บ้านสวนมุก รีสอร์ท
Owner : คุณอิทธิเดช ไข่มุกด์
Architect : บริษัท สถาปนิกสุข จำกัด ( SOOK Architects )
Photo : SPACESHIFT STUDIO
อำเภอหัวหินเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประตูหน้าด่านสู่ทะเลใต้ ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมายหลายเชื้อชาติ ร้านค้าโรงแรมที่พักเรียงรายเต็มชายหาด แต่ท่ามกลางผืนทรายที่ใครหลายคนรู้จักกันดี เมืองหัวหินเองก็มีโซนพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ ‘สับปะรด’ พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด การสร้างที่พักในบรรยากาศกลางไร่เกษตรกรรม จึงเหมือนเป็นการเปิดประสบการณ์วิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นอีกด้านหนึ่งของเมืองที่น้อยคนจะเคยสัมผัส
รีสอร์ทบนแปลงเกษตรกรรม
รีสอร์ท บ้านสวนมุก ตั้งอยู่ในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงแรมและร้านอาหารที่ตั้งอยู่กลางไร่สับปะรด โอบล้อมด้วยภาพทิวเขาหินเหล็กไฟ ซึ่งที่ดินนี้เป็นมรดกตกทอดของครอบครัวไข่มุกด์ “ผมต้องการจะย้ายกลับมาใช้ชีวิตยังบ้านเกิดที่หัวหินนี้ พร้อมกับสร้างกิจการเล็กๆ ให้ตัวเองในวัยเกษียณ จึงเลือกสร้างรีสอร์ทบนที่ดินเกษตรกรรมชนบทนี้ พัฒนาพื้นที่โดยเน้นบรรยากาศความเป็นชานเมืองอันเงียบสงบ นำเสนอวิถีคนท้องถิ่น ผ่านสถาปัตยกรรม การตกแต่ง และเมนูร้านอาหารรสชาติแบบคนหัวหิน ใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์แวดล้อมของเดิมซึ่งแตกต่างกับรีสอร์ทอื่นๆ ในเมืองท่องเที่ยวชายทะเล” คุณอิทธิเดช ไข่มุกด์ ผู้เป็นเจ้าของกล่าวกับเราถึงที่มา
Design Concept
เพราะตั้งอยู่บนผืนดินดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา ทำให้ความผูกพันกับทำเลที่ตั้ง ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ สถาปนิกสุข (SOOK Architects) ผู้ออกแบบต้องการให้อาคารสื่อสารกับทั้งสภาพภูมิทัศน์และวิถีชีวิตพื้นบ้าน ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมประจำท้องถิ่นคือ “เรือนยกใต้ถุนสูง” การสร้างพื้นที่ใช้สอยใต้อาคาร หลังคาจั่วทอดตัวยาวป้องกันแดดฝน ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับโรงแรมบ้านสวนมุกให้เกิดรูปฟอร์มที่ดูเรียบง่าย ทันสมัย เน้นความโปร่งเบา สร้างช่องทางให้ลมไหลผ่าน และช่วยเปิดมุมมองกว้างแบบ Panorama ทอดสายตาไปยังไร่สีเขียวที่อยู่รอบตัวได้อย่างเต็มที่
ช่องว่างระหว่างอาคารที่ถูกยกให้ลอยตัวจะช่วยเปิดมุมมองให้กว้างออกไปถึงแนวภูเขา
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นถูกตีความใหม่ ด้วยเส้นสายที่เรียบง่าย และวัสดุสมัยใหม่ช่วยให้อาคารดูทันสมัย แต่มีกลิ่นอายแบบไทยๆ
คุณอิทธิเดช เจ้าของโครงการเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสวยงามเดิมของแปลงเกษตรกรรมที่เหยียดตัวยาวไปถึงแนวทิวเขาเบื้องหลัง จึงอยากให้สถาปนิกใช้สภาพแวดล้อมแบบ Eco Landscape เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่ง Eco Landscape หรือ ภูมิทัศน์เชิงนิเวศ คือ การใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์ดั้งเดิมให้เกิดมุมมองที่สัมพันธ์กับการใช้งานพื้นที่โดยรอบอาคาร เข้าไปรบกวนระบบนิเวศให้น้อยที่สุดเพื่อคงความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเอาไว้
