ในปัจจุบันสัดส่วนระหว่างพื้นที่สีเขียวต่อประชากรหนึ่งคนตามค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงทั่วโลกคือ 39 ตารางเมตรต่อคน แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของพวกเรา มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรหนึ่งคนเป็นเพียงประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เป็นค่าตัวเลขที่เห็นได้ชัดว่าเราต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ควรจะเป็นอย่างมาก ในขณะที่หากเราสำรวจดูตัวเลขของเมืองหลวงอื่นๆแถบประเทศเอเชียข้างเคียงจะพบว่า กัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซียมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 50 ตารางเมตรต่อคน และตัวเลขที่น่าประหลาดใจ ในประเทศเล็กๆอย่างสิงคโปร์กลับมีสัดส่วนมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคนเลยทีเดียวครับ (ตัวเลขค่าเฉลี่ยอ้างอิงจากดัชนีความเป็นเมืองสีเขียวในเอเชีย สถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit หรือ EIU)
(ภาพจาก http://nymag.com/guides/summer/2009/57471/)
ค่าเฉลี่ยตัวเลขเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างต่อพื้นที่สีเขียวต่อประชากรหนึ่งคนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครกับค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ที่ควรจะได้รับอย่างชัดเจน และปัจจัยขนาดพื้นที่ของเมืองไม่ใช่ปัญหาในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองเลย ถ้าเราได้ดูตัวอย่างเมืองหลวงขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ แม้หลายท่านอาจคิดว่าเพราะกรุงเทพมีประชากรที่หนาแน่นสูงกว่ามาก ตัวเลขค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวจึงต่ำกว่า แต่มันก็จะไม่ใช่ข้ออ้างความละเลยให้เราจะสามารถใส่ใจการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองกันน้อยลงได้ เพราะเราต่างรู้กันดี ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองเรากำลังถูกแปลสภาพเป็นไปห้างสรรพสินค้าให้ผลกำไรเงยงอกมากกว่าจะถูกใช้สร้างเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้งอกเงยออกมา ตามกลไลระบบทุนนิยมของเมือง
ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมืองของเรา และไม่อยากให้ข้อจำกัดทางพื้นที่ของเมืองเป็นปัญหาในการสร้างพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น ในวันนี้เราจึงจะขอถึงตัวอย่าง case study การสร้างพื้นที่สีเขียวลงในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าลงในเมืองได้อย่างแนบเนียนสวยงามและน่าสนใจมาให้ผู้อ่านได้ชมกันครับ เราจะพาคุณไปพบกับ สวนรางรถไฟลอยฟ้า New York City High Line
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/24362/the-new-york-high-line-officially-open)
The High Line เป็นสวนสาธารณะรวมระยะทางยาวกว่า 1.45 ไมล์ หรือประมาณ 2.33 กิโลเมตร ความพิเศษของสวนแห่งนี้คือการสร้างสวนสาธารณะอยู่บนทางรถไฟลอยฟ้าสายเก่าที่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้วในเมือง New York ที่นับว่าเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์เพราะมันเป็นทางรถไฟลอยฟ้าที่ยกสูงขึ้นจากถนนแห่งแรกๆของโลกเลยทีเดียวครับ ย้อนกลับไปช่วงปี ค.ศ. 1930 ในยุคที่รถไฟกำลังเป็นขวัญใจหลักการเดินทางในเมือง New York โครงการ the High Line ถูกสร้างขึ้นเป็นเส้นทางรถไฟลอยฟ้า สูงจากพื้นดินราว 30 ฟุต ในเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดบนฝั่งตะวันตกของเกาะแมนฮัตตัน การยกระดับรางรถไฟให้สูงขึ้นจากถนน มีสาเหตุเนื่องต้องการลดการเกิดปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ระหว่างรถไฟกับรถยนต์ พาหนะสมัยใหม่ที่กำลังเริ่มเข้ามาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนั้น
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/516847/from-the-landscape-imagination-james-corner-s-essay-on-the-high-line)(ภาพจาก http://www.architetturaecosostenibile.it/architettura/progetti/nel-mondo/riqualificazione-urbana-new-york-vecchia-linea-ferroviaria-giardino-318/)
ต่อเนื่องมาถึง ค.ศ. 1980 รวมระยะเวลากว่า 50 ปี ทางรถไฟสายนี้ได้ก็ถูกปลดเกษียณลง เพราะการเข้ามาแทนที่ของรถไฟใต้ดินใน New York เส้นทางรางรถไฟบนดินจึงกลายเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้รับการดูแลรักษา ผุพัง ถูกทุบทิ้งไปเกือบหมดจนเหลือแค่ระยะทาง 1 ไมล์กว่าๆสุดท้ายแห่งนี้ จนกระทั่งวันนึงในปี ค.ศ.1999 มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเพื่อน the High Line หรือ Friends of the High Line ก่อตั้งกลุ่มโดยเหล่าคนในชุมชนซึ่งอยู่อาศัยในละแวกนั้น รวมตัวกันออกมาปกป้อง ต่อสู้ และขอให้มีการอนุรักษ์สถานที่แห่งนี้ไว้ก่อนที่รัฐบาลจะรื้อหรือทุบทิ้งไปเสียก่อน พร้อมกับเสนอตัวที่จะเข้ามาบริหารจัดการและดูแล ให้พื้นที่สมบัติทางประวิติศาสตร์และความผูกพันแห่งเมือง New York ที่เคยรกร้างแห่งนี้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/516847/from-the-landscape-imagination-james-corner-s-essay-on-the-high-line)
