เมื่อวันที่อายุวัยเริ่มโรยรา ป้ายชานชาลาชื่อความตายก็ยิ่งใกล้ตัวคุณเข้ามามากขึ้น การถือกำเนิดและพบเจอนั้นอยู่เคียงข้างกับการความลาจากและความสูญเสียมาโดยตลอด แต่ก็ใช่ว่าพิธีการแห่งการจากลาจะต้องโศกเศร้าหดหู่เสมอไป เมื่อตอนนี้คนในประเทศญี่ปุ่นมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะฝังร่างตัวเองจมอยู่ใต้ผืนดินกับป้ายหินที่สุสาน หรือจะเก็บอัฐิไว้ในพระพุทธรูปแก้วใสพร้อมติดไฟ LED !
ที่วัด Koukoko-ji กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของอาคารสุสานขนาดเล็กที่ใช้ระบบการจัดเก็บล้ำสมัยเกินหน้าสถานฝังศพที่เห็นกันทั่วไป เพราะนี่คือสุสานไฮเทคล้ำอนาคต ด้วยรูปแบบการจัดเก็บอัฐิของผู้ล่วงลับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ฉีกกฎบรรยากาศความซึมเศร้าสีเทาหม่นในสุสานฝังศพแบบประเพณีโบราณทิ้งไป เพราะที่อาคารสุสาน Ruriden ภายในวัดแห่งนี้ประดับประดาผนังภายในไปด้วยคอลเลกชันอัฐิในรูปปั้นพระพุทธรูปแก้วใส ติดตั้งพร้อมด้วยเทคโนโลยีหลอดไฟ LED ไล่เรียงเฉดสีที่แตกต่างๆ กระจายอยู่ทั่วผนังมากถึง 2,045 ดวง
โดยรูปปั้นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นมาจากแก้วโปร่งใสทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แทนตัวอัฐิของผู้ที่จากไป 1 คนต่อ 1 รูปปั้น ส่วนอัฐิแท้จริงก็จะถูกเก็บไว้อย่างดีไว้ในล็อคเกอร์ด้านหลังพระพุทธรูปที่ผนังนั่นเอง
เหตุผลที่สุสานแห่งนี้ใช้ไอเดียการจัดเก็บอัฐิแบบประหยัดกระชับพื้นที่แทนที่จะใช้ป้ายสุสานฝังดินตามทั่วไปก็คือ ราคาที่ดินในประเทศญี่ปุ่นครับ อย่างที่เราทราบกันดีว่าที่ดินในแดนปลาดิบนั้นราคาสูงลิบลิ่ว แค่ลำพังการจะสร้างบ้านในตัวเมืองซักหลังสำหรับคนเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นเดียวกับการจับจองที่ดินเป็นสถานพำนักร่างสำหรับคนตาย เมื่อพื้นที่ในตัวเมืองหดเล็กลงสวนทางกับความหนาแน่นของประชากรในเมือง อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแซงหน้าอัตราการเกิด ที่ดินในสุสานที่เหลืออยู่จึงกลายเป็นสิ่งของหายาก เป็นแร์ไอเท็มที่ทุกคนต้องการอย่างปฏิเสธไม่ได้ ราคาค่าสุสานจึงยิ่งดีดตัวสูงขึ้นตามหลักดีมาน-ซัพพลายของกลไลการตลาด
ข้อมูลราคาค่าใช้จ่ายสำหรับค่าสุสานฝังศพผู้เสียชีวิตพร้อมป้ายศิลาในพื้นที่เมืองญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ $20,000-40,000 ( 700,000 – 1,400,000 บาท ) ซึ่งยังไม่รวมค่าพิธีการจัดงานนะครับ คุณพระ ! แพงพอๆกับราคาบ้านของคนที่ยังชีวิตอยู่ในไทยเลย แล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลป้ายหลุมศพ เปลี่ยนดอกไม้ เป็นค่าบำรุงรักษาที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเหล่าลูกหลานในตระกูลจะต้องจ่ายให้ทุกๆปีอีกกว่า $150 (3,700 บาท) ต่อเนื่องกันไปเป็นมรดกตกทอดอีกต่างหาก
แล้วค่าใช้จ่ายสำหรับสุสานแบบพระพุทธรูปแก้วใสที่สุสาน Ruriden หล่ะ ? เมื่อใช้เนื้อที่น้อยลง การจัดการน้อยลง ราคาก็จะน้อยลงตามไปด้วยครับ สงวนค่าใช้จ่าย 1 ช่องเก็บอัฐิสำหรับทุกเพศทุกวัยไซส์เดียวกันอยู่ที่ราคา $6,600 ( 230,000 บาท ) แต่เดี๋ยวก่อน! หากคุณสนใจโทรมาจองแบบแพคคู่ 2 เถ้ากระดูกในช่องเดียวแบบอยู่เคียงกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย ทางสุสานจะลดราคาให้คุณเหลือเพียง $8,300 ( 290,000 บาท ) นำไปหารราคาด้วยกันด้วยได้ และคิดค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาแบบเหมาจ่ายจากมูลค่าปีละ $80 จ่ายรวดเดียว 33 ปี เมื่อครบกำหนดค่ามัดจำล่วงหน้า ทางสุสานจะย้ายกล่องล๊อคเคอร์อัฐิไปในไว้สถานที่ส่วนกลางใต้อาคารสุสาน ให้ได้พักผ่อนอย่างสงบแม้จิตวิญญาณจะจากไปแล้ว
