OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

5 อาคารตู้คอนเทนเนอร์ ดีไซน์แปลกจากทั่วโลก

นอกจากใช้ขนส่งสินค้า มาดูกันว่าตู้คอนเทนเนอร์สามารถนำมาออกแบบทำอะไรได้บ้าง

ด

แต่เดิมที่เคยใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้าข้ามท้องทะเล ปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์กำลังถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งเป็นโครงสร้างหลักในงานสถาปัตยกรรม สถาปนิกจากทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจศึกษาข้อดี ข้อเสีย คุณสมบัติต่างๆ เพื่อขยายข้อจำกัดเรื่องการออกแบบให้เปิดกว้างมากขึ้น  ปรับที่พำนักสินค้าชั่วคราวให้เป็นที่อยู่อาศัยถาวรของมนุษย์ และเราก็ไม่พลาดที่จะรวบรวมตัวอย่างการออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าสนใจ เผื่อไว้เป็นไอเดียสร้างสรรค์สำหรับใครที่กำลังอยากลองหามาใช้งานครับ

Le Utthe Shop

ออกแบบโดย BBC Arquitectos 

รัฐบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
1

BBC Arquitectos สถาปนิกแห่งโปรเจคการรีโนเวทช็อปแฟชั่นแบรนด์ Le Utthe ในย่านการค้าที่เคยถูกทิ้งร้างของรัฐบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ดีไซเนอร์เชื่อมโยงความสำคัญของรัฐ ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมท่าเรือหลักของประเทศเข้ากับการออกแบบ จึงเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าเข้ามาตกแต่งภายในร้าน ภาชนะตู้เหล็ก 4 ตู้ ถูกนำมาห้อยติดอยู่บนคานเหล็กฝ้าเพดานให้ดูเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ เรียงตัวเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ติดตั้งโคมไฟและบันไดเหล็กเพื่อให้เดินขึ้นไปใช้งาน สร้างเอกลักษณ์น่าจดจำให้กับคนที่มาเยือน

CC4441

ออกแบบโดย Tomokazu Hayakawa Architects

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

1

สถาปนิก Tomokazu Hayakawa ทดลองออกแบบอาคารลูกผสม mixed-use ที่มีทั้งบ้าน สำนักงานและแกลลอรี่ศิลปะขนาดเล็กจากตู้คอนเทนเนอร์ ที่หัวมุมถนนแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ตู้เหลี่ยมสีดำ 3 ตู้วางซ้อนกันเหมือนไม่ตั้งใจ เพื่อสร้างรูปทรงอาคารที่ผิดแปลกกับบริบทอาคารอื่นๆในพื้นที่ ที่มักจะเป็นแท่งตึกสี่เหลี่ยมเป็นระเบียบ เน้นความเรียบและโปร่งโล่งด้วยกระจกและโครงสร้างเหล็ก สร้างความน่าสนใจขึ้นไปอีกระดับด้วยการเลือกทาสีขาวเฉพาะพื้นที่ภายใน ช่วยขยายพื้นที่ในตู้ให้กว้างขวางและดูตัดกับสีดำที่ผิวนอกชัดเจน

Hilltop Shipping Container House

ออกแบบโดย Sebastián Irarrázaval

เมืองซานเตียโก ประเทศชิลี

1

บ้านตู้คอนเทนเนอร์ เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากคนส่วนมากเพราะเป็นวัสดุแปลกใหม่ มีความแข็งแรงทนทาน  สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการดีไซน์และรูปแบบการนำมาใช้งาน เช่นบ้านหลังนี้ในประเทศชิลี ที่ชูคุณสมบัติความแข็งแรงของโครงสร้างตู้เหล็กออกมาให้เด่นชัด ด้วยการยื่นตู้คอนเทนเนอร์ออกไปกลางอากาศ เจาะช่องเปิดกระจกใสแบบเต็มความกว้างตู้ ให้สามารถมองวิวภายนอกได้ไกลสุดสายตา

Port-a-Bach

ออกแบบโดย Cecile Bonnifait and William Giesen

ประเทศนิวซีแลนด์

1

A Bach เป็นศัพท์แสลงของประเทศนิวซีแลนด์ หมายถึงโครงสร้างขนาดเล็ก เป็นที่มาของชื่อเรียกบ้านคอนเทนเนอร์ขนาดกะทัดรัด 20 ฟุตนี้ ที่สามารถพับปิด-เปิดฝาผนัง ปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานในอาคารได้อย่างยืดหยุ่น ใช้หน้าต่างบานเกร็ดดึงลมธรรมชาติให้เข้ามาไหลเวียน รับแสงแดดภายนอกเข้ามาขับไล่ความมืดทึบอึดอัด ออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบ build in ชิดผนังเพื่อประหยัดพื้นที่ แถมยังสามารถเคลื่อนย้ายไปวางยังทำเลที่ต้องการได้ง่าย

Maldonado House

ออกแบบโดย  Matías Silva Aldunate Arquitecto

ประเทศชิลี

1

ใครว่าการออกแบบตู้คอนเทนเนอร์จะต้องออกมาดูแข็งทื่อ ขาดชีวิตชีวาเสมอไป ลองมาดูการรออกแบบบ้าน Maldonado House เสียก่อน เพราะเราแทบจะไม่รู้สึกถึงพื้นผิวเหล็กลอนลูกฟูกแม้แต่น้อย อาคารตั้งอยู่บนเนินเขาริมทะเลสาบที่ลาดชัน หลบสายตาจากผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนน เพื่อความเป็นส่วนตัวของสมาชิกครอบครัว 3 ชีวิตในบ้าน สถาปนิกออกแบบโครงสร้างคอนเทนเนอร์ผสมรวมกับโครงสร้างเสาคานเหล็ก เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัยบนพื้นที่ลาดชัน แล้วปิดทับด้วยแผ่นไม้สีอ่อนเพื่อความกลมกลืนธรรมชาติแวดล้อม เป็นการใช้ประโยชน์จากความแข็งแรงก่อนจะตกแต่งพื้นผิวภายนอกให้ออกมาสวยงาม

ทั้งห้อยติดเพดาน ปิดพื้นผิวด้วยแผ่นไม้ วางซ้อนทับอิสระ เจาะช่องเปิดรับแสงแดด ขยายมุมมอง ก็ล้วนเป็นตัวอย่างวิธีการออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย และนอกจากตัวอย่างผลงานจากต่างแดนที่เราเลือกมานำเสนอแล้ว คิดว่าสถาปัตยกรรมฝีมือคนไทยก็ต้องมีของเจ๋งๆที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกมาก นักออกแบบที่มีผลงานอยากนำมาเผยแพร่แนวคิดการออกแบบที่ก็ติดต่อเรามาได้เลยนะครับ

เนื้อหาและรูปภาพจาก
http://www.designboom.com/architecture/top-10-shipping-container-structures-of-2014-12-29-2014/
http://www.archdaily.com/308669/maldonado-house-matias-silva-aldunate-architecthttp://www.designboom.com/architecture/shipping-container-retreat-port-a-bach-by-atelierworkshop/http://inhabitat.com/ross-stevens-new-zealand-container-house/