Dongdaemun Design Plaza (DDP) อาคารศิลปะแห่งความลื่นไหล
(ภาพจาก http://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-dongdaemun-design-park-plaza-01-20-2014/)
ถ้าจะไม่พูดถึงสถาปัตยกรรมในเมืองเลยก็ดูเหมือนจะขาดอะไรไปสำหรับ DsignSomething เราเลยขอยกเอาอาคารหลังหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจทั้งรูปทรงการออกแบบและหน้าที่การใช้งานที่มีต่อเมืองมาเล่าให้ฟัง สถานที่แห่งนี้คือ Dongdaemun Design Plaza (DDP) ที่นี่คือ Art Exhibition Hall หรือสถานที่ที่ไว้จัดแสดงงานศิลปะ อีเวนท์ การประชุม หรือนิทรรศการต่างๆ ที่เพิ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 2014 ได้รับการออกแบบจาก Zaha Hadid สถาปนิกสาวชาวอิรัก-อังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก เรื่องการออกอาคารแบบ Deconstruction ที่ดูหวือหวา ล้ำสมัย อาคารนี้ยังเป็นครั้งแรกของเกาหลีใต้ที่สถาปัตยกรรมขนาดเมกะโปรเจ็คใช้การสร้างแบบ 3D Digital ที่มีความละเอียดสูงมากทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพของการก่อสร้างสถาปัตยกรรมรูปฟอร์มล้ำยุคหลังนี้
ความจริงแล้วตึก DDP เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นภาคต่อมาจากการพัฒนาคลองชองกเยชอนที่ทำได้มาแล้ว เพื่อให้ที่นี่กลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมเกาหลี ความทันสมัยและเทรนด์แฟชั่น และยังต้องการให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของชาวกรุงโซล ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ดึงดูดผู้คนนักท่องเที่ยว ซึ่งพวกเค้าก็ทำมันได้สำเร็จอีกครั้ง
(ภาพจาก http://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-dongdaemun-design-park-plaza-01-20-2014/)
อาคารแสดงงานศิลปะ DDP ที่มีรูปร่างเสมือนเป็นผลงานประติมากรรมศิลปะแบบฟรีฟอร์มขนาดยักษ์นี้มีชั้นใต้ดิน 3 ชั้นและชั้นที่อยู่เหนือพื้นดิน 4 ชั้นและได้มีการแบ่งโซนถึง 5 โซน แปลนแต่ละชั้นเชื่อมต่อกันด้วยทางลาดที่ไหลลื่น ไม่ใช่บันไดเชื่อมแบบชัดเจนอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ส่วนที่น่าสนใจนอกจากดีไซน์ที่แปลกตา ความละเอียด ละเมียดละไมในการก่อสร้าง แผ่นผิวโลหะแต่ละแผ่นไม่เหมือนกันเลย ความโค่งมน ขนาดสัดส่วน บางแผ่นมีรอบปรุช่องแสง บางแผ่นมีมาก บางแผ่นมีน้อย และบางแผ่นก็ไม่มี สะท้อนถึงเทคโนโลยีก่อสร้างที่แม่นยำชั้นสูง ก็ยังมีเรื่องของหน้าที่การเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองได้อย่างดี การตัดสินใจลงทุนเลือกสถาปนิกระดับโลกมาสร้างอาคารที่โดดเด่นออกมาจากบริบทแวดล้อมของเมือง แต่รูปทรงที่แปลกแยกกลับทำให้ผู้คนใช้งานมันได้อย่างกลมกลืน เป็นจุดเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะใหญ่ของเมือง เดินทางมาสะดวก ทั้งรถบัสและรถไฟใต้ดิน มีบริการร้านค้าร้านอาหารในอาคารที่จงใจวางไว้ในตำแหน่งทางเข้าออกของสถานีรถไฟใต้ดิน
การจงใจวางอาคารศิลปะวัฒนธรรมอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และสร้างทางลาดเพื่อเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางเป็นวิธีอันชาญฉลาด ย่านที่ DDP ตั้งอยู่คือแหล่งชอปปิ้งขนาดใหญ่ของเมือง โดยปกติเรามักจะรู้สึกขัดเขินหรือเข้าไม่ถึงเวลาต้องไปดูงานศิลปะ แต่ถ้าเราต้องผ่านอาคารแสดงศิลปะเพื่อเดินทาง หรือเพื่อไปชอปปิ้งหล่ะ ? กำแพงความรู้สึกขัดเขินเหล่านั้นก็จะถูกทลายลงไป เราจะเข้าถึงอาคารเหล่านั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยิ่งคนไหลเข้ามาอาคารมาก นั้นก็หมายถึงพวกเค้าจะมีโอกาสใกล้ชิดกับงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ภายในได้มากขึ้น มีทั้งงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ภายในและพื้นที่ภายนอกของอาคาร ฉนั้นแล้วต่อให้ผู้คนไม่ได้จงใจเข้าไปรับชมงานศิลปะภายใน แต่แค่การเลือกใช้เส้นทางสัญจรในอาคารเพื่อไปยังแหล่งชอปปิ้ง ต่อรถไฟใต้ดิน แวะทานข้าว ซื้อของใช้เล็กน้อยๆ ก็จะทำให้เค้าถูกดึงดูดด้วยความลื่นไหลเข้าได้สัมผัสกับงานศิลปะไปแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว
ทางเข้าออกสถานีรถไฟใต้ดินกับอาคาร DDP
ส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร LED ROSE GARDEN
Dtip : Deconstruction รูปแบบสถาปัตยกรรมการแตกกระจาย รูปร่างที่ไม่ใช่เส้นตรง เกิดการทำให้บิดเบี้ยวและความไม่เป็นระเบียบขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของโครงสร้างหรือเปลือก เป็นเทคนิคคือการฉีกรื้อรูปทรงของสิ่งเดิมๆที่เคยเห็นกันออกมาเป็นรูปแบบใหม่
ในเมืองที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีระบบการคมนาคมสาธารณะที่ดี เพราะนั่นถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแก่คุณภาพชีวิตของคนเมือง และแน่นอนว่ากรุงโซลก็นับเป็นหนึ่งเมืองที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น ด้วยทั้งการออกแบบเอื้อประโยลน์การเดินทางจากภาครัฐ รูปแบบการใช้งานที่ต่อนื่อง ระบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกและความร่วมมือจากวินัยพลเมืองในเมืองของพวกเค้าเอง ออกมาเป็นความเรียบง่ายแต่ใส่ใจในรายละเอียดที่เราสัมผัสได้ในเวลาไม่กี่วัน กลับมาที่เมืองของเราที่ยังพบความอลหม่านตั้งแต่การรอรับกระเป๋าเดินทางออกจากสนามบิน ก็เลยได้แต่หวังว่าเราจะทุกจะเก็บเกี่ยวการออกแบบเพื่อส่วนรวมที่ดีนำมาปรับใช้กับบ้านเมืองของเราในอนาคตอันใกล้นี้ได้เหมือนกัน