สภาพแวดล้อมสีเขียวโดยรอบโครงการยังคงถูกเก็บรักษาไว้ให้คล้ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติแบบเดิมอย่างที่เคยเป็น
Structure Concept
สถาปนิกได้แรงบันดาลใจเรื่องโครงสร้างจากศาลพระภูมิ ที่ชาวบ้านสร้างไว้ในท้องถิ่น สิ่งปลูกสร้างที่สะท้อนภูมิปัญญาบรรพบุรุษดั้งเดิมโดยแท้ เต็มไปด้วยรูปทรงที่มีพลัง หลังคาจั่วมุมป้าน ยื่นชายคาพอประมาณ ยกใต้ถุน ผนังไม้ตีเกร็ดตามนอน ทั้งหมดถูกนำมาดีไซน์ใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น ตอบโจทย์การสร้างอาคารให้ดูโปร่งเบา ลอยตัว ด้วยโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ให้ประสิทธิภาพความแข็งแรง ขนาดโครงสร้างที่เล็กแต่แข็งแกร่งของเสาเหล็ก จะช่วยยกอาคารให้ดูเบาลอยและเพิ่มเนื้อที่การใช้งาน สามารถพาดระยะห่างระหว่างช่วงเสาได้กว้างโดยไม่ต้องมีเสาคั่นกลาง เลือกใช้ระบบการก่อสร้างติดตั้งแบบแห้ง หรือ Dry Process Construction (ระบบที่ยึดติดด้วยน็อตและการเชื่อม) เป็นส่วนใหญ่ เพื่อย่นระยะการก่อสร้าง เก็บงานได้เร็ว ใช้แรงงานน้อย แถมข้อดีอีกอย่างของวัสดุเหล็กคือนำกลับไปรียูสได้ เผื่อมีการโยกย้าย ขยับขยายที่ตั้งอาคาร ก็สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนไปปรับใช้งานได้ใหม่ในอนาคต
ต้นแบบไอเดียโครงสร้างจากภูมิปัญญาศาลพระภูมิกับการตีความนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งจากสถาปนิก
เรือนพักหลังเดี่ยวที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงจากบ้านทรงหลังคาจั่วทั่วไป เพิ่มความน่าสนใจด้วยเหลี่ยมมุมที่แปลกตา ระแนงไม้และผนังกระจก
เลือกโทนสีวัสดุตกแต่งน้ำตาล-ขาว สะอาดเรียบ กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศโดยรอบ
ระเบียงใต้ชายคาสำหรับผ่อนคลาย เชื้อเชิญให้ออกมานั่งเล่นมองวิวธรรมชาติที่อยู่ภายนอก
กิจกรรมขี่ม้าถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองหัวหิน ที่โรงแรมก็มีพื้นที่จัดกิจกรรมขี่ม้าให้ลูกค้า กับม้าเลี้ยงท่ามกลางบรรยากาศแปลงหญ้าสีเขียว
ตัวโรงแรมประกอบด้วย ห้องพัก 14 ห้อง ส่วนร้านอาหาร ห้องจัดลี้ยง และส่วนพื้นที่แปลงเกษตรกรรมสาธิตและฟาร์มขี่ม้าที่เตรียมไว้เป็นกิจกรรมสำหรับคนที่เข้ามาพักในอนาคต
แสงไฟจากร้านอาหารและห้องพักส่องสว่างขับไล่ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวมืดครึ้ม ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและปลอดภัยเมื่อต้องเดินในเวลากลางคืน
ออกแบบราวบันไดให้ต่อเนื่องกับโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนต่อเนื่องยาวลงมาถึงพื้นชั้นล่าง ลดการสั่นไหว เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน
ด้วยสไตล์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ถูกนำมาปรับใช้กับโครงสร้างยุคใหม่ เรียนรู้ที่จะหยิบใช้และเลือกรักษาของดีที่มีอยู่เดิมเอาไว้ อาศัยความแข็งแรงของโครงสร้างเหล็กเพื่อความเรียบง่ายและรูปด้านที่ดูโปร่งเบา เก็บระยะพาดเสาและการยื่นพื้นลอยออกไปได้กว้าง นี่จึงเป็นทั้งการประยุกต์เรื่องรูปแบบอาคารและวัสดุก่อสร้างเก่า-ใหม่ให้มาอยู่ร่วมกันได้แบบพอดิบพอดี
ขอขอบคุณ
Architect : บริษัท สถาปนิกสุข จำกัด ( SOOK Architects )
Photo : SPACESHIFT STUDIO