“ตอนนั้นพี่จบโปรเจ็คต์หนังการ์ตูนเก้าศาสตราที่อยู่กับมันมาสี่ปีครึ่ง มันเป็นประสบการณ์การทำหนังแอนิเมชั่นสเกลที่ไม่เคยแตะมาก่อน สิ่งที่ต้องบริหารจัดการมันมีความเครียดอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งพอดีกับเป็นช่วงที่ตุ๊กมีลูก แล้วเราไม่ค่อยมีเวลาเจอลูกเรา ตุ๊กเลยเริ่มทำเพจ Little Monster โดยมีพี่คอยเป็นที่ปรึกษา เป็นครีเอทีฟ และเซ็ตอัพความเป็นบริษัทให้ตุ๊ก”
จากธุรกิจที่ พี่เหว่ง – ภูศณัฏฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ หรือ พ่อเหว่ง บอกกับเราว่าเป็นธุรกิจที่เสี่ยงที่สุดในชีวิตเขากับความเป็นพ่อในวัย 39 ปีในตอนนั้น กลายมาเป็นพื้นที่ของความรักความอบอุ่น (บวกความแสนซน) ส่งต่อให้คนทางบ้านอารมณ์ดีตามไปด้วย จนประสบความสำเร็จ และต่อยอดขยายเป็นคอนเทนต์ที่ยังคงความเป็นพี่เหว่งในหลายมุมที่แตกต่างออกไป ทั้งเทพลีลา และนักขายมือทอง “ทุกอย่างที่พี่ทำ พี่สุดก่อนนะ ทุกอย่าง สุดในความคิดของเราคือเต็มที่แล้ว”
ความคาดหวังและเส้นทางเรียนเต็คที่ไม่ได้เป็นอย่างใจ
เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนมัธยมปลายทั่วไปในตอนนั้นที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเดินไปทางไหนต่อ พี่เหว่ง ม.6 ที่รู้แค่ว่าตัวเองวาดรูปได้ เกี่ยวกับสายวิทย์ จึงมุ่งตรงปลายทางการเอ็นทรานซ์มาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความคาดหวังที่จะได้เรียนจบไปนั่งวาดรูปหล่อๆ ในห้องแอร์
“ด้วยความที่ไม่ค่อยรู้อะไร พอเข้าไปปุ๊บ ทุกอย่างมันเป็นสิ่งใหม่หมดเลย พอเริ่มมีการดราฟต์งานด้วยมือ เริ่มจากดราฟต์โดมสถาปัตยกรรมยุคเก่า ดราฟต์ยากๆ ใช้เครื่องมือเยอะๆ ก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่ใช่ อยากลาออกตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดเทอมเลย มันเหนื่อยมาก สำหรับพี่มันยากมาก แต่เราก็ตั้งใจนะ ทำจนถึงเช้าเลยเพราะต้องส่งให้ทัน ไม่ทันคือ F วันนั้นพี่กลับมาบอกแม่เลยว่าอยากลาออก ไม่ไหวแล้ว รู้สึกไม่ใช่ ออกได้ไหม มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด แม่ก็บอกว่าแล้วแต่ แต่ก็มีฝากไว้ว่าอีกสักหน่อยไหมล่ะ ถ้ายังเหมือนเดิมก็ออก พี่ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าแม่คงอยากให้เราเรียนมั้ง ก็เลยทนเรียนต่อไป”
ความฝันที่อยากจะเป็นสถาปนิกเริ่มเลือนหายไปตั้งแต่ปีแรกที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เหนี่ยวรั้งชีวิตการเรียนที่ไม่ได้ชอบเอาไว้ก็คือชีวิตวัยรุ่นที่มีฟุตบอล เพื่อน สังคมสถาปัตย์ทีมีความสนุก และมีกิจกรรมให้ทำเสมอ เรียกว่าเป็นการเติมเต็มความสุขในวัยเรียนจนรอดผ่านมาจนทำธีสิส