ความเหนือชั้นของเทคโนโลยียังไม่จบเพียงเท่านั้น กับระบบที่ชื่อว่า Technicolor กับบัตร smart cards ที่เชื่อมต่อข้อมูลโดยตรงเข้ากับล๊อคเคอร์เก็บอัฐิ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจดจำตำแหน่งพระพุทธรูปตัวแทนผู้เสียชีวิต ให้ค้นเจอได้โดยง่ายเหมือนเปิด GPS นำทาง โดยเมื่อเรามาถึงสุสานเพื่อมาเคารพอัฐิบุคคลที่จากไป เพียงหยิบ smart cards ขึ้นมาทาบ 1 ครั้งเพื่อเปิดประตูเข้าไปในอาคาร และทาบอีกหนึ่งครั้งบนหน้าจอค้นหา ไฟ LED ที่หน้าพระพุทธรูปแก้วใสตัวแทนญาติของเราก็จะสว่างขึ้นทันที ในสีที่แตกต่างกับไฟสีๆอื่นบนผนัง สะดวก รวดเร็ว หาเจอง่ายกว่าวันไหว้ในเทศกาลเชงเม้ง อีกทั้งเจ้าบัตรใบนี้ยังเก็บข้อมูลของผู้เสียชีวิตเอาไว้ขึ้นแสดงที่หน้าจอให้เราได้ระลึกถึง ทั้งรุปถ่าย วันเกิด-วันสิ้นอายุขัย ชีวประวัติโดยย่อแถมไว้ให้อีกด้วยครับ
จริงๆแล้วยังอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับไอเดียการสร้างสุสานในลักษณะกล่องล๊อคเคอร์อัฐิรวมกับเป็นชั้นในผนังแบบนี้ เป็นเหตผลทางความรู้สึกของหลวงพี่ Taijun Yajima เจ้าอาวาสวัด Koukokuji กล่าวว่า “ในอดีตทุกๆครอบครัวจะมีหลุมศพประจำตระกูลของตัวเอง ส่งต่อกันเป็นรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อสังคมเติบโต ความหนาแน่นของการสูญเสียก็เริ่มไม่เพียงพอต่อที่ดินเดิมที่มีอยู่ สวนทางการการกำเนิดของประชากรรุ่นใหม่ผู้สืบทอด ทำให้หลุมฝังศพบรรพบุรุษหลายแห่งขาดลูกหลานเข้ามาดูแลรักษา เป็นความเปลี่ยวเหงาและว้าเหว่ที่ต้องเจอแม้ร่างกายของตัวเองจะจากไปแล้วก็ตาม สุสาน Ruriden จึงอยากจะแก้ปัญหาเหล่านั้น เราอยากสร้างให้มันเป็นสถานที่พักผ่อนอันสงบสุขสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีลูกหลานหรือคนที่เกิดในตระกูลเล็กๆ ให้พวกเค้าได้เลือกนำอัฐิของตัวเองมาอยู่ล้อมรอบคนบุคคลที่จากไปแล้วคนอื่นๆ โดยไม่ต้องรู้สึกเดียวดายหรือน้อยใจแม้อยู่ในชีวิตหลังความตายของพวกเค้าแล้วก็ตาม
“ พระพุทธรูปแก้วใสคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ที่จากไปแล้วในโลกหน้า ในช่วงเวลาสำคัญก่อนที่พวกเค้าจะจากไปอย่างน้อยจะได้พึงระลึกว่าพระพุทธรูปตัวแทนของพวกเค้าจะยังคงอยู่ให้ลูกหลานได้มาเคารพกราบไหว้ ส่วนจิตวิญญาณแห่งพระพุทธศาสนาก็จะเดินทางไปพร้อมกันกับพวกเค้าแม้ในดินดายหลังความตาย เตรียมจิตใจในวาระสุดท้ายสู่การเดินทางจากไปอย่างสงบ “ หลวงพ่อกล่าวทิ้งท้าย
รูปแบบการจัดการแบบสุสาน Ruriden ยังถูกนำไปใช้ในสุสานอีกแห่งหนึ่งในย่านแหล่งชอปปิ้งในเมืองโตเกียวเช่นกัน ชื่อว่า Shinjuku Rurikoin Byakurengedo เป็นสุสานตึกกลางเมืองรูปทรงล้ำสมัยเหมือนยานอวกาศพาจิตวิญญาณของคนตายสู่แดนสวรรค์ ออกแบบโดยสถาปนิกญี่ปุ่น Kiyoshi Sey Takeyama ทีมีตั้งแต่ชั้นเก็บล๊อคเกอร์อัฐิพระพุทธรูปขนาใหญ่ 3,500 ช่อง ห้องทำกิจสวดมนต์ และห้องโถงสำหรับจัดงานพิธีสวดศพ
ทั้งสุสาน Ruriden และ Shinjuku Rurikoin Byakurengedo คือตัวอย่างการเลือกใช้วิทยาการเทคโนโลยีจับคู่เข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อ และปัจจัยทางสังคมที่มักจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอได้อย่างน่าสนใจ เป็นหนึ่งในหนทางการปรับวิถีชีวิตของผู้คนให้เหมาะกับยุคสมัย เพราะใช่ว่าเทคโนโลยีและความเชื่อทางศาสนาจะต้องอยู่ร่วมกันไม่ได้เสมอไป …
ข้อมูลและรูปภาพอ้างอิง
http://gizmodo.com/this-is-probably-the-most-high-tech-cemetery-in-the-wor-1696153589
http://motherboard.vice.com/read/death-is-a-high-tech-trip-in-japans-futuristic-cemeteries
http://www.burningsettlerscabin.com/burningsettlerscabin/2016/1/16/uu3dykejoxh9gzabryvjlqxvq4zbfc
ruriden.jp