เพราะชีวิตนั้นคือความหลากหลาย และบ้านก็เช่นกัน… ในช่วงเวลาหนึ่ง บ้านต้องการความไม่ซ้ำกันของรูปแบบ เพื่อให้สถาปัตยกรรมได้แสดงตัวตน เพื่อทำหน้าที่ของการเป็นอาคารที่ดี และที่สำคัญต้องตอบสนองกับความต้องการของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดีที่สุด
ไม่ไกลนักจากปากซอยนราธิวาส 18 เราก็พบบ้านหลังนี้ เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดินเดียวกัน ใกล้กับบ้านของญาติพี่น้อง โดยตั้งใจให้เป็นบ้านสำหรับครอบครัวของคุณยรรยง และคุณอนิลรัตน์ นิติสาโรจน์ ซึ่งสร้างติดกับบ้านเดิมของพวกเขาเอง โดยมีทางเชื่อมทั้งที่ชั้น 1 และ 2 สามารถเดินไปมาระหว่างบ้านใหม่และเก่าได้ตลอด โดยแนวคิดในการออกแบบ มาจากการที่เจ้าของบ้านนั้นต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่สำหรับจัดงานสังสรรกันของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง รวมไปถึงญาติพี่น้องซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ดินเดียวกัน เป็นพื้นที่รวมตัวกันในรูปแบบอินดอร์ รูปแบบของตัวอาคารและวัสดุ จึงสื่อสารออกมาอย่างที่เห็น
คุณจาริต เดชะคุปต์ จาก บริษัท บานาน่า สตูดิโอ จำกัด ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในบอกว่า “ต้องการใช้บ้านนี้ดูมีความน่าสนใจ สนุกสนาน และดูผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน เพราะด้วยการใช้งานที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีห้องนอนอยู่ที่ชั้นบน 1 ห้อง จึงออกแบบบ้านที่มีเส้นสายที่ไม่ตั้งฉากกัน ทั้งในระนาบนอนและตั้ง รวมถึงวัสดุที่มีความหลากหลายทั้งสีและสัมผัส ทำให้บ้านหลังนี้ดูน่าสนใจ หลากหลายและไม่น่าเบื่อ ซึ่งโครงสร้างหลักที่จะสามารถเอื้ออำนวยในการออกแบบบ้านแนวทางนี้ ก็คงไม่พ้นโครงสร้างเหล็กนั่นเอง และโครงสร้างเหล็กนั้น ยังสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างช่วงพาดได้กว้าง โดยที่ไม่ต้องมีเสามารับ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ชั้นล่างของบ้าน ที่สถาปนิกออกแบบให้เป็นส่วนของห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร และส่วนเตรียมอาหาร รวมไว้ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีผนังกั้น พื้นที่ที่กว้างของห้องนี้ไม่ต้องการเสามาบดบังการใช้งาน โครงสร้างเหล็กจึงมีความสำคัญกับบ้านหลังนี้(เมื่ออยู่ที่บริเวณโถงนี้ จะรู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหว ความหลากหลาย และความสนุกสนานในการใช้วัสดุภายในบ้านหลังนี้)
ความหลากหลายนั้นยังแสดงออกมาในด้านของการตกแต่งภายใน กล่าวคือเจ้าของบ้านจะเป็นคนที่ชอบซื้อและสะสมของแต่งบ้านอยู่แล้ว หรือจะเรียกว่าการออกแบบตกแต่งภายในบ้านหลังนี้ เริ่มจากการมีเฟอร์นิเจอร์หลัก 1 – 2 ชิ้น และออกแบบภายในให้ดูเขากัน เป็นไปในทางเดียวกัน โดยเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดเชียงใหม่ บวกกับภาพวาดติดผนังจากศิลปินชื่อดัง ของตกแต่งเหล่านี้ได้ถูกกำหนดลงไปในแบบแล้ว ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดของบ้านที่จะเหมาะสมที่สุด(บ้านหลังนี้เป็นบ้านกึ่งแกลลอลี่ เพราะมีงานศิลปะที่สะสมมาของเจ้าของบ้านติดทั่วทั้งบ้าน โดยเจ้าของบ้านนั้นตั้งใจจะเปลี่ยนสลับไปมา เพื่อให้บ้านนั้นดูมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา)
(เนื่องจากเป็นบ้านที่ต้องการความสนุกสนาน บันไดจึงออกแบบลูกนอนเป็นกระจกใส แต่มันใจได้เรื่องความแข็งแรง เพราะเป็นกระจก Temper หนา 2 ชั้นประกบกัน)
โดยคุณจาริตอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุภายในว่า “เราขอเรียกแนวคิดในการเลือกใช้วัสดุภายในว่า Outstanding contrast เพราะด้วยแนวคิดหลักที่ต้องการให้บ้านนั้นมีความผ่อนคลาย สนุกสนาน ไม่เป็นทางการ เราจึงเลือกใช้วัสดุที่หลากหลาย มีการตัดกันของสีและพื้นผิวที่ชัดเจน เช่น ที่บริเวณห้องนั่งเล่น มีการปูกระเบื้องหินธรรมชาติ ตัดกับกระเบื้องแกรนิตสีดำมันวาว เกิดความแตกต่างที่ดูเข้ากัน
(ห้องรับแขก รวมกับห้องรับประทานอาหารที่มีความสูงฝ้ามากกว่าปกติ เพื่อลองรับการใช้งานที่อาจมีผู้เข้ามาใช้งานหลายสิบคน เป็นพื้นที่พบปะหลักของครอบครัว)
ส่วนแปลนของบ้านนั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมา เพราะประกอบด้วยพื้นที่ชั้น 1 คือห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร ห้องน้ำ ที่จอดรถ และโถงบันได โดยมีการเปิดฝ้าสูง 2 ชั้น เพื่อให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนจริงๆ ส่วนที่ชั้น 2 นั้นก็ประกอบด้วยห้องนอน 1 ห้อง ห้องน้ำ และส่วนแต่งตัวเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นบ้านสำหรับการพบปะสังสรรจริงๆเลยก็ว่าได้
(“แสงเหนือ” หรือ “ลำแสงออโรร่า” คือแรงบันดาลในการออกแบบแผงผ้าม่านตกแต่งเหนือโต๊ะรับประทานอาหารนี้ โดยที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับพื้นที่แล้ว ยังเป็นการช่วยบดบัง เพิ่มความเป็นส่วนตัว ให้กับภายในไม่ให้เพื่อนบ้านสามารถมองเข้ามาเห็นได้ด้วย)
(โครงสร้างเหล็กกับเส้นสายที่เฉียงไปมา สร้างความน่าสนใจให้กับทางเข้าบ้านและรูปแบบโดยรวม วัสดุอย่างแผ่นเมทัลชีต ถูกนำมาทำเป็นหลังคาและบางส่วนก็พับหักลงมา กลายเป็นผนังของบ้านด้วย)
(ผังพื้นชั้น 1)
(ผังพื้นชั้น 2)
เห็นได้ว่า บ้านที่ใช้วัสดุหลากหลายใช่ว่าจะดูไม่ลงตัว เช่นเดียวกับบ้านนี้ ที่มีความหลากหลายและดูลงตัวได้ไม่ยาก