การมีบ้านหลังใหญ่ เป็นความฝันของใครหลายคน แต่สำหรับวงการที่อยู่อาศัยของประเทศออสเตรเลีย บ้านหลังใหญ่กลับกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ
ปัญหาที่ฟังดูแปลกๆ นี้ เกิดจากชาวออสเตรเลียนิยมปลูกบ้านขนาดใหญ่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะในเมลเบิร์นเอง ก็มีหลายชุมชนที่ประกอบขึ้นจากบ้านหลังใหญ่ล้วน จนนำไปสู่ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม
THAT House เปรียบเสมือนการกลับมาสร้างรังแต่พอตัวอีกครั้ง โดยเจ้าของบ้านให้โจทย์สถาปนิกออกแบบ “บ้านที่มีขนาดแค่พอดี” ท่ามกลางบ้านขนาดมหึมาล้อมรอบ กลุ่มสถาปนิก Austin Maynard Architects ตัดสินใจสร้างความเชื่อมโยงจากภายในบ้านสู่สวนที่เปิดกว้าง ด้วยผนังกระจกเพื่อให้ดูโปร่ง และน่าอยู่อาศัย แม้ว่าจะมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของบ้านหลังข้าง ๆ เท่านั้น
บ้านหลังนี้ยังเปิดต้อนรับเพื่อนบ้าน ต่างจากบ้านส่วนมากที่มีรั้วรอบขอบชิด สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไปสำหรับบ้านที่เปิดโล่งแบบนี้ คือ ความเป็นส่วนตัวในของผู้อยู่อาศัย สถาปนิกเลือกใช้ม่านม้วนกับผนังกระจก เพราะสามารถเปิดทั้งหมด หรือเลือกที่จะเปิดบางส่วนเพื่อรับแสงธรรมชาติและบรรยากาศจากสวน และเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวก็เพียงปิดม่านลงทั้งหมด
“Alone, together”
บ้านหลังนี้ยังคงแนวคิด “Alone, together” เช่นกันกับอีกหลายโปรเจคของ Austin Maynard Architects จึงไม่ใช้ Open Plan แต่ก็ไม่แยกห้องต่าง ๆ อย่างชัดเจน ทุกฟังก์ชั่นมีการเชื่อมโยงถึงกัน สมาชิกในครอบครัวจึงสามารถทำกิจกรรมร่วมกัน หรือแยกออกไปมีพื้นที่ส่วนตัวได้ในเวลาที่ต้องการ ผู้ออกแบบเชื่อว่าสเปซที่พร้อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการใช้งาน เวลา และอากาศนี้ จะเป็นการใช้พื้นที่ที่มีจำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทิศทาง สร้างบ้านน่าอยู่
การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหัวใจหลักของบ้านหลังนี้ สถาปนิกออกแบบให้ผนังทางทิศเหนือเป็นหน้าต่างทั้งหมดเพื่อรับแสงธรรมชาติ กระจกทุกบานเป็น Double-glazed เพื่อรักษาอุณหภูมิ ทิศตะวันตกของบ้านไม่มีกระจก ส่วนทิศตะวันออกมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เลือกใช้หลังคาสีขาวเพื่อลดการสะสมและถ่ายเทความร้อน ติดฉนวนกันความร้อนทุกจุดในบ้าน ร่มเงาและการไหลเวียนของอากาศช่วยลดการทำงานของระบบปรับอากาศได้ น้ำฝนจากหลังคาจะถูกนำไปใช้กับชักโครกและรดน้ำต้นไม้ และยังมีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้อีกด้วย
แม้บ้านหลังเล็ก จะไม่ใช่คำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย แต่ THAT House แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามค่านิยมด้วยการออกแบบ “บ้านขนาดแค่พอดี” ที่ไม่ด้อยกว่าบ้านหลังใหญ่ ในทางกลับกันแนวคิดการเชื่อมโยงสเปซเข้ากับสวนได้เพิ่มความสดใสจากธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านอย่างเหมาะสม เมื่อรวมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว ก็อดนำไปเปรียบเทียบกับบ้านหลังใหญ่ ๆ เทอะทะเหล่านั้นไม่ได้เลย
ขอบคุณข้อมูล www.archdaily.com