(ภาพจาก http://www.mwilliams.info/archive/2009/06/high-line-park-new-york.php)
ก่อนที่จะถูกปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ รางรถไฟสายนี้อยู่ในสภาพย่ำแย่เกินจะเยียวยา ถึงแม้ยังมีโครงสร้างเหล็กคงเหลืออยู่ แต่พื้นที่ของรางนั้นได้ถูกปกคลุมไปด้วยเหล่าพืชพันธ์ต่างๆ หญ้ารก และต้นไม้ชนิดต่างๆ ตลอดสาย ก่อนจะได้มติการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะบนทางยกระดับ ทีได้รับแรงบันดาลใจจาก Promenade plantée ของกรุง Paris โดยรัฐบาลของนิวยอร์กอนุมัติเงินทุนกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างสวนสาธารณะลอยฟ้าให้เป็นจริง เริ่มต้นโปรเจคก่อสร้างการฟื้นชีวิตตั้งแต่ปี 2006 มอบหมายหน้าที่การออกแบบภูมิสถาปัตย์ New York-based ของ James Corner Field Operations ร่วมกับ Piet Oudolf จากเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ให้คำแนะนำในการเลือกใช้พันธ์พืชต่างๆ รวมกับสถาปนิกชื่อ Diller Scofidio กับ Renfro ช่วยกันเนรมิตให้พื้นที่ที่เคยรกร้างกลางย่านชุมชนที่แออัด ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะลอยฟ้าให้กับประชาชนในเมือง New York ได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนกาย สร้างทางเดินคอนกรีตให้ผู้คนเดินเล่นชมสวนสาธารณะท่ามกลางธรรมชาติ ต้นไม้ดอกไม้ปกคลุมสองข้างทางตลอดรางรถไฟเหนือเขตอุตสาหกรรม เป็นปอดเล็กๆที่จะฟอกอากาศที่ดีและมอบวิวที่สวยงามให้กับผู้คนในเมืองได้
(ภาพจาก https://www.likealocalguide.com/paris/promenade-plantee-coulee-verte)
(ภาพจาก http://www.nycgovparks.org/parks/the-high-line/photos)
Promenade plantée ของกรุง Paris
สวน The high line แห่งนี้เปิดต้อนรับผู้คนให้เข้ามาชื่นชมเหล่าพันธ์พืชที่เกิดและโตขึ้นมาเองตามภูมิศาสตร์ เราจะสามารถมองเห็นภาพทิวทัศน์ใหม่ สวยงามแปลกตาเกินคาดฝันอย่างวิวภาพแม่น้ำฮัดสัน ทางเดินกรวดสลับคอนกรีตนั้นใช้เพื่อเชื่อมให้ทางเดินเป็นส่วนเดียวกับราง รวมถึงการแบ่งเส้นคอนกรีตเชื่อมกับฮาร์ดสเคปที่มีการปลูกหญ้าให้แทรกซึมเข้ามาดูเป็นหนึ่งเดียวกับทางเดิน และจะมีช่วงเวลาปิดพักสวนแห่งนี้ ในช่วงที่อาจเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมสนามหญ้า หรือต้นไม้บอบช้ำจากการใช้งานของผู้คน รอจนกว่าน้ำจะแห้ง หรือต้นไม้ใบหญ้าจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แล้วจึงค่อยกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง เป็นพื้นที่สีเขียวที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/516847/from-the-landscape-imagination-james-corner-s-essay-on-the-high-line)
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/24362/the-new-york-high-line-officially-open)
(ภาพจาก http://www.archdaily.com/24362/the-new-york-high-line-officially-open)
(ภาพจาก http://www.fubiz.net/2012/04/19/high-line-park-new-york/)
การต่อสู้ของชาวเมืองที่เห็นคุณค่าของพื้นที่รกร้างในเมืองไม่ให้รัฐบาลทุบรางรถไฟทิ้ง และตัดสินใจปรับปรุงมันให้เป็นสวนสีเขียวยกระดับ สู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนมาใช้บริการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมือง New York ของพวกเค้าเอง จัดสรรพื้นที่ให้กับกิจกรรมหลากหลายของคนในเมือง คุณสามารถเข้ามา picnic ด้วยตะกร้าใบเล็กกับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ มานอนเอกเขนกอาบแดด จะเดินเล่นหรือนั่งเล่นดูต้นไม้ดอกไม้ที่ปลูกไว้สองข้างทางตลอดเส้นรางรถไฟ มีเพียงข้อห้ามว่าไม่อนุญาตให้ขึ้นมาปั่นจักรยาน นำสุนัขมาวิ่งเล่น หรือเข้ามาเก็บหรือเด็ดดอกไม้ เพื่อรักษาพื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งความสุขสีเขียวของชาวเมืองต่อไป
(ภาพจาก http://www.touramerica.ie/blog/10-things-to-do-in-new-york-city/)
สวนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกเราว่าความเจริญของเมืองอาจไม่ได้วัดที่สิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีหรือห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก การมีพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เราควรรู้จักใช้ประโยชน์กับพื้นที่ว่างเปล่าอีกมากในเมืองของเรา ช่วยกันผลักดันและพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นเพื่อชีวิตดีๆที่ลงตัวเราทุกคนในเมืองนะครับ
ติดตามข้อมูลและรู้จักกับสวน New York City High Line แห่งนี้มากขึ้นที่ http://www.thehighline.org/