“จริงๆ พี่ไม่ได้เป็นคนเรียนแย่นะ ถัดมาก็เริ่มเรียนได้ดีขึ้น จนตัวธีสิสพี่ได้ A ตอนนั้นพี่ทำซาฟารีเวิร์ล ซึ่งซาฟารีเวิร์ลของพี่คือศูนย์ที่ให้คนเข้าไปผจญภัยแบบสวนสนุกเลย มีทั้งสัตว์จริงสัตว์ปลอมอยู่ข้างใน มีคลองให้เดินตะลุยน้ำแล้วผ่านดงจระเข้จริง เล่นกับความตื่นเต้น ซึ่งพี่ก็จินตนาการของพี่ไปเรื่อย ปรากฏว่ามันได้เรื่องของแนวทางการคิด นั่นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตพี่เลยว่า จริงๆ แล้ว การคิดบางอย่างที่มันนอกกรอบ มันใช่สำหรับเรา เริ่มรู้สึกว่าเราสนุกกับการได้คิด”
คิดเล่น เป็นงาน เส้นทางคู่ขนานกับงานสถาปนิกอิสระ
หลังจากเรียนจบสถาปัตย์ จากที่ไม่คิดว่าจะเป็นสถาปนิก พี่เหว่งกลับได้ใช้เส้นทางนี้เป็นทางคู่ขนานกับทางอื่นที่ตัวเองรัก เรียกว่าใช้งานสถาปัตยกรรมเป็น่ตัวช่วยประคองชีวิตก็ไม่ผิดนัก
“ตอนนั้นทำหลายอย่างเลยนะ เราก็บอกแม่ว่าเราอยากค้นหาตัวเอง ไปสมัครซาฟารีเวิร์ลด้วยนะ ซึ่งก็เป็นการสมัครงานครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของพี่ แล้วก็ไปเป็นนักแต่งเพลงฝึกหัดที่แกรมมี่ แต่ก็ไม่ผ่าน จากนั้นก็ไปร้องเพลงไกด์ ซึ่งระหว่างนั้นเราก็เลยรับฟรีแลนซ์มาทำ เป็นพวกงานออกแบบอินทีเรียร์กับตัดโมเดล เพราะเราคิดว่าเราตัดโมเดลเก่ง ยิ่งเล็ก ยิ่งเหมือน ยิ่งสนุก ซึ่งงานออกแบบเนี่ยแหละที่ทำให้เราเจอความเป็นจริงของการทำงาน เจอลูกค้าจริงๆ ที่ต้องดีล เจอหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ชอบ”
หลังจากเส้นทางการเป็นศิลปินจบลง ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่เพื่อนสนิทชวนไปทำหมูปิ้งขาย แต่หมูปิ้งแบบพี่เหว่งย่อมไม่ธรรมดา เพราะเขามองว่าสิ่งนี้คือแบรนด์ จนพอเริ่มมีลูกค้าติดก็ขยายเป็นร้านส้มตำด้วย “ระหว่างนั้นพี่มีเส้นกราฟของงานดีไซน์รองไว้ตลอด จนตอนนั้นรู้สึกไม่ไหวแล้วจริงๆ เลยมารวมกับเพื่อนๆ เปิดบริษัทออกแบบอีเว้นต์และอินทีเรียร์ แต่เป้าเราคือ ถ้าเราทำบริษัทรอด อีก 2 ปีจะเซ็ตอัพบริษัทเล็กๆ ขึ้นมา ซึ่งก็กลายมาเป็น Igloo Studio ทำคาแร็กเตอร์การ์ตูนเดอะสลัด และกลายเป็นโปรเจ็คต์เก้าศาสตราในที่สุด”
แม้เส้นทางการทำงานที่รักในชีวิตจะโลดโผนเกินคาดฝัน แต่สกิลของความเป็นสถาปัตย์ก็ฝังอยู่ในสายเลือดและแนวคิดของการทำงานทุกอย่างของพี่เหว่งไปแล้ว “มันกลับกลายเป็นว่าสถาปัตย์ไม่ได้สอนให้เราออกแบบ สถาปัตย์สอนให้เราคิดนอกกรอบ สถาปัตย์สอนให้เราคิดถึงงานคอนเซ็ปต์ที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งก็อยากบอกตัวเองว่า ดีแล้วนะที่มึงทำ เพราะในความที่ไม่ได้อยากทำหรือเจอปัญหาเหล่านั้น มันก็ทำให้เราเป็นวันนี้”
