ตู้เหล็กที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย จะมีวิธีการดัดแปลงอย่างไรเพื่อนำมาใช้สร้างบ้าน ?
ยังคงได้รับความสนใจเหมือนเคย กับเรื่องการสร้างบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์ เราก็เลยอยากจะไปค้นหาเกร็ดความรู้เพิ่มเติมมาฝากกันอีกครั้ง เผื่อใครที่กำลังคิดจะสร้างบ้านหรืออาคารจากตู้เหล่านี้ แล้วจะมีข้อควรรู้อะไรน่าสนใจอีกบ้างล่ะ… มาติดตามกันได้ที่นี่เลยครับ
ตู้คอนเทนเนอร์มีความสูงหลายขนาด
โดยทั่วไปจะเห็นกันที่ความสูงตู้ 2.60 เมตร พอนำมาทำเป็นอาคารหรือห้อง ฝ้าที่ได้จึงไม่สูงนักอาจทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ตู้เหล็กนี้ ยังมีความสูง 2.90 เมตร ซึ่งหากไม่ใช่คนที่เคยทำงานด้านนี้มาก่อนก็คงไม่ทราบ เมื่อขนาดตู้สูงขึ้นก็จะทำให้ฝ้าสูงขึ้น จะรู้สึกโปร่งสบายมากขึ้นตามไปด้วย ได้พื้นที่ห้องที่ดูกว้างขวางเหมือนบ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบเสาคานทั่วไป
ต้องเสริมเสาและคานเหล็ก ในจุดที่จะตัดแต่งตู้คอนเทนเนอร์
ตู้ขนส่งสินค้าจะมีตำแหน่งโครงสร้างรับน้ำหนักหลักอยู่ที่ทั้ง 4 มุมของตัวตู้ หากจะตัดตู้ให้หดสั้นลง จะต้องเสริมเสาในบริเวณจุดตัดนั้นด้วย เพื่อรักษาความแข็งแรงของตู้เอาไว้ และถ้าหากต้องการเจาะผนังเหล็กเพื่อติดตั้งประตู หน้าต่าง ก็ต้องเสริมเสาและคานเหล็กที่กรอบประตู หน้าต่าง คล้ายโครงสร้างเสาเอ็น คานเอ็นในงานคอนกรีตนั่นเอง
ตู้คอนเทนเนอร์สามารถซ้อนชั้นกันได้มากกว่า 5 ชั้น
ปกติแล้วตู้คอนเทนเนอร์จะถูกวางซ้อนกันเป็นจำนวนมากอยู่บนท่าเรือขนส่งสินค้าอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความแข็งแรง เพราะถ้าเราวางซ้อนตู้คอนเทนเนอร์ทับกันแนบสนิท มุมต่อมุมแบบไม่มีส่วนพาดยื่นออกมา น้ำหนักของตัวตู้ชั้นบนจะถ่ายเทลงจุดรับน้ำหนักทั้ง 4 มุมของตู้ที่อยู่ด้านล่างลงไปเรื่อยๆ น้ำหนักของตู้เองจะเป็นตัวที่ทำให้แข็งแรง และลอยต่อของตู้จะมีตัวล็อคที่จะช่วยให้ตัวตู้ไม่เลื่อนหล่นลงได้โดยง่าย
แต่หากต้องการจะวางซ้อนกันแบบมีส่วนยื่นพาด หรือออกแบบอาคารที่มีคนใช้งานจำนวนมาก ก็จะเป็นต้องมีโครงสร้างอื่นมาช่วยรับน้ำหนัก สร้างระบบเชื่อมต่อที่แข็งแรงมากขึ้นเพื่อการขออนุญาตทำแบบก่อสร้างและความปลอดภัยเวลาใช้งาน
การติดฉนวนกันความร้อนคือเรื่องจำเป็น
การนำตู้เหล็กเหล่านี้มาทำเป็นอาคารเพื่ออยู่อาศัยจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องการป้องกันความร้อนนะครับ เพราะแน่นอนว่าหากไม่ติดฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติม แผ่นเหล็กลูกฟูกของตู้จะเป็นสื่อนำความร้อนชั้นดี ทำให้เราอยากเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เสียพลังงานและค่าใช้จ่าย จึงควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ผนัง ได้ทั้งแบบแผ่น (โพลียูรีเทนโฟม) และแบบพ่นจากด้านใน หรือจะติดฉนวนตรงผิวนอกที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง และการวางตู้ให้ทิ้งระยะห่างออกจากกัน ใช้ช่องว่างของมวลอากาศเป็นฉนวนกันความร้อนที่ผิวนอกได้อีกชั้นหนึ่ง
ข้อดีของตู้คอนเทนเนอร์ คือ มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง
ตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนัก Dead Load ไม่มากเมื่อนำมาทำการก่อสร้าง แต่สามารถรับ Live Load ได้ดี เหมาะกับงานที่ต้องการความรวดเร็ว โดยเฉลี่ยแล้วตู้คอนเทนเนอร์จะมีน้ำหนักประมาณ 4 ตัน สามารถโหลดน้ำหนักในตู้ได้สูงสุดเกือบ 21 ตัน
Dtip : Dead Load น้ำหนักบรรทุกคงที่ คือ น้ำหนักบรรทุกที่กระทำอยู่กับที่ หรือก็คือน้ำหนักชิ้นส่วนของโครงสร้างหลักของอาคาร เช่น เสา คาน แผ่นพื้น ส่วน Live Load น้ำหนักบรรทุกจร คือ น้ำหนักบรรทุกของที่มีการเคลื่อนย้าย เคลื่อนที่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงขนาดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา เช่น ผู้คน เฟอร์นิเจอร์ในอาคาร
การเช็คสภาพตู้ด้วยแสงแดด
เทคนิคการตรวจเช็คสภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ ก็คือ การหารูรั่วของตู้ด้วยแสงแดด สำหรับคนที่สนใจอยากซื้อตู้สินค้าเก่ามาใช้งาน ให้เข้าไปตรวจเช็คสภาพในช่วงกลางวันที่มีแสงแดดจัด ปิดประตูเข้าออกให้สนิท แล้วสังเกตหาจุดรูรั่วแสงว่าปรากฏขึ้นมาหรือไม่ เป็นวิธีการสังเกตหาตำหนิของตู้ได้โดยง่ายแต่อาจจะต้องอดทนต่อความร้อนภายในตู้เสียหน่อยนะครับ
การออกแบบก่อสร้างอาคารจากตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติและข้อบังคับกฏหมายการก่อสร้างควบคู่กัน อย่าลืมนำความต้องการของคุณไปปรึกษากับสถาปนิกและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญก่อนลงมือก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ได้บ้านพักที่สวยงามและปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัยทุกคนนะครับ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก pinterest