธารณะให้คนภายนอกสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ส่วนชั้นบนจะเป็นออฟฟิศสถาปนิกของ blankstudio
ซึ่งทั้งสองอาคารจะถูกเชื่อมกันด้วยคอร์ดพื้นที่สีเขียวที่ถูกแบ่งเป็นทางเดินทำจากอิฐ บางบล็อกจะปลูกหญ้า บางบล็อกจะมีการโรยกรวด โดยจะมีวัสดุเพียง 2-3 แบบเท่านั้น พื้นที่คอร์ดตรงนี้ยังเป็นเหมือนวิวพื้นที่สีเขียวให้กับคนที่มาพักในโรงแรมและเป็นพื้นที่ที่คนภายนอกที่มาร้านกาแฟสามารถมาถ่ายรูปได้ โดยถัดจากสวนนี้เข้าไปจะสงวนไว้สำหรับลุกค้าที่เข้าพักในโรงแรมเท่านั้น เป็นการแบ่งฟังก์ชัน Public และ Private เอาไว้อย่างชัดเจน
ภาพ Layout Plan ของโรงแรมที่เห็นขอบเขตของอาคารเก่าและอาคารที่สร้างขึ้นใหม่อย่างชัดเจน credit: blankstudio
บริบทที่ถูกสะท้อนผ่าน ‘ความสวยงามในความไม่สมบูรณ์’
“เวลาคนเข้ามาเขาก็จะสามารถเชื่อมโยงกับบริบทได้ทันที เขาจะรู้สึกได้ว่าโรงแรมแห่งนี้พยายามออกแบบโดยนึกถึงบริบท หลายๆ คนก็จะมาถามว่าใครเป็นคนออกแบบ ซึ่งลูกค้าหลายท่านให้ความสนใจ”
ด้วยบริบทตัวโรงแรมที่ตั้งอยู่ในโซนเมืองเก่า และอยู่ใกล้ประตูท่าแพซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่าของเชียงใหม่ โดยไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดั้งเดิม 100 เปอร์เซนต์เหมือนที่เคยเป็นในอดีต แต่ด้วยความไม่สมบูรณ์นี้เอง กลับกลายเป็นสเน่ห์ที่หลายคนให้ความสนใจและมองว่ามันสวยงาม ทีมออกแบบจึงนำจุดสังเกตนี้มาสร้างแนวคิด ‘ความสวยงามในความไม่สมบูรณ์’ ที่ถ่ายทอดผ่าน ‘สัจจวัสดุ’ ในงานสถาปัตยกรรม
เราจึงเห็นส่วนต่างๆ ของโรงแรมที่ถูกออกแบบด้วยการจัดเรียงองค์ประกอบที่แตกต่าง หรือวัสดุที่ไม่จำเป็นต้องสร้างให้สมบูรณ์และเนี้ยบมากจนเกินไป แต่เมื่อมาอยู่ถูกที่ถูกทางก็สามารถสะท้อนความสวยงามของตนเองออกมาได้ อย่างเช่น รั้วทางเข้าที่ถูกออกแบบเป็นตะแกรงเต็มไปด้วยอิฐที่ถูกกรอกลงไป ซึ่งผู้ออกแบบต้องการสะท้อนให้เห็นว่ารั้วของโรมแรมเป็นเสมือนกำแพงเมือง แต่นำมาจัดเรียงขึ้นในรูปแบบใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ เพื่อสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ทางเข้าโรงแรม
วัสดุอื่นๆ อย่างเหล็กสนิม อิฐบล็อกในตัวคาเฟ่ หรือกำแพงที่ตั้งใจฉาบให้มันหยาบๆ ถูกสื่อออกมาให้ใกล้เคียงความสวยงามในความไม่สมบูรณ์มากที่สุด โดยการทำให้วัสดุหลายๆ อย่างสะท้อนความสวยงามในตัวของมันเอง บันไดเหล็กที่เป็นจุดเด่นของโรงแรมถูกแสดงออกมาโดยไม่ผ่านการแต่งเติม ซึ่งผู้ออกแบบมองว่าเหล็กที่เป็นสนิมจะสามารถขับความงามของมันออกมาได้มากกว่าเหล็กที่ถูกพ่นเคลือบสีทับเอาไว้ รวมถึงการฉาบปูนบริเวณคาเฟ่ยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์ แต่ในความไม่เนี้ยบ ไม่สมบูรณ์นี้เองก็ยังมีความสวยงามที่แฝงอยู่
ส่วนภายในของโรงแรมจะแตกต่างจากภายนอกตรงที่ต้องทำให้บรรยากาศดูสะอาด น่าพัก ภายในจึงเน้นใช้โทนสีขาวในการออกแบบ เพื่อทำให้ดูสะอาดตา และมีการทุบผนังห้องน้ำออกทั้งหมดโดยเปลี่ยนเป็นวัสดุกระจก เพื่อทำให้ห้องดูกว้างมากขึ้น
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมบริบทแล้ว ชื่อ ‘wonderwall Hotel’ ก็ยังสะท้อนถึงบริบทด้วยเช่นกัน โดยสื่อถึงกำแพงเมืองที่ถูกนำมาเล่าเป็นเรื่องราวภายในโรงแรมบวกกับแนวคิดเสริม branding โดยอยากให้ชื่อโรงแรมเป็นคำที่ทุกคนรู้จักในวงกว้าง ทั้งชาวไทยและชาวทั้งต่างชาติ จึงเป็นที่มาของชื่อ Wonderwall ซึ่งมีที่มาจากชื่อเพลงหนึ่งของวงดนตรีชื่อดังอย่าง oasis นั่นเอง
“ผมมองว่าสถาปัตยกรรมมันควรจะคำนึงถึงบริบท มันควรจะมีความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้าง และควรจะอยู่ได้นาน ไม่ควรจะเป็นแฟชั่นมากเกินไป ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ถึงแม้จะมีสนิมขึ้น เก่าขึ้น แต่มันก็ควรที่จะยังสวยได้ในตัวของมันเอง” ไม่เพียงตอบโจทย์ต่อบริบท แต่สถาปัตยกรรมแห่งนี้ยังนำความสวยงามมาสร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบใหม่ที่แตกต่างซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้มาเยือนไม่น้อยเลยทีเดียว