Little Monster และอนาคตเพื่อครอบครัว
วันนี้ที่ครอบครัวแสนสนุกของพี่เหว่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเราหลายคนไปแล้ว ใครจะเชื่อว่าเริ่มต้นจากวิกฤติชีวิตที่จำเป็นต้องสร้างหลักที่มั่นคงให้กับครอบครัว จากคลิปที่แม่ตุ๊กถ่ายเล่นๆ ในบ้านแล้วกลายเป็นไวรัลขึ้นมา พ่อเหว่งจึงรับหน้าที่เป็นครีเอทีฟ และกลายเป็นงานที่ผสมกับชีวิตไปแล้ว
“จริงๆ ตอนนั้นพี่ไม่รู้จักเพจเลยนะ เพราะพี่ยุ่งอยู่กับงานอะนิเมชั่นแค่อย่างเดียว จนพอมาเริ่มทำเพจ พี่คิดว่า Little Monster จะต้องมีคาแร็กเตอร์นะ ไม่ใช่เป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เราเลยวาดคาแร็กเตอร์ไดโนเสาร์ที่ความแสบมันออกมาในรูปแบบของฮู้ดดี้สีเขียว ตุ๊กก็ถามว่า ทำไมเราต้องดีไซน์แบบนี้ แต่พี่คิดว่า ถ้าวันหนึ่งเพจมันไปได้ คาแร็กเตอร์ตัวนี้ก็จะไปได้ทันทีในรูปแบบของ Merchandising ถามว่ามันสร้างเงินยังไง? มันสร้างมาจากความเป็นแบรนด์คาแร็กเตอร์ เราเห็นภาพของการได้เงินในรูปแบบของสินค้า เพจ มีสปอนเซอร์บ้าง แต่เราไม่เคยมองภาพที่วันหนึ่งจะกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์เลย”
พี่เหว่งเรียกงานของตัวเองทุกวันนี้ว่าเป็นงานครีเอทีฟคอนเท้นต์ แล้วทยอยขยายออกไปด้วยบุคลิกที่ต่างกัน Little Monster – จุดเริ่มต้นเป็นภาพของครอบครัวที่พยายามเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด, เทพลีลา – คอนเท้นต์ที่เป็นตัวตนของพี่เหว่ง และนักขายมือทอง – คนกลางขายของพร้อมความบันเทิงแบบ Live สด
“ทั้งหมดนี้พี่ไม่ได้คิดทำพร้อมกันนะ พอถึงจุดหนึ่งเราถึงตัดไปอีกจุด แล้วเมื่อมองเห็นโอกาสแล้วก็เริ่มทำ สิ่งที่พี่ทำวันนี้คือสร้างความมั่นคงแบบที่มันควรจะเป็นให้กับครอบครัว ไม่ใช่แค่ครอบครัวของพี่นะ แต่เป็นคนที่อยู่ในเครือบริษัทเราทั้งหมด เขาต้องเห็นพัฒนาการของที่นี่ว่าเขาเติบโตแล้วเขาจะได้อะไร เขาจะพัฒนาตัวเองไปถึงจุดไหนได้บ้าง”
เพราะเราเห็นแววนักวาดในตัวจินจึงถามคำถามสุดท้ายว่า ถ้าจินกับเรนนี่บอกว่าอยากเป็นสถาปนิก พี่เหว่งจะพูดกับลูกยังไง? พี่เหว่งตอบกับเราว่า “ก็คงถามก่อนว่าชอบจริงหรือเปล่า แล้วชอบอะไร ถ้าอยากจะเป็นสถาปนิก พร้อมจะเหนื่อย ก็ลุยเลย แต่ถ้าอยากเรียนสถาปัตย์แต่ไม่อยากเป็นสถาปนิก ก็ต้องถามหนักเลยว่า หนูต้องการอะไรจากตรงนี้ ก็คงให้เหตุผลแบบแนะแนวชีวิตเลย เพราะพี่เรียนมาก่อน ซึ่งตอนนี้เด็กๆ ก็มีวิถีของเขานะ แล้วเดี๋ยวมันก็จะชัดเอง ว่าเขาอยากทำอะไร”