หลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นหูกับชื่อดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น Naoto Fukasawa กันซักเท่าไรนัก แต่หากคุณคือคนหนึ่งที่ชื่นชอบดีไซน์การออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายจากประเทศญี่ปุ่นแล้วละก็ อาจจะเคยเห็นผลงานการดีไซน์ของเค้าผู้นี้ผ่านตากันมาบ้าง ทั้งของจริงและภาพที่แชร์ต่อๆกันในอินเตอร์เน็ต หรือในบางที คุณอาจจะเป็นเจ้าของผลงานการดีไซน์ของเค้าผู้นี้อยู่โดยไม่รู้ตัว
Naoto Fukasawa เกิดในปี 1956 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ และได้เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1989 โดยทำงานเป็นนักปรึกษาด้านการออกแบบให้กับบริษัท IDEO (San Francisco) เป็นเวลาถึง 8 ปี ต่อมาใน ปี 2003 ได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ Naoto Fukasawa Design ยังคงทำงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ สเปน กลุ่มประเทศสแกนดีเนเวีย และประเทศในเอเซีย นอกจากนี้เขายังเป็นบอร์ดที่ปรึกษาในฐานะ Creative Director ของบริษัท MUJI แบรนด์ที่เรารู้จักกันดี รวมถึงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบของญี่ปุ่นอีกด้วย ตลอดระยะเวลการทำงานเขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมามากกว่า 50 รางวัล
แนวคิดในการออกแบบ
– ”ออกแบบสิ่งที่จำเป็น” ฟุคาซาวาเชื่อว่านักออกแบบควรรังสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังขาดหาย และควรออกแบบสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งต่างๆ ดีขึ้น พิจารณาว่าปัจจัยใดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการออกแบบ ไม่มัวสรรหาองค์ประกอบอื่นๆ มาใส่จนล้น รักษาการใช้งานเรียบง่ายแบบเดิม แต่เพิ่มความสะดวกขึ้น ตัดปัญหาที่เคยมีออกไป แล้วทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น น่าจะตอบโจทย์มากกว่าการใส่องค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของงานเพียงเพื่อแสดงตัวตนความคิดของตัวเองออกมา จะทำให้งานแย่ลงมากกว่าดีขึ้น
– “การไม่ต้องคิด” (Without Thought) ว่าด้วยเรื่องของการค้นหาคำใบ้ที่ซ่อนตัวอยู่ในพฤติกรรมอันเป็นจิตใต้สำนึกของมนุษย์ การเข้าถึงแก่นสารและคุณค่าแท้จริงของสิ่งต่างๆ ผ่านการออกแบบ ฟุคาซาวาเชื่อว่าคนเราไม่ควรต้องใช้ความคิดเกี่ยวกับวัตถุที่ตนใช้งานอยู่ งานออกแบบที่ดีควรผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม โดยทิ้งให้คนใช้สัญชาตญาณของตนค้นพบวิธีการใช้อย่างเป็นธรรมชาติ
ตัวอย่างผลงานการออกแบบ
MUJI
ฟุคาซาวาเป็นผู้ออกแบบ MUJI Wall-mounted CD Player (ปี1999) ซึ่งเป็นเครื่องเล่น CD ที่คนทั่วไปมักรู้สึกว่าเป็นของที่ดูแสนแสนธรรมดาที่มีอยู่แล้วทั่วๆไป ทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นผลงานออกแบบที่เกิดขึ้นใหม่อย่างพิถีพิถัน CD Player ชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก พัดลมระบายอากาศในห้องครัว ที่เรามักใช้มือดึงสาย เพื่อเริ่มการทำงานของพัดลม บวกกับจังหวะและภาพของใบพัดตรงหน้า จากจังหวะช้า เพิ่มขึ้นจนเร็ว และแรงคงที่ พอที่จะสูบอากาศออกไปได้ ดูแล้วไม่ต่างอะไรไปจาก แผ่นซีดี ที่กำลังเริ่มหมุน และเร็วขึ้นจนคงที่ จนเสียงเพลงดังออกมานั่นเอง ไอเดียได้ทั้งหลาย หล่อหลอมจนกลายเป็น โปรโตไทป์ทรงกล่องสี่เหลี่ยมตัดขอบ ขนาดไม่ใหญ่เกินไป พร้อมกับสาย ที่เป็นเหมือนหัวใจของเครื่องเล่นซีดีติดกำแพง เป็นลำโพงในตัวเอง มีวิธีการใช้งานเปิดและปิดแบบดึงเชือกนี้ เป็นการใช้งานผ่านสัญชาตญาณและเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายมากๆ ซึ่งนั่นเองทำให้เครื่องเล่น CD ของ Muji เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีคู่มือการใช้งาน เพราะมันง่ายชนิดที่ว่า “แค่มองก็รู้แล้วว่าต้องใช้ยังไง“
ถือว่าเป็นจุดแจ้งเกิดในวงกว้างเพราะสามารถดึงความสนใจของหัวหน้าฝ่ายจัดวางแผนฝ่ายพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ของ MUJI จนได้เข้าสู่ไลน์การผลิตออกมาจัดจำหน่าย และกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ในแง่ของงานดีไซน์ที่โดดเด่น จนถึงปี 2014 ผลงานได้ถูกเปลี่ยนฟังค์ชั่นให้ทันสมัยขึ้นเป็น Bluetooth Speaker โดยอ้างอิงจากรูปทรงการออกแบบความคลาสสิคตามเดิมเอาไว้ (น่าจะยังสามารถหาซื้อได้ที่MUJI สาขาเซนทรัลชิดลมครับ)
Issey Miyake
เป็นอีกหนึ่งแบรนด์นาฬิกาดีไซด์เก๋สัญชาติญี่ปุ่น ที่นักเรียนดีไซน์จำนวนมากต่างจับจองเป็นเจ้าของ ได้มีโอกาสร่วมงานกับฟุคาซาวาดีไซน์ไว้ใน3รุ่นด้วยกัน
Twelve, Twelve 365 ดีไซน์ที่เน้นความเรียบง่ายมากที่สุด โดยลดทอนตัวเลขหรือเส้นขีดในหน้าปัดนาฬิกาทั้งหมด ทำให้เค้าใช้หน้ากระจกคริสตัลเป็นเหลี่ยมทั้ง 12 ด้านแทนตำแหน่งบอกเวลาด้วย ซึ่งมันก็มีขนาดเท่ากันด้วย ทั้งหมดที่สะท้อนออกมาในตัวนาฬิกา มีเหลี่ยมชัดเจนและเข็มบอกเวลายาวเท่ากัน ให้ความรู้สึกแข็งแรง สะอาดตา ซึ่งเป็นผลงานที่เรียบง่ายเหมาะกับแบรนด์ Issey Miyake อย่างมาก
Trapezoid, Trapezoid AL จากชื่อที่มีความหมายว่า “สี่เหลี่ยมคางหมู” สร้างแรงบันดาลใจด้วยการนำแฟชั่นผสมกับกีฬาแข่งรถ ใช้สีที่ตัดกันของตัวเลขกับสีพื้นบนหน้าปัดนาฬิกา โดยวงหนามเตยจะตัดตรงและมีมาตรวัดความเร็วอยู่บนนั้น
GO ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก เกมโกะ โดยเน้นไปที่แผ่นกระดานของโกะที่มีตัวโกะกลมๆ บนกระดาน เปรียบเทียบเหมือนยามที่หยิบตัวโกะเดินบนกระดาน ออกแบบให้เป็นนาฬิกาที่มีดีไซน์ที่เรียบง่ายและชัดเจน
และเมื่อไม่นานมาเองฟุคาซาวาได้ถูกเชิญมาร่วมเป็นดีไซเนอร์พิเศษให้กับโครงการตอนโดห้องพักอาศัยชื่อว่า LIMITED EDITION UNITS designed by NAOTO FUKASAWA ให้เฉพาะกับโครงการ RHYTHM ‘THE SLOW COLLECTION’ ของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยฟุคาซาวาได้ผสานปรัชญาวิธีคิดในการออกแบบสเปซที่พักอาศัยอยู่แล้วรู้สึกสบายใจแบบไม่รู้ตัว พื้นที่ต่างๆที่คุณสามารถใช้งานได้จริงและหรับเปลี่ยนได้อย่างหลากหลาย การจัดวางของประดับ เฟอร์นิเจอร์ในห้องที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป สร้างวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามแบบ mInimalism
นอกจากนั้น ฟุคาซาวายังได้ตั้งแบรนสินค้าบริษัทของตัวเองชื่อ ±0 (Plus Minus Zero) เพื่อทำงานออกแบบและจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้านโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Plus Minus Zero กลั่นกรองออกมาจากแนวคิดออกแบบคือ “ไม่มาก และ ไม่น้อยจนเกินไป” และได้รับรางวัลงานออกแบบดีเด่นหลายชิ้น รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ด้านการออกแบบและศิลปะหลายแห่งทั่วโลก หากผู้อ่านท่านใดที่สนใจชมผลงานการออกแบบจากดีไซเนอร์คนนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://en.plusminuszero.jp/